การมาของ Z10 ถือได้ว่าเป็นการเรียกความมั่นใจกลับคืนมาให้แก่แบล็กเบอร์รีเป็นอย่างมาก เพราะช่วงเวลาที่เงียบหายไป ต่างถูกคู่แข่งในโลกสมาร์ทโฟนอย่างไอโอเอส แอนดรอยด์ และวินโดวส์โฟน กวาดส่วนแบ่งไปเกือบหมด
โดยถ้ามองในแง่ของสเปกฮาร์ดแวร์แล้ว Z10 อาจจะอยู่ในระดับกลางๆของสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ เนื่องจากมาพร้อมกับหน่วยประมวลผลที่เป็นดูอัลคอร์เท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้ Z10 ขยับขึ้นไปอยู่ในทำเนียบไฮเอนด์สมาร์ทโฟนตอนนี้ได้คงหนีไม่พ้นความอัจฉริยะของระบบปฏิบัติการแบล็กเบอร์รี 10 ที่ย่อนวัตกรรมล้ำๆ มาไว้บนมือถือ
สิ่งที่เป็นจุดเด่นหลักของ Z10 คงหนีไม่พ้นระบบการทำงานแบบสัมผัสที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาปุ่มกดใดๆอีกต่อไป ผสานกับระบบ Hub ที่รวมรวบการแจ้งเตือนจากทุกบัญชีผู้ใช้มาไว้ในที่เดียว ให้สามารถติดต่อสื่อสารในทุกช่องทางได้อย่างไม่ติดตัด
ยังไม่นับรวมกับอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือระบบเดาคำบนคีย์บอร์ดเสมือนที่ล้ำยุค ช่วยตอบสนองคนชอบพิมพ์ และฟังก์ชันของกล้องที่มีการปรับปรุงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ยังไม่จุดบกพร่องเล็กๆน้อยๆที่หวังว่าจะมีการอัปเดตแก้ไขให้สมบูรณ์ได้ในเร็ววันนี้ เพราะที่สำคัญคือแบล็กเบอร์รี 10 เป็นระบบปฏิบัติการใหม่ที่เพิ่งลงสู่ตลาด ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาเพิ่มขึ้นได้อีกมาก
การออกแบบและสเปก
ในแง่ของการดีไซน์แบล็กเบอร์รี Z10 ถือว่าทำออกมาได้ดูดีในระดับหนึ่ง เพราะแม้ว่าตัวเครื่องจะทำจากพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ แต่สัมผัสที่ได้รับกลับพบว่างานประกอบค่อนข้างแข็งแรงดี ขนาดของเครื่องกำลังพอดีมือ ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป โดยมีขนาดรอบตัวเครื่องอยู่ที่ 130 x 65.6 x 9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 135.7 กรัม
ด้านหน้า - ไล่จากส่วนบนลงมาจะพบกับช่องลำโพงสนทนา ที่มีเซ็นเซอร์ตรวจวัดแสงและใบหน้าอยู่ข้างๆกับไฟแสดงสถานะ และกล้องหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซล ถัดลงมาเป็น หน้าจอทัชสกรีนขนาด 4.2 นิ้ว ที่สัดส่วน 15 : 9 ความละเอียด 1,280 x 768 พิกเซล 335 ppi ล่างหน้าจอจะมีสัญลักษ์แบล็กเบอร์รีสีเงินวางพาดขนาดไปกับหน้าจอ
ซึ่งในจุดนี้จะสังเกตได้ว่า Z10 จะไม่มีปุ่มควบคุมใดๆเลย เพราะใช้การลากนิ้วจากขอบต่างๆของเครื่อง คล้ายๆกับในแบล็กเบอร์รี เพลย์บุ๊ก ที่วางจำหน่ายออกมาก่อนหน้านี้ ขณะที่ในส่วนของไฟแสดงสถานะ ผู้ใช้สามารถเลือกตั้งได้ว่าจะให้มีการเตือนกับการแจ้งเตือนชนิดใดบ้าง
ด้านหลัง - มีลวดลายเฉพาะสลักอยู่ที่ฝาหลัง พร้อมกับโลโก้สีเงินติดอยู่ตรงกลาง โดยมีกล้องความละเอียด 8 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลช LED เมื่อแกะฝาหลังโดยการแงะออกมาจะพบกับแผง NFC ติดอยู่ที่ฝาหลัง ส่วนที่ตัวเครื่องจะเห็นแบตเตอรีขนาด 1,800 mAh กับช่องใส่ไมโครซิมการ์ด และไมโครเอสดีการ์ดที่สามารถถอดเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องปิดเครื่อง
ด้านซ้าย - เป็นที่อยู่ของพอร์ตไมโครยูเอสบี สำหรับเสียบสายชาร์จ และเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ กับไมโครเอชดีเอ็มไอ ไว้ต่อออกไปยังจอแสดงผลขนาดใหญ่ ด้านขวา - เป็นปุ่มปรับระดับเสียง ที่มีปุ่มเรียกใช้คำสั่งเสียงอยู่ตรงกลาง และสามารถเปลี่ยนเป็นปุ่มควบคุมเครื่องเล่นมัลติมีเดีย และชัตเตอร์กล้องได้ด้วย
ด้านบน - มีปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ด้านล่าง - ถูกปล่อยว่างไว้โดยมีช่องสำหรับแกะฝาหลังเท่านั้น
สำหรับสเปกภายในของแบล็กเบอร์รี Z10 มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon MSM8960 ที่เป็นดูอัลคอร์ความเร็ว 1.5 GHz GPU Adreno 225 RAM 2 GB หน่วยความจำภายใน 16 GB (รองรับไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มเติม) รองรับการเชื่อมต่อ 3G ทุกคลื่นความถี่ที่ความเร็ว 21/5.76 Mbps WiFi 802.11 a/b/g/n แบบ Dual Band บลูทูธ 4.0 NFC
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
ในเมื่อการมาของระบบแบล็กเบอร์รี 10 เปรียบเสมือนเป็นระบบปฏิบัติการใหม่ในท้องตลาด ดังนั้นจึงต้องมีการสื่อสารวิธีการใช้งานไปยังผู้ใช้ก่อน โดยตั้งแต่ขั้นตอนเปิดเครื่องเพื่อเริ่มใช้งาน ตัวเครื่องจะให้ทำการตั้งค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (ผ่าน 3G หรือ ไวไฟ) ล็อกอินบัญชีแบล็กเบอร์รี (ถ้าไม่มีก็สมัครใหม่ได้) หลังจากนั้นก็จะมีหน้าต่างให้เพิ่มบัญชีอีเมล หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ถูกบันเดิลมากับเครื่องอย่างเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์
หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่การสอนวิธีใช้งานตัวเครื่อง เนื่องจากถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่าตัวเครื่องไม่มีปุ่มใช้งานหลักใดๆอยู่บริเวณหน้าจอเลย ตัวเครื่องจึงต้องมีการสอนให้ผู้ใช้งานเรียนรู้วิธีการสั่งงานตัวเครื่องหลักๆ โดยเมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาแล้วก็จะพบกับหน้าจอล็อกสกรีน โดยตรงจุดนี้จะมีการแสดงผลเวลา วันที่ รวมถึงข้อความ 2 บรรทัดที่ผู้ใช้เลือกตั้งได้เอง รวมกับการแจ้งเตือนต่างๆ โดยที่มุมขวาล่างจะมีไอค่อนกล้องไว้เรียกใช้งานด่วนได้ทันที
การปลดล็อกหน้าจอทำได้โดนการสไลด์นิ้วขึ้นไปด้านบน แต่ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เมื่ออยู่ในหน้าจอนี้ผู้ใช้สามารถใช้นิ้วลากจากขอบบนของเครื่อง เพื่อเรียกโหมดนาฬิกาพักหน้าจอมาแทน ซึ่งในโหมดนี้จะเป็นการปิดการแจ้งเตือนทั้งหมด ใช้สำหรับเวลานอน หรือเข้าประชุมใดๆก็ได้ (แต่ถ้ามีสายเรียกเข้าจะมีเสียงดังตามปกติ)
เมื่อเข้ามาสู่หน้าจอหลักแล้วก็จะพบกับบรรดาแอปพลิเคชันที่บันเดิลมาในเครื่อง ประกอบไปด้วยรายชื่อผู้ติดต่อ เว็บเบราว์เซอร์ ปฏิทิน BBM ข้อความ แบล็กเบอร์รีเวิลด์ สมุดจดบันทึก ตัวแก้เอกสาร ดูรูปภาพ ฟังเพลง ชมภาพยนตร์ ตัดต่อคลิปวิดีโอขนาดสั้น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ Linkedin โฟร์สแควร์ แผนที่ เกม ยูทูป ระบบสั่งงานด้วยเสียง สภาพอากาศ นาฬิกา เครื่องคิดเลข เข็มทิศ ตัวจัดการไฟล์ การตั้งค่า โทรศัพท์ กล้อง และวิธีใช้งาน
ทีนี้มาในส่วนของวิธีการใช้งานหลักๆ แบ่งออกเป็น 3 จุดใหญ่ๆด้วยกันคือ 'การลากนิ้วมือจากขอบซ้ายเข้ามากลางหน้าจอ' เป็นการเรียกดูการแจ้งเตือนต่างๆ ที่ทางแบล็กเบอร์รีให้ชื่อว่า "Blackberry Hub" เพราะตรงส่วนนี้จะรวบรวมการแจ้งเตือนทั้ง BBM ข้อความ อีเมล (ทุกบัญชีที่ตั้งไว้) เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ โทรศัพท์ เข้ามาไว้ด้วยกัน
ถัดมาคือ 'การลากนิ้วมือจากขอบล่างขึ้นมากลางหน้าจอ' เป็นการย่อโปรแกรมลงมารวมไว้ในหน้าหลัก โดยผู้ใช้สามารถแตะที่หน้าต่างแอปพลิเคชันที่ต้องการเพื่อใช้งานได้ทันที แต่ตรงนี้ยังมีลูกเล่นอีกนิดคือ ถ้าลากนิ้วมากลางหน้าจอแล้วเลื่อนไปทางขวา จะเป็นการเข้าสู่หน้าการแจ้งเตือนทันที
สุดท้าย 'การลากนิ้วจากขอบบนลงมากลางหน้าจอ' เป็นการเรียกดูเมนูต่างๆ เมื่อใช้ในหน้าจอหลัก ก็จะเป็นในส่วนของการตั้งค่าลัด อย่างการเปิดปิดบลูทูธ ไวไฟ การเตือน ล็อกการหมุนหน้าจอ แต่ถ้าอยู่ในหน้าแอปฯ ก็จะเป็นการเรียกเมนูของแอปพลิเคชันนั้นๆแทน
สิ่งที่พิเศษอย่างหนึ่งของ Blackberry Hub คือผู้ใช้สามารถกดเข้าไปอ่านข้อมูลทั้งอีเมล และโซเชียลมีเดีย เมื่ออ่านเสร็จก็สามารถตอบกลับ หรือคอมเมนต์ต่อได้ทันที ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานค่อนข้างมาก
ในส่วนของจุดเด่นเดิมของแบล็กเบอร์รีที่เน้นไปที่การพิมพ์ข้อความนั้นคีย์บอร์ดเสมือนที่ให้มาใน Z10 จะไม่ทำให้คนที่ชื่นชอบผิดหวัง เนื่องจากมีการปรับปรุงระบบคีย์บอร์ดใหม่ ให้สามารถเดาคำได้รวดเร็วมากขึ้น โดยอิงจากคำที่ใช้งานบ่อยๆ ซึ่งเมื่อพิมพ์ไปสัก 2-3 ตัวอักษรก็จะมีคำลอยขึ้นมา ถ้าต้องการใช้คำนั้นแทนที่ต้องพิมพ์เต็มๆ ก็ให้กดที่ปุ่มอักษรนั้นแล้วลากนิ้วขึ้นได้ทันที
แต่ก็ใช่ว่าตัวคีย์บอร์ดจะไม่มีข้อเสียเลย เพราะในเวอร์ชันแรกที่ออกมานั้น อาจจะไม่ได้คำนึงถึงการเปลี่ยนภาษามากนัก ส่งผลให้เวลาเปลี่ยนภาษาต้องเสียเวลาในการกดปุ่มค้างแล้วลากไปยังภาษาที่ต้องการ แต่มีข้อมูลออกมาว่าถ้าอัปเดตเป็นเวอร์ชัน 10.1 จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้แล้ว
ความโดดเด่นของ BBM สำหรับคนที่ยักรักกันอยู่ ก็มีการเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆอย่างการแชร์หน้าจอไปให้คู่สนทนา การเพิ่มวิดีโอคอลล์เข้ามา และที่สำคัญคือผู้ใช้ไม่ต้องเปิดแพกเกจเฉพาะในการใช้งานอีกต่อไป สามารถนำซิมการ์ดที่เปิดบริการอินเทอร์เน็ตใส่แล้วใช้งานได้ทันที
อีกฟังก์ชันที่ในสมัยตอนเปิดตัว BB 10 แล้วแบล็กเบอร์รีภูมิใจเป็นอย่างมากคือระบบการถ่ายภาพที่เรียกกันกว่า 'Time Shift' ซึ่งต่อมาแอนดรอยด์โฟนหลายๆรุ่นในตลาดก็มีฟังก์ชันที่คล้ายกันออกมา โดยอยู่ภายใต้คอนเซปต์ในแนวที่ว่าเป็นการบันทึกภาพในช่วงเวลาหนึ่งต่อเนื่องกัน แล้วเลือกภาพที่ดีที่สุดออกมาใช้นั่นเอง
ซึ่งในการใช้งานกล้องถ่ายภาพของ Z10 นั้นถือว่ายังอยู่ในระดับทั่วไป ตัวกล้องเป็นระบบโฟกัสอัตโนมัติ ไม่สามารถเลือกจุดโฟกัสได้เอง การกดถ่ายภาพทำได้โดยการสัมผัสลงไปที่หน้าจอได้ทันที หรือจะใช้ปุ่มเพิ่มลดเสียงแทนชัตเตอร์ก็ได้ แต่เชื่อว่าในอนาคตทางแบล็กเบอร์รีน่าจะมีการอัปเดตฟังก์ชันการปรับแต่งที่หลากหลายมากกว่านี้ให้แก่โหมดกล้อง
หลังจากถ่ายภาพแล้ว เข้ามาดูกันในส่วนของโหมดดูรูปภาพ ที่ภายในจะแบ่งออกเป็น 3 แถบ คือภาพที่ถ่ายล่าสุด ภาพที่ถ่ายจากกล้อง และภาพทั้งหมดในเครื่อง สิ่งที่พิเศษเข้ามาคือ ระบบการปรับแต่งภาพ ที่มีให้เลือกตั้งแต่การหมุนภาพ ครอบภาพ (เลือกสัดส่วนได้) พลิกภาพกลับ หรือจะเข้าไปปรับแสง ปรับความคมชัด ใส่ฟิลเตอร์ภาพก็สามารถทำได้ทันที แน่นอนว่าเมื่อปรับแต่งเสร็จก็สามารถกดแชร์ไปยังเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ ส่งต่อผ่านอีเมลได้ทันที
แบล็กเบอร์รี เวิลด์ หรือแหล่งรวมแอปพลิเคชันของทางแบล็กเบอร์รีนั้น เริ่มมีแอปพลิเคชันที่ผลิตจากคนไทยเข้าไปบ้างแล้ว ซึ่งจากการสอบถามล่าสุดเมื่อตอนเปิดตัวจะอยู่ที่ราว 30 - 40 แอปฯ และมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีการยืนยันว่าแอปพลิเคชันหลักๆที่ใช้งานใน iOS และ Android ก็มีให้ใช้งานในแบล็กเบอร์รีแล้วเช่นเดียวกัน
ในขณะเดียวกันตัว Z10 ได้มีการบันเดิลแอปฯเก็บข้อมูลออนไลน์อย่าง Box และ Dropbox มาให้ไว้ในเครื่องด้วย วิธีการใช้งานก็ง่ายๆเพียงแค่สมัครสมาชิก (ถ้าเป็นสมาชิกอยู่แล้วก็ล็อกอินใช้งานได้ทันที) โดยตัวเครื่องจะช่วยอำนวยความสะดวกในการสำรองข้อมูลพวกรูปภาพ หรือวิดีโอที่ถ่าย ให้อัปโหลดขึ้นไปเก็บไว้บนคลาวด์ทันที
ซึ่งที่น่าสนใจคือ 'ตัวจัดการไฟล์' ที่ให้มาในเครื่อง สามารถใช้งานร่วมกับทั้ง 2 แอปฯฝากไฟล์นี้ได้ทันที ทำให้ผู้ใช้สามารถย้ายข้อมูล หรือเก็บสำรองข้อมูลขึ้นไปไว้ได้ง่ายๆ ด้วยคำสั่งปกติๆทั่วไปอย่างการคัดลอก ตัด วาง หรือจะเลือกแชร์ในการส่งต่อผ่านอีเมลก็ได้ ที่สำคัญถ้าต้องการรวมไฟล์ก็มีคำสั่ง Zip มาให้ใช้งานกันด้วย
สำหรับผู้อ่านเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ก็มีการเปิดตัวแอปฯ ASTVผู้จัดการ และ ละครออนไลน์ ให้ผู้ใช้งาน Z10 ได้ดาวน์โหลดไปใช้กัน โดยอินเตอร์เฟสในการใช้งานจะง่ายๆ กล่าวคือมีการแสดงผลข่าวล่าสุด โดยเลือกได้จาก 4 หัวข้อหลักในเมนู เมื่อกดเข้าไปอ่านข่าวแล้วน่าสนใจก็สามารถกดแชร์ได้ทันที
ส่วนแอปพลิเคชันอื่นๆที่ให้มาในเครื่องก็จะประกอบไปด้วย ตัวพยากรณ์อากาศ เข็มทิศดิจิตอล
นาฬิกาปลุก จับเวลา นับเวลาถอยหลัง และใช้ดูเวลาโลกได้ด้วย
ปฏิทินที่ให้มาในเครื่องสามารถซิงค์กับเฟซบุ๊ก และปฏิทินของกูเกิล ได้ทันที ช่วยให้ผู้ที่ชอบบันทึกตารางการทำงานต่างๆไว้ในกูเกิล เรียกใช้งานได้ง่ายดาย
แอปฯเพลง จะรองรับการแสดงผลปกอัลบั้ม โดยมีแถบควบคุมการเล่นอยู่ที่ล่างหน้าจอ
การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์บน Z10 ถือว่าให้ประสบการณ์ที่ลื่นไหลดี ที่สำคัญคือรองรับการใช้งานแฟลชบนหน้าเว็บไซต์ ร่วมกับ HTML5 ด้วย
ส่วนแอปฯอย่างยูทูป ยังเป็นการลิงก์ไปยังหน้าเว็บไซต์แทน ตัว NFC ที่ให้มายังคงต้องหาอุปกรณ์ที่รองรับมาใช้งานควบคู่กันไป ที่น่าสนใจคือเรื่องของตัวคำสั่งเสียง ที่แบล็กเบอร์รีทำได้ดีมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว การฟังเสียงทำได้ดีขึ้น ตอบสนองได้รวดเร็วขึ้นเช่นเดียวกัน
ในส่วนของหน้าจอการใช้งานโทรศัพท์แบ่งออกเป็น 3 แถบหลักคือ การใช้สายล่าสุด ดูรายชื่อผู้ติดต่อ และสุดท้ายคือปุ่มโทรศัพท์ น่าเสียดายที่ตัวปุ่มกดยังไม่รองรับระบบเดารายชื่อที่บันทึกไว้ ทั้งนี้กรณีมีสายเข้าจะใช้การลากนิ้วลงแทนการรับสาย และลากขึ้นแทนการตัดสาย
แอปฯตัดต่อวิดีโอที่ให้มาค่อนข้างเป็นแบบพื้นฐาน กล่าวคือสามารถเลือกคลิปใส่หัวข้อเรื่อง เลือกตัด หรือ นำหลายๆคลิปมาต่อกันได้เท่านั้น ไม่สามารถใส่ลูกเล่นขั้นสูงได้
สำหรับแผนที่ ความละเอียดยังค่อนข้างน้อยอยู่ แต่ก็มีฟังก์ชันอย่างการเพิ่มจุดที่ใช้งานบ่อยอย่าง บ้าน ที่ทำงาน ไว้ให้เลือกนำทางกันด้วย
เครื่องคิดเลขที่ให้มา สามารถเปลี่ยนเป็นเครื่องแปลงค่าวัดต่างๆ หรือจะใช้คำนวณทิปก็ได้
ในส่วนของการตั้งค่าถ้าใครเคยใช้แบล็กเบอร์รีรุ่นอื่นๆมาก่อนก็จะค่อนข้างคุ้นเคยกันดี มีการแบ่งแยกการตั้งค่าออกเป็นส่วนๆ ไล่ตั้งแต่การเชื่อมต่อ การแจ้งเตือน ระบบเสียง บัญชี การแสดงผล ภาษา คำสั่งเสียง ระบบรักษาความปลอดภัย การแชร์มีเดียในเครื่่อง วันเวลา ดูพื้นที่ใช้งานเป็นต้น โดยตัว Z10 ก็มาพร้อมฟังก์ชันในการแชร์อินเทอร์เน็ต 3G ผ่านไวไฟไปให้อุปกรณ์อื่นๆแล้ว (Wi-Fi Hotspot) หรือจะใช้การแชร์ผ่านสายยูเอสบีก็ได้
เข้าไปดูรายละเอียดในส่วนของการแจ้งเตือน ผู้ใช้สามารถเลือกเสียงเฉพาะ หรือเปิด-ปิด การแจ้งเตือนแต่ละประเภทได้ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ BBM ข้อความ และโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ รวมถึงระบบเร่งเสียงเพิ่มกรณีเสียบใช้งานหูฟัง และฟังก์ชันใช้ปุ่มปรับระเดียวเสียงในการกดข้ามเพลง
จะเห็นกันว่าตัวเครื่องรองรับการแสดงผลภาษาไทยโดยสมบูรณ์แล้ว ซึ่งถ้าต้องการสลับภาษาของตัวเครื่องก็สามารถเข้ามาตั้งค่าในจุดนี้ได้ทันที การควบคุมด้วยเสียงยังรองรับเฉพาะภาษาหลักๆเท่านั้น (ยังไม่รองรับภาษาไทย)
ในการแชร์มีเดียผ่านระบบ DLNA ผ้ใช้สามารถตั้งได้ว่าจะแบ่งปันเฉพาะเพลง รูปภาพ หรือวิดีโอ ขณะที่การย้ายไฟล์จากพีซีนอกจากใช้สายยูเอสบีแล้ว ยังสามารถใช้การเข้าถึงด้วย Wi-Fi ได้ด้วย แต่ทั้งนี้ต้องมีการตั้งรหัสล็อกเครื่องเพิ่มเติม สุดท้ายเรื่องของบริการตามตำแหน่ง (Location Service) ก็สามารถเลือกเปิด-ปิด ได้เช่นเดียวกัน
จุดขาย
- การทำงานของตัวเครื่องที่ให้ความลื่นไหล รวมกับระบบมัลติเทสกิงที่สามารถสลับการใช้งานแอปพลิเคชันได้ทันที
- ระบบเดาคำล่วงหน้าบนคีย์บอร์ดเสมือนที่จะบันทึกคำที่ใช้งานบ่อยเพิ่มเติมได้ด้วย
- การเชื่อมต่อที่ให้มาครบทั้ง WiFi Hotspot GPS Bluetooth NFC microHDMI
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- ต้องใช้เวลาเรียนรู้ในการใข้งานเบื้องต้นพอสมควร
- การเปลี่ยนภาษาบนคีย์บอร์ดยังทำได้ค่อนข้างยาก (แต่มีข่าวว่าจะอัปเดตให้สามารถเปลี่ยนได้ด้วยปุ่มเดียวใน OS BB 10.1)
- แบตเตอรีที่ให้มาค่อนข้างน้อย ส่งผลให้แบตหมดไว
- แอปพลิเคชันเด่นๆยังน้อยอยู่ แม้จะรองรับการพอร์ตแอปฯจากแอนดรอยด์มาลงก็ตาม
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
ถ้าเป็นคนที่เคยใช้แบล็กเบอร์รี่มาก่อน หรือ เบื่อกับระบบปฏิบัติการบนสมารท์โฟนรุ่นอื่นๆในปัจจุบัน Z10 ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าค้นหามาลองใช้งาน เนื่องจากเป็นเครื่องที่ทำงานบนระบบใหม่ ซึ่งทำออกมาค่อนข้างสมบูรณ์แบบในการติดต่อสื่อสาร และเชื่อมต่อกับโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆในปัจจุบัน
แม้ตัวเครื่องจะให้สเปกมาไม่ค่อยสูง แต่ความลื่นไหลในการทำงานถือว่าสอบผ่านกับการใช้งานทั่วๆไป แต่ก็ยังมีอีกจุดที่ต้องจับตาคือแอปพลิเคชันที่จะทยอยมาลงอยู่ในแบล็กเบอร์รี เวิลด์ ว่าจะมีความน่าสนใจมากแค่ไหน
อีกจุดหนึ่งที่ต้องให้เป็นข้อมูลไว้คงหนีไม่พ้นเรื่องของแพกเกจในการใช้งาน เพราะบนระบบปฏิบัติการใหม่นี้ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเปิดแพกเกจแบล็กเบอร์รีเพื่อที่จะใช้งานอีเมล หรือ BBM อีกต่อไป เพราะสามารถใช้ผ่านดาต้าแพกเกจทั่วไปได้ทันที แต่ถ้าเป็นลูกค้าองค์กรที่ต้องการความปลอดภัยในการรับส่งข้อมูล ก็สามารถขอเปิดแพกเกจพิเศษกับทางผู้ให้บริการเครือข่ายได้เช่นเดิม
เมื่อตัดภาระเรื่องแพกเกจออกไป ประกอบกับฟีเจอร์ใหม่ที่ออกมาตอบสนองรูปแบบการใช้งานที่เชื่อมต่อโลกออนไลน์ไว้บนมือ ทำให้ Z10 กลายเป็นอีกหนึ่งสมาร์ทโฟนที่น่าสนใจในเวลานี้ แต่อย่างไรก็ตามถ้ายังชื่นชอบกับฟอร์มเฟคเตอร์เดิมๆอย่างปุุ่มคีย์บอร์ด อีกไม่นานนี้ Q10 ก็จะเริ่มวางจำหน่ายแล้วเช่นเดียวกัน
สำหรับแบล็กเบอร์รี Z10 เริ่มวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไปตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2556 ไม่นับร่วมกับโปรโมชันพิเศษซึ่งทางแต่ละโอเปอเรเตอร์ผลักดันออกมาก่อนหน้านี้ สนนราคาเปิดตัวอยู่ที่ 20,900 บาท
Company Related Links :
Blackberry
CyberBiz Social