xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัสก่อนใครในไทย Nikon J1 กล้องไร้กระจก เปลี่ยนเลนส์ได้ เด่นเรื่องไฮสปีด (Review)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




อย่างที่ทราบกันดีว่าช่วงนี้ตลาดกล้องไร้กระจกสะท้อนภาพมีการแข่งขันสูงจนสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดของกล้อง DSLR ระดับล่างไปได้อย่างง่ายดาย เพราะตัวกล้องมีขนาดเล็กแต่เซนเซอร์รับภาพกลับเทียบเท่า DSLR และเป็นที่น่าสังเกตว่าค่ายผู้ผลิตที่เป็นผู้เริ่มต้นตลาดกล้องไร้กระจกสะท้อนภาพกลับไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ของวงการกล้องอย่างแคนนอนหรือนิคอน แต่กลับเป็นแบรนด์อย่างพานาโซนิค โอลิมปัส หรือ โซนี่

แน่นอนว่า 3 แบรนด์ที่นำร่องไปก่อนประสบความสำเร็จกับกล้องไร้กระจกสะท้อนภาพสูงมากในปีที่ผ่านมา จนในที่สุดยักษ์ใหญ่ของวงการอย่าง นิคอน ก็ต้องกระโดดลงมาเล่นตลาดระดับนี้กับเขาบ้าง

โดยนิคอน ให้ชื่อกล้องไร้กระจกสะท้อนของตนว่า Nikon 1 ที่นิคอนขอเรียกประเภทของกล้องชนิดนี้ว่า ACIL (Advanced Camera with Interchangeable Lens) พร้อมเซนเซอร์ฟอร์แมตใหม่แบบ CX

ซึ่งสำหรับวันนี้ทีมงานผู้จัดการไซเบอร์ก็ได้รับกล้อง Nikon 1 ในรุ่น J1 ซึ่งเป็นรุ่นเล็กของตระกูลวัน มาทดสอบประสิทธิภาพ


วิดีโอแกะกล่อง Nikon J1

การออกแบบและสเปกพื้นฐาน Nikon J1




Nikon J1 เป็นกล้อง ACIL รุ่นเล็กสุดในตระกูล โดยรุ่นที่ทีมงานได้รับมาจะเป็นชุด Double Zoom Kit คือนอกจากตัวกล้อง J1 แล้ว ยังมาพร้อมเลนส์ 2 ชุด คือ 1Nikkor 10-30mm ที่ค่า f-stop 3.5-5.6 และ 1Nikkor 30-110mm ที่ค่า f-stop 3.8-5.6

ในส่วนของบอดี้ตัวกล้องจะเป็นพลาสติก ขนาดกว้าง X ยาวประมาณ 1 ฝ่ามือ พร้อมน้ำหนักเบาประมาณ 234-240 กรัม



ด้านเซนเซอร์ CMOS รับภาพจะเป็นฟอร์แมต CX ที่นิคอนเป็นผู้พัฒนาเอง พร้อมหน่วยประมวลผล EXPEED 3 โดยขนาดของเซนเซอร์จะอยู่ที่ 13.2x8.8 มิลลิเมตร (คูณ 2.7 เท่า) รองรับความละเอียดภาพสูงสุด 10.1 ล้านพิกเซล และอัตราส่วนภาพจะอยู่ที่ 3:2 และเลือกเป็น 16:9 ได้

**เมาท์ของ Nikon 1 จะเรียกตามชื่อของกล้องคือ Nikon 1 และเลนส์จะมีชื่อว่า 1Nikkor**



นอกจากนั้นยังรองรับการถ่าย RAW File (NEF Format) แบบ 12-bit พร้อมชัตเตอร์สปีดความเร็วสูงถึง 1/16,000 (ชัตเตอร์ช้าสุดคือ Bulb) พร้อมความสามารถในการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง 5 เฟรมต่อวินาที และ 10-60 เฟรมต่อวินาทีเมื่อใช้โหมด Electronic (Hi) shutter

มาในส่วน ISO หรือค่าความไวแสงจะมีค่าต่ำสุดที่ 100 และสูงสุดที่ Hi 1 (ประมาณ 6,400) พร้อมระบบโฟกัส 135 จุดสำหรับ Single-point AF และ 41 จุด สำหรับ Auto-area AF นอกจากนั้นยังรองรับการโฟกัสแบบ Subject tracking และ Face-priority AF

สำหรับการถ่ายวิดีโอความละเอียดสูง HD Movie จะรองรับขนาดภาพตั้งแต่ 1080/60i, 1080/30p, 720/60p Slow Motion 640x240/400fps และ 320x120/1200fps ในรูปแบบไฟล์ .MOV

ส่วนสเปกแบบละเอียดผู้อ่านสามารถเข้าไปชมได้โดย >>คลิกที่นี่<<


Hands on Nikon J1



จากสเปกกล้องกลับมาที่ปุ่มคำสั่งรอบๆ ตัวกล้อง โดยที่บริเวณด้านหลังของกล้องนอกจากจอภาพขนาด 3 นิ้ว ที่บริเวณด้านซ้ายบนจะเป็นสวิตซ์เปิดหัวแฟลช ส่วนด้านขวาสุดจากด้านบนปุ่ม F คือปุ่มเข้าใช้งานฟังก์ชันพิเศษต่างๆ ในแต่โหมด ถัดมาจะเป็นแกนเลื่อนขึ้นลงใช้แทนการซูมรูปภาพในโหมด Preview ส่วนในโหมดถ่ายภาพจะทำหน้าที่แทนการปรับชัตเตอร์สปีดหรือรูรับแสงได้

ถัดลงมาจะเป็น Shooting Mode ที่จะมีเพียง 4 โหมดเท่านั้น ได้แก่

จากล่างสุด Movie (สามารถกดปุ่ม F เพื่อเลือกใช้ระหว่าง HD Movie และ Slow Motion ได้)
Still Image หรือโหมดถ่ายภาพนิ่ง (กดปุ่ม F เพื่อเลือกโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องแบบต่างๆ)
Smart Photo Selector เป็นโหมดช่วยถ่ายภาพ 5 ภาพในการกดชัตเตอร์หนึ่งครั้ง เพื่อให้ผู้ใช้เลือกภาพที่ดีที่สุดได้
Motion Snapshot เป็นโหมดถ่ายภาพนิ่งและเคลื่อนไหวพร้อมกันจากนั้นตัวกล้องจะรวมภาพไว้พร้อมกับธีมดนตรีเพื่อสร้างอารมณ์ของภาพถ่ายได้ (กดปุ่ม F เพื่อเลือกธีมดนตรีประกอบ)

จบจากส่วนของ Shooting Mode จะเข้าสู่ปุ่มคำสั่งส่วนล่างและ Command Dial เริ่มจากซ้ายจะเป็นปุ่ม DISP หรือปุ่มกดเพื่อแสดงรายละเอียด EXIF ของภาพถ่ายแต่ละภาพ ถัดมาด้านขวาจะเป็นปุ่ม Preview ภาพที่ถ่ายไปแล้ว

มาที่ด้านล่างซ้าย Menu จะสามารถกดเพื่อเข้าไปปรับแต่งค่าตัวกล้องได้และสุดท้ายส่วนของถังขยะคือปุ่มลบภาพ

ส่วน Command Dial ที่นอกจากจะใช้หมุนควบคุมการเลือกคำสั่งในเมนูแล้ว ยังสามารถกดซ้าย ขวา บน ล่าง เพื่อใช้แทนคำสั่งได้แก่

กดบน AE-L/AF-L ล็อกค่าแสงหรือล็อกโฟกัส
กดล่าง รูปสายฟ้า สามารถปรับค่าแฟลชได้
กดซ้าย รูปนาฬิกา สามารถตั้งเวลาถ่ายได้ รวมถึงตั้งการใช้รีโมทได้ด้วย
กดขวา รูป +/- สามารถชดเชยแสงได้ตั้งแต่ -3.0 ถึง +3.0

ที่นี้เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้หลายคนอาจเกิดความสงสัยในใจว่า กล้องให้แต่โหมดออโต้มาหรืออย่างไร คำตอบที่ทีมงานตอบคือไม่ใช่ กล้องมีโหมด Shutter-Priority Auto (S) Aperture-Priority Auto (A) Aperture-Priority (A) Manual (M) Scene Auto Selector มาให้แต่ถูกซ่อนอยู่เท่านั้น



โดยวิธีการเข้าไปปรับโหมดถ่ายภาพดังกล่าวเพียงผู้ใช้หมุน Shooting Mode ไปที่ Still Image (รูปกล้องสีเขียว) จากนั้นกดปุ่ม Menu แล้วเลื่อนเมนูด้านซ้ายมือสุดมาที่รูปกล้องตรงกลาง และด้านขวาตรง Exposure Mode กดเข้าไปจะเห็นโหมดถ่ายภาพต่างๆ ให้ผู้ใช้เลือกใช้งานได้ทันที





กลับมาที่ด้านหน้าของตัวกล้องจะเป็นในส่วนของช่องยิงแสงวัดโฟกัส ปุ่มปลดเลนส์ออก อีกทั้งจากภาพด้านบนถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าที่เลนส์ Nikon 1 ทุกรุ่นจะมาพร้อมปุ่มล็อกเลนส์ ที่ผู้ใช้สามารถล็อกเลนส์เมื่อไม่ใช้งานได้




ส่วนด้านบนของตัวกล้องจากซ้ายจะเป็นไฟแฟลช สวิตซ์ปิด-เปิดตัวเครื่อง ปุ่มชัตเตอร์และปุ่มบันทึกวิดีโอ




ด้านขวาของตัวกล้องจะเป็นในส่วนของพอร์ต miniUSB และ HDMI ส่วนด้านล่างของตัวกล้องจะเป็นช่องใส่แบตเตอรีและช่องใส่การ์ดความจำแบบ SD, SDHC และ SDXC 1 ช่อง

ก็จบไปแล้วสำหรับการออกแบบและสเปกพื้นฐานของ Nikon J1 และก่อนจะเข้าสู่หัวข้อถัดไป ทางทีมงานขอนำเสนอคลิปวิดีโอจัดเต็ม 30 นาทีเจาะฟีเจอร์กล้อง Nikon J1 และอธิบายการใช้งานโหมดถ่ายภาพต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนขึ้นครับ



จุดขาย Nikon J1

จบจากวิดีโอ 30 นาทีด้านบนไปแล้วผู้อ่านหลายท่านคงเห็นภาพการใช้งาน Nikon J1 ชัดเจนและเข้าใจมากยิ่งขึ้น โดยต่อจากนี้จะเป็นในส่วนของการชำแหละจุดขาย ฟีเจอร์ไม้ตายของ Nikon J1

1.เปิด - สแตนบายกล้องด้วยความเร็วสูง

ถือเป็นจุดขายส่วนแรกของ Nikon J1 ที่สามารถเปิดเครื่องพร้อมสแตนบายด้วยเวลาไม่เกิน 2 วินาที เพราะจากวิดีโอคลิป 30 นาทีด้านบนจะเห็นว่าระหว่างที่กล้องปิดอยู่ ผู้ใช้สามารถเลื่อนล็อคเลนส์ไปที่ระยะเริ่มต้นเท่านั้น กล้องจะเปิดโดยอัตโนมัติและพร้อมใช้งานทันที สาวก Street Photo ต้องถูกใจแน่นอน

2.สามารถ่ายวิดีโอ 1080p แบบปรับ f/stop และ ISO พร้อมโฟกัสรวดเร็วและฉลาด



ตัวกล้อง Nikon J1 มาพร้อมความสามารถในการบันทึกวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุด 1080/60i อีกทั้งระหว่างถ่ายวิดีโอผู้ใช้ัยังสามารถปรับค่า F/stop ได้ รวมถึงสามารถปรับค่าความไวแสง ISO ได้ตามต้องการ นอกจากนั้นทางนิคอนยังชูเรื่องระบบโฟกัสทั้งถ่ายวิดีโอและภาพนิ่งที่รวดเร็วมาก

3.ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง


วิดีโอตัวอย่างภาพถ่ายต่อเนื่องแบบ 5 fps Continuous Shooting


วิดีโอตัวอย่างภาพถ่ายในโหมด Electronic [Hi] ที่ความเร็ว 10 และ 60 เฟรมต่อวินาที

สเปกการถ่ายภาพต่อเนื่องของกล้อง Nikon J1 จะอยู่ที่ประมาณ 5 เฟรมต่อวินาที แต่เมื่อเปิดใช้งานโหมด Electronic [Hi] ความเร็วของการถ่ายภาพต่อเนื่องจะสามารถตั้งได้สูงถึง 10-60 เฟรมต่อวินาที พร้อมจำนวนภาพที่บันทึกได้ในหนึ่งวินาทีจะอยู่ที่ 12 รูป

4.High Speed Video Record (Slow Motion Playback)



ถือว่าเป็นกล้องไร้กระจกสะท้อนภาพตัวแรกที่ทีมงานเคยทดสอบ ที่ใส่ระบบบันทึกวิดีโอความเร็วสูงไว้เป็น Gimmick เล็กๆ ในกล้อง โดยความเร็วในการบันทึกในโหมดวิดีโอความเร็วสูงจะมีให้เลือก 2 รูปแบบคือ 400fps ที่ความละเอียด 640x240 พิกเซล และ 1200fps ที่ความละเอียด 320x120 พิกเซล โดยในส่วนคุณภาพวิดีโอเป็นอย่างไรลองชมได้จากคลิปวิดีโอตัวอย่างด้านบน (คลิปวิดีโอด้านบนถ่ายที่ความเร็ว 400fps ความละเอียด 640x240 พิกเซล)

5.Motion Snapshot สร้างภาพถ่ายให้มีชีวิต



ฟังก์ชันนี้มีหลักการทำงานคือผู้ใช้สามารถถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอขนาดสั้นประมาณ 1 วินาที จากนั้นกล้องจะทำการรวมภาพวิดีโอและภาพนิ่งเข้าด้วยกันพร้อมใส่เสียงดนตรีตามธีมที่เราเลือก ซึ่งจะช่วยให้ภาพนิ่งธรรมดาดูมีชีวิตโดยธีมดนตรีจะช่วยให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมกับภาพถ่ายมากขึ้น

6.Smart Photo Selector

ฟังก์ชันนี้เป็นเหมือนตัวช่วยสำหรับการถ่ายภาพบุคคลหรือภาพแคนดิดต่างๆ เพราะเมื่อผู้ใช้เลือกโหมด Smart Photo Selector และกดชัตเตอร์ลงไปหนึ่งครั้ง หน้ากล้องจะเปิดค้างไว้และถ่าย 5 ช็อตในครั้งเดียว จากนั้นเมื่อ Preview ภาพผู้ใช้สามารถเลือกภาพที่ดีที่สุดได้

7.สามารถถ่ายภาพนิ่งระหว่างถ่ายวิดีโอ



อีกหนึ่งฟังก์ชันที่เป็นจุดขายที่น่าสนใจของ Nikon J1 อย่างมาก เพราะระหว่างที่ผู้ใช้ถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงอยู่ ยังสามารถกดปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพนิ่งได้พร้อมกัน โดยเรื่องของโฟกัสกล้องจะจัดการให้อัตโนมัติ

8.Subject Tracking โฟกัสตามวัตถุ



เรื่องของ Subject Tracking เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่กล้องรุ่นใหม่ๆ นิยมใส่เข้ามา ซึ่งใน Nikon J1 ก็ได้บรรจุฟังก์ชันดังกล่าวมาให้ และสามารถตั้งโฟกัสติดตามวัตถุได้อย่างรวดเร็ว (ลองชมสาธิตการใช้งานที่วิดีโอด้านบน)

9.ซอฟท์แวร์ ViewNX 2 จำเป็นต้องใช้ร่วมกับ Nikon J1





สำหรับผู้ใช้ที่ชื่นชอบฟังก์ชัน Motion Snapshot ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องติดตั้งโปรแกรม ViewNX 2 ที่แถมมากับ Nikon J1 ลงไปด้วย เพราะการเปิดไฟล์ Motion Snapshot ถ้าเปิดกับ Windows Explorer จะไม่สามารถแสดงผลได้และจะมองเห็นไฟล์แยกเป็นสองส่วนคือไฟล์ภาพนิ่งกับไฟล์วิดีโอที่ Motion Snapshot จับไว้ให้

แต่เมื่อผู้ใช้เปิดไฟล์กับโปรแกรม ViewNX 2 ไฟล์ดังกล่าวจะรวมกันและสามารถแสดงผลพร้อม Export ไฟล์ออกมาได้อย่างถูกต้องตามที่ชมพรีวิวในตัวกล้อง

นอกจากนั้นตัวโปรแกรม ViewNX 2 ยังสามารถประมวลผล RAW Files จากกล้องนิคอนรวมถึงมาพร้อมซอฟท์แวร์สร้างตัดต่อภาพยนตร์ Short Movie Creator ด้วย

10.ตัด แต่ง ครอปรูปได้ภายในกล้อง

ถือเป็นจุดขายของนิคอนมานานสำหรับฟังก์ชัน ตัด แต่ง ครอปรูป ที่ใน Nikon J1 ยังถูกบรรจุไว้ใน Menu กล้อง อีกทั้งในกล้องยังบรรจุฟังก์ชัน D-Lighting สำหรับใช้แต่งรูปที่ถ่ายย้อนแสงและติดโทนมืดไว้ใน Menu ด้วย

ทดสอบประสิทธิภาพ

ทดสอบค่าความไวแสง (ISO)





กล้อง Nikon J1 จะให้ช่วง ISO มาตั้งแต่ 100-3200 และสามารถ Boost ค่าความไวแสงพิเศษได้ที่ Hi1 หรือประมาณ 6400 ซึ่งจากการทดสอบด้วยการถ่ายภาพในสภาพแสงไฟบ้านธรรมดาแบบไม่มีการจัดแสงใดๆ พบว่าที่ ISO ตั้งแต่ 100-3200 กล้องสามารถขจัดสัญญาณรบกวนได้เรียบเนียนมาก ส่วนที่ค่า Hi1 นั้นก็ยังถือใช้ได้ แต่รายละเอียดภาพอาจเบลอ ไม่คมชัด ซึ่งถ้าผู้ใช้ไม่ต้องการขนาดภาพที่ใหญ่มากเพราะต้องการแค่นำรูปไปโพสต์ขึ้น Facebook หรืออัปโหลดตาม Webboard การใช้โหมด Hi1 เมื่ออยู่ในภาวะคับขันก็ถือว่าไม่เลวร้ายมากนัก




มาที่การทดสอบเรื่องความคมชัดของภาพ โดยภาพนี้เลือกถ่ายเป็นแนว Landscape ย้อนแสงเล็กน้อยและเลือกถ่ายเป็น RAW Files พร้อม Process จากโปรแกรม ViewNX ของนิคอน โดยทีมงานตั้ง ISO ที่ 100 รูรับแสง f10 และชัตเตอร์ที่ 250 ส่วนช่วงเลนส์ที่ใช้อยู่ที่ 10 มิลลิเมตร โดยถ้ามองจากรูป Fit Size รูปแรกจะพบว่าความคมชัดอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนเรื่องสีสันที่ได้ก็จัดจ้านตามแบบฉบับนิคอน

แต่เมื่อลองเพ่งในรูปที่ 2 แบบครอป 100% จะเห็นว่ารายละเอียด (ที่บ่งชี้ถึงคุณภาพของไฟล์) ว่ายังไม่ค่อยเรียบเนียน ออกแนวเบลอๆ




ผิดจากการถ่ายในสภาพแสงปกติ ไม่มีการย้อนแสงและวัตถุไม่มีสีสัน การไล่สีซับซ้อนเหมือนภาพแรก โดยรูปนี้ถ่ายที่ความเร็ว 160 ISO 100 f/11 และระยะเลนส์ 10 มิลลิเมตร พบว่ารายละเอียดของภาพทั้งหมดจะดูเรียบเนียนและคมชัดกว่า




แต่เพื่อเป็นการยืนยันเรื่องความคมชัดเมื่อครอป 100% ทีมงานจึงขอเปลี่ยนเลนส์เป็น Tele และเปลี่ยนเป็นถ่ายแบบ RAW File พร้อม Process จากโปรแกรม ViewNX ของนิคอน โดยใช้ระยะ 110 มิลลิเมตร ที่ค่า f/5 กลับพบว่าความคมชัดดีขึ่นจากภาพแรก แต่เรื่องคุณภาพของไฟล์ยังแค่พอใช้เท่านั้น




ลองถ่ายโดยใช้โหมด Scene Auto Selector และไม่ปรับค่าแสงใดๆ ดู พบว่า จากภาพตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงความเป็นนิคอนมาก เพราะการกินสีเด่นโดยเฉพาะสีแดง เหลือง ค่อนข้างโดดเด่นชัดเจนมาก ยิ่งถ่ายเป็น JPEG แล้วให้หน่วยประมวลผล EXPEED เป็นคนจัดการทั้งหมดภาพที่ได้ก็เป็นอย่างตัวอย่างที่เห็น



ลองใช้โหมดตั้งในส่วนของ Picture Control เป็นถ่ายภาพบุคคลปรับชดเชยแสง +1 ที่ค่าชัตเตอร์สปีด 200 ISO280 และระยะเลนส์ 64 มิลลิเมตร



กลับมาที่การทดสอบถ่ายมาโครบ้าง ภาพนี้ตั้งเป็นออโต้ทั้งหมด ให้กล้องหาค่าต่างๆ เอง โดยเลนส์ที่ใช้คือ 30-110 มิลลิเมตร (ซูมที่ระยะ 86 มิลลิเมตร f/5.6) พบว่าถึงแม้เซนเซอร์ CX ในกล้องจะเล็ก และหลายคนคงตั้งแง่เรื่องการทำ Depth of Field (DOF) ภาพนี้น่าจะบอกได้ชัดเจนว่า เซนเซอร์เล็กก็สร้าง DOF ได้ไม่ยาก



หรืออย่างภาพนี้ใช้โหมดและการตั้งค่าแบบเดียวกับรูปบน พบว่า ถ้าอยากให้เกิด DOF ก็ไม่ได้ยากกว่าการถ่ายบนเซนเซอร์ APS-C หรือฟลูเฟรมเท่าใดนัก (ตามความรู้สึกของทีมงานครับ อาจมีคนคิดแย้งได้)



มาทดสอบถ่ายนกบินบ้าง โดยภาพนี้ทีมงานตั้งทุกอย่างเป็น Manual ยกเว้น ISO โดยอย่างแรกตั้งชัตเตอร์สปีดไปที่ประมาณ 500 f/5.6 ระยะที่ใช้คือ 110 มิลลิเมตร และตั้งระบบโฟกัสและระบบถ่ายภาพเป็นถ่ายภาพต่อเนื่อง ผลที่ได้ก็เป็นตามภาพประกอบ



ลองมาทดสอบการถ่ายแสงไฟตอนกลางคืนกันบ้าง โดยภาพนี้ตั้ง ISO 200 รูรับแสง f/16 ชัตเตอร์สปีก 8 วินาที ที่ระยะเลนส์ 10 มิลลิเมตร พบว่าเลนส์สร้างแฉกที่สวยงามมาก ส่วนการเก็บภาพ โทนสีต่างๆ ทำได้ดี คมชัดและให้แสงที่ตรงกับสภาพแวดล้อมตรงนั้นพอสมควร (ออกโทนอมเหลืองกว่าความจริงเล็กน้อย)



จากนั้นทดลองใช้มือ ถือกล้องถ่ายบ้าง โดยทีมงานตั้ง ISO ไปที่ 1600 ที่ค่า f/5.6 และความเร็วชัตเตอร์ 1/8 พบว่าระบบกันสั่นช่วยเหลือได้มากถึงแม้ภาพที่ได้จะไม่คม 100% แต่ก็อยู่ในเกณฑ์พอใช้



สุดท้ายทดสอบระยะเลนส์ในชุดที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะมีเลนส์ 10-30 มิลลิเมตร โดยเมื่อคูณ 2.7 จะเท่ากับระยะ 27-81 มิลลิเมตรของเลนส์ฟลูเฟรม ส่วนอีกกระบอกจะเป็นระยะ 30-110 มิลลิเมตร หรือคูณ 2.7 จะเท่ากับระยะ 81-297 มิลลิเมตร

ซึ่งจากการทดสอบพบว่าตัวเลนส์ยังให้ประสิทธิภาพที่ดี โดยเฉพาะเรื่องของแฉกที่ค่า F สูงๆ ค่อนข้างคม ส่วนระยะไวด์ distortion ไม่เยอะมาก และระยะ Tele ที่ 110 ก็ให้ภาพที่คมชัด ซึ่งถ้ามองเรื่องเลนส์ที่ให้มาแล้วไม่ผิดหวังสำหรับแฟนนิคอนแน่นอน

เปรียบเทียบคุณภาพไฟล์และค่าความไวแสงกับกล้องแบรนด์อื่น


**ในส่วนนี้จะเป็น iFrame แปะไว้ ผู้อ่านสามารถคลิกที่ภาพที่ต้องการรับชมเพื่อขยายใหญ่ได้ ส่วนถ้าต้องการชมภาพต่อไปขณะอยู่ในหน้าขยายรูปใหญ่ให้กด Next ที่มุมบนขวา**

ตอบจุดขายหรือไม่/ข้อสังเกต

ก่อนจะเข้าเรื่องตอบจุดขายว่ากล้อง Nikon J1 ดีไม่ดีตรงจุดไหนอย่างไร ทีมงานอยากให้ทุกคนลืมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมดก่อนและฟังข้อเท็จจริงที่ทีมงานพบระหว่างทดสอบเป็นเวลากว่า 2 อาทิตย์

แน่นอนว่าตั้งแต่ที่ทีมงานได้ลอง Nikon J1 และ V1 ในงานเปิดตัวมารู้สึกไม่ชื่นชอบหลายๆ ส่วน ตั้งแต่การใช้งาน การปรับค่าที่ยุ่งยาก ต้องอาศัยการศึกษาและทำความเข้าใจนาน แต่เมื่อได้ทดสอบตัวจริงแบบเต็มๆ แล้ว ความคิดด้านลบกับกล้อง Nikon 1 ก็เปลี่ยนไปบ้าง รวมถึงเห็นข้อดีมากขึ้น

- โดยจุดขายจุดแรกที่นิคอนชูอย่างมากใน Nikon J1 ก็คือเรื่องระบบออโต้โฟกัสที่เร็ว เยอะ และอัจฉริยะ ซึ่งจากการทดสอบพบว่าทุกอย่างตอบโจทย์ได้ดีมาก เพราะจากการทดสอบที่เห็นชัดเลยคือแค่กดชัตเตอร์ สำหรับการถ่าย Landscape โฟกัสที่ปรากฏขึ้นมาต้องมากกว่า 20 จุดแน่นอน

ยังไม่นับเรื่องระบบ Subject Tracking ที่รวดเร็วและตามค่าสีได้เที่ยงตรงรวมถึงการโฟกัสระหว่างถ่ายวิดีโอทำได้รวดเร็วตามคำคุยจริงๆ

- มาในเรื่องของการสแตนบายกล้องที่รวดเร็ว อย่างที่ทีมงานทดสอบให้ชมว่า Nikon J1 แค่หมุนเลนส์ปลดจาก Lock เข้ามาที่ระยะเริ่มของเลนส์ กล้องก็พร้อมถ่ายได้ทันที

- ในส่วนของระบบถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงจาดความสามารถของม่านชัตเตอร์ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าทำได้สมคำคุยที่ความเร็วสูงสุด 60 เฟรมต่อวินาที แต่ทั้งนี้คาดว่า Buffer ของกล้องที่ให้มาน้อยทำให้การบันทึกภาพทำได้เพียง 12 ภาพเท่านั้น แถมการบันทึกลงการ์ดความจำก็ทำได้ค่อนข้างช้า ทำให้ความต่อเนื่องเมื่อนำไปใช้งานในสถานการณ์จริงอาจติดขัด

- ในส่วนเรื่องคุณภาพของไฟล์ที่เกิดข้อกังขาด้านลบมากมายว่า เซนเซอร์เล็ก (เล็กกว่า M3/4) ภาพที่ได้คงคอมแพกต์แน่นอน ซึ่งจากที่ทีมงานได้ทดสอบ ยอมรับครับว่าเรื่องคุณภาพไฟล์อาจไม่สวย โดยเฉพาะการเก็บภาพที่มีสภาพแสงขัดแย้งหรือมีรายละเอียดของเม็ดสีมากๆ ไฟล์ที่ได้เมื่อมองแบบครอป 100% จะแย่ลงทันที แต่เรื่องคุณภาพในการถ่ายภาพ เช่น DOF หรือการรับแสงถือว่าเยี่ยมยอด ยิ่งบวกกับความที่นิคอนเด่นเรื่องเลนส์อยู่แล้ว ภาพที่ได้จึงมีเอกลักษณ์ความเป็นนิคอนอยู่มาก

- มาที่เรื่องระบบ Auto White Balance และ Active D-Lighting ที่ทำงานสอดประสานกันค่อนข้างดีทำให้สีที่ได้ค่อนข้างตรงธรรมชาติและช่วยเรื่องการถ่ายย้อนแสงได้ดี แต่อาจมีติดเหลืองค่อนข้างมากเมื่อถ่ายกับสภาพแสงจากไฟทังสเตน

- สำหรับส่วนของ ความไวแสง ISO ในมุมมองของนักถ่ายภาพมืออาชีพ แค่ดูเผินๆ รู้สึกว่านิคอนจะให้มาน้อยเพียง 6400 เท่านั้น แต่กลับให้ความเร็วชัตเตอร์มาสูงถึง 16,000 ซึ่งดูไม่น่าจะไปด้วยกันได้เลย เพราะความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขนาดถ่ายกระสุนหยุดนั้น ขนาดแสงดวงอาทิตย์จ้าๆ ยังแทบถ่ายได้ยาก แถมที่ค่า ISO ที่ 3200-6400 ไฟล์ที่ได้ก็คงพอดูได้แค่บนหน้าเว็บเท่านั้น เพราะสัญญาณรบกวนมากเหลือเกิน

แต่ถ้าลบมุมของช่างภาพมืออาชีพออกและมองแบบคนธรรมดาหรือช่างภาพแคนดิตสมัครเล่นที่อยากมีกล้องตัวเล็กๆ ประสิทธิภาพดีไว้เป็นอาวุธคู่กายเมื่อต้องออกไปท่องเที่ยว ซึ่งเป็นไปตามกลุ่มเป้าหมายของ Nikon ตระกูล 1 จะพบว่า ในค่าความไวแสงแบบใช้งานได้จริง ไร้สัญญาณรบกวนถ้ามองแบบครอป 100 ระหว่าง 100-1600 จะเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก แต่เมื่อมองแบบรูปเต็มอัตราส่วนจะกลายเป็นว่าที่ค่า ISO 100-3200 สามารถใช้งานได้ดีเยี่ยม และถือเป็นช่วงค่า ISO ที่เหมาะสมกับการถ่ายทุกสภาพแสงอยู่แล้ว ยิ่งทางนิคอนใส่ระบบ Auto ISO แบบเลือกช่วงได้เข้ามาแล้ว ทำให้ผู้ใช้สามารถกำหนดช่วง ISO ที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพแสงได้ดียิ่งขึ้น

- ส่วนเรื่องฟังก์ชันเสริมอย่างถ่ายวิดีโอไฮสปีด Motion Snapshot หรือระบบช่วยถ่ายอย่าง Smart Photo Selector ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าจะเหมาะแก่ผู้ใช้ที่เป็นทั้งมือใหม่หรือต้องการความแปลกใหม่ไม่เหมือนใครในการถ่ายภาพ

- คราวนี้มาในเรื่องข้อสังเกตหลักๆ คงอยู่ที่การวาง Shooting Mode ไว้ด้านในเมนู ทำให้การเรียกใช้ยุ่งยาก และอาจทำให้การถ่ายภาพชะงักเมื่ออยู่ในสถานการณ์จริงๆ ที่จำเป็นต้องใช้ความรวดเร็วในการปรับโหมดต่างๆ อีกทั้งด้วยรูปทรง Nikon J1 เป็นพลาสติก ดูบอบบาง ไม่มีส่วนของยางจับกันลื่นและด้วยขนาดที่เล็ก ทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่จับไม่กระชับมือ

และอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ได้กล่าวไว้ก็คือ ตัวกล้องไม่มีการใส่ฟีเจอร์สร้างสรรค์ภาพแปลกๆ เช่น HDR/DRO หรือฟีเจอร์ดูดสี สร้างภาพ Soft Focus มาให้เหมือนแบรนด์อื่น จนทำให้กล้อง Nikon J1 ดูเป็นเหมือนกล้องไร้กระจกที่มีความเป็น Original จนขาดความน่าสนใจอย่างมาก

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?

อย่างแรกต้องขอบอกก่อนครับว่าถ้ามองในเรื่องคุณภาพของกล้อง Nikon J1 หลังจากทดสอบใช้งานแล้วพบว่าคุณภาพก็ไม่ได้แย่กว่ากล้องไร้กระจกตัวอื่นแต่อย่างใด ถึงแม้เซนเซอร์จะเล็กแต่ก็ใช่ว่าคุณภาพจะแย่ตามเซนเซอร์ เพราะอย่าลืมว่านิคอนนำหน่วยประมวลผล EXPEED 3 ที่มีจุดเด่นเรื่องการ Optimized ภาพ สัญญาณรบกวนทั้งภาพนิ่งและวิดีโอที่ค่า ISO ตั้งแต่ 100-1600 ก็เรียบเนียน ซึ่งจากการทดสอบก็พบว่าอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ



ส่วนสำหรับราคาขายของ Nikon J1 ชุด Double Zoom Kit ตอนนี้ทางนิคอนเคาะมาแล้วที่ 25,900 บาทตามรูปประกอบด้านบน ซึ่งถือว่าน่าสนใจและดูคุ้มค่าเงิน เพราะนอกจากตัวกล้อง J1 แล้วเลนส์ที่ให้มายังถือว่าระยะครอบคลุมการใช้งานที่สุดแล้วในบรรดากล้องไร้กระจกในตลาดตอนนี้ รวมถึงเป็นกล้องที่สามารถใช้ร่วมกับ Adapter แปลงใส่เลนส์ DSLR ของนิคอนและใช้งานออโต้โฟกัสได้มากรุ่นที่สุด

แต่ก่อนจบบทความทีมงานอยากเน้นย้ำอีกครั้งว่า สำหรับผู้ชื่นชอบอะไรเดิมๆ เน้นฟังก์ชันช่วยถ่ายภาพแบบจริงจัง เช่น ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง ไม่ชอบเอ็ฟเฟ็กต์แต่งภาพหลอกลวงเกินความจำเป็น ไม่เน้นความละเอียดภาพมากๆ หรือชื่นชอบเลนส์ขนาดเล็ก อยากนำไปใช้ร่วมกับเลนส์ DSLR ของนิคอนเกือบทุกรุ่นได้อย่างไม่มีปัญหา และที่สำคัญยอมรับข้อสังเกตที่ทีมงานพบได้ Nikon J1 ก็ถือเป็นตัวเลือกทีดีอีกหนึ่งตัวเลือกเลยทีเดียว

ตัวเลือกอื่น

- Sony NEX-C3 ราคา 21,990 บาท พร้อมเลนส์คิท 18-55 มิลลิเมตร
- Panasonic Lumix DMC-GF3 ราคา 24,900 บาท พร้อมเลนส์คิท 14mm.+ 14-42mm
- Olympus PEN E-PL3 ราคา 27,900.00 บาท พร้อมเลนส์คิท 17mm+14-42

Company Related Link :
Nikon











เมื่อคั้งค่าสีเป็น AdobeRGB
เมื่อคั้งค่าสีเป็น sRGB
กำลังโหลดความคิดเห็น