xs
xsm
sm
md
lg

Review : Blackberry Playbook มัลติ(ทาสกิง)มีเดียแท็บเล็ต ขนาดน่าจับต้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




จุดเด่นที่สุดของแบล็กเบอรี เพลย์บุ๊ก คงหนีไม่พ้นเรื่องของการทำงานในระบบ "มัลติทาสกิง" ที่เชื่อว่าเป็นที่สุดของแท็บเล็ตในขณะนี้ รวมกับความสามารถของหน่วยประมวลผลแบบดูอัลคอร์ ที่ช่วยประมวลผลวิดีโอความละเอียดสูง 1080p ยังไม่รวมกับ Blackberry Bridge ที่ช่วยดึงความสามารถของ แบล็กเบอรี เซอร์วิส อย่างพุชเมล และแบล็กเบอรีแมสเซนเจอร์

แต่ในขณะเดียวกัน จากความปลอดภัยในระบบปฏิบัติการทำให้ยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน ถ้าไม่มีการเชื่อมต่อกับแบล็กเบอรี ก็จะไม่สามารถใช้งานแบล็กเบอรี เซอร์วิส เช่นกัน ส่วนในเรื่องภาษาไทยสามารถอ่านได้ และมีการยืนยันออกมาแล้วว่า ตัวเครื่องจะสามารถป้อนภาษาไทยได้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน

Feature On Blackberry Playbook



ด้วยระบบปฏิบัติการ QNX บน BlackBerry Tablet ที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับใช้งานบนแบล็กเบอรี เพลยบุ๊ก บนพื้นฐานของลินุกซ์ ทำให้การใช้งานต่างๆ ค่อนข้างเรียบง่าย สามารถเรียนรู้วิธีการใช้งานได้รวดเร็ว จากการสัมผัสหน้าจอตามที่ต้องการ โดยยังคงพื้นฐานอินเตอร์เฟส เช่นเดียวกับในสมาร์ทโฟนแบล็กเบอรี

เนื่องจากตัวเครื่องไม่มีปุ่มกดใดๆ ทำให้รูปแบบการควบคุมจะใช้การสัมผัสที่หน้าจอเป็นหลัก ร่วมกับการลากนิ้วจากขอบจอเข้ามายังหน้าจอเพื่อสั่งงานในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลากจากล่างขึ้นบน เพื่อย่อหน้าต่างที่ใช้งานอยู่

การลากจากขอบจอซ้าย-ขวา เพื่อสลับการใช้งานแบบมัลติทาสกิง การลากจากขอบจอบน เพื่อเรียกเมนูการทำงานของแอปพลิเคชันต่างๆ และการลากจากมุมซ้ายบนเพื่อดูสถานะตัวเครื่อง หน้าจอหลักมีการแสดงข้อมูลไล่ตั้งแต่แถบบนมุมซ้าย คือการแจ้งเตือนข้อมูลต่างๆทั้งอีเมลเข้า บีบีเอ็ม เมื่อมีการเชื่อมต่อกับ Bridge ถัดมาตรงกลางเป็นนาฬิกาบอกเวลา และวันที่

มุมขวาบนหน้าจอเป็นจุดรวมการตั้งค่า ไล่ตั้งแต่อย่าง Blackberry Bridge การเปิด-ปิดระบบหมุนจออัตโนมัติ บลูทูธ ไวเลส สถานะแบตเตอรี ที่สามารถปรับความสว่างหน้าจอ เลือกคำสั่งปิดเครื่อง สแตนบาย และรีสตาตเครื่อง ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถกดปุ่มปิดเครื่องค้างเพื่อเลือกปิดเครื่องหรือรีสตาตได้เช่นกัน สุดท้ายคือเข้าสู่หน้าจอการตั้งค่า

ส่วนกลางหน้าจอไว้แสดงหน้าจอแอปพลิเคชันที่เปิดใช้งานอยู่ ซึ่งเท่าที่ทดลองสามารถเปิดใช้งานเป็นสิบๆแอปพลิเคชันได้พร้อมๆกัน แต่ทั้งนี้ถ้าใช้งานแอปที่มีการประมวลผลหนักๆ ก็จะทำให้ไม่สามารถเปิดเพิ่มได้

ล่างหน้าจอมีการแบ่งการแสดงผลแอปพลิเคชันออกเป็น 5 หมวดใหญ่ๆ ไล่ตั้งแต่การแสดงแอปทั้งหมด เฉพาะที่ใช้งานบ่อยๆ มัลติมีเดีย เกม และแอปพลิเคชันที่สามารถใช้ได้เมื่อเชื่อมต่อกับ Bridge



สำหรับแอปพลิเคชันที่มีการพรีโหลดมาให้ในเครื่องได้แก่ เว็บเบราว์เซอร์ รูปภาพ เพลง กล้อง AppWorld วิดีโอ วิดีโอแชต ยูทูป เครื่องคิดเลข แผนที่ สภาพอากาศ นาฬิกา บันทึกเสียง ตัวอ่านไฟล์เอกสารและจัดการเอกสาร ลิงก์ลัดเข้าสู่จีเมล ฮอตเมล เอโอแอล เฟซบุ๊ก ยาฮู ทวิตเตอร์ การตั้งค่า และปิดเครื่อง

โดยการเชื่อมต่อ Bridge ทำให้สามารใช้งานดูข้อความ รายชื่อ ใช้เบราว์เซอร์ผ่านอินเทอร์เน็ตจากแบล็กเบอรี ปฏิทิน BBM สมุดบันทึก สิ่งที่ต้องทำ และเรียกดูไฟล์ระหว่างเครื่อง



การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์สามารถแสดงผลแฟลชได้ และตัวแอปยังรองรับการแสดงผล HTML5 สามารถกดย้อนดูประวัติการใช้งาน เลือกสลับระหว่างหน้าเว็บเพจ เปิดใช้งานหลายๆหน้าได้พร้อมๆกัน รองรับการแสดงผลภาษาไทยเรียบร้อยดี สามารถแสดงผลได้ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง



อัลบั้มภาพสามารถเลือกดูตามโฟลเดอร์ หรือเลือกดูไฟล์ภาพทั้งหมด เมื่อกดเข้าไปดูรูปภาพ สามารถใช้นิ้วลากจากขอบบนลงมาเพื่อ เลือกเปลี่ยนรูป ใช้มัลติทัชในการซูมเข้าออก ใช้นิ้วสไลด์เพื่อเปลี่ยนรูปได้



เครื่องเล่นเพลงสามารถเลือกดูได้ทั้ง เพลงทั้งหมด ตามชื่อศิลบิน ตามอัลบั้ม และตามประเภทเพลง สามารถสร้างเพลยลิสต์ไว้ฟังเพลงได้ ซึ่งตัวโปรแกรมจะแสดงผลปกอัลบั้ม ชื่อเพลง ชื่อนักร้อง อัลบั้ม และเวลาของเพลง แน่นอนว่าสามารถใช้ปุ่มควบคุมมัลติมีเดียด้านบนเครื่องใช้งานได้



โหมดกล้องถูกออกแบบมาให้ใช้งานค่อนข้างง่าย ใช้สัญลักษณ์ไว้เลือกเปลื่ยนโหมด ซูมภาพ ระบบบันทึกพิกัดจีพีเอส สลับกล้องหน้าหลัง และปุ่มชัตเตอร์ขนาดใหญ่ให้ใช้งาน



AppWorld แม้ว่าจะไม่สามารถดึงแอปพลิเคชันที่ใช้ใน BB OS มาใช้งานได้ แต่จำนวนแอปพลิเคชันที่มีเพิ่มขึ้นมาสำหรับ QNX ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเหล่านักพัฒนาภายในคอมมูนิตีของแบล็กเบอรี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแอปฯเสียเงิน มีเพียงไม่กี่แอปฯเท่านั้นที่มีให้โหลดฟรี

ภายในตัวแอปฯ ใช้การแสดงผลเช่นเดียวกับใน BB OS คือมีแอปฯ แนะนำขึ้นมาให้ดู สามารถเลือกดูแอปฯใหม่สุด แอปฯยอดนิยม และแอปฯที่เพิ่งมีการอัปเดต ถัดมาในส่วนของแคตตาล็อก แบ่งเป็น 2 หมวดหลักๆคือ แอปฯ และ เกม



โดยมีหมวดแอปฯ ให้เลือกทั้ง ธุรกิจ การศึกษา บันเทิง ไฟแนนซ์ สุขภาพ โซเชียลเน็ตเวิร์ก แผนที่และการนำทาง เพลง ข่าว รูปและวิดีโอ โปรดักส์ อีบุ๊ก ชอปปิ้ง กีฬา แอปทดลอง ท่องเที่ยว ยูทิลิตี และสภาพอากาศ



นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถเลือกแถบ My World เพื่อดูแอปพลิเคชันที่ลงอยู่ในเครื่อง ซึ่งจะมีการแจ้งเตือนเมื่อมีการอัปเดตเวอร์ชันใหม่ ให้สามารถกดอัปเดตได้ทันที และยังใช้เป็นที่ลบแอปพลิเคชันที่ไม่ต้องการด้วย



อีกหนึ่งแอปฯที่น่าสนใจคือเครื่องเล่นไฟล์มัลติมีเดีย หรือวิดีโอ ที่ตัวเครื่องสามารถรองรับการแสดงผลไฟล์ที่ความละเอียดสูงสุดถึง 1080p ได้อย่างไม่มีกระตุก และยังสามารถเชื่อมต่อผ่านสาย HDMI เพื่อเชื่อมไปยังโทรทัศน์ได้



ในส่วนของยูทูป ก็เป็นหน้าแอปพลิเคชันง่ายๆ ที่แสดงผลวิดีโอแนะนำ วิดีโอยอดนิยม วิดีโอที่มีคนชมมากที่สุด และวิดีโอที่เพิ่งอัปโหลด สามารถกดปุ่มแว่นขยายเพื่อค้นหาวิดีโอที่ต้องการได้




เครื่องคิดเลขใน Playbook ถือว่าเป็นเครื่องคิดเลขที่เหมาะสำหรับนักธุรกิจจริงๆ เพราะสามารถใช้ในการแปลงค่าต่างๆ หรือใส่สูตรคำนวนต่างๆได้ทันที



ส่วนของนาฬิกา มีให้เลือกตั้งเวลา ตั้งจับเวลา และนับเวลาถอยหลัง ซึ่งเป็นหน้าปัดเข็มนาฬิกาขนาดใหญ่ และมีตัวเลขกำกับอยู่ด้านล่าง แสดงผลชัดเจนดี



เครื่องบันทึกเสียง ใช้อินเตอร์เฟสแบบไมโครโฟน ที่สามารถกดปุ่มบันทึก พัก และหยุด โดยจะมีการแสดงผลไฟล์ที่บันทึกก่อนหน้านี้อยู่ทางด้านขวา




น่าเสียดายที่การเข้าถึงอีเมลและโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ขณะที่ได้เครื่อง Playbook มาทดสอบนั้น เป็นการเข้าถึงผ่านหน้าเว็บไซต์เป็นหลัก ท้งจีเมล ฮอตเมล ยาฮู ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก ทำให้ยังไม่มีระบบการแจ้งเตือนภายในตัวเครื่อง



แต่ถ้ามีการเชื่อมต่อ Bridge กับเครื่องสมาร์ทโฟนแบล็กเบอรี ที่มีการเปิดเซอร์วิส ก็จะมีแอปพลิเคชันเฉพาะ สำหรับเรียกดูอีเมล ที่แบ่งการแสดงผลออกเป็น 2 ส่วนหลักๆคือ ฝั่งซ้ายไว้แสดงรายชื่อ และหัวข้ออีเมล ฝั่งขวาเนื้อข้อความ และยังมีปุ่มค้นหาให้ใช้งานด้วย

ระบบการทำงานของอีเมลผ่าน Bridge นั้น ถือว่า Push มาให้เวลาเดียวกับที่ส่งมาให้ในสมาร์ทโฟน และผู้ใช้สามารถเลือกให้เป็นไฟล์ที่ยังไม่ได้เปิด ปักธง ตอบกลับ ตอบกลับทั้งหมด ส่งต่อ และลบไฟล์ได้จากตัว Playbook ทันที



หน้าจอการใช้งาน BBM นั้นมีการแบ่งฝั่งเช่นเดียวกับอีเมล คือฝั่งซ้ายไว้แสดงรายชื่อผู้ติดต่อ ส่วนฝั่งขวาเป็นหน้าจอสนทนา การใช้งานนั้นเป็นการซิงค์ข้อมูลมาจากภายในตัวสมาร์ทโฟนแบล็กเบอรี ดังนั้นถ้าไม่มีการ Bridge ก็จะไม่สามารถใช้งาน BBM ได้



ส่วนของการตั้งค่าประกอบไปด้วยการตั้งค่าการเชื่อมต่อไวเลส ค้นหาการอัปเดตเวอร์ชันอัตโนมัติ การเชื่อมต่อบลูทูธ (จำเป็นส่วนสำคัญในการ Bridge กับสมาร์ทโฟนแบล็กเบอรี) ตั้งค่าการ Bridge ที่สามารถเลือกเชื่อมต่อเอง หรือใช้การสแกนบาร์โค้ดเพื่อเชื่อมต่อได้

การตั้งค่าหน้าจอสามารถแบ่งได้ 2 โปรไฟล์คือเมื่อใช้งานบนแบตเตอรี และเสียบชาร์จ ที่เลือกปรับควมสว่างหน้าจอ ปรับความสว่างอัตโนมัติ เวลาปิดหน้าจออัตโนมัติ การตั้งค่า HDMI ในการเลือกสัดส่วน ความละเอียดภาพ ตั้งเสียง การตั้งค่าทั่วไป จัดการหน่วยความจำ และการแชร์ไฟล์บนเครือข่าย สุดท้ายคือระบบรักษาความปลอดภัย



สำหรับสเปกภายในของ Playbook ใช้หน่วยประมวลผล Dual-core ARM Cortex A9 ความเร็ว 1 GHz หน่วยประมวลผลภาพ (GPU) PowerVR S RAM 1 GB หน่วยความจำ 16 GB (แล้วแต่รุ่น) ระบบปฏิบัติการที่ใช้เป็น BlackBerry Tablet OS เวอร์ชัน 1.0.6.2390

Design of Blackberry Playbook



มาถึงดีไซน์ของ Playbook ที่ถูกออกแบบมาเรียบง่าย แต่ดูแล้วถือเป็นขนาดที่เหมาะกับการพกพาไปใช้งานนอกสถานที่ เพราะจากขนาดรอบตัวที่ 194 x 130 x 10 มม. หนัก 425 กรัม เมื่อถือใช้งานในเวลาพอสมควรแล้วจะไม่ค่อยเมื่อยข้อมือเท่าใดนัก

ด้านหน้า - มาพร้อมกับหน้าจอทัชสกรีน ขนาด 7 นิ้ว ความละเอียด WSVGA (1024 x 600 พิกเซล) ส่วนบนมีกล้องหน้าความละเอียด 3 ล้านพิกเซล ไฟแสดงสถานะ มุมซ้าย-ขวาเป็นลำโพงสเตอริโอ ล่างหน้าจอมีตัวอักษร Blackberry พร้อมสัญลักษณ์ปรากฏอยู่กึ่งกลาง



ด้านหลัง - มีเพียงกล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซล และสัญลักษณ์แบล็กเบอรีสีเงิน พาดอยู่กึ่งกลางเท่านั้น ส่วนด้านซ้ายและขวา ถูกปล่อยว่างไว้



ด้านบน - เป็นที่อยู่ของปุ่มเปิดเครื่อง และแถวควบคุมเครื่องเล่นมัลติมีเดีย ที่สามารถกดย้อนกลับ เล่น และข้ามได้ ริมๆมีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. และยังเป็นที่อยู่ของไมโครโฟนแบบสเตอริโอด้วย



ด้านล่าง - มีตัวอักษรระบุขนาดหน่วยความจำ พอร์ตเชื่อมต่อ MicroHDMI ไมโครยูเอสบี ใช้เสียบสายชาร์จ เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และตัวรับสัมผัสเมื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอย่าง Docking ที่คาดว่าจะมีออกมาจำหน่ายในอนาคต

บทสรุป

แบล็กเบอรี เพลย์บุ๊ก ถือเป็นอีกหนึ่งแท็บเล็ตที่น่าสนใจในตลาด จากความสามารถที่กล่าวไปแล้วข้างต้นอย่าง 'มัลติทาสกิง' และจะยิ่งน่าสนใจมากขึ้น เมื่อสามารถนำแอปพลิเคชันในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มาใช้ได้ในเร็ววัน แต่ก็น่าเสียดายที่ล่าสุดมีข่าวการเลื่อนอัปเดตดังกล่าวออกไปอีก

ในเรื่องของการเชื่อมต่อถ้าผู้ใช้ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนแบล็กเบอรีอยู่แล้ว แนะนำให้ไปหาแบล็กเบอรี ที่รองรับ OS6 มาใช้ Bridge ร่วมกัน เพื่อให้ได้ความสามารถสูงสุดของ Playbook ไม่เช่นนั้นแล้ว คุณจะสามารถใช้งานได้แค่ความสามารถทั่วไปของแท็บเล็ตอย่างเล่นเว็บ มัลติมีเดีย ที่เชื่อมต่อได้เฉพาะ Wi-Fi มาตรฐาน 802.11 b/g/n เท่านั้น

ท้ายนี้ เชื่อว่าเมื่อ Playbook ได้รับการอัปเดต และรองรับการป้อนข้อมูลภาษาไทย รวมถึงเมื่อทาง ริม พัฒนาให้ตัวเครื่องสามารถใส่ซิมการ์ดเพื่อเชื่อมต่อแบล็กเบอรี เซอร์วิสได้ด้วยตัวเครื่องเอง จะกลายเป็นอีกหนึ่งแท็บเล็ตที่ขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆของตลาดได้อย่างไม่ยาก

สำหรับราคาจำหน่าย Playbook เริ่มต้นที่ 16,900 บาท ในรุ่นความจุ 16 GB และขึ้นไปที่ 18,900 บาท และ 21,900 บาท ตามขนาดความจุ 32 GB และ 64 GB

ขอชม
- ขนาด 7 นิ้ว และน้ำหนัก 425 กรัม ช่วยให้พกพาได้สะดวก
- หน่วยประมวลผล Dual Core ที่ช่วยให้เล่นไฟล์ 1080p ผ่าน HDMI ได้อย่างลื่นไหล
- มีหน่วยความจำภายในให้เลือก 16 32 64 GB
- ระบบ Multitasking ที่ดีที่สุดในตลาดขณะนี้

ขอติ
- ถ้าไม่เชื่อมต่อ Bridge จะไม่สามารถดึงจุดเด่นของแบล็กเบอรีออกมาใช้งานได้
- อ่านภาษาไทยได้ แต่ยังไม่สามารถพิมพ์ไทย
- ตัวเครื่องไม่สามารถใส่ซิมการ์ดได้ ทำให้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านเฉพาะไวเลส และ Bridge



Company Related Links :
RIM










กำลังโหลดความคิดเห็น