xs
xsm
sm
md
lg

Review : Sony Ericsson Xperia Play เพลย์สเตชันโฟนหัวใจหุ่นกระป๋องเขียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




หลังจากจากโซนี่ อีริคสันแจ้งเกิดแอนดรอยด์โฟนในตระกูล Xperia มาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่กระแสตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร ล่าสุดทางโซนี่ อิริคสันจึงคิดดึงบริษัทเกมในสังกัดอย่าง Sony Computer Entertainment America มาร่วมพัฒนาเพลย์สเตชันโฟนหัวใจหุ่นกระป๋องในชื่อ Sony Ericsson Xperia Play ที่มีจุดเด่นในเรื่องของบรรจุ D-Pad แบบคอนโทรลเลอร์ของเพลย์สเตชันเพื่อเน้นจุดขายที่การเล่นเกมเป็นหลักและความสามารถในการเข้าถึงเกมเพลย์สเตลชันได้จากแอปฯ PlayStation Pocket

Specifications and Design of SE Xperia Play




Sony Ericsson Xperia Play เป็นเพลย์สเตชันโฟนตัวแรกที่ได้รับ PlayStation Certified ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.3.3 (Gingerbread) เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก มาพร้อม aGPS, Gyroscope รองรับ DLNA ในส่วนของบอดี้ตัวเครื่องเป็นพลาสติกและมีขนาด 19.0 x 62.0 x 16.0 มิลลิเมตร ส่วนน้ำหนักอยู่ที่ 175 กรัมหน้าจอเป็น TFT ขนาด 4 นิ้ว มีความละเอียดหน้าจอที่ 854x480 พิกเซล ส่วนหน่วยประมวลผลที่ใช้ขับเคลื่อนจะเป็น Single Core : Snapdragon 1GHz และกราฟิกชิป Adreno 205 Graphics พร้อมหน่วยความจำ RAM/ROM ที่ 512/400MB และสามารถอัปเกรด microSD Card สูงสุดที่ 32GB

ส่วนปุ่มคำสั่งด้านล่างจอภาพจะประกอบด้วยปุ่มคำสั่ง Back, Home, Menu และ Search ตามแบบฉบับแอนดรอยด์โฟน

สำหรับกล้องถ่ายภาพด้านหลังแบบออโต้โฟกัสจะมีความละเอียดอยู่ที่ 5.1 ล้านพิกเซล กล้องหน้าจะมีความละเอียดแค่ 640x480 พิกเซล และมีไฟแฟลช สามารถถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุดที่ HQ Quality 800x480 พิกเซลที่ความเร็ว 30 เฟรมต่อวินาทีเท่านั้น



ส่วนเมื่อสไลด์ตัวเครื่องขึ้น จะพบกับ D-Pad ที่ติดตั้งมาเพื่อใช้เล่นเกมจะประกอบด้วย จากซ้ายมือจะเป็นส่วนควบคุมทิศทาง ถัดมาจะเป็น Touch Control ซ้ายและขวา (คล้าย Analog บนเครื่องเพลย์สเตชัน) และ ปุ่มเรียก Menu ส่วนด้านขวามือสุดจะเป็นในส่วนของปุ่มคำสั่ง สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม เอ็กซ์ Select และ Start ตามแบบฉบับปุ่มควบคุมบนเพลย์สเตชันคอนโทรลเลอร์




สำหรับสันเครื่องด้านขวาจะเป็นที่บรรจุปุ่มคำสั่ง L-R และตรงกลางคือปุ่มกดเพิ่ม-ลดระดับเสียง ส่วนสันด้านซ้ายจากซ้ายมือจะเป็นช่องเชื่อมต่อแจ็ค Headset หรือหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร ถัดมาด้านขวามือสุดจะเป็นช่องเชื่อมต่อ MicroUSB

ส่วนปุ่มเปิด-ปิดตัวเครื่องที่บรรจุอยู่ด้านบน จะมีไฟแจ้งเตือน Notifications ติดตั้งมาให้ เพื่อแสดงสถานะทั้งระหว่างชาร์จแบตเตอรีหรือมีข้อความจาก SMS หรือมีการแจ้งเตือนข้อความเข้าจากแอปฯ โซเชียลมีเดียต่างๆ

สุดท้ายสำหรับแบตเตอรีจะมีขนาด 1,500mAh และสำหรับรุ่นที่ขายในประเทศไทยจะรองรับคลื่นความถี่สัญญาณ 3G HSPA ที่ 900/2100MHz ส่วน GSM/GPRS/EDGE จะรองรับคลื่นความถี่ 850/900/1800/1900MHz และรองรับ WiFi

UI and Home-Menu Screen





สำหรับหน้า UI จะเป็นแบบพิเศษเฉพาะของ Sony Ericsson Xperia ที่มีจุดเด่นอยู่ที่แอปฯ Timescape หรือแอปฯ สำหรับเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook หรือ Twitter

โดยในหน้าเมนูและโฮมสกรีนจะยังคงเอกลักษณ์ของโซนี่ อีริคสันตั้งแต่รุ่น Xperia Neo ไว้อย่างชัดเจน จะมีเพิ่มขึ้นมาก็ในส่วนของเมื่อเลื่อนซ้ายไปจะพบกับส่วนของ PlayStation Pocket และ Games ที่ทางโซนี่ได้เลือกไว้ให้เป็น Recommended สำหรับ Xperia Play ไว้

**โดยเกมเต็มที่แถมมาให้ฟรีเมื่อซื้อ Sony Ericsson Xperia Play จะมี 5 เกมจากมาร์เก็ตคือ Fifa 2010, Madden 11, Bruce Lee, Star Battalion และ The Sims 3 และอีก 1 เกมสำหรับ PlayStation Pocket คือ Crash Bandicoot**

PlayStation Pocket




สำหรับ PlayStation Pocket ถือเป็นแอปฯ เฉพาะสำหรับ Xperia Play เท่านั้น โดยแอปฯ ดังกล่าวก็เหมือนเป็น Emulator เครื่องเกม PlayStation (PS1) แบบ Official จากโซนี่ ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกซื้อเกม PS1 จากมาร์เก็ตของ PlayStation Pocket เพื่อนำมาเล่นบน Xperia Play ได้ (แต่ยังไม่เปิดขายในประเทศไทย)


วิดีโอแสดงการใช้งานและเล่นเกมบน PlayStation Pocket

Xperia Play



เมื่อผู้ใช้สไลด์ฝาเครื่องขึ้นเพื่อเปิดใช้งานในส่วนของ D-Pad Controller หน้าเมนูในตัวเครื่องจะปรับเปลี่ยนเข้าสู่ส่วนของ Xperia Play ที่ในความจริงแล้วก็คือแอนดรอยด์มาร์เก็ตที่ได้รับการกรองเนื้อหา เกมที่สามารถรองรับเฉพาะ Xperia Play มาแสดงให้เห็น (สามารถใช้การควบคุมด้วยการสัมผัสหรือใช้ D-Pad ควบคุมได้) ซึ่งผู้ใช้สามารถกดเลือกซื้อเกมได้จากในส่วนนี้ได้ทันที ส่วนเกมที่ได้เลือกซื้อไปแล้วผู้ใช้สามารถกดเข้าใช้งานได้ทันทีเช่นกัน

LiveWare / PlayNow! / Media Server





สำหรับส่วนของ LiveWare จะเป็นเหมือนตัวจัดการ Accessories ที่ใช้เชื่อมต่อกับตัวเครื่อง Xperia Play ในส่วนของ PlayNow! จะเป็นเหมือนมาร์เก็ตเล็กๆ ของทางโซนี่ อิริคสันที่สามารถเลือกดาวน์โหลดคอนเทนต์มัลติมีเดียต่างๆ ได้ และสุดท้าย Media Server สำหรับใช้เชื่อมต่อหรือสร้างเน็ตเวิร์กมัลติมีเดียกับคอมพิวเตอร์ผ่านระบบไร้สาย (WiFi)

Web Browser



มาที่ส่วน Web Browser การใช้งานค่อนข้างลื่นไหลดี สามารถใช้ระบบ Multi-Touch ในการซูมเข้า-ออก อีกทั้งผู้ใช้ยังสามารถใช้ D-Pad ลื่นหน้าเพจขึ้นลงได้ด้วย

Performance Test



NenaMark2 V2.0 คะแนนเฟรมเรทที่ได้จากการทดสอบในส่วนของแอปฯ NenaMark V2 ที่เป็นการเรียกใช้ชุดคำสั่งกราฟิก OpenGL ES 2.0 สามารถทำคะแนนเฟรมเรทได้ที่ 9.5 เฟรมต่อวินาทีเท่านั้น ส่วนในเวอร์ชันแรกจะทำคะแนนเฟรมเรทอยู่ที่ 38.6 เฟรมต่อวินาที


Quadrant Advance สามารถทำคะแนนอยู่ได้ที่ 1,235 คะแนน แยกเป็น CPU: 3,726 คะแนน Mem: 1,091 คะแนน I/O: 657 คะแนน 2D: 168 คะแนน และ 3D: 531 คะแนน



Smartbench 2011 และ MultiTouch Tester จากการทดสอบพบว่าคะแนนอยู่ที่ 983 คะแนนสำหรับในส่วนของ Productivity Index ส่วน Games Index จะมีคะแนนอยู่ที่ 828 คะแนนเท่านั้น

สำหรับการทดสอบ Multitouch Tester จะรองรับจุดสัมผัสพร้อมกันทั้งหมด 4 จุด

ทดสอบการเล่นเกม






สำหรับในส่วนการทดสอบเล่นเกมจากทั้งมาร์เก็ตและใน PlayStation Pocket พบว่าความลื่นไหลอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยเฉพาะเกมในมาร์เก็ตที่ถูกปรับประสิทธิภาพมาให้เหมาะสมกับ Xperia Play ทำให้การเล่นทำได้ค่อนข้างลื่นไหลมาก ส่วนการควบคุมการเล่นเกมผ่าน D-Pad ถ้าใครเป็นแฟนเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชันอยู่แล้ว จะพบว่า D-Pad บน Xperia Play สามารถทำให้การควบคุมเกมมีประสิทธิภาพและถนัดกว่า Virtual Joystick มาก เพียงแต่ในส่วนของ Analog touch sensor อาจต้องใช้ความคุ้นเคยในการบังคับใช้เล็กน้อย

สรุป

สำหรับ Sony Ericsson Xperia Play ถือเป็นเพลย์สเตชันโฟนหัวใจแอนดรอยด์ที่เหมาะแก่ขาเกมเมอร์ที่ชื่นชอบสมาร์ทโฟน ที่มีข้อดีหลักๆ อยู่ที่ตัวเครื่องได้รับการปรับแต่งประสิทธิภาพในส่วน UI มาให้บริโภคสเปกเครื่องน้อย ถึงแม้หน่วยประมวลผลและสเปกเครื่องที่ให้มาจะต่ำเพียง Single Core และหน่วยความจำก็ไม่มากสมเป็นเกมเมอร์โฟน แต่ความเร็วในการใช้งานที่ได้กลับอยู่ในเกณฑ์ดีและน่าสนใจอย่างมาก แถมการเล่นเกมด้วย D-Pad นิ้วมือจะไม่บดบังหน้าจอ ทำให้การแสดงผลเกมบนจอขนาด 4 นิ้ว สามารถแสดงผลได้อย่างเต็มอรรถรสพร้อมลำโพงแบบสเตอริโอที่ให้เสียงพอใช้

ส่วนแบตเตอรีจากการทดสอบพบว่าจากการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งสามารถใช้เล่นเกมต่อเนื่องได้ประมาณ 4-5 ชั่วโมง ส่วนถ้าใช้งานปกติก็อยู่ได้ประมาณ 6-8 ชั่วโมง

อีกทั้งในส่วนควบคุม D-Pad ที่ติดตั้งมาก็ทำงานได้ดี การกดสั่งงานทิศทางต่างๆ ทำได้แม่นยำกว่ากดสัมผัสจากหน้าจอที่ใช้ Virtual Joystick อย่างมาก อีกทั้งในเรื่องของการใช้งานเพื่อเป็นมัลติมีเดียโฟนและโซเชียลโฟนก็สามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะแอปฯ Timescape ที่ช่วยให้การเข้าสู่โลกโซเชียลทำได้มีประสิทธิภาพขึ้น

แต่ทั้งนี้ใช่ว่า Sony Ericsson Xperia Play จะไม่มีข้อติใดๆ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าวัสดุที่ใช้ผลิตตัวเครื่องเป็นพลาสติกมันวาวทั้งบอดี้ ซึ่งเมื่อประกอบคู่กับสมาร์ทโฟนเกมเมอร์อย่าง Xperia Play แล้ว กลับพบว่าค่อนข้างเปราะบางและทำให้การจับถือดูไม่แข็งแรงอย่างมาก โดยเฉพาะข้อต่อระหว่างปุ่มคำสั่งเปิด-ปิดตัวเครื่องและส่วนของปุ่มควบคุม L-R ที่ประกอบมาไม่แข็งแรงและมีโอกาสได้รับความเสียหายเมื่อใช้งานเป็นเวลานานหลายปีได้

รวมถึงเรื่องการใช้เล่นเกมในปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่ยุคหน่วยประมวลผล Dual Core (แต่ตัวเครื่อง Xperia Play เป็น Single Core) ดังจะเห็นได้จากเกมของค่าย Gameloft บางเกมที่ถึงแม้จะรองรับ Xperia Play แต่ด้วยกราฟิกที่สูงทำให้เกมเกิดอาการกระตุกและหน่วงระหว่างเล่นอยู่บ้าง

ขอชม
- โอเอสมีการปรับปรุงประสิทธิภาพมาค่อนข้างดี ทำให้ไม่กินสเปกและใช้งานลื่นไหลมาก
- ส่วนของ D-Pad ช่วยให้การเล่นเกมมีประสิทธิภาพขึ้น
- กล้องหลังมีความคมชัดอยู่ในเกณฑ์ดีมาก
- มีกล้องหน้ารองรับ Video Call
- หน้าจอขนาดใหญ่ 4 นิ้วมีความคมชัด เพียงพอต่อการเล่นเกมและพกพา

ขอติ
- กล้องหน้าคุณภาพต่ำ
- วัสดุส่วนใหญ่เป็นพลาสติกมันวาว เปราะบางและเป็นรอยง่าย
- PlayStation Pocket ปัจจุบันยังไม่สามารถใช้งานให้ประเทศไทยได้
- เครื่องวางจำหน่ายในช่วงที่เกมต้องการซีพียู Dual Core กำลังทยอยลงตลาด

Company Related Links :
Sony Ericsson








ภาพจากกล้องหน้า
ภาพจากกล้องหน้า (2)
กำลังโหลดความคิดเห็น