xs
xsm
sm
md
lg

Review : Sony Ericsson Xperia Arc ผนึกบราเวียพร้อมกลับสู่สังเวียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ห่างหายไปนานกับการทำตลาดของโซนี อีริคสัน หลังจากปีที่ผ่านมาปรับทัพใหม่หันมาลุยตลาดสมาร์ทโฟนภายใต้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์อย่างเต็มตัว โดยมีการออกสมาร์ทโฟนมาชิมลางตลาดในประมาณราว 3-4 รุ่น

แต่น่าเสียดายที่การทำตลาดในปีที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จากข้อจำกัดทางเรื่องภาษาไทย ที่ทางโซนีฯไม่มีการพัฒนาเพิ่มเพื่อให้รองรับการใช้งานในประเทศ แต่หลังจากที่ทางกูเกิลได้ทำการใส่ภาษาไทยเข้ามาในแอนดรอยด์ เวอร์ชัน 2.2 แล้ว หลังจากนั้นโซนีฯจึงได้เวลากลับเข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟนอย่างเต็มตัว

โดย 3-4 รุ่นหลักที่จะเข้ามาเขย่าตลาดในปีนี้ประกอบไปด้วย Xperia Neo, Xperia Arc, Xperia Pro และรุ่นสุดท้ายคือ Xperia Play ซึ่งรุ่นที่ทางโซนีฯวางไว้ให้เป็นเรือธงในช่วงครึ่งปีแรกคงหนีไม่พ้น Arc ที่การันตีว่าเป็นแอนดรอยด์ 2.3 ตัวแรกที่จะวางตลาด (แต่ล่าสุดโดนผลกระทบจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนของโซนีทำให้ต้องมีการเลื่อนวันวางจำหน่ายออกไปอีก)

Feature On SonyEricsson Xperia Arc



เริ่มกันที่หน้าจอหลักของ Arc ที่มีการพัฒนายูสเซอร์อินเตอร์เฟส ขึ้นมาครอบแอนดรอยด์ 2.3 เดิมๆ แม้ว่ารูปแบบการทำงานจะค่อนข้างคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ใช้สามารถนำวิตเจ็ตมาใส่ในหน้าหลักทั้ง 5 หน้าได้ โดยการสัมผัสค้างที่หน้าจอเลือกเพิ่ม หรือกดปุ่มเมนูเพื่อเพิ่มวิตเจ็ตก็ได้เช่นกัน

ล่างหน้าจอมีไอค่อน 5 ประเภทไว้สำหรับเข้าถึงเครื่องเล่นมัลติมีเดีย ข้อความ เมนู รายชื่อ และโหมดโทรศัพท์ ผู้ใช้สามารถใช้นิ้ว Pinch-Zoom เพื่อเข้าสู่หน้าจอแสดงภาพรวมของหน้าแรกทั้งหมด



รูปแบบของโหมดโทรศัพท์ยังเป็นเหมือนสมาร์ทโฟนทั่วไป มีปุ่มตัวเลขขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ปุ่มโทรฯ บันทึกหมายเลยอยู่ด้านล่าง ส่วนล่างสุดมีแถบควบคุมไว้เปลี่ยนจากโหมดโทรศัพท์ เข้าไปดูข้อมูลการโทร รายชื่อ และรายการโปรด ที่น่าสังเกตคือทางโซนีฯ ยังไม่มีการใส่ระบบเดาสุ่มหมายเลขจากการกดปุ่มตัวเลขมาให้

ขณะที่หน้าจอระหว่างสนทนา ในกรณีที่มีการใส่รูปภาพจะมีการแสดงภาพรายชื่อผู้ติดต่อ พร้อมชื่อ และเบอร์โทรศัพท์ขึ้น ในหน้านี้ผู้ใช้สามารถกดเข้าไปดูรายชื่อ เปิดใช้ลำโพง ปิดเสียง เรียกปุ่มโทรศัพท์ และ มีแถบวางสายอยู่ส่วนล่างสุด



ฟีเจอร์เด่นที่ยังคงมีการพัฒนามาต่อเนื่องจากแอนดรอยด์รุ่นเดิมในชื่อ Timescape ยังคงอยู่ เพิ่มความสามารถในการเชื่อมต่อเครือข่ายสังคมที่หลากหลายมากขึ้น รวมกับสามารถใช้แสดงผลการใช้งานโทรศัพท์ ข้อความ อัปเดตสถานะทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก โดยที่ผู้ใช้สามารถกำหนดรูปแบบการอัปเดตแบบอัตโนมัติและเลือกเวลาการเชื่อมต่อได้

ในจุดนี้กรณีทางโซนีฯยังเปิดให้นักพัฒนา สามารถทำเป็นส่วนเสริมของโปรแกรม ให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปโหลดส่วนเสริมเพื่อแสดงค่านอกเหนือจากนี้อย่าง Foursquare Hyves หรือ LinkedIn ได้ในแอนดรอยด์มาเก็ตเพลส



สำหรับผู้เริ่มใช้งาน Arc จะพบกับหน้าจอการตั้งค่าพื้นฐาน ซึ่งจะมีการสอนการใช้งานเบื้องต้น วิธีการใช้เวอร์ชวลคีย์บอร์ด Timescape นำเข้ารายชื่อจากซิมการ์ด เลือกเชื่อมต่อกับเครือข่ายไร้สาย ตั้งบัญชีผู้ใช้ของกูเกิล เพื่อให้สามารถใช้งานแอนดรอยด์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ



หน้าจอรวมโปรแกรมจะแบ่งออกเป็นหน้าๆ ตามจำนวนแอปพลิเคชัน ซึ่งในจุดนี้ผู้ใช้สามารถเลือกเรียงแอปฯได้ตามรูปแบบการใช้งาน แอปฯที่ใช้บ่อย หรือตามที่ลงไว้ล่าสุด ผ่านการกดปุ่มบริเวณมุมซ้ายล่าง

โดยแอปฯที่ให้มาประกอบไปด้วย รายชื่อ โทรศัพท์ ข้อความ เบราว์เซอร์ Timescape ตั้งค่า ตัวช่วยการติดตั้ง เพลง แกลลอรี นาฬิกา อีเมล มาเก็ต ปฏิทิน แผนที่ จีเมล ทอล์ก นำทาง สถานที่ ละติจูด ซิงค์ เครื่องคิดเลข ยูทูป คำสั่งเสียง ข่าวและสภาพอากาศ ดาวน์โหลด โปสการ์ด แอปฯอ่านเอกสาร TrackID ค้นหา ใช้งานระบบ DLNA วิทยุเอฟเอ็ม กล้อง เฟซบุ๊ก นาฬิกาปลุกเป็นต้น



ในส่วนของเครื่องเล่นเพลงนอจากการแสดงชื่อเพลงตาม ชื่อศิลปิน อัลบัม และรายชื่อแล้ว ยังมีระบบสร้างเพลยลิสต์อัจฉริยะ จากเพลงที่เพิ่มเข้าไปล่าสุด เพลงที่ยังไม่เคยฟัง เพลงที่ยังไม่เคยเล่น

เมื่อสั่งเล่นเพลงแล้วยังสามารถใช้ความสามารถพิเศษของเครื่องเล่นในการค้นหาไฟล์มิวสิควิดีโอของเพลงนั้นๆจากยูทูบได้ ทั้งนี้น่าเสียดายที่ในหน้าจอเล่นเพลง มีให้เลือกแค่สั่งเล่น-หยุด และเปลี่ยนเพลงเท่านั้น ไม่มีคำสั่งเล่นสุ่ม เล่นซ้ำ มาให้เลือกเหมือนเครื่องเล่นเพลงทั่วๆไป



วิทยุเอฟเอ็มเองก็มีการเพิ่มความสามารถพิเศษในการค้นหาเพลงที่ฟังผ่านแอปฯ TrackID ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถค้นหาเพลงจากเสียงเพลงที่ได้ยินอยู่ในวิทยุขณะนั้น เพื่อเข้าไปดาวน์โหลด ดูมิวสิควิดีโอ หรือจะส่งให้เพื่อนๆ ทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ อีเมล ข้อความสั้นก็ได้



เว็บเบราว์เซอร์ที่ให้มายังคงจุดเด่นของแอนดรอยด์ ในการใช้งานแฟลช ความรวดเร็วในการตอบสนองจากประสิทธิภาพของตัวเครื่อง ทำให้ผู้ใช้สามารถท่องเน็ตได้อย่างสบายใจ การแสดงผลสามารถเลือกชมได้ทั้งแนวตั้งแนวนอน รองรับระบบมัลติทัชในการซูมเข้าออก



โหมดกล้องสำหรับ Arc นั้นทำออกมาได้ค่อนข้างดี การตอบสนองการใช้งานค่อนข้างรวดเร็ว จับโฟกัสเสร็จสามารถถ่ายภาพได้ทันที ทั้งยังมีการใส่โหมดมาให้ทั้งภาพปกติ การจดจำภาพ และตรวจจับรอยยิ้มในการถ่าย ความละเอียดของภาพที่ได้สูงสุดอยู่ที่ 8 ล้านพิกเซล ในขณะที่การถ่ายภาพวิดีโอสามารถบันทึกภาพความละเอียดสูง 720p

ซึ่งภายในโหมดจดจำภาพ มีรูปแบบให้เลือกทั้งภาพบุคคล ทิวทัศน์ กลางคืน บุคคลตอนกลางคืน ชายหาดและหิมะ กีฬา งานเลี้ยง และเอกสาร ส่วนโหมดตรวจจับรอยยิ้ม สามารถเลือกระดับการยิ้มได้ 3 ระดับ และยังมีให้เลือกปรับสมดุลแสงขาว จุดวัดแสง ตั้งเวลาถ่ายภาพ ลดความสั่น



เวอร์ชวลคีย์บอร์ดภาษาไทยที่ให้มาใช้เป็นแบบ QWERTY 3 แถว ทำให้บางตัวอักษรมีการเปลี่ยนที่ไปเล็กน้อย ต้องใช้ระยะเวลาเล็กน้อยในการใช้งานเพื่อใช้ชินกับเลย์เอาท์ ขนาดของปุ่มสามารถกดใช้งานได้ไม่เล็กมากจนเกินไป ในขณะที่ถ้าใช้งานแนวนอนปุ่มมีขนาดใหญ่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก



สำหรับหน้าจอการตั้งค่า มีการใส่หมวด Sony Ericsson เข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ในการดาวน์โหลดการตั้งค่าเชื่่อมต่ออินเทอร์เน็ตและ MMS รวมถึงจัดการรูปแบบการเชื่อมต่อผ่านสายไมโครยูเอสบีและไวไฟ และการส่งข้อมูลการใช้ไปเพื่อช่วยให้ทางโซนีฯนำไปปรับปรุงแก้ไข

นอกเหนือจากนี้ก็เป็นรูปการการตั้งค่าทั่วไปของแอนดรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อ โทรศัพท์ เสียง การแสดงผล ตำแหน่งและความปลอดภัย แอปพลิเคชัน การจัดการบัญชีผู้ใช้ อุปกรณ์เก็บข้อมูล ภาษา การป้อนข้อความ วันที่และเวลา



อีกจุดที่น่าสนใจคือเรื่องของการตั้งค่าจอแสดงผลที่ทางโซนีฯได้มีการนำเทคโนโลยีภายในโทรทัศน์ของโซนีอย่าง โมบาย บราเวียร์เข้ามาเพื่อใช้ปรับปรุงคุณภาพของภาพถ่ายและวิดีโอ ซึ่งด้วยเทคโนโลยีนี้เลยทำให้มีผลกระทบกับการจัดส่งเครื่องทั่วโลก



ในส่วนของสเปกภายในของ SonyEricsson Arc หรือในชื่อโมเดล LT15i ใช้หน่วยประมวลผล Qualcomm MSM 8255 บนสถาปัตยกรรม ARMv7 rev2 ความเร็ว 1 GHz หน่วยความจำภายใน ROM 320 MB RAM 512 MB พร้อมกับหน่วยประมวลผลภาพบนชิปเซ็ต Qualcomm Adreno 205 หน้าจอสามารถรองรับมัลติทัชได้ทั้งหมด 4 จุดด้วยกัน



ผลการทดสอบประสิทธิภาพบนโปรแกรม Quadrant พบว่า Arc สามารถทำคะแนนได้ 1212 ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องที่อยู่ในระดับบนๆของหน่วยประมวลผล 1GHz ขณะที่การทดสอบบน An3DBench และ An3DBenchXL อยู่ที่ 6731 และ 26640 ส่วน Neocore ได้เฟรมเรทอยู่ที่ 54.3 FPS

Design of SonyEricsson Xperia Arc

อีกสิ่งหนึ่งที่กลายเป็นจุดเด่นของ Arc คงหนีไม่พ้นดีไซน์ที่ดูโฉบเฉี่ยวทันสมัย จากการออกแบบให้เครื่องมีความโค้งในส่วนหลังเครื่อง ประกอบกับการความบางจากขนาดรอบตัวที่ 125 x 63 x 8.7 มม. น้ำหนัก 117 กรัม ก็กลายเป็นอีกจุดที่ทำให้ Arc มีความน่าสนใจ แม้ว่าวัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติกก็ตาม



ด้านหน้า - Arc มีจุดเรียกความน่าสนใจอยู่ที่หน้าจอที่โซนีฯเรียกว่า "Air Gap Display" คือเหลือขอบหน้าจอเพียงนิดเดียว ผิดกับสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นที่จะต้องเหลือพื้นที่บริเวณขอบหน้าจอ ด้วยขนาด 4.2 นิ้ว ความละเอียด 480 x 854 พิกเซล โดยมีเซ็นเซอร์ตรวจวัดแสง ลำโพงสนทนา และตรา "Sony Ericsson" วางพาดอยู่ส่วนบน

ส่วนล่างมีปุ่มซอฟต์คีย์ที่ผิดมาตรฐานของแอนดรอยด์คือ มีเพียงปุ่มย้อนกลับ ปุ่มโฮม และเมนู โดยไม่มีปุ่มค้นหามให้ด้วย (กดปุ่มเมนูค้างเพื่อเข้าการค้นหา) ซึ่งในส่วนของปุ่มซอฟต์คีย์จะเป็นปุ่มสีเงินตัดกับตัวเครื่องสีดำ ที่มีไฟ LED จากปุ่มเพื่อใช้งานเวลากลางคืนด้วย ล่างสุดมีชื่อตระกูล "Xperia"



ด้านหลัง - นอกจากดีไซน์ที่โค้งเว้าของฝาหลังแล้ว อีกจุดที่น่าสนใจคือกล้องความละเอียด 8 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลช ที่มีตัวอักษร "HD" ระบุความสามารถว่าถ่ายภาพวิดีโอความละเอียดสูง รวมกับลำโพงสเตอริโอ ตราโลโก้โซนีอีริคสันและตัวอักษรบอกตระกูล



เมื่อเปิดฝาหลังออกมาจะพบกับแบตเตอรีขนาด 1,500 mAh อยู่ตรงกลาง โดยมีช่องใส่ซิมการ์ด และไมโครเอสดีอยู่ส่วนบนของแบตเตอรี แน่นอนว่าในการถอดทั้ง 2 อย่างจำเป็นต้องถอดแบตเตอรีออกก่อน




ด้านซ้าย - มีเพียงช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. เท่านั้น (หูฟังที่ให้มาในกล่องเป็นแบบ In-Ear ธรรมดา) ด้านขวา - เป็นที่อยู่ของช่องเสียบสายไมโครยูเอสบี สำหรับเสียบชาร์จ และเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่มชัตเตอร์กล้อง (ใช้เป็นปุ่มลัดเรียกใช้งานกล้องได้)




ด้านบน - ประกอบด้วยปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และพอร์ตต่อ microHDMI ด้านล่าง - เป็นช่องร้อยสายโทรศัพท์ และรูไมโครโฟนสนทนา

บทสรุป

ในตอนนี้ที่เครื่องยังไม่เข้ามาวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ Arc ถือเป็นแอนดรอยด์ 2.3 ตัวแรกที่กำลังจะวางตลาด ประกอบกับสเปกโดยรวมถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐานไฮเอนด์ในระดับราคาหมื่นปลายๆ ทำให้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสมาร์ทโฟนที่น่าจับตามองในตลาดในจังหวะที่ยังไม่มีเครื่องที่ใช้หน่วยประมวลผลดูอัลคอร์เข้ามาจำหน่าย

มองถึงเรื่องของการใช้งานด้วยความที่เป็นแอนดรอยด์ทำให้ความสามารถหลักของสมาร์ทโฟนด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ต อีเมล แอปพลิเคชันต่างๆ อยู่ในระดับมาตรฐาน ทำตามความต้องการของผู้ใช้ได้เท่าที่ต้องการ

ตัวเครื่องรองรับการเชื่อมต่อ 3G ในคลื่นความถี่ 900/2100 MHz ที่อัตราการดาวน์โหลดอัปโหลดสูงสุด 7.2 / 5.76 Mbps และยังรองรับการเชื่อมต่อไวเลส ไวไฟฮ็อตสปอต DLNA บลูทูธ จีพีเอส วิทยุเอฟเอ็ม เรียกได้ว่าให้มาครบครัน ขาดแต่เพียงกล้องหน้าสำหรับการใช้งานวิดีโอคอลล์เท่านั้น

ในส่วนของมัลติมีเดียนอกจากข้อจำกัดข้องโปรแกรมเล่นเพลงดังที่กล่าวไปแล้ว ส่วนอื่นๆอย่างความละเอียดกล้อง 8 ล้านพิกเซล ที่สามารถ่ายวิดีโอความละเอียดสูง 720p และยังสามารถต่อกับจอแอลซีดีผ่านสาย HDMI ได้จึงถือเป็นอีกจุดเด่นที่น่าสนใจ คุณภาพของภาพและวิดีโอที่ได้อยู่ในเกณฑ์ดีแต่อย่างที่รู้กันว่ายังไม่สามารถเทียบกับกล้องแบบจริงจังได้

ระยะเวลาการใช้งานของสมาร์ทโฟนความเร็วระดับ 1 GHz คงไม่ต้องคาดหวังถึงการใช้งานที่ยาวนาน ตัวเครื่องสามารถรองรับการใช้งานเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ใช้โทรศัพท์นิดหน่อย รวมกับการใช้ฟังเพลง อยู่ได้ราวๆ 1 วัน แต่ถ้าใช้แบบประหยัดทั่วๆไปอาจจะได้ถึงเกือบ 2 วัน ส่วนเรื่องเสียงสนทนาถือว่าอยู่ในระดับปกติ

ขอชม
- ดีไซน์เครื่องเพรียวบางน่าสนใจ
- แอนดรอยด์เวอร์ชัน 2.3 รองรับการใช้งานทุกรูปแบบ
- กล้องความละเอียด 8 ล้านพิกเซล พร้อมถ่ายวิดีโอ 720p
- แอปฯ TimeScape ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานเครือข่ายสังคม

ขอติ
- ขาดกล้องหน้าสำหรับวิดีโอคอลล์
- ปุ่มชัตเตอร์กล้องมีขนาดเล็ก ใช้งานลำบาก
- ไม่มีระบบเดาเบอร์ ในโหมดโทรศัพท์

Company Related Links :
Sony Ericsson











กำลังโหลดความคิดเห็น