สวัสดีครับท่านผู้อ่าน... ช่วงนี้ก็อยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย ในเดือนที่มีทั้งหนาว ร้อนและฝนตก ทีมงานผู้จัดการไซเบอร์ก็เลยขอเพิ่มความร้อนแรงและแรงดันอากาศด้วยการพาท่านผู้อ่านไปสัมผัสแท็บเล็ตจากแบรนด์ร้อนแรงแห่งปีอย่าง "แอปเปิล ไอแพด 2" แบบถึงเนื้อถึงตัวถึงไส้ถึงพุงกันครับ
สำหรับการทดสอบไอแพด 2 ในครั้งนี้ ทางทีมงานได้เดินทางไปทดสอบที่ร้าน Blink7 ชั้น 4 มาบุญครอง ด้วยเครื่องไอแพด 2 รุ่น WiFi 64GB และระยะเวลาทดสอบที่ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากตัวเครื่องมีผู้ให้ความสนใจอยากทดลองใช้จำนวนมาก ทำให้ทีมงานไม่สามารถยืมกลับออฟฟิซมาทดสอบเจาะลึกได้แบบละเอียด และด้วยสถานที่ๆ อาจไม่เอื้ออำนวยนัก ทำให้ทีมงานจึงทำการทดสอบได้เฉพาะฟังก์ชันการใช้งานบางส่วนเท่านั้น ผิดพลาดตกหล่นส่วนใดไปก็ขออภัยล่วงหน้าครับ
Design & Specifications
สำหรับรูปลักษณ์ของไอแพด 2 ถ้าเทียบกับไอแพดรุ่นแรกแล้วสิ่งที่เปลี่ยนไปได้เด่นชัดที่สุดก็คือ ขนาดและความบาง โดยตัวไอแพด 2 จะมีขนาด สูงxกว้างxลึก และน้ำหนัก อยู่ที่ 241.2x185.7x8.8 มิลลิเมตร ที่น้ำหนักประมาณ 601 กรัม (รุ่น WiFi) ในขณะที่ไอแพดรุ่นแรกจะมีขนาด สูงxกว้างxลึก และน้ำหนัก อยู่ที่ 243x190x13 มิลลิเมตร ที่น้ำหนักประมาณ 730 กรัม อีกทั้งในส่วนของสีด้านหน้าที่ในไอแพด 2 จะมีให้เลือก 2 สีได้แก่ ขาวและดำ ในขณะที่ไอแพดรุ่นแรกจะมีสีเดียวคือดำ ส่วนขนาดหน้าจอจะยังคงเท่าเดิมคือ 9.7 นิ้วที่ความละเอียด 1,024x768 พิกเซล พร้อมกล้องคุณภาพ VGA ด้านหน้า
มาที่ส่วนด้านหลังจะเห็นว่าถ้ามองเผินๆ แล้วแทบไม่มีความแตกต่างจากไอแพดรุ่นแรกแต่อย่างใด ยกเว้นในส่วนของลำโพงที่มีการเพิ่มขนาดช่องกระจายเสียงให้กว้างขึ้น รวมถึงบริเวณด้านบนจะมีกล้องติดตั้งมาให้ พร้อมสวิตซ์ที่สามารถตั้งใน Settings ให้เป็นได้ทั้งสวิตซ์ ปิด-เปิด เสียงหรือล็อคการหมุนหน้าจออัตโนมัติ รวมถึงปุ่มเพิ่ม-ลด ระดับเสียงและปุ่ม Wake up/Sleep ก็ถูกติดตั้งมาในตำแหน่งเดิมทั้งหมด
สำหรับในส่วนของสเปก ตัวไอแพด 2 จะมาพร้อมหน่วยประมวลผล Apple A5 Dual Core ความเร็ว 1GHz มาพร้อมหน้าจอที่ใช้เทคโนโลยี IPS แบบ LED Backlit ขนาด 9.7 นิ้ว ความละเอียด 1,024x768 พิกเซล 132 ppi รองรับ Multi Touch
ในส่วนของกล้องถ่ายภาพด้านหลังจะสามารถถ่ายภาพความละเอียดอยู่ที่ 7 แสนพิกเซล (690x720 พิกเซล) และสามารถถ่ายวิดีโอที่ความละเอียด 720p (1,280x720 พิกเซล) ที่ความเร็วเฟรมเรท 30 เฟรมต่อวินาที ส่วนกล้องด้านหน้าจะรองรับความละเอียดภาพอยู่ที่ 640x480 พิกเซล ที่ความเร็วเฟรมเรท 30 เฟรมต่อวินาทีเช่นกัน โดยกล้องทั้งสองตัวมีระบบ Auto Focus ด้วย
สำหรับในส่วนของระบบและออปชันอื่นๆ ไอแพด 2 ได้เพิ่มระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบใหม่เช่นเดียวกับไอโฟน 4 ในชื่อ Three-axis gyro เข้าไปผนวกกับระบบจับการเคลื่อนไหวแบบเก่า นอกจากนั้นในส่วนของแบ็ตเตอรี่ยังมีการปรับปรุงให้อยู่ได้นานขึ้นประมาณ 8-10 ชั่วโมง พร้อมทั้งความสามารถใหม่ในการเชื่อมต่อ Adapter HDMI เพื่อใช้นำภาพจากไอแพด 2 มาแสดงบนจอ LCD/LED TV แบบคุณภาพสูงได้ รวมถึงความสามารถในการเล่นไฟล์วิดีโอคุณภาพ Full HD 1080p ผนวกกับระบบเสียง Dolby Digital 5.1 ผ่าน Apple Digital AV Adapter ได้ด้วย
สุดท้ายสำหรับโมเดลของไอแพด 2 ที่วางจำหน่ายในปัจจุบันจะมีให้เลือกซื้ออยู่ 2 รุ่นได้แก่ WiFi และ 3G+WiFi ที่ขนาดความจุ 16GB 32GB และ 64GB โดยตัว WiFi จะรองรับระบบ 802.11 a/b/g/n ส่วน 3G จะรองรับคลื่นสัญญาณ UMTS/HSDPA/HSUPA (850, 900, 1900, 2100 MHz); GSM/EDGE (850, 900, 1800, 1900 MHz) และในส่วนของ Bluetooth จะรองรับรุ่น 2.1 + EDR Technology
iPad Smart Cover
iPad Smart Cover ถือเป็นผลิตภัณฑ์อีกหนึ่งชิ้นที่ทางแอปเปิลได้พัฒนามาให้ใช้ร่วมกับไอแพด 2 โดยเฉพาะ โดยตัว Smart Cover ถูกออกแบบมาให้เป็นเหมือนแผ่นป้องกันรอยขีดข่วนสำหรับหน้าจอไอแพด 2 ซึ่งวิธีการใช้งานก็เพียงนำด้านสันที่ประกอบไปด้วยแถบแม่เหล็ก นำไปติดที่บริเวณด้านหลังตรงส่วนโค้งของไอแพด 2 เพียงเท่านี้แผ่น Smart Cover และตัวไอแพด 2 จะดูดติดกันทันที
นอกจากนั้นแผ่น Smart Cover ยังสามารถพับเก็บและทำเป็นฐานสามเหลี่ยมเพื่อใช้ทำฐานตั้งไอแพด 2 ได้ดังรูปประกอบ อีกทั้งเมื่อพับแผ่น Smart Cover ปิดหน้าจอ ตัวเครื่องไอแพด 2 ยังสามารถเข้าสู่โหมด Sleep ได้อย่างอัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องกดปุ่ม Sleep บนตัวเครื่องเพื่อปิดหน้าจอแต่อย่างใด
iPad 2 Using Screen
ในส่วนของหน้าจอใช้งาน ทางทีมงานจะขอกล่าวโดยรวมเท่านั้น เพราะหน้าจอของไอแพด 2 ส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกับหน้าจอของไอแพดตัวแรกอย่างมาก แต่อาจมีการเพิ่มแอปพลิเคชันหรือฟังก์ชันบางส่วน (iOS ที่มากับไอแพด 2 ตัวที่ทีมงานทดสอบคือเวอร์ชัน 4.3)
อย่างหน้าแรกในส่วนของหน้าจอ Home Screen จะเห็นว่าไม่มีอะไรแตกต่างจากหน้าจอไอแพดตัวแรกแต่อย่างใดยกเว้นในส่วนของแอปพลิเคชันที่เพิ่มเข้ามาอย่าง FaceTime, Camera และ Photobooth ที่ทางทีมงานจะกล่าวถึงรายละเอียดในส่วนถัดไป
สำหรับหน้า Multi tasking ที่สามารถเรียกใช้งานได้เมื่อกดดับเบิลคลิกที่ปุ่ม Home ก็ไม่มีความแตกต่างจากตัวก่อนหน้าแต่อย่างใด
มาที่เรื่องของแป้น Virtual Keyboard ที่สามารถใช้งานได้ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง โดยแป้นที่ให้มาจะเป็นแบบ 4 แถวทำให้ผู้ใช้สามารถกดใช้งานได้ง่ายขึ้น
Safari
Settings
Calendars
iPod
YouTube
Game Center
FaceTime สำหรับการเล่น FaceTime บนไอแพด 2 จะมีวิธีใช้งานที่คล้ายคลึงกับไอพอด ทัช เจน 4 อย่างมาก เพราะการที่ผู้ใช้จะเลือกสนทนาผ่านระบบวิดีโอกับบุคคลอื่น ผู้ใช้จำเป็นต้องรู้อีเมล์ของผู้ที่ต้องการสนทนา อีกทั้งบุคคลทั้ง 2 คิดจะ FaceTime หากันจะต้องเชื่อมต่อผ่านระบบ WiFi ก่อนถึงจะสามารถเรียกหากันได้
Camera ในส่วนของแอปพลิเคชันกล้องถ่ายภาพที่ถูกเพิ่มเข้ามาบนไอแพด 2 จะเห็นว่ารูปร่างหน้าตาจะไม่ต่างจากแอปฯ กล้องบนไอโฟน 4 หรือ ไอพอด ทัช เจน 4 นัก
Photobooth แอปพลิเคชันตัวนี้อาจถือเป็นไม้ตายเด็ดที่ทำให้หลายคนหันมาสนใจในตัวไอแพด 2 เลยก็ว่าได้ เพราะด้วยความโด่งดังของตัวแอปพลิเคชัน Photobooth บน MacOSX ที่สามารถสร้างเอ็ฟเฟ็กถ่ายภาพสไตล์แปลกๆ ได้ ทำให้เมื่อแอปเปิลได้อัปเกรดซีพียูไอแพด 2 เป็น Dual Core แล้วจึงได้นำ Photobooth มาบรรจุไว้ด้วย
Performance Test
Camera Test
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพส่วนแรก ในส่วนของกล้องถ่ายภาพ จะเห็นว่าภาพที่ถ่ายได้จากไอแพด 2 ค่อนข้างมีคุณภาพที่ต่ำทั้งความละเอียดรวมที่ได้เพียง 7 แสนพิกเซล (690x720 พิกเซล) และในส่วนของเกรนภาพที่ค่อนข้างมาก รวมถึงความสดใสของเฉดสีที่เมื่อเปรียบเทียบกับกล้องของด้านหลังไอโฟน 4 แล้ว แทบแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังภาพประกอบด้านบน
ส่วนกล้องด้านหน้าที่มีความละเอียดระดับ VGA 640x480 พิกเซล ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ไม่ขี้เหร่มากนัก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับขนาดหน้าจอและความละเอียด 1,024x768 พิกเซลบนตัวไอแพด 2 อาจจะรู้สึกได้ว่าภาพที่ได้มีความละเอียดต่ำจนรู้สึกถึงความเบลอของภาพได้พอสมควร
คุณภาพของภาพถ่ายจากกล้องด้านหลังไอแพด 2 แบบความละเอียดสูง
กล้องหน้า
กล้องหลัง
สุดท้ายสำหรับในส่วนของกล้องวิดีโอที่สามารถถ่ายวิดีโอความละเอียดสูง 720p (1,280x720 พิกเซล) ที่ความเร็วเฟรมเรท 30 เฟรมต่อวินาที โดยจากการทดสอบพบว่าความลื่นไหลของกล้องอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในเรื่องของความคมชัด (จำนวน Bitrate) และความสดใสของภาพอยู่ในเกณฑ์พอใช้เท่านั้น
System Test
ในส่วนการทดสอบประสิทธิภาพในเรื่องของระบบการทำงานโดยรวม ซึ่งทีมงานได้เน้นไปที่การดึงประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผล Apple A5 Dual Core ออกมาใช้งานให้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด แต่เนื่องจากแอปฯ ที่ลงมาไว้ในเครื่องทดสอบไม่มีแอปฯ ใดที่สามารถดึงประสิทธิภาพของตัวเครื่องออกมาได้ทั้งหมด ทางทีมงานจึงคิดวิธีทดสอบด้วยการลองวัดประสิทธิภาพในการเปิดเว็บหน้าผู้จัดการออนไลน์แล้วนำไปเปรียบเทียบกับการเปิดหน้าเว็บเดียวกันบนไอโฟน 4 ซึ่งใช้หน่วยประมวลผล Apple A4 Single Core 1GHz และอีกหนึ่งวิธีการทดสอบคือทดสอบเปิดแอปฯ จำนวนมากและปิดให้ค้างไว้ในส่วนของ Multi tasking จากนั้นจึงสลับใช้แอปฯ เหล่านั้นไปมาเพื่อทดสอบความลื่นไหลในการประมวลผลของซีพียู Dual Core ซึ่งผลที่ได้ทั้งหมด ทางทีมงานขอสรุปเป็น 2 ตอนดังนี้
สำหรับในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพในการเปิดเว็บหน้าผู้จัดการออนไลน์แล้วนำไปเปรียบเทียบกับการเปิดหน้าเว็บเดียวกันบนไอโฟน 4 พบว่าความเร็วและความลื่นไหลบนไอแพด 2 ค่อนข้างดีกว่า โดยเฉพาะการโหลด Java Script ที่ทำได้รวดเร็วกว่า ในขณะที่ไอโฟน 4 อาจมีอาการสะดุดเล็กน้อย ดังวิดีโอด้านบน
ส่วนการทดสอบเปิดแอปฯ จำนวนมากและปิดให้ค้างไว้ในส่วนของ Multi tasking จากนั้นจึงสลับใช้แอปฯ เหล่านั้นไปมาเพื่อทดสอบความลื่นไหลพบว่าจากการทดสอบสลับใช้งานแอปพลิเคชันหลากหลายตัว ความเร็วของหน่วยประมวลผล A5 Dual Core สามารถสร้างความลื่นไหลให้แก่การใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม ขนาดมีการรันแอปแผนที่ ซึ่งบริโภคซีพียูค่อนข้างมากไว้ด้านหลัง แต่การทำงานทุกอย่างระหว่างทดสอบกลับไม่มีอาการสะดุดให้เห็นแต่อย่างใด
สุดท้ายสำหรับการทดสอบใช้งานส่วนอื่นๆ พบว่า การใช้งานทั่วไปนั้นแทบไม่แตกต่างจากไอแพดรุ่นแรกแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของแอปพลิเคชันพื้นฐานหรือค่าออปชันต่างๆ แต่สิ่งที่แตกต่างคงอยู่ในเรื่องของความเร็วที่เพิ่มมากขึ้นรวมถึงส่วนเสริมและการปรับเปลี่ยนดังที่กล่าวไปข้างต้นเท่านั้น
สรุป
ซึ่งสุดท้ายสำหรับบทสรุปการทดสอบไอแพด 2 ของทีมงานผู้จัดการไซเบอร์ในครั้งนี้ ถ้าจะกล่าวว่าจุดเด่นสำคัญที่ช่วยให้ไอแพด 2 น่าสนใจและสามารถมัดใจแฟนๆ สินค้าแบรนด์ผลไม้นี้ได้ คงจะอยู่ที่เรื่องของความเร็วของหน่วยประมวลผลที่เป็น Dual Core มากกว่าเรื่องของกล้องถ่ายภาพที่คุณภาพต่ำเกินความคาดคิด เพราะด้วยจำนวนคอร์ของซีพียูที่เพิ่มขึ้นมีผลให้ ทางแอปเปิลสามารถบรรจุแอปพลิเคชันที่บริโภคหน่วยประมวลผลมากๆ ลงไปได้ ซึ่งทำให้การใช้งานไอแพด 2 มีความเร็วที่มากขึ้น ในขณะที่การปรับเปลี่ยนเรื่องหน่วยประมวลผลและกราฟิกชิปจะทำให้การทำงานของแอปพลิเคชันทำได้ไหลลื่นขึ้นมาก โดยเฉพาะเกมที่ปัจจุบันกราฟิกเริ่มมีความละเอียดมากขึ้น จนหน่วยประมวลผลตัวเก่าไม่สามารถตอบสนองได้ จะกลับมาทำงานได้ราบลื่นอีกครั้งบนไอแพด 2 และในส่วนของผู้ใช้งานทั่วไปที่เน้นเรื่องการใช้ไอแพดทำงานด้านการตกแต่งรูปหรือพิมพ์งาน ไอแพด 2 จะสามารถโหลดหน้าเอกสารหรือประมวลผลด้านรูปได้ดียิ่งขึ้น
แต่ทั้งนี้สำหรับท่านผู้อ่านที่หวังไว้สูงว่าไอแพด 2 ซึ่งติดตั้งกล้องถ่ายภาพและวิดีโอไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จะมาพร้อมประสิทธิภาพที่สูงกว่าไอโฟน 4 ทางทีมงานก็ขอแสดงความเสียใจครับว่า กล้องทั้ง 2 ตัวที่ติดตั้งมาบนไอแพด 2 ให้คุณภาพของภาพที่ค่อนข้างต่ำและเกรนขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งยิ่งมาใช้ร่วมกับหน้าจอที่ใหญ่แล้วภาพที่ได้จะถือเป็นข้อด้อยอย่างยิ่ง
ส่วนสุดท้ายด้านรูปลักษณ์ที่มีการปรับเปลี่ยนให้บางลงกว่าไอแพดรุ่นแรก พบว่าการปรับเปลี่ยนทั้งหมดทำให้ตัวไอแพด 2 มีน้ำหนักที่เบาลง ในขณะที่การจับถือ อาจรู้สึกไม่ค่อยถนัดเล็กน้อย เพราะด้วยขนาดที่บางและความโค้งมนด้านหลังอาจทำให้รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในการจับถือเล็กน้อย จนต้องหาเคสมาใส่เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้มากขึ้น
**แต่ทั้งนี้เนื่องด้วยข้อจำกัดของทางทีมงานที่กล่าวไปทำให้ทีมงานไม่สามารถทดสอบในเรื่องของอายุแบ็ตเตอรี่ต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง รวมถึงการทดสอบในส่วนของการเล่นเกม หรือเปรียบเทียบกับไอแพดตัวแรก และรวมถึงระบบ three-axis gyroscope และ FaceTime ได้ละเอียดนัก ซึ่งผู้อ่านท่านใดที่มีโอกาสได้สัมผัสหรือเป็นเจ้าของไอแพด 2 แล้ว ก็สามารถร่วมแบ่งปันความคิดเห็นได้ที่กล่องข้อความด้านล่างได้ครับ**
ขอชม
- Apple A5 Dual Core ทำให้การใช้งานไหลลื่นขึ้นมาก
- มีกล้องด้านหน้าและหลัง พร้อมความสามารถ FaceTime หรือ VDO Call ได้
- น้ำหนักน้อยและบางลงจากรุ่นแรก
- Video mirroring บน HDTV ได้
ขอติ
- กล้องทั้ง 2 ตัวที่ติดตั้งมาบนไอแพด 2 ให้คุณภาพของภาพที่ต่ำ รวมถึงเกรนที่ค่อนข้างมาก
ขอบคุณอุปกรณ์ทดสอบจากร้าน Blink7 โทร. 087-777-7877