หลังจากที่เลอโนโวประสบความสำเร็จในการทำตลาด IdeaPad S10 และ S12 ล่าสุดในงาน CES2010 ที่จัดขึ้นลาสเวกัส ก็มีการเปิดตัว Thinkpad X100e ซึ่งเป็นเน็ตบุ๊กที่ผลิตออกมาเพื่อสอบสนองความต้องการของผู้ใช้ระดับกลาง
โดยจุดขายของเจ้า Thinkpad X100e เห็นจะเป็นระบบปฏิบัติการ Windows 7 Professional 32บิต ของแท้, มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และมีราคาที่ไม่แพงจนเกินไป (ราคาอยู่ที่ 17,900บาท) มีสีให้เลือกทั้งสีแดง และสีดำด้าน
สำหรับ ThinkPad X100e ตัวที่เราได้มาทดสอบนี้ใช้ซีพียู AMD Athlon Neo MV-40ความเร็ว 1.60GHz, RAM DDR2 2GB, Sound Card Conexant 20582 Smart Audio, Network Card Realtek PCIe GBE Family Controller รองรับการเชื่อมต่อ Wireless LAN 11/b/g/n, Gigabit Ethernet, Bluetooth และ WWAN
Design of Lenovo Thinkpad X100e
Thinkpad X100e ยังคงมีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ ตามแบบฉบับเลอโนโวคือเรียบง่าย แต่ดูดี ด้วยตัวเครื่องสีดำผลิตจากแมกนีเซียมอัลลอนด์ผสมพลาสติกคุณภาพสูง ขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 282 x 209 x 15-29.5 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม ที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ แถมยังให้ความรู้สึกทนทาน
ด้านหน้า - ฝาบนถูกดีไซน์มาให้มีความเรียบง่าย พื้นผิวสีดำด้านถูกประดับด้วยโลโก Thinkpad สีดำแดงที่มุมล่างขวามือ
เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาจะพบกับกล้องเว็บแคม High Sensitivity ที่มีความคมชัดสูง ถัดลงมาคือหน้าจอ HD WXGA Ultrabrigh TFT LCD ขนาด 11.6 นิ้ว ความละเอียด 1366x768พิกเซล และด้านล่างมีโลโก้ Thinkpad X100e ติดอยู่
ส่วนข้อพับด้านซ้าย-ขวา ให้ความรู้สึกแข็งแรงดี สามารถกางหน้าจอได้มากสุด 180องศา
ในส่วนของฝาผับด้านล่าง บนสุดขวามือจะเป็นปุ่มปิด-เปิดเครื่อง ส่วนตัวคีย์บอร์ดที่ให้มานั้นเป็นแบบ Spill-resistant keyboard คือป้องกันน้ำหกไม่ให้ไหลลงไปที่บอร์ด แผงคีย์บอร์ดมีขนาดใหญ่ใช้พิมพ์งานได้ดี แต่บางคนอาจสับสนเล็กน้อยในเรื่องของปุ่ม Ctrl เพราะด้านมุมซ้ายล่างสุด จะเป็นปุ่ม Fn (ฟังก์ชัน) ตามมาด้วยปุ่ม Ctrl (คอนโทรล)
ซึ่งในเน็ตบุ๊กยี่ห้ออื่นๆ จะเรียงจากปุ่ม Ctrl แล้วตามด้วยปุ่ม Fn ทำให้ในช่วงแรกๆ ที่ใช้งานยังสั่งงานผิดพลาด ต้องใช้งานไปซักระยะแล้วจะชินไปเอง แต่ถ้าไม่อยากปรับสภาพให้ชิน ผู้ใช้สมารถเข้าไปสลับการทำงานของทั้ 2 ปุ่มนี้ได้จากในส่วนของการตั้งค่า Bios
การรับสัมผัสของแผงกดปุ่มทำได้ดีมาก สามารถพิมพ์แบบสัมผัสได้เงียบ ไม่มีเสียงกดคีย์บอร์ดให้ได้ยิน
ในส่วนของทัชแพดที่ให้มานั้นเป็นแบบ Multi-Touch มีขนาดกว้างกำลังดี สามารถใช้นิ้วมื่อสั่งหมุนภาพได้ดี ไม่มีอาการหน่วง มีปุ่มคลิกซ้าย-ขวาขนาดใหญ่แยกชัดเจน และตามสไตล์ของ ThinkPad ที่มีปุ่มเมาส์ซ้าย-ขวาเพิ่มขึ้นมาด้านบนเพื่อให้ควบคุมคู่ไปกับ TrackBall เพื่ออำนวยความสะดวก
ด้านล่างสุด - มีไฟแสดงสถานะแบตเตอรี และไฟแสดงสถานะการทำงานของเครื่อง ซึ่งไฟแสดงสถานะ มีเพียง 2 สี คือเขียวและส้ม เมื่อแบตฯเต็ม และขณะกำลังชาร์จแบตฯ ส่วนในกรณีแบตฯใกล้หมดจะเป็นไฟกระพริบสีส้ม
เมื่อพลิกดูที่ด้านหลังจะพบกับรูระบายอากาศเรียงยาวเป็นแนวนอน ด้านบนสุดเป็นแบตเตอรี่ Li-ion ขนาด 6 เซลล์
Input and Output Ports
ด้านซ้ายมือ - ของตัวเครื่องจะพบกับช่องเสียบหูฟังขนาดมาตรฐาน 3.5 มม. ช่องต่อสายแลน , พอร์ตต่อ USB 2 พอร์ต และช่องระบายความร้อนคอมพิวเตอร์
ด้านขวามือ - มีช่องต่อ 4 in 1 Card Reader และ ช่องต่อยูเอสบี
ด้านหลัง - ซ้ายมือสุดจะเป็นช่องเสียบชาร์จแบตเตอรี และขวามือสุดจะเป็นช่องต่อ VGA Out
Performance And Benchmark
สำหรับประสิทธิภาพการใช้งานเรามาเริ่มกันทีซีพียู AMD Athlon Neo MV-40 ที่ใช้เทคโนโลยีแบบ 65 นาโนเมตร เมื่อใช้งานหนักๆ จะกินไฟ 1.000v ส่วนคอร์สปีดสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 1607.1MHz, L1 D-Cache 64KB, L1 I-Cache 64KB และ L2 Cache ขนาด 512KB
ในส่วนเมนบอร์ดนั้นใช้ของ Lenovo ชิปเซ๊ท AMD 780/SB750 มีหน่วยความจำแบบ DDR2 2GB
การ์ดจอใช้ของ ATI Radeon รุ่น HD3200 กราฟิกแรมขนาด 336MB
สำหรับการทดสอบคะแนนผ่านโปรแกรม PCMark05 คะแนนรวมอยู่ที่ 1,454 คะแนน ซึ่งถือเป็นคะแนนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเน็ตบุ๊กในตลาดทั่วๆไป อาจจะเป็นผลมาจากใช้หน่วยประมวลผลที่เป็น AMD
หลังจากนั้นนำไปทดสอบจากโปรแกรม 3DMark06 คะแนนออกมาอยู่ที่ 1,043 คะแนน ซึ่งถือว่าทำได้ดีทีเดียวจากการที่ตัวเครื่องมาพร้อมกันทั้ง AMD และ ATI ที่เป็นชิปเซ็ตสำหรับกราฟิกโดยเฉพาะ สามารถดูไฟ High Definition ได้สบายๆ
มาต่อกันที่ฮาร์ดดิสก์ซึ่งเป็นของ HITACHI ความจุ 320GB ที่มีรอบหมุนอยู่ที่ 5400RPM สามารถอ่านข้อมูลได้เร็วสุด 28MB/s, และความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ 18.4ms
สำหรับภาคการรับสัญญาณไวเลส X100e ใช้ไวเลสของ Realtek รองรับสัญญาณ 802.11b/g/n ซึ่งจากกราฟที่ได้ออกมาจะอยู่ในระดับสูง 90 - 95% เมื่อทดลองเชื่อมต่อใช้งานทั่วไป พบว่ามีอาการแกว่งเป็นระยะๆ แต่ในการใช้งานแทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่างในการใช้งาน
Battery and Heat
สำหรับแบตเตอรี่ที่ให้มาแบบ 6 เซลล์ นั้นเราได้ทดสอบโดยตั้งค่าความสว่างหน้าจอ 100% ความดังเสียง 100% เปิดดูไฟล์ภาพยนตร์ความละเอียดสูงได้นาน 2 ชั่วโมง 50 นาที
แต่ตั้งค่าความสว่างหน้าจอ 50% ความดังเสียง 50% แล้วเปิดฟังเพลง เล่นอินเทอร์เน็ต พิมพ์งานทั่วไป แบตฯจะอยู่ได้นานถึง 4 ชั่วโมง 50 นาที สำหรับการชาร์ตแบตเตอรีให้เต็มนั้นใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที
มาในส่วนของอุณหภูมิเครื่องกันบ้าง โดยการทดสอบครั้งนี้ใช้โปรแกรม CPUID Hardware Monitor ด้านความร้อนของเครื่อง เมื่อเปิดเครื่องใช้งานอินเทอร์เน็ต และพิมพ์งานซักระยะหนึ่ง ความร้อนของเครื่องจะอยู่ที่ 59 องศาเซลเซียส ความร้อนของฮาร์ดดิสก์จะอยู่ที่ 39 องศาเซลเซียส
แต่ถ้าใช้งานหนักๆ อย่างการดูภาพยนตร์ High-Definition ติดต่อกันประมาณชั่วโมงครึ่ง ถึง 2 ชั่วโมง จะมีความร้อนขึ้นสูงสุดถึง 71 องศาเซลเซียส อุณภูมิฮาร์ดดิสก์จะอยู่ที่ 44 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าร้อนพอสมควร
Feature of Lenovo Thinkpad X100e
ในส่วนของแอปพลิเคชันที่ให้มาพร้อมกับเจ้า X100e นี้ มีทั้ง Password Vault, Update and Drivers, Power Control, Enhanced Backup and Restore, Internet Connections Airbad Protection และ Factory Recovery Disks
Password Manager
เป็นโปรแกรมที่จะช่วยป้องกันการลืมรหัสผ่าน โดยระบบจะทำการบันทึกรหัสผ่านที่คุณตั้งไว้อัตโนมัติ และช่วยกู้คืนรหัสผ่านเวลาที่คุณลืม
Access Connection จะบอกให้คุณทราบว่าในบริเวณที่คุณอยู่ มีจุดส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไหนบ้าง และแต่ละที่อยู่ห่างจากคุณแค่ไหน เพื่อความสะดวกในการเลือกใช้งานอินเทอร์เน็ตของคุณ
Rescue and Problems โปรแกรมที่ช่วยแบคอัพข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ของคุณ ในกรณีที่คอมพิวเตอร์ของคุณโดนไวรัส ก็สามารถใช้โปรแกรมนี้กู้คืนข้อมูลที่เคยอยู่ในเครื่องได้
บทสรุป
สำหรับ Lenovo ThinkPad X100e มีการออกแบบที่เรียบง่ายแต่ดูดี และให้สัมผัสที่ทนทานจริงๆ แต่เสียดายว่าตัวเครื่องนั้นเป็นรอยนิ้วมือง่ายมาก และเช็ดออกยากพอสมควร ตัวเครื่องที่มีขนาดเล็ก น้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สบายๆ
ในส่วนซีพียู AMD Athlon Neo ความเร็ว 1.6GHz ถือว่าทำงานได้ดีพอสมควร สามารถเล่นไฟล์ High-Def ได้โดยไม่กระตุก สามารถเปิดใช้งาน Photoshop กราฟฟิคหนักๆ พร้อมกับการเข้าอินเทอร์เน็ต และฟังเพลงได้ แต่ทั้งนี้เหมาะสำหรับใช้งานเป็นเครื่องรองมากกว่า เพราะด้วยขนาดหน้าจอที่ไม่ใหญ่มาก อาจทำให้ปวดตาได้เมื่อใช้งานเอกสารไปนานๆ
ในส่วนของการใช้งานความบันเทิงนั้น ThinkPad X100e มีหน้าจอความละเอียด 1366 x 768 พิกเซล ที่มีความคมชัดสูงมาก ที่ให้ภาพคมชัด สบายตา ยิ่งเมื่อนำมาใช้ดูไฟล์ภาพยนตร์ High-Definition ยิ่งประทับใจ ในส่วนของลำโพงที่อยู่ใต้แผงคีย์บอร์ดนั้นยังให้เสียงที่เบาอยู่ แม้ว่าจะเร่งความดังจนสุด ดังนั้นถ้าคุณต้องการให้รู้สึกเหมือนดูหนังอยู่ในโรงภาพยนตร์ขนาด 11.6 นิ้ว แนะนำให้ลองหาลำโพงขยายเสียงสำหรับโน้ตบุ๊กดีๆ มาต่อซักอัน รับรองว่าแจ่ม
การใช้งานโดยรวมถือว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดี ใช้เวลาเปิดเครื่องพร้อมใช้งานประมาณ 1นาที 30 วินาที และจากการที่ใช้ซีพียูที่เป็น AMD ทำให้ไม่สามารถประหยัดแบตฯในการใช้งานได้เหมือนเน็ตบุ๊กที่ใช้ซีพียูอินเทลอะตอม แต่ก็แลกมาด้วยประสิทธิภาพการประมวลผลที่ดีกว่า ทั้งนี้ด้วยความที่ยังเป็นเพียงเน็ตบุ๊กผู้ใช้คงไม่นำไปใช้งานหนักๆจนผิดประเภท
ในเรื่องของการใช้งาน TrackPoint ถือเป็นจุดเด่นสำคัญในตระกูล ThinkPad ก็ว่าได้ เพราะผู้ที่ใช้งานและชื่นชอบ มักจะมองว่าปุ่มแดงๆตรงกลางเครื่องให้ความสะดวก แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยใช้คงมองว่ามันแกะกะสายตาพอสมควร ส่วนการสั่งงานมัลติทัชบน TouchPad ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีมาในโน้ตบุ๊กระยะหลังๆ ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานเช่นเดียวกัน
ขอชม
- ใช้วัสดุที่ให้ความรู้สึกทนทาน น่าใช้
- คีย์บอร์ดขนาดใหญ่ ให้สัมผัสที่นุ่ม, ปุ่ม TrackPoint ใช้งานได้สะดวก
- กล้องเว็บแคมเป็นแบบมุมกว้างมีความคมชัดสูง
ขอติ
- เมื่อใช้งานไปซักระยะจะรู้สึกว่าตัวเครื่องร้อนมาก
- แบตฯ 6 เซลใช้งานหนักๆได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง
- ลำโพงให้เสียงเบา แม้จะเร่งความดังสุดแล้วก็ตาม
- ไม่มีพอร์ต HDMI มาให้
Company Relate Link :
Lenovo