โทรศัพท์ตระกูลแคนดี้ (Candy) หรือที่วางจำหน่ายในต่างประเทศนาม คอร์บี้ (Corby) ถูกวางมาเป็นทัชโฟนราคาถูกที่ทุกๆคนสัมผัสได้ โดยทางซัมซุงประเทศไทย ได้มีการนำอีก 2 รุ่นเข้ามาจำหน่ายในช่วงนี้คือ แคนดี้ แชท (Candy Chat) และ แคนดี้ 3G (Candy 3G) ซึ่งยังคงจุดเด่นที่ ขนาดเล็กกะทัดรัดสีสันสวยงามเช่นเดิม
สำหรับ แคนดี้ แชท มีจุดเด่นที่แยกออกมาจากแคนดี้ ธรรมดาคือ มีคีย์บอร์ด QWERTY สไลด์ด้านข้างออกมา และเปลี่ยนหน้าจอจากแบบ Capacitive มาเป็นแบบ Resistive เช่นเดียวกับ แคนดี้ 3G ที่จะนำมารีวิวให้ชมกัน โดยสิ่งที่ 3G มีมากกว่าแคนดี้อีก 2 รุ่นก็คือรองรับการเชื่อม 3G นั่นเอง
Feature On Samsung Candy 3G
อินเตอร์เฟสการใช้งานสำหรับแคนดี้ 3G ยังคงเป็น "TouchWiz" ที่มาพร้อมกับวิตเจ็ตอยู่ในแถบ 'Side bar' ทางด้านล่าง มีพื้นที่ให้เลือกใช้วิตเจ็ตกันถึง 3 หน้าเช่นเคย ส่วนด้านข้างยังเป็นปุ่มกดเข้าสู่ เมนู สมุดโทรศัพท์ และ ปุ่มกด (โทรฯออก) อยู่เช่นเดิม ทั้งนี้ในกรณีที่ไม่ได้สไลด์คีย์บอร์ดออก หน้าจอจะทำงานในแนวตั้งตามปกติ
หน้าเมนูแบ่งออกเป็น 3 หน้าด้วยกัน ประกอบไปด้วย บันทึกล่าสุด, Facebook, เครื่องเล่นเพลง, อินเทอร์เน็ต, MySpace, ไฟล์ส่วนตัว, ปฏิทิน, กล้องถ่ายรูป, คอมมูนิตี้, Instant Messenger, การเตือน, การตั้งค่า, ค้นหาเพลง, Google, วิทยุFM, แลกเปลี่ยน ActiveSync, แก้ไขรูปภาพ, เกมและแอปพลิเคชัน, เครื่องบันทึกเสียง, บลูทูธ, ซิงโครไนซ์, Wi-Fi, สมุดบันทึก, ดาวน์โหลด, สิ่งที่ต้องทำ, เครื่องคิดเลข, การเปลี่ยนหน่วย, เวลาโลก, การตั้งเวลา, การจับเวลา และแอปพลิเคชันSIM
ซึ่งถ้าสังเกตจะพบว่าเมนูแทบไม่ต่างจาก "แคนดี้" รุ่นปกติเลย ยกเว้นในเรื่องของการเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่เพิ่มเข้ามา ส่วนแอปพลิเคชันเกี่ยวกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ในรุ่นเดิมจะไปรวยมอยู่ในโฟลเดอร์คอมมูนิตี้เท่านั้นเอง ดังนั้นในเรื่องของการใช้งานผู้ใช้ TouchWiz ในแบรนด์ซัมซุงคงคุ้นเคยกันดี
ภายในคอมมูนิตี้จะประกอบไปด้วยลิงก์ไปยังแอปพลิเคชันหรือเปิดหน้าเว็บไซต์เครือข่ายออนไลน์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น Facebook, Bebo, Fotki, Photobucket, Picasa, MySpace และ Friendster โดยในกรณีที่ไม่มีมากับเครื่องผู้ใช้สามารถเข้าไปดาวน์โหลดมาติดตั้งได้จากเมนูดาวน์โหลดที่มากับตัวเครื่องได้ทันที
สำหรับแอปพลิเคชันอย่างเฟสบุ๊กถือว่าให้มาครบตามการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือทั่วไป แบ่งหน้าหลักออกเป็น 4 หน้าคือแสดงฟีดข่าว ถัดมาเป็นแสดงข้อมูลส่วนตัว รายชื่อเพื่อน และกล่องข้อความ นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ด้วยปุ่มเพิ่มรูปถ่าย เพื่ออัปโหลดรูปขึ้นเฟสบุ๊กในทันที
ในส่วนของระบบแชท ปัจจุบันที่แถมมาให้กับในตัวเครื่องจะเป็นของ Palringo ซึ่งเป็นจาวาแอปพลิเคชัน โดยในการใช้งานผู้ใช้จำเป็นต้องเข้าไปสมัครใช้บริการที่เว็บไซต์ http://www.palringo.com/ ก่อน เพื่อที่จะลงทะเบียนว่าจะใช้บริการของอะไรบ้าง หลังจากนั้นจึงนำไอดีที่ลงทะเบียนมาล็อกอินในโทรศัพท์มือถือ
มาดูกันที่แอปฯสำหรับใช้งานเชื่อมต่อไวเลสกันบ้าง เมื่อเปิดแอปฯขึ้นมาจะพบกับหน้าปุ่ม Wi-Fi อยู่ตรงกลาง โดยผู้ใช้สามารถกดที่ปุ่มดังกล่าวเพื่อเปิด-ปิดการใช้งานได้ ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานแล้วจะพบกับเครือข่ายที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ต้องการเชื่อมต่อกับจุดไหนก็สามารถเลือกและใส่รหัสเพื่อเข้าใช้งานได้ทันที ทั้งนี้เมื่อมีการใส่รหัสครั้งแรกแล้วครั้งต่อไปเมื่อเชื่อมต่ออีกครั้งทางเครื่องจะเชื่อมต่อให้อัตโนมัติ
เมื่อเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ลองใช้งานเบราว์เซอร์ที่มากับเครื่องบ้าง ในที่นี้ถ้าสังเกตจะพบว่าฟอนต์ของตัวอักษรที่แสดงเป็นคล้ายลายมือการ์ตูน เนื่องจากขณะใช้งานได้ปรับธีมให้เป็นแบบดังกล่าวอยู่ ถ้าไม่ชอบสามารถเปลี่ยนฟอนต์ให้เป็นตัวอักษรปกติได้เช่นกัน
แถบเมนูด้านข้างในส่วนของเบราว์เซอร์ประกอบไปด้วยปุ่มย้อนกลับ เพิ่มหน้าเว็บโปรด เข้าสู่หน้าเพจที่บันทึกไว้ และการตั้งค่าอื่นๆ ซึ่งการตั้งค่าในส่วนนี้ก็มีตั้งค่าทั่วไป RSS อัปเดท รายการอินเทอร์เน็ต เคลียร์แคช ลบคุกกี้ และการจัดการคุกกี้ ภายในเครื่อง
Camera
โหมดกล้องในเครื่อง ถือว่ามีพัฒนามาจากแคนดี้เล็กน้อยตรงที่เพิ่มหมวด SCN ให้ผู้ใช้สามารถปรับใช้งานกัน ตั้งแต่แบบปกติ รูปบุคคล ทิวทัศน์ กลางคืน กีฬา พระอาทิตย์ตก และตัวอักษร ส่วนโหมดถ่ายรูป ยังคงมีให้ตามมาตรฐานคือ ชอตเดียว สไมล์ชอต ชอตต่อเนื่อง และพาโนราม่า
ในการใช้งานกล้องเมื่อเทียบในช่วงระดับราคาเดียวกันภายใต้แบรนด์ซัมซุง ยังมีสตาร์ไดมอนด์ ที่ให้กล้องที่ดีกว่าแคนดี้ 3G อยู่เยอะมาก เนื่องจากข้อจำกัดของรุ่นนี้ ยังอยู่ที่กล้อง 3.2 ล้านพิกเซล และไม่มีออโต้โฟกัส ดังนั้นถ้าผู้ใช้ต้องการใช้งานเพื่อถ่ายรูปแล้ว ควรหันไปลองดูสตาร์ไดมอนด์เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกจาก กล้อง 5 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลชและออโต้โฟกัสจะดีกว่า
Design of Samsung Candy 3G
Samsung B5310 หรือแคนดี้ 3G นั่นมีหน้าตาไม่แตกต่างจากรุ่นแรกที่ออกมาคือ แคนดี้เลย เพียงแต่มีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อยและหนาขึ้นอีกนิดเนื่องจากมีคีย์บอร์ดสไลด์ข้าง ทำให้ขนาดรอบตัวอยู่ที่ประมาณ 105 x 56.8 x 15.7 มิลลิเมตร น้ำหนัก 135 กรัม ถือว่าอยู่ในขนาดพอดีมือไม่เล็กและใหญ่จนเกินไป โดยที่ขายในไทยขณะนี้จะมีหน้ากากให้เปลี่ยนเพียง 2 สี คือ ขาว และ ดำ เท่านั้น
ด้านหน้า - ไล่จากบนสุดมีช่องลำโพงสนทนา ที่ดีไซน์เป็นแนวยาวลวดลายคล้ายตะแกรงถี่ๆ สีเงินพาดเป็นแนวยาวอยู่บนสุด เยื้องลงมาทางซ้ายเล็กน้อยมีกล้องวิดีโอคอลติดอยู่ ถัดลงมาเป็นหน้าจอ QVGA แบบ Resistive ขนาด 2.8 นิ้ว 16 ล้านสี
ถัดลงมามีตัวอักษรเขียนชื่อแบรนด์ "Samsung" สีเงิน วางพาดอยู่ตรงกึ่งกลาง ล่างสุดเป็นปุ่มควบคุม มีด้วยกัน 3 ปุ่มคือ ไล่จากซ้ายเป็นปุ่มรับสาย ตรงกลางเป็นปุ่มเมนู และขวาเป็นปุ่มวางสาย (กดค้างเพื่อปิดเครื่อง)
เมื่อสไลด์คีย์บอร์ดออกมา จะพบกับคียบอร์ดสีแดงแรงฤทธิ์ สกรีนด้วยตัวอักษรสีขาว สลับกับสีเหลือง ซึ่งเลย์เอาท์ภาษาอังกฤษถือว่าทำออกมาได้ตามมาตรฐานทั่วไป แต่สำหรับเลย์เอาท์ภาษาไทยไม่ทราบเหมือนกันว่าทางซัมซุงคิดอย่างไร จึงทำการเรียงตัวอักษรไล่จาก ก ข ค ไปเรื่อยๆ แทนที่จะเรียงตาม ฟ ห ก ด ปกติ (เครื่องที่ขายจริงมีสกรีนภาษาไทยให้เรียบร้อย)
สำหรับการใช้งานปุ่มกด เนื่องจากคีย์บอร์ดมีลักษณะติดกัน รวมไปถึงปุ่มกดไม่ได้มีลักษระบุ๋มลงไปมากเมื่อทำการกด ทำให้ในการใช้งานค่อนข้างจะเมื่อนิ้วเล็กน้อยในการพิมพ์ช่วงแรกๆ แต่เมื่อชินและรับรู้การสัมผัสแล้วก็สามารถใช้งานได้ปกติทั่วไป (ในกรณีที่พิมพ์ภาษาอังกฤษ)
ด้านหลัง - ฝาหลังทำจากพลาสติกเคลือบสีที่มีลวดลายเป็นเกลียวคลื่น ผิวมันเงา ไล่จากส่วนบนจะมีกล้องความละเอียด 3 ล้านพิกเซล โดยมีวงกลมสีเงินเป็นขอบนอก ข้างขวามีช่องลำโพงสเตอริโอ ถัดลงมามีการสลักแบรนด์ "Samsung" ในสไตล์นูนต่ำ
เปิดฝาหลังด้วยการงั้นจากช่องบริเวณด้านล่างของเครื่อง จะพบกับแบตเตอรี่ Li-ion ความจุ 960 mAh ถอดแบตออกมาจะเจอช่องใส่ซิมการ์ด ส่วนช่องใส่ไม่โครเอสดีการ์ดจะอยู่ทางด้านขวา มุมขวาบนเป็นช่องสำหรับร้อยสายโทรศัพท์ ที่น่าสนใจคือบริเวณรูในช่องข้างล่างแบต จะมีช่องสำหรับเสียบสายต่อGPS ภายนอกไว้ให้ใช้งานด้วย
ด้านซ้าย - มีปุ่มปรับระดับเสียงอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ด้านขวา - ไล่จากส่วนบนลงไปเป็นพอร์ตไมโครยูเอสบีสำหรับเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และชาร์จแบตในช่องเดียวกัน ข้างเป็นปุ่มล็อกเครื่อง สุดท้ายคือปุ่มชัตเตอร์ ที่สามารถใช้เป็นปุ่มลัดเรียกใช้งานโหมดกล้องได้ด้วย
ด้านบน - มีเพียงช่องหูฟัง 3.5 มม. ด้านล่าง - มีไมโครโฟนสนทนาอยู่มุมซ้ายเท่านั้น
บทสรุป
เมื่อออกมาอยู่ในตระกูลแคนดี้ สารที่ผู้บริโภคได้รับจะเป็นทัชโฟนในราคาคุ้มค่าราคาถูก แต่เมื่อมาพร้อมกับความเป็น 3G และคีย์บอร์ด QWERTY ทำให้ราคาของเครื่องสูงขึ้นมาจากเดิมเป็น 8,990 บาท ซึ่งในระดับราคาเดียวกันนี้เอง ทางซัมซุงก็ยังมี สตาร์ไดมอนด์ หรือออมเนีย รุ่นแรกที่ลดราคาลงมาอยู่ในช่วงดังกล่าวแล้วเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภค
สำหรับการเชื่อมต่อแคนดี้ 3G รองรับการใช้งาน HSDPA ความเร็วสูงสุด 7.2 Mbps ในคลื่นความถี่ 900/2100 MHz มีไว-ไฟ บลูทูธ รองรับระบบระบุพิกัด GPS ทางด้านมัลติมีเดีย มีมาให้ทั้งกล้องความละเอียด 3 ล้านพิกเซลที่พอถูไถ กล้องวิดีโอคอลด้านหน้า ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม.
ด้วยความที่ออกแบบมาพร้อมกับ QWERTY คีย์บอร์ดสไลด์ด้านข้าง ทำให้เครื่องรองรับการ Texting ไม่ว่าจะเป็นการแชท รับ-ส่งอีเมล แต่ด้วยความที่สามารถลงได้เฉพาะจาว่าแอปพลิเคชัน เท่านั้นทำให้เครื่องยังมีข้อจำกัดในการใช้งานพอสมควร แต่โดยรวมก็ถือว่าคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป
ในการใช้งานโทรศัพท์ทั่วไป เสียงสนทนาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เบาจนเกินไป ส่วนเรื่องของแบตฯแม้ว่าจะให้มาเพียง 960 mAh แต่ก็สามารถใช้งานได้ 2-3 วัน ซึ่งเท่าที่ทดลองใช้เล่นอินเทอร์เน็ตฟังเพลง ใช้งานทั่วๆไป สามารถอยู่ได้ถึง 2 วันสบายๆ แต่ในกรณีที่เปิดใช้งานจาว่าแอปพลิเคชันค้างไว้ จะทำให้แบตฯหมดเร็วกว่าปกติ เนื่องจากไม่สามารถรันโปรแกรมเบื้องหลังได้
ขอชม
- ทัชสกรีนพร้อม QWERTY คีย์บอร์ด ราคาไม่สูงที่รองรับ 3G / Vdo Call
- ฟังก์ชันและฟีเจอร์ ครบครันตามการใช้งานทั่วๆไป มี GPS ให้ใช้ด้วย
ขอติ
- เลย์เอาท์คีย์บอร์ดภาษาไทยที่เรียงตาม "ก ข ค ง" แทนที่จะเป็น "ฟ ห ก ด" ตาม QWERTY เลย์เอาท์
- ด้วยความที่รองรับแต่จาว่าแอปฯ ทำให้การใช้งานยังไม่หลากหลายเท่าที่ควร
ปล.ไม่มีรูปป้อมพระสุเมรุเนื่องจาก เครื่องที่ได้มาทดสอบตัวเลนส์มีปัญหา แต่ทั้งนี้เครื่องที่ขายจริงใช้งานได้ปกติ รวมกับมีการสกรีนคีย์บอร์ดภาษาไทย
Company Related Links :
Samsung