xs
xsm
sm
md
lg

Review : LG Arena KM900 ต้นแบบอินเตอร์เฟสล่าสุดของแอลจี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




"LG Arena KM900" มาพร้อมอินเตอร์เฟสการใช้งานรูปแบบใหม่ล่าสุดที่ชื่อ "S-Class" และถือว่าเป็นอินเตอร์เฟสต้นแบบให้กับโทรศัพท์มือถือรุ่นถัดไปได้หยิบมาใช้งาน เนื่องด้วยจุดเด่นที่ชวนให้สัมผัสซึ่งแต่ละฟังก์ชันมีการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ และแตกต่างกันไป ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน แต่ก็ยังพบข้อติในเรื่องของการตอบสนองผ่านนิ้วมือ ที่มีให้สะดุดอยู่บ้างในบางครั้งบางคราว นอกจากนี้ ยังมีลูกเล่นรองรับระบบสัมผัสแบบ Multi-touch ด้วยการการใช้ 2 นิ้วในการย่อขยายรูปภาพด้วย

Feature on LG Arena KM900



S-Class UI

LG Arena ใช้ยูสเซอร์อินเตอร์เฟสแบบใหม่ล่าสุดที่ชื่อว่า "S-Class" ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจาก KP500 Cookie ที่เคยนำมารีวิวให้ชมกันไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยอินเตอร์เฟส S-Class ได้รับการพัฒนาขึ้นภายใต้โครงสร้างแบบ 3 มิติ ด้วยการออกแบบเมนูทรงลูกบาศก์(Cube) สาามารถใช้ปลายนิ้วสัมผัสเพื่อหมุนเลือกใช้งาน(ลากนิ้วไปมาซ้าย-ขวา) รวมถึงยังสามารถจัดการเมนูต่างๆ ได้อย่างอิสระจากทั้ง 4 ด้านด้วย

เมนูต่างๆที่บรรจุอยู่บนรูปทรงลูกบาศก์ทั้ง 4 ด้าน จะอยู่บนหน้าจอหลักที่เรียกว่า"โฮมสกรีน(Homescreen)" ซึ่งทั้ง 4 ด้านประกอบไปด้วย ช็อตคัท(Shortcut), วิตเจ็ต(Widget), รายชื่อ(Contacts) และมัลติมีเดีย(Multimedia) ส่วนแถบด้านล่างสุดเป็นไอคอนการใช้งานให้เลือกใช้ 4 ไอคอน ประกอบไปด้วย ไอคอนรูปโทรศัพท์ เป็นไอคอนเข้าสู่โหมดโทรออก, ไอคอนรูปคน เป็นไอคอนเข้าสู่รายชื่อ, ไอคอนรูปซองจดหมาย เป็นไอคอนเข้าสู่เมนูข้อความ และสุดท้ายเป็นไอคอนเมนูรวม

Homescreen



คราวนี้ลองไปไล่ดูทีละเมนูกันว่ามีอะไรอยู่ภายในกันบ้าง เริ่มจากด้านแรกช็อตคัท(Shortcut) เป็นหน้าที่ใช้สำหรับเป็นทางลัดเข้าเมนูที่ใช้งานบ่อย ซึ่งกำหนดเมนูทางลัดได้ 9 รายการ สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขเมนูทางลัดทั้ง 9 รายการได้ โดยการกดที่หน้าจอค้างไว้ จากนั้นเครื่องจะนำเข้าสู่โหมดแก้ไข สามารถลบเมนูที่ไม่ต้องการออกได้ด้วยการกดปิดที่เครื่องหมายกากบาท(มุมบนขวาของแต่ละเมนู) รวมถึงสามารถย้ายเมนูได้ง่ายด้วยการกดที่เมนูค้างแล้วลากไปไว้ยังตำแหน่งตามที่ต้องการ

หากต้องการเปลี่ยน หรือเพิ่มเมนูใหม่ ให้กด "แก้ไข" ทางด้านล่าง ซึ่งเมื่อกดเข้าไปจะพบรายการให้เลือกอยู่ทั้งหมด 44 รายการ ได้แก่ เบราว์เซอร์, RSS reader, ข้อความ, อีเมล, โทร. วีดีโอ, Google, Google Maps, Google Search, Gmail, Youtube, My Blog, เพลง, กล้อง, กล้อง วีดีโอ, คลังภาพ, แฟ้ม, ภาพ, เสียง, วิดิโอ, แฟลช, เอกสาร, M-Toy, เกมส์, แอปฯ, วิทยุ FM, สร้างหนัง, เตือน, ปฏิทิน, บันทึก, บันทึก เสียง, คิดเลข, เวลาโลก, ตัวส่งFM, แปลงหน่วย, จับเวลา, STK, โปรไฟล์, หน้าจอ, ตั้งค่า, บลูทูธ, Wi-fi, การโทร, เชื่อมต่อ และข้อความ ถ้าต้องการใช้เมนูไหนก็ให้ติ๊กถูกด้านหน้าเมนูนั้น

ด้านที่ 2 วิตเจ็ต(Widget) เป็นหน้าที่ใช้สำหรับเข้าโปรแกรมลัดทางหนึ่ง ซึ่งวิตเจ็ตที่ให้มาเลือกใช้งานหน้านี้ ประกอบไปด้วย ข้อความ, อีเมล, Voice Mail, บันทึก, นาฬิกา Analog, ปฏิทิน, เครื่องคิดเลข, M-Toy, วิทยุ (Mini), เทียบเวลาต่างประเทศ, สภาพอากาศ และรับข้อมูล สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ โดยการกดค้างที่หน้าจอ จากนั้นจะมีแถบทางด้านล่างที่บรรจุเมนูย่อยๆไว้เด้งขึ้นมา สามารถเพิ่มเติมได้โดยการกดลากมาวางไว้ที่หน้าจอได้เลย หากไม่ต้องการก็สามารถลากกลับเข้าสู่แถบด้านล่างได้เช่นเดียวกัน สามารถจัดเรียงได้อย่างอิสระ หรือจะให้เครื่องช่วยจัดให้เป็นระเบียบได้ โดยการเลือกที่ไอคอนด้านซ้ายบน

ด้านที่ 3 รายชื่อ(Contacts) เป็นหน้าที่ใช้สำหรับเก็บรายชื่อบุคคลที่ติดต่อบ่อยๆ สามารถเลือกรายชื่อได้สูงสุด 30 รายชื่อ การเลือกรายชื่อคนที่ติดต่อบ่อยทำได้โดยการกดหน้าจอค้างไว้เหมือนเช่นเคย จากนั้นก็กด "แก้ไข" แล้วก็เลือกรายชื่อคนที่ติดต่อบ่อยจากสมุดโทรศัพท์ ด้วยการติ๊กที่รูปดาวท้ายแต่ละรายชื่อ นอกจากนี้ ยังสามารถกำหนดรูปแบบการแสดงรายชื่อได้ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ จัดเรียงแบบตาราง(กดเลือกไอคอนด้านบนซ้าย) กับการจัดเรียงแบบเป็นแถบสไลด์กงล้อ(กดเลือกไอคอนกลางด้านบน)

ด้านที่ 4 มัลติมีเดีย(Multimedia) เป็นหน้าที่ใช้สำหรับเลือกใช้งานทางด้านมัลติมีเดียตามชื่อที่ตั้งมา ซึ่งมัลติมีเดียที่ว่าก็คือ บรรดาเพลง, รูปภาพ และวิดิโอทั้งหลายที่ใช้งานบ่อยๆนั่นเอง สามารถเข้าไปอก้ไขปรับค่าได้คล้ายๆคอนแทกต์ กล่าวคือ กดหน้าจอค้างไว้จากนั้นก็กด "แก้ไข" แล้วก็เลือกหมวดเพลง, ภาพ หรือวิดิโอ ถ้าหากต้องการเพลง, รูปภาพ หรือวิดิโอไหนก็ให้ติ๊กรูปดาวของแต่ละรายการ ส่วนการแสดงผลทางด้านหน้านั้นมีให้เลือกใช้งาน 2 รูปแบบเช่นเดียวกัน คือ จัดเรียงแบบตาราง(กดเลือกไอคอนด้านบนซ้าย) กับการจัดเรียงแบบเป็นแถบสไลด์(กดเลือกไอคอนกลางด้านบน) ซึ่งการแสดงผลแบบแถบสไลด์นั้น จะแยกออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งซ้ายแสดงอัลบั้มเพลง ส่วนฝั่งขวาจะแสดงอัลบั้มรูปภาพ กับวิดิโอ

หลักกการทำงานมีดังต่อไปนี้ หากต้องการฟังเพลงให้กดเลือกเพลงที่ต้องการฟัง เครื่องเล่นเพลงฉบับมินิจะเด้งขึ้นมา ซึ่งหน้าตาของเครื่องเล่นเพลงประกอบไปด้วย ด้านบนสุดเป็นชื่อเพลง ถัดมาเป็นที่แสดงปกอัลบั้มทั้งหมดที่เลือกไว้เรียงติดเป็นแนวนอน (เลือกอัลบั้มเพลงโดยการลากนิ้วไปทางซ้าย-ขวา) ด้านล่างเป็นแถบเวลาของเพลง และปุ่มควบคุมเครื่องเล่นเพลงตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีโหมดเล่นเพลงซ้ำ กับปุ่มลำโพงใช้สำหรับปรับระดับเสียงมาให้ใช้งานด้วย

ส่วนรูปภาพ กับวิดีโอนั้น เมื่อกดเลือกรูปภาพที่ต้องการก็จะปรากฏเป็นอัลบั้มภาพมินิขึ้นมา ซึ่งภายในอัลบั้มก็จะมีภาพที่เคยเลือกไว้ ใช้งานได้โดยการลากนิ้วซ้าย-ขวาเพื่อดูภาพอื่นๆในอัลบั้ม เมื่อหมุนเครื่องแนวนอนภาพจะขยายเต็มหน้าจอ แต่ไม่สามารถใช้นิ้วจีบขยายภาพได้ ส่วนวิดิโอเมื่อกดเลือกวีดีโอแล้วเครื่องเล่นวีดีโอมินิก็จะเด้งขึ้นมา ซึ่งหน้าตาของเครื่องเล่นจะมีแถบเวลาของวิดิโอ และปุ่มควบคุมเครื่องเล่นวิดิโอ มีปุ่มโหมดเล่นซ้ำ กับปุ่มลำโพงสำหรับปรับระดับเสียงคล้ายๆกับเครื่องเล่นเพลง เมื่อหมุนตัวเครื่องในแนวนอนวิดิโอจะขยายเต็มหน้าจอ

Multi-Tasking



เมื่อกดปุ่มมัลติทาสกิ้ง(แถบด้านล่างปุ่มกลาง)ค้างไว้ เครื่องจะเข้าสู่โหมด"มัลติทาสกิง" ซึ่งโหมดนี้มีไว้เพื่อรองรับการทำงานหลายๆโปรแกรมในเวลาเดียวกัน โดยมีโปรแกรมให้เลือกใช้งานอยู่ทั้งหมด 9 โปรแกรมด้วยกัน ได้แก่ รายชื่อ, เบราเซอร์, ข้อความ, เกมส์, อีเมล, เพลง, วิทยุ FM, ปฏิทิน และบันทึก หลังจากลองใช้งานโหมดนี้พบว่า ยังทำได้ไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไรนัก เนื่องจากเปิดใช้พร้อมกันได้สูงสุดเพียง 2 โปรแกรมเท่านั้น ถ้าหากต้องการใช้โปรแกรมที่เหลือต้องปิดโปรแกรมที่ค้างอยู่ทั้งหมดก่อน ด้วยการเลือก หยุดทั้งหมด(End all) ทางด้านล่าง

Menu



"เมนู"เป็นแหล่งรวมของบรรดาเมนูต่างๆ รวมถึงการปรับตั้งค่าต่างๆของเครื่องด้วย ซึ่งเมื่อกดเข้ามาในหน้าเมนู(เลือกไอคอนแถบด้านล่างขวาสุดตามที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น) เมนูต่างๆจะถูกแยกออกเป็น 4 หมวดหลัก ประกอบไปด้วย 1. หมวดการติดต่อ ภายในหมวดนี้มีหมวดย่อยต่างๆ 8 หมวดย่อยได้แก่ รายชื่อ, ข้อมูลโทร, เบราว์เซอร์, ข้อความ, อีเมล, โทรออก, โทรวิดิโอ และGoogle 2. หมวดมัลติมีเดีย ภายในหมวดนี้มีหมวดย่อยต่างๆอีก 8 หมวดย่อยได้แก่ เพลง, กล้อง, กล้องวิดิโอ, คลังภาพ, แฟ้ม, เกมส์, วิทยุ FM และสร้างหนัง 3. หมวดยูทิลิตี มีเมนูย่อยอีก 8 เมนูย่อย ได้แก่ ตั้งปลุก, ปฏิทิน, บันทึก, จับเวลา, บันทึกเสียง, เครื่องคิดเลข, เวลาโลก และเครื่องมือ

สุดท้ายหมวดตั้งค่า มีเมนูย่อยที่ช่วยในการปรับค่าต่างๆอีก 8 เมนูย่อย ได้แก่ โปรไฟล์, หน้าจอ, โทรศัพท์, บลูทูธ, WiFi, การโทร, เชื่อมต่อ และข้อความ ซึ่งแการแสดงผลของมนูนั้นสามารถแสดงผลได้ 2 แบบคือแนวตั้ง แบ่งแยกหมวดหมู่ตามที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นอย่างชัดเจน เลื่อนหาเมนูย่อยต่างๆโดยการใช้นิ้วเลื่อนไปมาซ้าย-ขวา กับแนวนอน จะเป็นการแสดงผลแบบรวมทุกโปรแกรม ทั้ง 2 รูปแบบสามารถย้ายไอคอนเมนูย่อยได้ โดยการกดที่ไอคอนที่ต้องการค้างไว้ แล้วลากไปยังตำแหน่งใหม่ที่ต้องการ

General



หลังรู้จักอินเตอร์เฟสการใช้งานที่ใส่มาให้กันเต็มเหนี่ยวแล้ว คราวนี้ลองไปดูสัญลักษณ์แสดงบนหน้าจอ รวมถึงแถบทางลัดกันบ้าง เริ่มจากสัญลักษณ์กันก่อน เมื่อมองไปด้านบนสุดของหน้าจอไล่จากฝั่งซ้ายมาขวาจะมีสัญลักษณ์ที่คุ้นตาเป็นอย่างดีนั่นคือ สัญลักษณ์สถานะของคลื่นโทรศัพท์ เมื่อมีการเชื่อมต่อผ่าน GPRS/EDGE ก็จะมีสัญลักษณ์อักษร E ปรากฏขึ้น ถ้าเปิดสัญญาณ WiFi, บลูทูธ, นาฬิกาปลุก ก็จะปรากฏให้เห็นทางด้านบนไล่มา มีสัญลักษณ์แสดงสถานะโปรไฟล์ การ์ดหน่วยความจำ แบตฯ(3 ขีด) และนาฬิกาแบบดิจิตอล

ส่วนแถบทางลัดสามารถเรียกใช้งานได้ โดยการใช้นิ้วจิ้มไปที่บริเวณใต้โลโก้ "LG" จะปรากฏเป็นแถบรายการฟังก์ชันออกมาให้เลือกใช้งาน ได้แก่ การเลือกใช้งานบลูทูธ (เปิด-ปิด), เลือกการใช้งาน WiFi(เปิด-ปิด), การเตือน (เปิด-ปิด), ไปที่เครื่องเล่นเพลง, เหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งหมายถึง ข้อความต่างๆที่ยังไม่ได้เปิดอ่าน และสายเรียกเข้าที่ไม่ได้รับสาย สามารถกดเพื่อลิงก์เข้าสู่ฟังก์ชันแต่ละประเภทได้โดยตรง สุดท้ายเป็นสถานะของโปรไฟล์ สามารถกดเลือกเปลี่ยนได้โดยตรงเช่นเดียวกัน

Camera



"กล้องดิจิตอล" ที่ติดมากับเครื่องอารีนานั้น ให้ความละเอียดที่ระดับ 5 ล้านพิกเซล แบบออโตโฟกัสพร้อมแฟลช ซึ่งใช้เลนส์คุณภาพสูงยี่ห้อ "Schneider-Kreuznach" จากเยอรมัน สามารถเข้าเมนูกล้องได้ 2 ทาง คือ เข้าผ่านทางหน้าเมนู กับกดปุ่มชัตเตอร์ด้านข้างตัวเครื่องค้างไว้ โดยฟังก์ชันภายในมีให้เลือกใช้งานทั้งหมด 3 โหมดด้วยกัน ได้แก่ โหมดถ่ายภาพจากกล้องหลัก, โหมดวิดิโอ และโหมดถ่ายภาพกล้องหน้า ซึ่งการออกแบบฟังก์ชันการทำงานนั้นทำออกมาได้น่าใช้งานมาก การปรับค่ามีการทำวงล้อไว้ให้หมุนปรับเหมือนกับการหมุนปรับบนกล้องคอมแพกต์

อย่างแรกไปเริ่มที่"โหมดกล้องหลัก"กันก่อน ซึ่งมีให้เลือกการตั้งค่าดังต่อไปนี้ ขนาดภาพ มีให้เลือกดังนี้ 5 ล้านพิกเซล(2560x1920), 3 ล้านพิกเซล(2048x1536), 2 ล้านพิกเซล(1600x1200), 1 ล้านพิกเซล(1280x960) และ3 แสนพิกเซล(640x480) เอฟเฟกต์ มีให้เลือกใช้ 4 แบบ ได้แก่ ซีเปีย, โมโน, เนกาทีฟ และพิมพ์นูน ปรับค่าสมดุลแสง(WB) ได้แก่ อัตโนมัติ, หลอดไฟ, แสงอาทิตย์, ฟลูออเรสเซนต์ และมืดครื้ม ตั้งเวลา (ปิด, 3 วินาที, 5 วินาที และ10 วินาที) โหมดช็อต (ปกติ, ต่อเนื่อง) ค่า ISO (อัตโนมัติ, 100, 200, 400, 800)

คุณภาพของภาพ (ละเอียดมาก, ละเอียด, ปกติ) บันทึก (ความจำเครื่อง, ความจำการ์ด) ซ่อนไอคอน (อัตโนมัติ, กำหนดเอง) ป้องกันภาพสั่นไหว(เปิด-ปิด) ตัวเลือกการโฟกัส (สป็อด, กำหนดเอง, ติดตามหน้า) เสียงชัตเตอร์ มีเลือกทั้งหมด 4 เสียง มุมมองกริด (ปิด, 2x2 กริด, 3x3 กริด) จีโอแท็ก (เปิด-ปิด) รีเซ็ตการตั้งค่าทั้งหมด นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกเปิดใช้แฟลช LED ซึ่งมีให้เลือกแบบอัตโนมัติ ปิดเสมอ และเปิดเสมอ เลือกการโฟกัสแบบปกติ กับแบบมาโคร ปรับค่า EV ได้ตั้งแต่ -2 ถึง +2

ถัดมา"โหมดวิดิโอ" ไฟล์ที่ได้จากการถ่ายวีดีโอเป็นไฟล์แบบ 3GP สามารถหยุดพักชั่วคราวและถ่ายต่อได้ ซึ่งมีให้เลือกตั้งค่าดังต่อไปนี้ ขนาดไฟล์วิดิโอ มีให้เลือกดังนี้ 720x480 (D1) (25 เฟรมต่อวินาที), 640x480 (30 เฟรมต่อวินาที), 320x240 (20 เฟรมต่อวินาที) และ176x144 (15 เฟรมต่อวินาที) โหมดภาพ (อัตโนมัติ, กลางคืน) เอฟเฟกต์สี, การปรับค่าสมดุลแสง(WB) คุณภาพของภาพ และแหล่งบันทึก มีให้ปรับค่าเหมือนกันกับในโหมดกล้องหลัก

ระยะเวลามีให้เลือกแบบ ปกติ กับMMS เสียง มีให้เลือก เปิด-ปิดเสียง โฟกัสเสียง(โฟกัสภายนอก กับโฟกัสภายใน) ซ่อนไอคอน(อัตโนมัติ, กำหนดเอง) และรีเซ็ตการตั้งค่าทั้งหมด นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกใช้แฟลช LED ในโหมดการถ่ายวิดิโอได้ด้วย โดยการเปิด-ปิด เมื่อเปิดใช้งานไฟจะส่องสว่างคล้ายกับเปิดไฟฉายในที่มืด เลือกปรับสปีดในการถ่ายวิดิโอได้ และสามารถปรับค่า EV ได้ตั้งแต่ -2 ถึง +2 ได้เช่นเดียวกับกล้องหลัก

สุดท้าย"โหมดกล้องหน้า" สามารถบันทึกภาพได้ทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว (ที่ขนาด 320x240 และ176x144) ซึ่งการตั้งค่ามีดังต่อไปนี้ ขนาดภาพ (640x480, 320x240, MMS และรายชื่อ) เอฟเฟกต์สี มีให้เลือกใช้ 3 แบบ ได้แก่ ซีเปีย, โมโน และเนกาทีฟ ส่วนการปรับค่าสมดุลแสง(WB), ตั้งเวลา, คุณภาพของภาพ, แหล่งบันทึก, ซ่อนไอคอน, เสียงชัตเตอร์, มุมมองกริด, จีโอแท็ก, การรีเซ็ตการตั้งค่าทั้งหมด และปรับค่า EV มีให้ปรับค่าเหมือนกับกล้องหลักทุกประการ

เมื่อถ่ายภาพเสร็จสามารถกดเข้าไปดูภาพในคลังภาพได้เลย ซึ่งถ้าดูในแนวตั้งคลังภาพจะแสดงอยู่ในรูปของตาราง แต่ถ้าพลิกเครื่องดูในแนวนอน คลังภาพจะแสดงผลในรูปสไลด์แบบ 3D จุดนี้ออกแบบมาได้น่าสนใจเลยทีเดียว หากเลือกภาพหนึ่งภาพขึ้นมาดูสามารถใช้ระบบ Multi-Touch ซึ่งหมายถึงการใช้งานซูมขยายภาพโดยการจีบถ่างนิ้ว 2 นิ้วเพื่อขยายภาพออก และจีบหุบเข้าเพื่อต้องการย่อรูปให้มีขนาดเล็กลง

ภายหลังการใช้งานเมนูกล้องพบว่า ตัวกล้องจับโฟกัสได้ค่านข้างช้า ถ่ายเสร็จต้องยกกล้องแช่ไว้สักพักถึงจะสามารถถ่ายภาพต่อไป หรือลดมือลงได้ ไม่เช่นนั้นกล้องจะจับภาพล่าสุดซึ่งกำลังลดมือลงมานั่นเอง ทำให้ภาพเบลอ หรืออาจจะไม่ได้ภาพที่ตั้งใจกดชัตเตอร์ไว้ ตัวเครื่องมีอุณหภูมิค่อนข้างสูงจนรู้สึกได้ อาจจะเกิดจากลูกเล่นอินเทอร์เฟสที่ใส่มาอย่างแพรวพราวก็เป็นได้ และที่สำคัญเมนูนี้ดูดหลังงานจากแบตฯพอตัวเลยทีเดียว ส่วนคุณภาพทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ระบบมัลติทัชมีอาการหน่วงให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งถือว่ายังตอบสนองได้ไม่ดีเท่าที่ควร

Music



"เครื่องเล่นเพลง" ฉบับเต็มที่แยกออกมาคนละส่วนกับยูสเซอร์อินเตอร์เฟส รองรับไฟล์ชนิด MP3, AAC, AAC+, RA และWMA สามารถเลือกประเภทรายการเพลงได้ดังต่อไปนี้ ทุกแทร็ก, เพลงที่เล่นบ่อย, ศิลปิน, อัลบั้ม, แนวเพลง และรายการที่สร้างไว้ เมื่อกดเลือกเพลงที่ต้องการเล่น เครื่องจะแสดงปุ่มควบคุมเครื่องเล่นเพลง มีฟังก์ชันให้เลือกเล่นเพลงซ้ำอยู่ด้านซ้ายสุด (เล่นซ้ำเพลงเดียว เล่นซ้ำทั้งหมด) ส่วนรูปลำโพงด้านขวาสุดใช้สำหรับปรับระดับเสียง ซึ่งปรับได้ทั้งหมด 20 ระดับด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกตั้งเป็นเพลงใช้บ่อยได้ โดยกดรูปดาวซึ่งเลือกได้ทั้งหมด 15 รายการ และสามารถเลือกระบบเสียงแบบ "DOLBY MOBILE" ได้ที่รูปสัญลักษณ์ "DOLBY" สามารถเปลี่ยนธีมกราฟิกพื้นหลังของเครื่องเล่นเพลงได้โดยเลือกที่ตัวแสดงภาพ มีให้เลือกอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 แบบ ส่วนอีคลอไลเซอร์มีให้มาเลือกปรับกว่า 23 รูปแบบ ได้แก่ ปกติ BOBCAT MOBILE, DOLBY MOBILE, Acoustic, Bass Boost, Classical, Clear, Comfort, Dance, Deep, Electronic, Hip-Hop, Jazz, Latin, Live, Piano, Pop, Pure Bypass, R&B, Rock, Treble, Xtra Bass และVocal ซึ่งอีควอไลเซอร์ไม่สามารถเพิ่มเติมหรือแก้ไขได้เอง

ภายหลังการใช้งานเมนูเครื่องเล่นเพลงพบว่า เสียงที่ขับออกผ่านทางลำโพงด้านหน้า คุณภาพอยู่ในระดับปานกลางออกโทนแหลมแห้งๆ ถึงแม้ว่าจะลองกดฟังก์ชัน "DOLBY MOBILE" ที่ใส่มาให้ใช้งานก็ตาม ระดับความดังจัดอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ถ้าลองฟังผ่านหูฟังฟังก์ชัน "DOLBY MOBILE" ที่ให้มาถือว่าช่วยได้มาก ทำให้เสียงเพลงดูมีมิติขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนลูกเล่นฟังก์ชันต่างถือว่าทำได้ดี ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน

FM



"วิทยุ FM" หากต้องการใช้งาน แน่นอนต้องต่อกับหูฟังเพื่อเป็นตัวรับสัญญาณเสียก่อนถึงจะรับคลื่นฟังได้ หน้าตาวิทยุของอารีนาออกแบบค่อนข้างน่าใช้งาน สามารถค้นหาาคลื่นได้ตัวเองโดยการเลื่อนปุ่มที่ออกแบบเก๋ไก๋ เหมือนกำลังจูนหาคลื่นบนวิทยุจริงๆ นอกจากนี้ ยังสามารถค้าหาคลื่นแบบอัตโนมัติได้ด้วย สามารถบันทึกสถานีได้สูงสุด 30 สถานี เสียงแบบสเตริโอ ปรับระดับได้ 20 ระดับเหมือนกับเครื่องเล่นเพลง

Design of LG Arena KM900

ตัวเครื่อง LG Arena ถูกดีไซน์ให้เป็นสี่เหลี่ยมทรงแท่ง ตัดขอบโค้งมนทั้ง 4 ด้าน ซึ่งหากมองโดยรวมทางด้านหน้าจะละม้ายคล้ายกับไอโฟน ที่เป็นโทรศัพท์มือถือพิมพ์นิยมจนใครๆก็พยายามดีไซน์ตามให้เหมือน(นิดนึงก็ยังดี) ตัวเครื่องเลือกใช้โทนสีเงินทำให้เครื่องดูล้ำ เรียบง่ายไม่มีอะไรให้สะดุดตา ด้านขนาดของเครื่องค่อนข้างพอเหมาะพอดีกับมือ สามารถจับได้อย่างกระชับ ถึงแม้จะต้องใช้นิ้วควบคุมควบคู่ไปด้วย โดยตัวเครื่องนั้นมีขนาด 105.9 x 55.3 x 12 มม. น้ำหนักอยู่ที่ 105 กรัม



ด้านหน้า : ไล่จากส่วนบนสุดจะพบกับลำโพงวางอยู่ตรงกึ่งกลาง ซึ่งเป็นทั้งลำโพงสนทนา และลำโพงเสียง ใกล้กันทางด้านขวาเป็นกล้องหน้าขนาดเล็ก ใช้สำหรับ "Video Call" และบันทึกภาพในโหมดกล้อง ถัดลงมาจะพบกับโลโก้ยี่ห้อ "LG" วางพาดอยู่ตรงกึ่งกลาง ใกล้กันทางด้านซ้ายเป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว ถัดมาเป็นหน้าจอแสดงผลแบบ TFT-LCD 262,144 สี ขนาด 3 นิ้ว (480 x 800 พิกเซล) ซึ่งใช้ยูเซอร์อินเตอร์เฟส S-Class 3D พร้อมระบบมัลติทัช (Multitouch)



ใต้จอแสดงผล เป็นแถบเรียกการใช้งานโดยการสัมผัส ประกอบไปด้วย แถบสัญลักษณ์รับสาย-โทรออก แถบมัลติทาสกิง(Multi-Tasking) และแถบสัญลักษณ์วางสาย-ไม่รับสาย ถัดลงมาตรงบริเวณกึ่งกลางเครื่องมีรูไมค์สนทนาวางไว้อยู่ส่วนนี้



ด้านหลัง : เมื่อพลิกดูทางด้านหลังจะพบกับเลนส์ดิจิตอลอยู่มุมบนด้านซ้าย ซึ่งมีข้อความระบุว่าใช้เลนส์ Schneider KREUZNACH วางอยู่รอบตัวเลนส์ ใกล้กันเป็นแฟลช ด้านล่างกึ่งกลางเครื่องมีโลโก้ยี่ห้อ "LG" วางพาดอยู่ และมุมล่างด้านขวามีข้อความการันตีถึงความละเอียดกล้องที่ 5.0 MEGA พร้อมกับสัญลักษณ์ Dolby Mobile ซึ่งพื้นผิวทางด้านหลังดูเรียบๆโล่งๆมองแล้วสบายตาดี



เปิดฝาหลังออกจะพบกับช่องใส่แบตเตอรี่ใหญ่สะดุดตาอยู่ทางด้านล่าง ใช้แบตฯแบบ Li-Ion ขนาด 1,000 mAh ด้านบนฝั่งขวาเป็นช่องใส่ซิมการ์ด มีสัญลักษณ์ลูกศรบอกทิศทางในการใส่อย่างชัดเจน ส่วนด้านซ้ายเป็นช่องใส่การ์ดหน่วยความจำแบบ microSD ใช้งานโดยการดันเข้าหาตัว แล้วเปิดออกในลักษณะยกขึ้นจากนั้นก็ใส่การ์ดหน่วยความจำ ซึ่งใส่ได้สูงสุด 32 GB
***หมายเหตุ เปิดฝาหลังโดยการกดปุ่มด้านบนลงจนสุด ฝาด้านหลังก็จะแง้มออกมา จากนั้นให้ผู้ใช้แงะตามรอยที่แง้มออกมาอีกทีหนึ่ง



ด้านขวา : ไล่จากด้านบนสุดเป็นปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง และซูมขยายภาพเข้า-ออกในเมนูดกล้อง ล่างสุดปุ่มสีเงินเป็นปุ่มชัตเตอร์(กดค้างเข้าเมนูกล้อง)



ด้านซ้าย : มีเพียงช่องเชื่อมต่ออุปกรณ์ภายนอกต่างๆ ทั้งสายชาร์จแบตเตอรี่, สายเคเบิ้ลเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นหัวเฉพาะของแอลจีเท่านั้น โดยมีฝาแบบเลื่อนปิดอยู่อย่างมิดชิด





ด้านบน และด้านล่าง : ด้านบนไล่จากฝั่งซ้ายเป็นปุ่มล็อก-ปลดล็อกหน้าจอ(กดค้างเปิด-ปิดเครื่อง) ถัดมาตรงกลางเป็นปุ่มสลักเปิดฝาหลัง และด้านขวาเป็นช่องเสียบหูฟังขนาดมาตรฐาน 3.5 มม. ส่วนด้านล่างไม่มีอะไรเป็นพิเศษ

บทสรุป

"LG Arena" ถือเป็นต้นฉบับแรกด้านอินเตอร์เฟสล่าสุดของแอลจี ที่ใช้ S-Class UI ชูเป็นจุดเด่นในเรื่องการออกแบบฟังก์ชันภายใน ซึ่งต้องบอกว่าทำออกมาได้น่าใช้งานมาก แต่ก็ต้องยอมแลกกับการสิ้นเปลืองพลังงานที่ตามมาภายหลังด้วย จากการทดสอบลองใช้งานแบบหนักๆ โดยฟังเพลง, เซ็ตค่าต่างๆภายในเครื่อง, เชื่อมไว-ไฟเล่นอินเทอร์เน็ต, ถ่ายภาพต่อเนื่องประมาณ 15 นาที พบว่าแบตฯลดลงค่อนข้างไว ใช้งานได้ประมาณ 1 วันครึ่ง

ด้านการใช้งานสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งมีตัวเลือกให้เชื่อมผ่าน GPRS, EDGE, WiFi และHSDPA โดยใช้เบารว์เซอร์ Teleco Q7 เป็นสื่อกลางในการใช้งาน รองรับระบบ RSS reader ติดตามข่าวสารต่างๆผ่านทาง RSS Feed ส่วนการเชื่อมต่อรับ-ส่งข้อมูลมีให้เลือกใช้อีก 2 ทาง คือ ผ่านบลูทูธ และผ่านยูเอสบี เรียกได้ว่าการเชื่อมต่อมีมาให้ใช้อย่างครบครัน เมื่อลองทดสอบเบราว์เซอร์ยังมีอาการหน่วงนิดๆ ตอบสนองการสัมผัสได้ไม่ค่อยลื่นไหลเท่าที่ควร

ในการพิมพ์รับ-ส่งข้อความสามารถพิมพ์ได้ 2 รูปแบบ คือ แนวตั้ง แป้นพิมพ์จะเป็นแบบปกติที่เป็นปุ่มกดมาตรฐานบนโทรศัพท์มือถือทั่วๆไป กับแนวนอน เมื่อพลิกเครื่องจะพบกับแป้นพิมพ์เสมือน "QWERTY" แบบ 3 แถว มีภาษาให้เลือกใช้หลากหลายภาษา มีระบบช่วยสะกดคำแบบ T9 ซึ่งหลังการใช้งานแป้นพิมพ์สามารถตอบสนองการใช้นิ้วสัมผัสได้ค่อนข้างดี

ส่วนความบันเทิงที่ใส่มาให้ใช้ในอารีนานั้น จะไม่ขอบอกซ้ำอีกเพราะกล่าวสรุปไปแล้วในข้างต้น นอกจากนี้ ยังมี Google แอปฯยอดฮิตสำหรับค้นหาข้อมูลมาให้ใช้งาน ซึ่ง Google Map สามารถใช้งานร่วมกับ GPS ที่ติดมากับเครื่องเพื่อระบุตำแหน่งผ่าน A-GPS โดยเชื่อมต่อได้ทั้งWiFi และเครือข่าย GPRS, EDGE, HSDPA ส่วนการทำงานของ GPS ในการจับสัญญาณยังถือว่าไม่ดีเท่าไรนัก โดยรวมทั้งหมดแล้วถือว่าแอลจีพัฒนาขึ้นมาจากเดิมมากเลยทีเดียวสำหรับมือถือระดับพรีเมียม เสียงสนทนาดังชัดเจนดี

ขอชม
- อินเตอร์เฟสการใช้งานใหม่ออกแบบได้เก๋ไก๋น่าใช้งาน
- การดีไซน์ดูเรียบง่ายลงตัว เครื่องประกอบสนิทแน่นหนาดี
- กล้องที่ใส่มาสามารถใช้งานได้ทั้งหมด ทั้งกล้องหน้า และกล้องหลัง

ขอติ
- ธีมหน้าโฮมสกรีนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
- ไม่มีแอปฯอื่นๆรองรับ รวมถึงยังไม่สามารถเพิ่มแอปฯได้ในขณะนี้
- การออกแบบโดยรวมถือว่าลงตัว แต่ฝาหลังเปิดใช้งานค่อนข้างลำบาก

คุณสมบัติทั่วไปของ LG Arena KM900


ระบบเครือข่าย : GSM 900/1800/1900 MHz
รองรับ : GPRS/EDGE /HSDPA 7.2Mbps
หน้าจอ : TFT-LCD 262K ขนาด 3 นิ้ว (480 x 800 พิกเซล)
ขนาดตัวเครื่อง : 105.9 x 55.3 x 12 มม.
น้ำหนัก : 105 กรัม
หน่วยความจำภายใน : 8 GB
หน่วยความจำภายนอก : รองรับ MicroSD สูงสุด 32GB
เสียงเรียกเข้า : Polyphonic, MP3
กล้องด้านหลัง : 5 ล้านพิกเซล
กล้องด้านหน้า : มี
เครื่องเล่น MP3 Player : มี
วิทยุ FM Radio : มี
เชื่อมต่อ : บลูทูธ, USB, WiFi 802.11b/g, WLAN, TV-Out
ระบบค้นหาตำแหน่ง : มี A-GPS
แบตเตอรี่ : Li-ion 1000 mAh

สำหรับราคาจำหน่ายของ LG Arena KM900 ราคาเปิดตัว 17,990 บาท

Company Related Links :
LG










ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดปกติ
ตัวอย่างภาพถ่ายเมื่อใช้เอฟเฟกต์ต่างๆ
ตัวอย่างภาพถ่ายเมื่อปรับค่าสมดุลแสง(WBในแบบต่างๆ
ตัวอย่างภาพถ่ายเมื่อใช้ค่าความไวแสง(ISO)
ตัวอย่างภาพถ่ายเมื่อใช้โหมดมาโคร
กำลังโหลดความคิดเห็น