xs
xsm
sm
md
lg

Review : Hp iPAQ Data Messenger สำหรับนักธุรกิจรุ่นใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ช่วงต้นปีนี้เอชพีส่งพีดีเอโฟนมาชิมลางในตลาดกลุ่มนักธุรกิจอยู่ 2 รุ่น คือ HP iPAQ Voice Messenger และอีกรุ่นคือ Hp iPAQ Data Messenger ที่จะนำมารีวิวในวันนี้ โดยทั้ง 2 รุ่นจะมีฟังก์ชันต่างๆคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันที่รูปร่างและปุ่มกดเท่านั้นเอง

จุดน่าสนใจของเครื่อง Hp iPAQ Data Messenger จะอยู่ที่คีย์บอร์ด QWERTY ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการพิมพ์ข้อความต่างๆได้เป็นหลัก ส่วนการเชื่อมต่ออื่นๆก็มีมาให้ครบครันไม่ว่าจะไวเลส แลน บลูทูธ ระบบนำทางจีพีเอส กล้องพร้อมแฟลช เรียกได้ว่ามีมาให้ครบทุกการใช้งานกันเลยทีเดียว

Feature On Hp iPAQ Data Messenger



เนื่องจากเอชพี ยังไม่มีการพัฒนาในด้านอินเตอร์เฟสการใช้งาน (UI) ทำให้หน้าจอ Today ของวินโดวส์ โมบาย ยังมีลักษณะแบบเดิมๆที่คุ้นเคยกันดี โดยหน้าจอหลักที่แสดงผลจะประกอบไปด้วย ปุ่ม Start ทางมุมซ้ายบน แถบแสดงการทำงานต่างๆของเครื่องทางด้านขวา

บริเวณกลางหน้าจอจะแสดงวัน เดือน ปี เวลา ถัดลงมาคือการเชื่อมต่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานโทรศัพท์ทั่วไป การทำงานของไวเลสและบลูทูธ ต่อมาคือรายละเอียดต่างๆของผู้ใช้งาน ตารางแสดงการนัดหมาย ข้อความใหม่ และสิ่งที่ต้องทำ ส่วนด้านล่างจะมีคีย์ลัดสำหรับการใช้งาน โทรศัพท์ และรายชื่อผู้ติดต่อ ซึ่งสามารถกดได้จากหน้าจอ หรือปุ่มซอฟต์คีย์ก็ได้

เมื่อกดแถวๆการเชื่อมต่อต่างๆจะเข้าสู้หน้าจอ Wireless Manager ซึ่งผู้ใช้งานสามารถใช้นิ้วสั่งงานในหน้าจอนี้ได้เลยว่าจะ เปิด-ปิด ไวเลส และ บลูทูธ รวมไปถึงการปิดการใช้งานโทรศัพท์ ในกรณีที่ไม่ต้องการการติดต่อใดๆแต่ยังสามารถใช้งานฟังก์ชันอื่นๆของเครื่องได้



ในส่วนของหน้าจอโทรศัพท์ได้มีการปรับปุ่มตัวเลขให้สามารถใช้นิ้วกดได้สะดวกมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในการเลือกดูรายชื่อผู้ติดต่อยังคงจำเป็นต้องใช้ปากกาสไตลัสอยู่ดี สำหรับหน้าจอขณะสนทนา จะมีปุ่มสำหรับกดเปิดลำโพง ปิดเสียง พักสาย เปิดสมุดจด เปิดรายชื่อผู้ติดต่อ และปุ่มวางสาย ส่วนหน้าจอสายเข้ายังคงเป็นแบบเดิมๆของวินโดวส์ โมบาย

Camera



ถัดมาดูที่เมนูกล้องกันบ้าง ตรงจุดนี้เอชพียังคงใช้โปรแกรมเดิมๆที่มากับวินโดวส์ โมบายอยู่เช่นเดิม ซึ่งไม่แตกต่างจากเครื่องรุ่นก่อนหน้านี้อย่าง HP iPAQ912 โดยจะมาพร้อมกับกล้องความละเอียด 3 ล้านพิกเซลพร้อมแฟลชและระบบออโต้โฟกัส

หน้าตาของโปรแกรมในการถ่ายภาพ เริ่มจากมุมบนซ้ายมือ บอกจำนวนภาพที่สามารถเก็บไว้ในหน่วยความจำได้ เขยิบมาทางขวาจะเป็นสัญลักษณ์หน่วยความจำที่ใช้คือ ในตัวเครื่องหรือในการ์ดหน่วยความจำ บริเวณมุมขวาบน จะมีปุ่มสำหรับใช้งานแฟลช ปุ่มสำหรับปรับโหมดการถ่ายภาพ คือ ปกติ ตั้งเวลาถ่าย ถ่ายภาพต่อเนื่อง ภาพพาโนรามาแนวตั้งและแนวนอน



ถัดมาคือกำหนดความละเอียดของภาพ มีให้เลือก 6 ขนาดคือ 3M (2048 x 1536), 2M (1600 x 1200), 1.3M (1280 x 1024), 1M (1280 x 960), VGA (640 x 480) และ QVGA (320 x 240) ปรับคุณภาพได้ 3 แบบ คือ Low, Normal และ High

ส่วนมุมขวาจะมีปุ่มสำหรับดูรูปภาพ ปุ่มเปลี่ยนการใช้งานระหว่างภาพนิ่งและวิดีโอ ความละเอียด 320 x 240 พิกเซล ในนามสกุลไฟล์ 3gp(h263) ถัดมาคือปุ่มสำหรับเข้าสู่หน้าจอการตั้งค่าต่างๆของกล้อง ซึ่งประกอบไปด้วย การเปิดเสียงชัตเตอร์ ชื่อไฟล์ที่ต้องการจัดเก็บ เลือกหน่วยความจำ การปรับตั้งค่า White Balance

ในส่วนของการใช้งาน GPS เนื่องจากไม่มีโปรแกรมแผนที่ใดๆมาให้ ทางทีมงานจึงทดสอบผ่าน Google Maps ผลที่ได้อยู่ในเกณฑ์ปกติ กล่าวคือถ้าอยู่ในพื้นที่โล่ง ไม่มีอาคารบดบัง ตัวเครื่องจะสามารถจับสัญญาณ GPS ได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าอยู่ภายในอาคาร หรือใต้ต้นไม้ใหญ่ การขับสัญญาณก็จะช้ากว่าปกติ

Program And Setting



โปรแกรมที่มากับตัวเครื่องจะเป็นโปรแกรมพื้นฐานทั่วๆไป มีโปรแกรมที่เพิ่มมาอย่าง เบราว์เซอร์ โอเปร่า โปรแกรมเล่นไฟล์วิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ตอย่าง Stream Player เท่านั้น



ส่วนโปรแกรมตั้งค่ามีตามปกติทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นตั้งค่าความสว่างหน้าจอ การตั้งค่า GPS ฯลฯ จะมีที่น่าสนใจคือ โปรแกรมเกี่ยวกับการประหยัดพลังงานทั้งหลาย



เริ่มกันที่ตัว Power จะมีโหมดในการใช้ยูเอสบีชาร์จอยู่ 2 แบบให้เลือกใช้งานคือแบบ ปกติ และแบบรวดเร็ว ซึ่งทางทีมงานทดลองใช้ทั้ง 2 แบบ ผลปรากฏว่า การใช้งานแบบชาร์จเร็วใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 1 ชั่วโมง แต่หลังจากชาร์จเสร็จแบตเตอรี่จะหมดไวกว่าปกติ ดังนั้นถ้าไม่รีบหรือจำเป็นจริงๆ ควรใช้การชาร์จแบบปกติจะดีที่สุด



ถัดมาคือ Power Save Mode ที่จะช่วยเปลี่ยนการตั้งค่าความสว่างของหน้าจอ เวลาการแสดงไฟหน้าจอ ไฟคีย์บอร์ด เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน ซึ่งการเปิดใช้โหมดดังกล่าวจะอำนวยความสะดวก ในกรณีที่แบตเตอรี่ใกล้หมด และผู้ใช้ขี้เกียจไปตั้งค่าความไฟต่างๆด้วยตนเอง เพียงแค่เปิดโหมดการใช้งานเครื่องก็จะปรับไฟให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้

ในส่วนของการตั้งค่าการเชื่อมต่อ ก็มีมาให้ตามมาตรฐานทั่วไป เพิ่มเติมมาที่โปรแกรมอย่าง GPS Connection ที่ช่วยในการรับสัญญาณ GPS ให้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งการใช้งานดังกล่าวตัวเครื่องจำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะทาง GPRS หรือ Wi-Fi ก็ตาม



เกือบลืมที่จะพูดถึงอุปกรณ์ภายใน โดยเจ้าตัว Data Messenger มาพร้อมกับ ซีพียู Qualcomm MSM7201A ความเร็ว 528MHz หน่วยความจำรอม 256MB ส่วนแรมอยู่ที่ 128MB โดยตัวเครื่องที่ได้มาทดสอบจะเป็นรอมเวอร์ชัน 1.00.03.00

Design of Hp iPAQ Data Messenger

มาถึงในส่วนของดีไซน์จะเน้นไปที่สีดำตัดกับลวดลายสีเงิน แสดงถึงความหรูหรา ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่าตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ ดังนั้นเครื่องรุ่นนี้คงจะเหมาะกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะนอกจากความใหญ่แล้ว การที่มีคีย์บอร์ดแบบ QWERTY ทำให้ตัวเครื่องหนากว่าปกติด้วยขนาดโดยรวมอยู่ที่ 114 x 57 x 17.4 มิลลิเมตร น้ำหนัก 160 กรัม



ด้านหน้าจะพบกับหน้าจอ TFT ทัชสกรีนขนาด 2.8 นิ้ว ความละเอียด 320 x 240 พิกเซล ด้านบนของหน้าจอจะมีโลโก้ เอชพี ที่มีลำโพงสนทนาอยู่ภายใน ด้านข้างจะมีเซนเซอร์รับไว้ตรวจจับความสว่างของแสง ในการปรับหน้าจอแบบอัตโนมัติ ส่วนมุมซ้ายจะมีไฟแสดงสถานะซ่อนอยู่



บริเวณปุ่มควบคุมจะประกอบไปด้วย ปุ่มซอฟต์คีย์ซ้าย-ขวา ปุ่มรับสาย-วางสาย(ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง) ปุ่มวินโดวส์ ปุ่มตกลง และสุดท้ายตรงกลางจะเป็นปุ่มควบคุมแบบ 5 ทิศทางซึ่งเป็นระบบสัมผัส สามารถลากนิ้วผ่านไปในทิศทางต่างๆได้ ซึ่งการรับสัมผัสตรงจุดนี้ทำได้รวดเร็วเกินไปหน่อย ทำให้เวลาจับเครื่องแล้วนิ้วไปโดยบริเวณดังกล่าวปุ่มก้จะทำงานทันที



ทางด้านซ้ายจะมีปุ่มล็อกเครื่อง ปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่มลัดสำหรับการสั่งงานด้วยเสียง



ทางด้านขวาจะมีช่องเสียบสายชาร์จแบบ MicroUSB (ใช้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ด้วย) และช่องเสียบหูฟังขนาด 2.5 มม. ถัดลงมาข้างล่างจะมีปุ่มชัตเตอร์ ที่ใช้เป็นปุ่มลัดสำหรับเรียกใช้งานโปรแกรมกล้องด้วย



ทางด้านบนจะมีปุ่มเลื่อนสำหรับปิดเสียง ส่วนด้านล่างจะมีช่องเสียบปากกาสไตลัสอยู่ทางมุมซ้ายเท่านั้น



เมื่อสไลด์เครื่องออกมาด้านข้างจะพบกับคีย์บอร์ดแบบ Full QWERTY 4 แถว ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานด้าน data ตามชื่อรุ่นของเครื่อง แน่นอนว่าคีย์บอร์ดดังกล่าวยังไม่รองรับการใช้งานภาษาไทย การใช้งานคีย์บอร์ดถือว่าค่อนข้างยากพอสมควรเนื่องจากปุ่มมีลักษณะติดกัน รวมถึงปุ่มมีความแข็ง แต่เมื่อใช้ไปสักระยะเวลานึง เมื่อคุ้นเคยกับคีย์บอร์ดแล้วก็สามารถพิมพ์ได้สบายๆ



ด้านหลังเครื่องมีเพียงกล้องและแฟลชอยู่มุมบนเท่านั้น ส่วนฝาหลังสีดำด้านสามารถเปิดได้ด้วยการเลื่อนลงด้านล่าง



เมื่อเปิดฝาออกมาจะพอกับช่องไมโครเอสดี กับช่องใส่ซิมการ์ด ที่ต้องถอดแบตเตอรี่ออกก่อน ไม่งั้นจะไม่สามารถใส่แบตเตอรี่ได้ ส่วนมุมล่างจะเป็นที่อยู่ของลำโพง ตรงกับช่องที่ฝาหลังพอดี

บทสรุป

Hp iPAQ Data Messenger ดูจะเหมาะสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหญ่ ที่ต้องการคีย์บอร์ดในการใช้งานมากกว่ากลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ เนื่องจากดีไซน์ของเอชพี ยังไม่ค่อยทันสมัยเท่าที่ควร การเชื่อมต่อต่างๆ ต้องยอมรับว่ามีมาให้ครบครันกับราคาเปิดตัวที่ 23,900 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับแบรดน์อื่นๆทีมีคีย์บอร์ด ราคาจะพุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับ 3x,xxx บาทเลยทีเดียว

ระบบการทำงานของเครื่องรุ่นนี้จะรองรับ GSM 850/900/1800/1900 MHz ส่วน 3G จะรองรับคลื่นความถี่ 900/1900/2100MHz เสียงการสนทนา ถือว่าอยู่ในระดับปกติ อาจจะมีปัญหาในการใช้งานบริเวณที่ๆมีเสียงรบกวน ซึ่งแก้ปัญหาได้โดยการใช้แฮนด์ฟรีช่วย

การใช้งานด้านมัลติมีเดียทางเอชพียังคงไม่มีการแก้ปัญหาในส่วนนี้ เนื่องจากเสียงเพลงที่ออกจากลำโพงยังไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้การใช้งานด้านมัลติมีเดียอยู่ในระดับติดลบได้เลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าผู้บริโภคที่ต้องการสมาร์ทโฟนที่สามารถตอบโจทย์ด้านมัลติมีเดียพร้อมกับการใช้งานด้านอื่นๆด้วยแล้ว คงต้องมองข้ามเครื่องรุ่นนี้ไป

แต่ถ้าต้องการใช้งานเฉพาะออแกไนเซอร์ รับส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตทุกที่ทุกเวลา รวมไปถึงการใช้งานจีพีเอสในการนำทางเพียงเท่านี้ เครื่องรุ่นนี้จะสามารถตอบโจทย์ของคุณได้อย่างแน่นอน

ขอชม
- การเชื่อมต่อต่างๆที่มีให้ครบครัน
- ระบบประหยัดพลังงาน ช่วยยืดระยะเวลาในการใช้งานให้นานขึ้น

ขอติ
- ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ ไม่เหมาะกับการพกพา
- ช่องเสียบหูฟังขนาด 2.5 มิลลิเมตร
- แม้เครื่องจะมีระบบ 3G แต่ เครื่องรุ่นนี้ไม่มีกล้องหน้าทำให้ไม่สามารถใช้งานวิดีโอคอลล์ได้

Company Related Links :
HP









กำลังโหลดความคิดเห็น