xs
xsm
sm
md
lg

Review รีวิวสินค้าไอที สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก

x

Review : Asus Eee Top ET1602 เน็ตบุ๊กภายใต้เรือนร่างเดสก์ท็อปพีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Asus Eee Top ET1602
“เน็ตบุ๊กภายใต้เรือนร่างของเดสก์ท็อปพีซี” คือคำจำกัดความที่ชัดเจนที่สุดสำหรับ Asus Eee Top ET1602 ทำสิ่งต่างๆได้เท่าที่เน็ตบุ๊กเครื่องหนึ่งจะพึงสามารถทำได้ ใช้พิมพ์งาน พรีเซนต์งาน โปรแกรมออฟฟิศอื่นๆสามารถทำได้ เล่นเน็ตได้ ฟังเพลงได้เสียงดีด้วย ดูหนังก็ยังได้แต่ต้องไม่ใช่ไฮ-เดฟ การเล่นเกมก็เช่นกันได้แค่เกมเบาๆ เกมประเภท 3D ไม่สามารถ ตัดแต่งรูปผ่าน Photoshop CS3 ขึ้นเว็บได้ ตัดต่อวีดีโอขึ้นเว็บได้ แต่ถ้าขนาดใหญ่ก็มีอืดให้เห็น แน่นอนว่าไม่สามารถสำหรับงานระดับมืออาชีพ

จุดขายจริงๆอยู่ที่ความสวย ปรบมือให้ทีมดีไซน์เต็มๆ ซื้อมาตั้งโชว์ในห้องรับแขกได้ไม่อายใคร แถมยังใช้งานง่ายผ่านอินเตอร์เฟสแบบทัชสกรีน ไอคอนใหญ่ตัวอักษรเห็นชัดถนัดตาทัชได้ถนัดมือ ที่สำคัญค่าตัวไม่แรงแค่ 19,900 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยรวมแล้ว Asus Eee Top ET1602 ดูจะเหมาะกับคุณน้องๆหนูๆตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับประถมฯ เอาไว้หัดใช้คอมพิวเตอร์ หัดใช้อินเทอร์เน็ต เล่นเกมประเภทฝึกทักษะพัฒนาสมอง คุยกับเพื่อน อัพ Hi5 หรือหัดสร้างเว็บไซต์ง่ายๆ มากกว่าที่จะเอามาใช้ทำงานออฟฟิศจริงๆจังๆหรืองานหนักๆของท่านผู้ปกครอง

จุดขาย

Asus Eee Top ET1602 เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือเดสก์ท็อปพีซี ประเภทที่เรียกว่า All-in-1 คือมีซีพียูติดหรือเป็นชิ้นเดียวกันกับจอภาพ สไตล์เดียวกับ iMac ของค่ายแอปเปิล (Apple) เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ความโดดเด่นและน่าประทับใจแรกที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนคือ “สวย”
สีสันสวยงาม
ต้องยอมรับว่า Asus ดีไซน์ Eee Top ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมมากจริงๆ ปิ๊งรักตั้งแต่แรกเห็น จอภาพเป็นจอไวด์สกรีน สัดส่วน 16:9 ขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด 1366 x 768 พิกเซล พร้อมเทคโนโลยีทัชสกรีน กรอบจอผลิตจากพลาสติกคุณภาพสูง เป็นมันเงา ดูหรูหราและสวยงามมาก กรอบด้านบนติดตั้งไว้ด้วยกล้องเว็บแคมความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ติดๆกันทางด้านซ้ายเป็นช่องลำโพงออนบอร์ด กรอบด้านล่างมีปุ่มกดเรียงกันอยู่ 6 ปุ่ม แบ่งเป็นฝั่งซ้าย 4 ปุ่ม ใช้ปรับความสว่างหน้าจอ 2 ปุ่มและปรับความดังของเสียง 2 ปุ่ม และฝั่งขวาอีก 2 ปุ่ม เป็นปุ่ม Power 1 ปุ่มและปุ่มปิดจอภาพอีก 1 ปุ่ม
ปุ่มน้อย มีเท่าที่จำเป็น ลำโพงสเตอริโอ เสียงใช้ได้เลย
ถัดลงมาเป็นที่ตั้งของลำโพงคุณภาพสูงจำนวน 2 ตัว โดยทางมุมด้านขวาของยังมีไฟแสดงสถานะอีก 2 ดวงเป็นไฟแสดงสถานะ Wi-Fi 1 ดวงและไฟสถานะฮาร์ดดิสก์จำนวน 1 ดวง ชั้นล่างสุดเป็นกรอบพลาสติกใสที่นอกจากจะทำหน้าที่เป็นฐานวางแล้ว ก็ยังถูกออกแบบให้ทำหน้าที่เป็นช่องดักอากาศเข้าไประบายความร้อนภายในตัวเครื่องด้วยในตัว ขณะใช้งานจะมีไฟ LED ส่องลงมาที่ฐานพลาสติกใสตัวนี้ดูสวยงามมากทีเดียว
ขาตั้งสแตนเลส แข็งแรงทนทาน พอร์ตต่างๆครบถ้วน ระบบเสียง 5.1
ด้านหลังของจอภาพมีพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆเรียงรายอยู่มากมาย ได้แก่ ช่องเสียบสาย LAN, พอร์ต USB 2.0 จำนวน 4 พอร์ต, ช่องเสียบสาย Power, ช่องเสียบไมโครโฟน, สัญญาณขาเข้า และหูฟัง และช่องเสียบสายล็อกกันขโมย สุดท้ายคือมือจับและขาตั้งที่ดีไซน์ได้สวยงาม วัสดุที่ใช้เป็นสแตนเลส มีความแข็งแรงทนทาน และผิวมันเงาเพิ่มความหรูหราและสวยงาม สามารถกางได้ตั้งแต่ 10 จนถึง 35 องศา เพียงพอสำหรับการใช้งาน
(บน) ด้านล่างของตัวเครื่อง, (กลาง) ด้านบนของตัวเครื่อง, (ล่าง) ด้านข้าง
ทางด้านใต้ของจอภาพเป็นช่องทางเข้าขนาดใหญ่สำหรับดูดอากาศเย็นเพื่อไประบายความร้อนที่เกิดขึ้นในระบบ ด้านบนเป็นช่องระบายอากาศร้อนออกไป ด้านขวาโล่งๆไม่มีช่องใดๆ ส่วนทางด้านซ้ายมีพอร์ต USB 2.0 อีกจำนวน 2 พอร์ต และช่อง Memory Card Reader อีกจำนวน 1 ช่อง รองรับการ์ดหน่วยความจำแบบ MMC, SD, MS และ MS Pro จัดตำแหน่งไว้เพื่อความง่ายในการใช้งาน
(บน) โหมด Windows ปกติ, (ล่าง) โหมด Easy Mode
“ทัชสกรีน” เป็นอีกหนึ่งจุดขายของ Eee Top ET1602 ความไวในการรับรู้การสัมผัสอยู่ในเกณฑ์ดี ใช้งานได้สนุก แตะแล้วปล่อยคือการคลิกซ้าย แตะค้างคือการคลิกขวา ไม่มีอาการแฮงก์ให้เห็น เพียงแต่...ระบบปฏิบัติการที่ใช้เป็น Windows XP ซึ่งไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับระบบทัชสกรีนโดยตรง แม้จะได้มีการปรับขนาดของไอคอนและตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้นแล้วก็ตาม ดังนั้นจุดอ่อนของเทคโนโลยีนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ตัวทัชสกรีนแต่อยู่ที่ระบบปฏิบัติการและแอพพลิเคชั่น ซึ่งทาง Asus เองก็น่าจะรู้ถึงจุดอ่อนตรงนี้ดี จึงได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมาครอบทับ Windows XP อีกทีหนึ่งชื่อว่า “Easy Mode”
Easy Mode แต่ละกลุ่มโปรแกรม
“Easy Mode” ได้รับการออกแบบมาให้รองรับการใช้งานทัชสกรีนโดยเฉพาะ มีไอคอนใหญ่ สวยงาม และครอบคลุมในทุกด้าน ได้แก่ การสื่อสาร, ความบันเทิง, งาน และเครื่องมือ โปรแกรมส่วนใหญ่ที่อยู่ภายใต้ “Easy Mode” เป็นโปรแกรมที่ทาง Asus พัฒนาขึ้นเอง เช่น Eee Memo สำหรับบันทึกเตือนความจำ, Eee Cinema สำหรับดูหนังฟังเพลง, Eee Cam สำหรับการควบคุมและใช้งานเว็บแคม, Eee Manager สำหรับตั้งค่าการทำงานต่างๆของคอมพิวเตอร์, Eee Splendid สำหรับปรับสีจอภาพ และ Eee Screen Setting สำหรับปรับแต่งความละเอียดจอภาพ สุดท้ายชุดโปรแกรมออฟฟิศ ที่ให้มาเป็น StarSuite 8 ของบริษัทซันไมโครซิสเต็มส์ (Sun Microsystems) และก็น่าเสียดายที่เราไม่สามารถ Add หรือ Remove โปรแกรมเหล่านี้เข้าหรือออกจาก “Easy Mode” ได้อย่างอิสระ ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้งานพอสมควร โดยเฉพาะในกรณีที่มีการติดตั้งโปรแกรมใหม่เข้าไปในระบบ
Eee Bar
“Eee Bar” เป็นอีกแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่ช่วยให้เราเรียกใช้โปรแกรมต่างๆผ่านทัชสกรีนได้ง่ายขึ้น เหมือนแถบ Quick Launch อันใหญ่ๆ ที่สั่งงานได้ง่ายด้วยปลายนิ้ว มีการแบ่งโปรแกรมออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแอพพลิเคชั่น ก็คือโปรแกรมต่างๆที่เราใช้งานบ่อยๆ, SoftStylus กลุ่มโปรแกรมระบบรู้จำลายมือ รวมถึงคีย์บอร์ดเสมือน (Virtual Keyboard), ASHE แอพพลิเคชั่นจัดการพลังงาน, LED เลือกระดับความสว่างของไฟ LED ที่ฐานของตัวเครื่อง และ Eee Manager สลับการทำงานไปเป็นโหมด Windows แทนโหมด Bar
คีย์บอร์ด กับเลย์เอาต์แปลกๆ
เมาส์ กับสไตลัสอันใหญ่เท่าดินสอปกติ
Eee Top ยังมีคีย์บอร์ดและเมาส์มาให้ใช้กันด้วย รวมถึงปากกาสไตลัสอันใหญ่เท่าดินสอปกติ ซ่อนอยู่หลังคีย์บอร์ดอีกที สำหรับขีดๆเขียนๆหรือวาดรูปลงบนจอทัชสกรีนโดยตรง ตัวคีย์บอร์ดมีดีไซน์ที่สวยงาม เข้ากันได้อย่างดีกับจอภาพ แต่ไม่ค่อยคุ้นมือเท่าไหร่ เนื่องจากมีเลย์เอาต์ที่ต่างไปจากโน้ตบุ๊กปกติ ปุ่ม “Enter” ที่ใหญ่โต จนไปดันปุ่ม “\” กระเด็นไปอยู่ฝั่งซ้าย ปุ่ม “\” พอถูกเด้งไปอยู่ทางด้านซ้ายก็ไปกินพื้นที่ปุ่ม “Shift” ด้านซ้าย จนทำให้ปุ่ม “Shift” มีขนาดเล็กลง ผลก็คือใช้งานไม่ถนัด นอกจากนี้ปุ่ม “@” กับ “#” ก็ถูกย้ายลงมาทางด้านขวามืออยู่ติดกับปุ่ม “Enter” ด้วย แทนที่จะอยู่เหนือปุ่ม “2” และ “3” อย่างที่คุ้นเคย กว่าจะใช้งานได้คล่องมือก็เสียเวลาไปพักใหญ่เหมือนกัน อ้อเกือบลืม ... จุดเด่นหนึ่งของคีย์บอร์ดคือมีพอร์ต USB 2.0 ติดอยู่ด้วย สำหรับเสียบเมาส์ ไม่ต้องลากสายไปเสียบที่หลังจอภาพให้วุ่นวาย ดีไซน์นี้เหมือน iMac เป๊ะ

การใช้งานจริง

แม้คีย์บอร์ดจะใช้ไม่ค่อยถนัดมือ แต่พอใช้งานเข้าจริงๆ เราก็ใช้คีย์บอร์ดและเมาส์มากที่สุด ทัชสกรีนแทบไม่ได้แตะเลย เพราะอย่างที่บอก แอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับทัชสกรีน ยกเว้นแอพพลิเคชั่นในตระกูล Eee
Eee Memo
Eee Memo เป็นโปรแกรมที่เอาไว้ใช้ฝากข้อความถึงคนอื่น หรือเขียนข้อความสั้นๆเพื่อเตือนความจำ เหมือน Post-It เวอร์ชั่นดิจิตอล มีนาฬิกาทั้งแบบอนาล็อกและดิจิตอล มีกระดาษให้เลือก 4 สี เขียว เหลือง ชมพู ฟ้า มีหมึกให้เลือก 4 สี ดำ แดง น้ำเงิน เขียว เขียนผิดก็ลบได้ หมดอายุแล้วก็ลากไปทิ้งในถังขยะซึ่งทำงานเหมือน Recycle Bin ปกติ โปรแกรมนี้ดีมากสำหรับครอบครัวของคนยุคใหม่ แต่สำหรับไลฟ์สไตล์ของคนไทย ไม่แน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จ
Eee Cinema
Eee Cinema เอาไว้ใช้สำหรับดูหนัง ฟังเพลง ภาพมีความคมชัด เล่นวีดีโอได้ไหลลื่น ไม่กระตุก คุณภาพเสียงอยู่ในระดับดี มีมิติปานกลาง ไม่แบน แม้จะไม่ชัดถึงขั้นไฮเอนด์ แต่ก็ฟังได้เพลิดเพลินดี ไม่เสียอารมณ์แต่อย่างใด ได้ลองเล่นเปรียบเทียบกับ Windows Media Player ปรากฏว่าคุณภาพของภาพและเสียงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน
Eee Cam
Eee Cam เป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับแคปเจอร์รูป หรือถ่ายคลิปตัวเอง มีฟังก์ชั่นสำหรับอีดิตทั้งภาพและวีดีโอแบบง่ายๆ เช่น ปรับสี ปรับแสง ใส่กรอบ ใส่เท็กซ์ เป็นต้น เป็นโปรแกรมที่ใช้ง่าย เล่นได้สนุกเพลิดเพลินดี

นอกเหนือจาก 3 โปรแกรมนี้แล้วก็ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นสำหรับแอพพลิเคชั่นตระกูล Eee
โปรเซสเซอร์ Atom
กับ Photoshop CS3 หลายคนกังวลว่า ลงได้มั้ย หนืดหรือเปล่า ฟันธงเลยว่าลงได้ ใช้งานได้ด้วย มีหนืดบ้างถ้าเปิดรูปใหญ่ๆหลายๆรูปพร้อมกัน และแน่นอนว่ามันคงใช้ปรับแต่งได้ในระดับพื้นฐานเท่านั้น อย่างทำรูปขึ้นเว็บอย่างนี้สบายมาก แต่ถ้าจะเอาเนียนระดับมืออาชีพคงไม่ไหว
เบนช์มาร์คด้วย PC Mark 05 ทำคะแนนได้ 1421
เบนช์มาร์คกราฟิกด้วย 3D Mark 06 ทำคะแนนได้ 72
การตัดต่อวีดีโอก็เช่นกัน ถ้าเป็นคลิปมือถือ ตัดต่อในระดับเบสิก เพื่อเอาไปโชว์บนเว็บไซต์ สามารถทำได้ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ผลเบนช์มาร์คฮาร์ดดิสก์
จุดเปราะสำคัญของ Asus Eee Top ET1602 ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานอย่างรุนแรงในฐานะเดสก์ท็อปพีซีก็คือ มันไม่มีออปติคอลไดร์ฟในตัว และทาง Asus ก็ไม่มีออปชั่นที่เป็นตัว Slim มาให้เหมือนกับโน้ตบุ๊กด้วย ผู้ใช้ต้องซื้อแยกเอาเอง ทำให้ยุ่งยากและวุ่นวายน่าดูสำหรับการติดตั้งโปรแกรมใหม่ รวมถึงการแบ็คอัพข้อมูล

สรุป

Asus Eee Top ET1602 เป็น All-in-1 เดสก์ท็อปพีซีที่สวย มีทัชสกรีนเป็นจุดขาย เล่นได้สนุกมี สมรรรถนะในระดับเบสิก ทำงานประเภทออฟฟิศได้ เล่นอินเทอร์เน็ตได้ ดูหนังฟังเพลงได้ เล่นเกมเบาๆได้ โดยรวมแล้วน่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสำหรับเด็กๆ ไว้ใช้สำหรับศึกษาเรียนรู้ ทำการบ้านส่งคุณครู ทำรายงานส่งอาจารย์ ค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต แช็ตกับเพื่อน ปรับแต่งรูปภาพ ตัดต่อคลิปวีดีโอ อัพเดท Hi5 หรือแม้แต่หัดสร้างเว็บไซต์ง่ายๆ ตั้งไว้ในห้องรับแขก เวลาน้องๆมาเล่นก็อยู่ในสายตาของผู้ปกครอง กันไม่ให้เข้าเว็บต้องห้ามได้อีกทาง หรือจะเอาไว้เปิดเพลงฟังเพลินๆในยามที่มีแขกมาเยือนก็ได้ กับค่าตัว 19,900 บาท ถ้านำมาใช้งานในแนวนี้ ดูจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและน่าพึงพอใจที่สุด

รายละเอียดของ Asus Eee Top ET1602

กำลังโหลดความคิดเห็น