ช่วงนี้หลายค่ายส่งโทรศัพท์มือถือจอทัชสกรีนลงตลาดกันเป็นว่าเล่น แต่ที่เห็นจะบ่อยและถี่ที่สุดคงจะเป็นค่ายซัมซุง หากมองเฉพาะในตลาดของแฟชันโฟน ซัมซุงมีส่วนแบ่งเกิน 40.5% ดังนั้นในตลาดนี้คงต้องยอมรับว่าซัมซุงยังคงเป็นเบอร์ 1 อยู่ ซึ่งสาเหตุหลักที่ออกมาถี่ก็เพื่อรักษาอันดับ และให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้งานมากขึ้นนั่นเอง
สำหรับ Samsung Ultra Touch (S8300) รุ่นนี้ ทางซัมซุงได้นำจุดเด่นของรุ่นที่ขายดีอย่าง Soul (Samsung U900) มาผสมกับรุ่นที่เป็นจอทัชสกรีนอย่างรุ่น F480 เท่านั้นยังไม่พอ ซัมซุงยังได้นำฟังก์ชันของกล้องที่มีความละเอียดสูงจาก Pixon (Samsung M8800) เข้ามาผสมผสานจะออกมาเป็นโทรศัพท์รุ่นที่กำลังจะรีวิวอยู่นี้
โดยซัมซุงคาดหวังกับรุ่นนี้ว่าจะเป็น 'Flag Ship' ของซัมซุงในปีนี้ ซึ่งถ้าจะเรียกตามประเภทของโทรศัพท์อาจจะเรียกได้ว่า "แฟชันสไลด์โฟนที่มีหน้าจอทัชสกรีน" ก็คงไม่ผิดนัก ที่สำคัญทางซัมซุงได้ทำการบ้านเป็นอย่างดีด้วยการออกสำรวจผู้บริโภค โดยพบกว่า 20% ของตลาดรวมมือถือให้ความสำคัญในเรื่องของดีไซน์มาเป็นอันดับหนึ่ง
Feature on Samsung Ultra Touch (S8300)
เนื่องจากเป็นโทรศัพท์มือถือหน้าจอสัมผัส จุดเด่นหลักที่ต้องพบเห็นเมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาคงหนีไม่พ้นเรื่องอินเตอร์เฟสการใช้งาน ที่ยังคงใช้ 'Touch Wiz' อินเตอร์เฟสซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของซัมซุง ทำให้การใช้งานต่างๆดูเป็นเรื่องง่าย และสะดวกมากขึ้น รวมถึงสามารถตอบสนองการสัมผัสด้วยนิ้วมือโดยไม่ต้องง้อสไตลัสขณะเรียกใช้งาน
Camera
จุดเด่นถัดมาที่อดจะกล่าวถึงไม่ได้ คือ เมนูกล้อง (Camera) ซึ่งกล้องของรุ่นนี้มาพร้อมกับความละเอียดมากถึง 8 ล้านพิกเซล มีให้เลือกใช้งานทั้งหมด 3 โหมด ได้แก่ โหมดถ่ายภาพนิ่ง โหมดซีน(Scn) และโหมดวิดีโอ ส่วนกล้องด้านหน้าที่ให้มาไม่สามารถใช้ถ่ายรูปได้ เอาไว้ใช้สำหรับ Video Call ของระบบ 3G เพียงอย่างเดียว
เมื่อลองเปิดดูฟังก์ชันของเมนูกล้องพบว่าใส่ลูกเล่นมาให้ใช้งานเพียบ คล้ายๆกับกล้องคอมแพกต์ขนาดย่อมเลยทีเดียว ซึ่งมีฟังก์ชันต่างๆดังต่อไปนี้เริ่มจากโหมดการถ่ายภาพนิ่ง สามารถเลือกค่าการใช้งานได้หลายแบบ ได้แก่ ถ่ายแบบช็อตเดียว, ถ่ายต่อเนื่องแบบกดชัตเตอร์ค้างไว้ (สูงสุด 9 ภาพ), พาโนรามา มีให้เลือกใช้ทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่ 3, 4, 5 และ6 ช็อต โดยหลังจากกดถ่ายภาพเริ่มต้นกล้องจะถ่ายให้อัตโนมัติ เพียงแค่เลื่อนตัวกล้องไปด้านข้างตามลูกศรที่ปรากฏบนจอภาพ เพื่อถ่ายภาพต่อเนื่องไปเรื่อยๆจนครบตามช็อตที่ได้กำหนด จากนั้นเครื่องจะประมวลผลเชื่อมต่อภาพให้เอง, โหมดสไมล์ช็อตสามารถจับความเคลื่อนไหวบนใบหน้าได้ที่มีรอยยิ้มอัตโนมัติ, โมเสกมีให้เลือกอยู่ 18 แบบ, และเฟรม อีก 20 รูปแบบ
"การตั้งค่า" สามารถปรับค่าได้ดังนี้ โหมดโฟกัส 4 แบบ ได้แก่ อัตโนมัติ, มาโคร, ตรวจจับใบหน้า และแพนโฟกัส การตั้งเวลา มีให้เลือก 2, 5 และ10 วินาที ความละเอียด มีให้เลือก 8 แบบ ได้แก่ 8 ล้านพิกเซล(3264x2448), 5 ล้านพิกเซล(2560x1920), 3 ล้านพิกเซล(2048x1536), 2 ล้านพิกเซล(1600x1200), 0.3 ล้านพิกเซล(640x480), แบบไวด์สกรีน 6 ล้านพิกเซล(3264x1960), 3 ล้านพิกเซล(2048x1232), 0.1 ล้านพิกเซล(400x240) สมดุลสีขาว มีให้เลือกปรับ 5 แบบ ได้แก่ อัตโนมัติ, แสงจ้า, อินแคนเดสเซนต์, ฟลุออเรสเซนต์ และสว่างน้อย เอฟเฟกต์มีให้เลือกปรับ 5 แบบเช่นเดียวกัน ได้แก่ ไม่มี, ภาพขาวดำ, ซีเปีย, เนกาทีฟ และภาพสีน้ำ
นอกจากนี้ยังมีให้เลือกปรับค่าความไวแสง(ISO) ซึ่งมีให้เลือกปรับดังนี้ อัตโนมัติ, ISO 100, 200, 400, 800 และ1600 การวัดแสงมีให้เลือกใช้ 3 แบบ ได้แก่ เมทริกซ์, เน้นตรงกลาง และตำแหน่ง สามารถเลือกใช้ระบบป้องกันสั่นไหวได้, WDR สำหรับเคลียฉากหลังภาพให้สม่ำเสมอ, ตรวจการกระพริบตา ส่วนคุณภาพของรูปภาพมีให้เลือกใช้งาน 4 แบบ ได้แก่ ดีที่สุด, ดี, ปกติ และพื้นฐาน การปรับแต่งสีของภาพมีให้เลือกปรับ 3 อย่าง คือ ความเข้ม, ระดับสี และความคมชัด
ส่วนการปรับค่าการใช้งานทั่วไปนั้นมีให้เลือกปรับค่า ดังต่อไปนี้ ไกด์ไลน์, การแสดงผล, หมุนอัตโนมัติ, GPS ซึ่งทั้งหมดสามารถสั่งได้ว่าจะให้เปิดหรือปิดการใช้งาน เสียงชัตเตอร์มีให้เลือกใช้งานดังนี้ เสียง 1, 2, 3 และปิดเสียง แฟลชมีให้เลือกใช้ ได้แก่ อัตโนมัติ, เปิด และปิด สุดท้ายเป็นการปรับปริมาณการรับแสง ว่าจะให้กล้องรับแสงมากหรือน้อย
คราวนี้ลองมาดูใน"โหมดซีน"กันบ้าง โหมดนี้มีให้เลือกใช้ทั้งหมด 14 รูปแบบ ได้แก่ ออโต้, ถ่ายบุคคล, ภาพวิว, กลางคืน, กีฬา, ในร่ม, ชายหาดหรือหิมะ, พระอาทิตย์ตก, พระอาทิตย์ขึ้น, ฤดูใบไม่ร่วง, ดอกไม้ไฟ, ตัวอักษร, แสงเทียน และย้อนแสง เรียกได้ว่าใส่มาให้ใช้กันแบบจุใจ สามารถเลือกใช้งานให้ตรงหรือใกล้เคียงกับความต้องการ ในแต่ละประเภทมากขึ้น
"การตั้งค่า" ของโหมดนี้คล้ายๆกับในโหมดกล้องถ่ายภาพนิ่ง เพียงแต่มีบางฟังก์ชันที่ไม่สามารถปรับค่าได้ ซึ่งมีดังต่อไปนี้ โหมดโฟกัส, สมดุลสีขาว, เอฟเฟกต์, ISO, เครื่องวัดแสง, ระบบป้องกันสั่นไหว, WDR, ตรวจการกระพริบตา และปรับแต่ง
ถัดมา"โหมดกล้องวิดีโอ" มีให้เลือกบันทึกทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่ ปกติ, MMS (เป็นการจำกัดสำหรับ MMS โดยเฉพาะ), เคลื่อนไหวช้า และคลื่อนไหวเร็ว (มีให้เลือกใช้ค่าดังนี้ x2, x4, x8 และx6) ซึ่งสามารถซูมภาพขณะบันทึกในโหมดนี้ได้
"การตั้งค่า" ในโหมดวิดีโอสามารถตั้งค่าได้ดังนี้ สามารถตั้งเวลาถ่ายได้ 2, 5 และ10 วินาที การปรับค่าความละเอียด มีให้เลือกปรับ ได้แก่ 0.35 ล้านพิกเซล(720x480), 0.3 ล้านพิกเซล(640x480), 320x240 และ176x144 ส่วนแสงสมดุลสีขาว, เอฟเฟกต์, ระบบป้องกันสั่น, WDR, ไกด์ไลน์, การแสดงผล และหมุนอัตโนมัติมีให้เลือกปรับแต่งเหมือนกับโหมดถ่ายภาพนิ่ง คุณภาพวิดีโอ มีให้เลือก 3 แบบ ได้แก่ ดี, ปกติ และพื้นฐาน สุดท้ายการบันทึกเสียงสามารถตั้งค่าได้ว่า จะให้มีการบันทึกเสียงลงไปในวิดีโอด้วยหรือไม่
ภายหลังจากการใช้งานพบว่ากล้องสามารถตอบสนองได้ไว ฟังก์ชันการใช้งานสามารถเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อน และมีมาให้เลือกใช้หลากหลายละลานตา คุณภาพที่ได้จากการถ่ายภาพนิ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สีสันที่ได้ค่อนข้างสดและตรงกับที่สายตาเห็น แต่เสียอยู่เรื่องเดียว คือ เมื่อใช้งานไปสักพักตัวเครื่องมีอุณหภูมิสูงจนรู้สึกได้ ส่วนภาพที่ได้จากการบันทึกจากโหมดวิดีโออยู่ในระดับปานกลาง ยังไม่ใสชัดเท่ากับการถ่ายภาพนิ่ง
Photo Browser
หลังจากบันทึกภาพนิ่งจนได้ภาพประทับใจตามความต้องการแล้ว สามารถเข้าไปชมผลงานหรือว่าจะโชว์บรรดามิตรสหายได้ง่ายๆ ผ่านเมนู "Photo Browser" ที่รุ่นนี้ใส่มาให้ใช้งานเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เมื่อเข้ามาในเมนูนี้จะพบกับภาพต่างๆเรียงรายอยู่ทางด้านบน ส่วนด้านล่างเป็นแถบเลือกตามลำดับตัวอักษรของชื่อไฟล์, เดือน และสี วางอยู่ตรงกึ่งกลาง ซึ่งสามารถปรับค่าได้โดยกดที่ปุ่มทางด้านซ้ายสุด
การเลื่อนดูภาพสามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่ 1. ใช้นิ้วลากผ่านจอไปทางซ้าย และขวา 2. เอียงเครื่องไปทางซ้ายเมื่อต้องการให้ภาพเลื่อนไปทางด้านซ้าย และเอียงเครื่องไปทางขวาเมื่อต้องการให้ภาพเลื่อนไปทางด้านขวา 3. คือการดูภาพแบบสไลด์โชว์ ทำได้โดยการกดปุ่มที่มีสัญลักษณ์คล้ายกับกระดาษ ซึ่งอยู่ทางด้านมุมขวาล่าง จากนั้นเลือก 'เลื่อนชม' แล้วกดปุ่มเล่น แค่นี้เครื่องก็จะทำการสไลด์โชว์ภาพวนไปเรื่อยๆ
Music
"เครื่องเล่นเพลง" เมื่อกดที่เมนูนี้จะปรากฏฟังก์ชันให้เลือกใช้งานเรียงรายอยู่ ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าต้องการใช้งานในลักษณะไหนได้แก่ แทร็กทั้งหมด, รายการเพลง, นักร้อง, อัลบั้ม, ประเภท และผู้แต่ง เมื่อเลือกรูปแบบการใช้งานได้แล้วก็กดเลือกเพลงที่ต้องการเล่น เครื่องจะเข้าสู่เครื่องเล่นเพลงและเล่นเพลงอัตโนมัติ การปรับค่าต่างๆสามารถทำได้สะดวกผ่านหน้าเครื่องเล่นเพลงได้เลย ประกอบไปด้วย อีควอไลเซอร์ที่มีให้ปรับกว่า 8 รูปแบบ, การทำงานแบบเล่นวนซ้ำ และสลับเล่นเพลงแบบสุ่ม นอกจากนี้ ยังมีลูกเล่นให้เลือกใช้เสียงจำลองในรูปแบบ 5.1 แชนแนล ซึ่งจะใช้ได้เมื่อต่อผ่านทางหูฟังเท่านั้น
หลังการใช้งานเมนูเพลงพบว่า ฟังก์ชันต่างๆที่ใส่มาให้ใช้กับเครื่องรุ่นนี้ถือว่าตอบสนองความต้องการได้ครบ เสียงที่ขับออกมาทางลำโพงด้านหน้าดังในระดับปานกลาง แหลมใสออกนุ่มนิดๆ เมื่อลองเร่งจนสุดไม่พบเสียงแตกพร่าแต่อย่างใด สมกับค่าตัวที่เปิดมาค่อนข้างสูงพอสมควร
Applications
สำหรับในเมนูแอปพลิเคชันของเครื่องรุ่นนี้ ประกอบไปด้วยเมนูย่อยต่างๆมากมายให้เลือกสรรตามความต้องการ ได้แก่ เมนูแชร์รูปภาพ, วิทยุ FM, โปรแกรมแก้ไขวิดีโอ, เกม, เครื่องบันทึกเสียง, บลูทูธ, ซิงโครไนซ์, การตั้งเวลา, การจับเวลา และRss Reader ซึ่งทางทีมงานได้หยิบ 4 เมนูย่อยที่น่าสนใจขึ้นมานำเสนอดังต่อไปนี้
FM radio
"วิทยุ FM" ของเครื่องรุ่นนี้ สามารถใช้งานได้เมื่อต่อเข้ากับหูฟังสมอล์ทอล์กเท่านั้น โดยเมื่อกดเข้าสู่เมนูนี้จะพบกับฟังก์ชันการใช้งานต่างๆอยู่บนพื้นที่เดียวกัน ประกอบไปด้วย ส่วนบนเป็นตัวเลขบอกคลื่นความถี่ทศนิยม 2 ตำแหน่ง สามารถกดให้ทำงานด้วยการกดปุ่มเล่น(กลาง) ส่วนการเปลี่ยนคลื่นให้กดปุ่มลูกศรที่อยู่ขนาบด้านซ้าย และขวา หรือจะกดให้ค้นหาคลื่นความถี่แบบอัตโนมัติ ด้วยการเลือกที่เพิ่มเติม > เลือกค้นหา สามารถเลือกฟังผ่านลำโพงสนทนาได้เลย โดยกดปุ่มที่รูปหูฟังให้เปลี่ยนเป็นรูปลำโพง
"การตั้งค่า" ของวิทยุสามารถปรับค่าได้ดังนี้ การเล่นแบ็กกราวด์ เป็นการเซ็ตค่าให้วิทยุทำงานอยู่แม้จะกลับออกไปยังหน้าหลัก, แสดงชื่อสถานี ว่าจะให้แสดงชื่อหรือไม่, เปลี่ยนความถี่ใหม่อัตโนมัติ และชื่อพื้นฐานที่จะทำการบันทึก
Video Editor
เมื่อไฟล์วิดีโอที่ถ่ายไว้ไม่ไม่ถูกใจ และต้องการจะแก้ไขใหม่ หรือค้องการนำไฟล์ภาพมาเรียงต่อเป็นสไลด์โชว์ สามารถทำได้เลยด้วยวิธีง่ายๆไม่กี่ขั้นตอน ผ่านเมนู "Video Editor" ที่มาพร้อมกับเครื่องรุ่นนี้โดยไม่ต้องไปหามาลงเพิ่มเติม ซึ่งมีค่าความละเอียดให้เลือกใช้ 2 ขนาดด้วยกัน คือ 176x144 กับ320x240 พิกเซล ส่วนการนำไฟล์เข้ามาตัดต่อ-แก้ไขสามารถเลือกรูปแบบไฟล์ได้ 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ ไฟล์รูปภาพ, ไฟล์วิดีโอ และไฟล์เสียง
Voice Rec
"เครื่องบันทึกเสียง" ที่มีมาให้สามารถเลือกตั้งค่าได้ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการตั้งชื่อไฟล์ ส่วนที่สองเป็นการตั้งค่าเวลาในการบันทึก ซึ่ง1, 2, 3, 4, 5, 60 นาที และจำกัดสำหรับ MMS เมื่อบันทึกเสียงเสร็จจะได้ไฟล์เสียงออกมาในรูปนามสกุล .amr ภายหลังการใช้งานเสียงที่ได้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ระดับกลางๆ สามารถนำไปใช้งานทั่วไปได้สบาย
Games
"เกม" มีมาให้เลือกเล่น 3 เกมส์ ซึ่งแต่ละเกมล้วนใช้งานการสัมผัสผ่านทางหน้าจอแทบทั้งสิ้น รวมถึงใช้งานจากตัวเซนเซอร์เมื่อเขย่าจอด้วย เช่น เกมลูกเต๋าที่ให้มา ผู้เล่นต้องทอยโดยการจับตัวเครื่องเขย่าเพียงเบา ลูกเต๋าที่อยู่บนจอจะทำการหมุนในรูปบบ 3 มิติ กลับไปกลับมาคล้ายกับการทอยลูกเต๋าจริงๆ สามารถสร้างความเพลิดเพลินไปได้อีกแบบ แต่อย่านำไปใช้นทางที่ผิดนะครับ : )
Design of Samsung Ultra Touch (S8300)
Samsung Ultra Touch (S8300) ถูกดีไซน์ให้เป็นแบบสไลด์ การออกแบบโดยรวมของเครื่องรุ่นนี้ค่อนข้างเรียบง่าย แต่แฝงด้วยความหรูหราเมื่อสัมผัส วัสดุที่ใช้เป็นโลหะผสมซึ่งคล้ายกับรุ่นก่อนหน้านี้อย่าง innov8 ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า "Duralumin" สามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้เป็นอย่างดี ตัวเครื่องมีขนาด 110 x 51.5 x 12.7 ม.ม. น้ำหนัก 123 กรัม จากการสัมผัสถือได้เหมาะมือ ไม่เบาหวิวและไม่หนักมากเกินไป มีสีให้เลือก 2 สี คือ สีดำกับสีแดง หน่วยความจำในตัวให้มา 80 MB
ด้านหน้า : ไล่จากส่วนบนสุดจะพบลำโพงวางอยู่ตรงกึ่งกลางของตัวเครื่อง ซึ่งใช้ทั้งการฟังสนทนาและฟังเพลง ถัดมามุมด้านซ้ายจะพบเลนส์กล้องหน้าสำหรับการสนทนาแบบเห็นหน้าเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำมาเป็นกล้องตัวที่สองในการถ่ายภาพได้ ใกล้กันเป็นเซนเซอร์ตรวจจับความคลื่อนไหว 2 ตัว ด้านบนเป็นตัวตัดหน้าจอเมื่อใช้ระหว่างการสนทนา ส่วนตัวล่างเป็นตัวจับการเคลื่อนไหวตามลักษณะตัวเครื่อง ถัดลงมาเป็นจอแสดงผลแบบทัชสกรีน AMOLED 16 ล้านสี ระบบสัมผัส ทำจากกระจกสามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้ กว้าง 2.8 นิ้ว (240 x 400 พิกเซล) พร้อมอินเตอร์เฟสแบบ TouchWiz (สามารถเลือกจัดเรียง Icon ได้ตามใจ โดยจะมี Side bar ให้ลาก Icon เข้าและออก)
ใต้จอแสดงผลจะพบโลโก้ SAMSUNG สีเงินวางพาดอยู่กึ่งกลางตัวเครื่อง ถัดลงมาไล่จากฝั่งซ้ายตามลำดับเป็นปุ่มโทรออก, ย้อนกลับ และรับสาย(กดค้างเปิด-ปิดเครื่อง) เมื่อสไลด์เครื่องออกจะพบกับปุ่มตัวเลข และตัวอักษรทั้งหมด 12 ปุ่มด้วยกัน
ด้านหลัง : สไลด์ตัวเครื่องออกมุมบนสุดด้านซ้ายเป็นเลนส์กล้อง ถัดมาด้านขวาเป็นข้อความการันตีความละเอียดที่ 8 ล้านพิกเซล ใกล้กันเป็นไฟแฟลชพาวเวอร์ แอลอีดี และตามด้วยกระจกสำหรับถ่ายภาพตัวเอง ถัดลงมาทางด้านล่างจะพบกับโลโก้ 'SAMSUNG' วางพาดอยู่
เมื่อเปิดฝาหลังออก จะพบกับช่องวางแบตเตอรี่ชนิด Li-Ion 880 mAh หากถอดแบตออกจะพบกับช่องช่องเสียบซิมการ์ดอยู่ทางด้านขวา และช่องเสียบการ์ดหน่วยความจำแบบ MicroSDHC อยู่ทางด้านซ้าย สามารถใส่ได้สูงสุด 16 GB
***หมายเหตุ เปิดฝาหลังโดยการดันขึ้นเท่านั้น!
ด้านขวา : ไล่จากด้านบนสุดเป็นช่องเสียบอุปกรณ์ต่างๆทั้งสายชาร์จแบตเตอรี่, USB และชุดหูฟัง ซึ่งใช้ร่วมกันที่ช่องนี้เพียงช่องเดียว ถัดมาเป็นปุ่มล็อกหน้าจอแสดงผล และสุดท้ายเป็นปุ่มปุ่มชัตเตอร์สำหรับถ่ายภาพในเมนูกล้อง(กดค้างเข้าเมนูกล้อง)
ด้านซ้าย : มีเพียงปุ่มปรับระดับเพิ่ม-ลดเสียงในเมนูเพลง และขยายภาพเข้า-ออกในเมนูกล้อง
ด้านบน และด้านล่าง : ด้านบนไม่มีปุ่มใดๆ ส่วนทางด้านล่างมีเพียงรูไมโครโฟนสำหรับสนทนาหรือใช้ในการบันทึกเสียงอยู่ทางฝั่งซ้ายเท่านั้น
บทสรุป
สำหรับโทรศัพท์มือถือ Samsung Ultra Touch (S8300) รุ่นนี้ มีสามารถในการทำงานค่อนข้างเต็มประสิทธิภาพ แต่ยังไม่ถือกับสมบูรณ์เสียทีเดียว การเชื่อมต่อมีให้เลือกหลากหลายชนิด ได้แก่ บลูทูธ, GPRS/EDGE class 10, HSDPA 7.2 Mbps และmicroUSB ซึ่งน่าเสียดายไม่มี Wi-Fi มาให้ใช้งาน :( นอกจากนี้ ยังมีระบบนำทาง GPS ในตัว(Route 66) ส่วนเมนูการใช้งานอื่นๆนอกเหนือที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบไปด้วย ออร์กาไนเซอร์, Google, เบราว์เซอร์ และการเตือน
ด้านการใช้งานสามารถตอบสนองการสัมผัสทางหน้าจอได้เป็นอย่างดี รวมถึงขอภาพชนิด 'AMOLED' ที่ส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม 'OLED' แสดงภาพได้สดใสชัดเจนเป็นอย่างมาก เสียงสนทนาและเสียงเพลงที่ขับผ่านทางลำโพงด้านหน้าทำได้ใส และคมชัด ทว่าหลังจากใช้งานไปสักพักตัวเครื่องกลับมีอุณหภูมิค่อนข้างสูงจนรู้สึกได้ และเนื่องจากสเปกเครื่องที่ให้มากับเครื่องรุ่นนี้กินพลังงานค่อนข้างมาก แต่แบตฯที่ให้มากลับน้อยคือให้มาแค่ 880 mAh เท่านั้น
ขอชม
- การตอบสนองเมื่อใช้นิ้วสัมผัสผ่านหน้าจอแสดงผลทำได้ดี
- ฟังก์ชันต่างๆของเมนูกล้องตอบสนองการใช้งานได้ครบทุกความต้องการ
- เสียงที่ขับออกทางลำโพงทำได้ใส และคมชัด
ขอติ
- พลังงานแบตฯที่ให้มาน้อยไปหน่อย
- เมื่อใช้งานเมนูไปสักพักตัวเครื่องมีอุณหภูมิสูงจนรู้สึกได้
- ฝาหลังเปิดค่อนข้างลำบาก และพื้นผิวทางด้านหลังเป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย
ระบบเครือข่าย : GSM 850/900/1800/1900 MHz, UMTS 900/2100 MHz
รองรับ : GPRS/EDGE class 10, HSDPA 7.2 Mbps
หน้าจอ : OLED touchscreen 16 ล้านสี ขนาด 2.8 นิ้ว (240 x 400 พิกเซล)
ขนาดตัวเครื่อง : 110 x 51.5 x 12.7 มิลลิเมตร
น้ำหนัก : 123 กรัม
หน่วยความจำภายใน : 80MB
หน่วยความจำภายนอก : รองรับ MicroSD สูงสุด 16GB
เสียงเรียกเข้า : Polyphonic, MP3, WAV
กล้องด้านหลัง : 8 ล้านพิกเซล พร้อมออโต่โฟกัส และไฟแฟลชคู่แบบ LED
กล้องด้านหน้า : Videocall
เครื่องเล่น MP3 Player : มี
วิทยุ FM Radio : มี
เชื่อมต่อ : บลูทูธ 2.1, microUSB
ระบบนำทาง GPS : A-GPS แผนที่จาก Route66
แบตเตอรี่ : Li-ion 880 mAh
สำหรับราคาจำหน่ายของ Samsung Ultra Touch (S8300) ราคาเปิดตัว 20,500 บาท (พร้อมชุดหูฟังบลูทูธจากซัมซุง และการ์ดหน่วยความจำขนาด 8 กิกะไบต์)
Company Related Links :
Samsung