Updated - มาแล้วจ้า . . .สำหรับ "Nokia 5800 XpressMusic" ที่ได้ฤกษ์เปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทีมงานได้นำมารีวิวตามสัญญาที่เคยให้ไว้ หากยังจำกันได้ทีมงานเคยนำมา Preview การใช้งานแบบคร่าวๆไปบ้างแล้วเมื่อแรกเจอด้วยเวลาจำกัด ครั้งนี้ทีมงานนำมาลองให้ชมกันแบบเต็มเหนี่ยว ก่อนจะวางจำหน่ายจริงๆต้นเดือนกุมภาพันธ์
Feature on Nokia 5800 XpressMusic
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อนว่ารุ่นนี้ใช้หน้าจอแบบสัมผัส รันผ่านระบบปฏิบัติการ Symbian ตัวล่าสุดที่ได้พัฒนามาถึงเวอร์ชัน 9.4 แล้ว (S60 5th edition) ซึ่งยังคงเป็นอินเตอร์เฟสการใช้งานตามเอกลักษณ์ของโนเกียอยู่ โดยโนเกียได้เรียกหน้าจอการใช้งานเฉพาะตัวว่าเป็นแบบ "Human Interface" นอกจากนี้ยังเป็นหน้าจอสัมผัสรุ่นแรกที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Symbian 9.4 รวมถึงเป็นทัชกรีนเครื่องแรกในตระกูล "XpressMusic" ด้วย
จุดเด่นอินเตอร์เฟสเฉพาะของโนเกียรุ่นนี้อยู่ที่แถบเมนู 'Media Bar' กับ 'Contacts Bar' ซึ่งแถบ "Media Bar" นั้นจะขึ้นแสดงอยู่ทางด้านขวา เมื่อนำปลายนิ้วไปสัมผัสที่สัญลักษณ์ 'Media bar' ที่อยู่ฝั่งขวาเหนือจอแสดงผลเล็กน้อย หากสัมผัสจะปรากฏเป็นแถบทางลัดที่สามารถเข้าสู่เพลงและความบันเทิงได้ทันที ประกอบไปด้วย เครื่องเล่นเพลง, คลังรูปภาพต่างๆ, ตัวเลือกในการเชื่อมโยงไปสู่เว็บไซต์และบริการแลกเปลี่ยนเพลงออนไลน์, ศูนย์รวมวิดีโอ และเว็บ โดย 5800 XpressMusic รองรับโปรแกรมแฟลชทำให้สามารถเข้าดูเว็บต่างๆได้อย่างสมบูรณ์
ส่วน "Contacts Bar" เป็นการแสดงหมายเลขโทรศัพท์และข้อมูลของคนพิเศษ สามารถเพิ่มได้ทั้งหมด 4 รายการด้วยกัน ซึ่งทำให้สะดวกในการเรียกใช้งาน นอกจากนี้ยังสามารถเรียกดูข้อมูลเก่าๆ เช่น ข้อมูลการรับสาย -โทรออก หรือจะเขียนข้อความใหม่ถึงคนพิเศษที่ได้เลือกไว้ ก็สามารถทำได้ผ่านทางรายการด้านหน้าได้เลย โดยไม่ต้องเข้าเมนูภายในให้วุ่นวาย ซึ่งจุดเด่นทั้งสองส่วนนี้ทางโนเกียบอกว่า เป้าหมายหลักคือต้องการเจาะตลาดผู้ใช้ในวงกว้าง ซึ่งเปลี่ยนจาก "User Interface" ไปสู่ "Human Interface" คือ ต้องการให้ผู้ใช้ทั่วไปได้ใช้งานอย่างแท้จริง
เนื่องจากเป็นหน้าจอสัมผัสเพียงอย่างเดียว การรับคำสั่งของเครื่องจึงรับได้ทางเดียวเช่นกัน ซึ่งผู้ใช้สามารถป้อนคำสั่งได้ 2 แบบ คือแบบปุ่มกดตัวเลขที่อยู่บนหน้าจอ (Multi Tap) กับแบบป้อนข้อความด้วยคีย์บอร์ดเสมือนจริง (QWERTY) โดยคีย์บอร์ดเสมือนจริงนี้มีให้เลือกใช้ 2 แบบด้วยกัน คือ ขนาดเล็ก (Mini QWERTY)ใช้แสดงผลแนวตั้ง และขนาดเต็มจอ (Full Screen QWERTY) นอกจากนี้ยังมีให้เลือกใช้แบบเขียนด้วยลายมือ ซึ่งสามารถอ่านลายมือได้ทั้งภาษาไทย และอังกฤษ
Music
เมื่อกดเข้ามาใช้งานภายใน "เมนูเพลง" ผู้ใช้จะได้พบหมวดย่อย ได้แก่ เครื่องเล่นเพลง (Music Player), วิทยุ (Radio), ร้านค้าเพลง และพอดแคสต์ ซึ่งในที่นี้จะโฟกัสลงไปเฉพาะจุดเด่น คือ เครื่องเล่นเพลง กับ วิทยุ
Music Player
"เครื่องเล่นเพลง" ยังคงมีการแบ่งรายการฟังก์ชันการใช้งานในรูปแบบเดิม ประกอบไปด้วย ศิลปิน : แสดงแยกออกตามรายชื่อศิลปิน, อัลบั้ม : แสดงตามชื่ออัลบั้ม, รายการเล่น : แสดงรายการเพลงที่ถูกเลือกเล่นบ่อยที่สุด (Most played), เพลงที่ถูกเลือกเล่นเมื่อเร็วๆนี้ (Recently played) หรือเพลงที่ถูกเพิ่มเข้าไปในรายการล่าสุด (Recently added), เพลงทั้งหมด : เพลงทั้งหมดที่พร้อมเล่น, ประเภทของเพลง : แยกเพลงตามประเภทต่างๆ
เช่นเดียวกันเมื่อเลือกเล่นเพลง เครื่องจะเข้าสู่เครื่องเล่นเพลงที่คุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี คือ มีการโชว์ภาพอัลบั้ม แถบแสดงเวลาการเล่นแต่ละเพลง ปุ่มควบคุมเครื่องเล่นเพลง ซึ่งรุ่นนี้เป็นปุ่มกดแบบสัมผัสบนหน้าจอ เครื่องเล่นเพลงสามารถหมุนปรับได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอนตามการจับถือของผู้ใช้
การปรับค่าต่างๆสามารถทำได้โดยการกดที่ "ตัวเลือก"(ปุ่มสัมผัสมุมซ้ายล่าง) ซึ่งมีให้เลือกปรับดังนี้ สลับเล่นเพลง(สุ่ม/ไม่สุ่ม), เล่นซ้ำ มีให้เลือก 3 ค่า ได้แก่ เล่นรอบเดียว เล่นซ้ำทั้งหมดไปเรื่อยๆ และเล่นซ้ำเฉพาะเพลง, อีควอไลเซอร์ตัวเครื่องมีให้เลือกปรับแต่ง 5 แบบ ได้แก่ เบส คลาสิก แจ๊ส ป๊อป และร็อก นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดค่าอีควอไลเซอร์ตามแบบฉบับของตัวเองได้ด้วย ส่วน"การตั้งค่า" มีให้เลือกปรับ สมดุล(Balance) เป็นการปรับความดังเสียงซ้าย-ขวาของลำโพง มีฟังก์ชันการเพิ่มเสียงทุ้ม( Bass booster) สำหรับเพิ่มเสียงทุ้มให้มากขึ้นกว่าเดิม และ ขยายแถบเสียงสเตอริโอ(Stereo widening) สำหรับเพิ่มเสียงให้ดูมีมิติและใสขึ้น
FM
ตัวถัดมาในหมวดนี้ที่ดึงมานำเสนอคือ "วิทยุ FM" ซึ่งตอนแรกนึกว่าทางโนเกียจะพัฒนาระบบการใช้งานมาใหม่ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังเหมือนเดิม คือ ยังต้องอาศัยชุดหูฟังเป็นเสาอากาศคอยรับสัญญาณ มีระบบสแกนหาความถี่ทั้งแบบค้นหาอัตโนมัติ และค้นหาด้วยตัวผู้ใช้งานเอง เมื่อแสกนความถี่ได้ตามต้องการแล้วสามารถเลือกที่จะจัดเก็บได้ ซึ่งเครื่องรองรับได้ทั้งหมด 20 สถานี นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกรูปแบบการฟังได้ว่าจะฟังผ่านชุดหูฟัง หรือฟังผ่านลำโพงสเตริโอของเครื่อง และยังสามารถเลือกให้เล่นเป็นพื้นหลัง ในกรณีต้องการออกไปใช้งานภายนอกด้วย
***เมื่อเสียบหูฟังจะปรากฏฟังก์ชันให้เลือกอุปกรณ์เสริม ได้แก่ หูฟัง, สัญญาณออก, สายสัญญาณทีวีออก และแท่นชาร์จพร้อมลำโพง
Camera
มาดูในส่วนของ "กล้องดิจิตอล" ที่ให้มากันบ้าง รุ่นนี้พกความละเอียดมาที่ระดับ 3.2 ล้านพิกเซล โดยใช้เลนส์ 'Carl Zeiss' ระบบออโต้โฟกัส พร้อมไฟแฟลชชนิด LED 2 ดวง ลักษณะการจับเครื่องออกแบบมาให้จับถ่ายภาพในแนวนอน เมื่อลองจับดูนิ้วชี้จะวางอยู่บนปุ่มชัตเตอร์ทางด้านข้างตัวเครื่องพอดี ส่วนหน้าตาฟังก์ชันการใช้งานนั้นประกอบไปด้วย สัญลักษณ์โหมด(อยู่ทางมุมบนด้านซ้าย) ถัดลงมาเป็นอัตราการซูมขยาภาพ(แบบดิจิตอล) สามารถกดเลือกผ่านหน้าจอได้เลย หรือว่าจะกดปุ่ม +/- ทางด้านข้างของตัวเครื่องก็ได้ ล่างสุดเป็นแถบแสดงสถานะแบตฯ, ขนาดภาพ, จำนวนภาพ, แหล่งเก็บภาพ ตามลำดับ ส่วนทางด้านขวามีให้เลือกใช้งานดังนี้ จับภาพอัตโนมัติ ถัดลงมาเป็นการปรับการใช้งานของแฟลช และแถบเครื่องมือเพิ่มเติม
โดยการปรับค่าการใช้งานของแฟลชนั้นมีให้เลือกดังนี้ อัตโนมัติ, เปิดแฟลช, ลดจุดตาแดง และปิดแฟลช โหมดฉากที่มีมาให้ในแถบเครื่องมือเพิ่มเติม ได้แก่ อัตโนมัติ (Automatic), กำหนดเอง(User Defined), โหมดระยะใกล้(Close-up), บุคคล(Portrait), ภาพวิว(Landscape), กีฬา (Sports), กลางคืน(Night), ภาพบุคคลตอนกลางคืน(Night portrait) นอกจากนี้ ยังมีการปรับค่าถ่ายภาพอื่นๆ ได้แก่ แสดงช่องเล็ง, ตัวจับเวลาถ่ายภาพ มีให้เลือกตั้ง 2, 10 และ20 วินาที, มีโทนสีให้เลือก 5 แบบมีดังนี้ ปกติ(Nomal), ซีเปีย(Sepia), ขาวดำ(Black & white), จ้า(Vivid), เนกาทีฟ(Negative)
ปรับค่าสมดุลสีขาว(White balance) มีให้เลือกดังนี้ แบบอัตโนมัติ, แสงจ้า(Sunny), เมฆหน้า(Coludy), แสงไฟทังสเตน(Incandescent) และแสงไฟนีออน(Fluorescent) ปรับค่าเปิดรับแสง ปรับค่าความไวแสง(ISO) มีให้เลือกใช้ 4 แบบ อัตโนมัติ, ต่ำ(Low), ปานกลาง(Medium) และสูง(High) มีให้เลือกปรับความเข้มของแสง และความคมชัด 3 แบบ เข้ม, ปกติ, อ่อน
ส่วน"การตั้งค่า"สามารถเลือกเข้าไปปรับได้ โดยกด ตัวเลือก > การตั้งค่า ซึ่งมีให้เลือกตั้งค่าต่างๆเริ่มจากคุณภาพของรูปภาพที่มีให้เลือก 3 ระดับ ได้แก่ 3 ล้านพิกเซล ใช้สำหรับการพิมพ์ภาพขนาดใหญ่ (10 x 8 นิ้ว), 2 ล้านพิกเซล สำหรับการพิมพฺภาพขนาดกลาง (7 x 5 นิ้ว) และ 0.3 ล้านพิกเซล สำหรับภาพขนาดเล็กที่ส่งทางข้อความมัลติมีเดีย ถัดมาเป็นการตั้งค่าการแสดงภาพที่จับว่าจะให้แสดงหรือไม่ ต่อมาเป็นการตั้งชื่อของภาพว่าจะให้ตั้งตามวันที่ หรือจะเป็นข้อความตามที่ผู้ใช้กำหนดก็ได้ เสียงชัตเตเอร์มีให้เลือกปรับ 4 แบบ แต่ไม่สามารถเลือกปิดเสียงได้ ถัดมาเป็นการเลือกแหล่งเก็บภาพ และตั้งค่าการหมุนภาพอัตโนมัติว่าจะให้หมุนหรือไม่
โหมดวิดีโอมีลักษณ์เช่นกันกับโหมดกล้อง มีให้เลือกปรับค่าต่างๆดังนี้ ฉากมีให้เลือก 2 แบบ คือ อัตโนมัติ กับกลางคืน การปรับค่าสมดุลสีขาว(White balance) มีให้เลือกปรับ 5 แบบเหมือนกันกับในโหมดกล้องถ่ายภาพ ได้แก่ แบบอัตโนมัติ, แสงจ้า(Sunny), เมฆหน้า(Coludy), แสงไฟทังสเตน(Incandescent) และแสงไฟนีออน(Fluorescent) เช่นเดียวกับโทนสีสามารถเลือกปรับได้ 5 แบบ ได้แก่ ปกติ(Nomal), ซีเปีย(Sepia), ขาวดำ(Black & white), จ้า(Vivid) และเนกาทีฟ(Negative)
"การตั้งค่า"ของโหมดวิดีโอสามารถเลือกเข้าไปปรับได้ ซึ่งคล้ายกับการปรับฟังก์ชันในโหมดกล้องเช่นกัน โดยกดเลือกที่ ตัวเลือก > การตั้งค่า ซึ่งมีรายละเอียดฟังก์ชันต่างๆดังนี้ คุณภาพวิดีโอ มีให้เลือกปรับใช้ถึง 5 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ ทีวีคุณภาพสูง(TV high quality) สำหรับเล่นผ่านทีวี พีซี และโทรศัพท์, หน้าจอกว้างคุณภาพสูง(Wide screen high quality) สำหรับเล่นผ่านทางโทรศัพท์, อีเมลคุณภาพสูง(E-mail high quality) สำหรับเล่นผ่านทางโทรศัพท์อื่นๆ, อีเมลคุณภาพปกติ(E-mail normal quality) คุณภาพมาตรฐานสำหรับเล่นผ่านทางโทรศัพท์อื่นๆ, คุณภาพการใช้แบบปกติ(Sharing quality) เป็นวิดีโอแบบจำกัด สำหรับส่งข้อความมัลติมีเดีย
นอกจากนี้ ยังมีให้เลือกปรับในส่วนของการบันทึกเสียง ว่าจะให้เปิดหรือปิด, ตั้งค่าการแสดงวิดีโอที่ถ่ายไว้ว่าจะให้โชว์เลยหรือไม่, การตั้งชื่อของภาพ และเลือกแหล่งเก็บไฟล์วิดีโอ
Map
รุ่นนี้ใช้แผนที่ 'Nokia Maps' ที่ทางโนเกียได้พัฒนาขึ้นมาใช้เอง สำหรับแผนที่ที่มากับเครื่องรุ่นนี้เป็นเวอร์ชัน 2.0(ใหม่ล่าสุด) สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการแสดงแผนที่ได้ทั้งหมด 4 แบบด้วยกัน ได้แก่ แผนที่, แผนที่ 3 มิติ, ดาวเทียม(แสดงภาพถ่ายทางดาวเทียม) และแบบผสม (แสดงแผนที่บนภาพถ่ายทางดาวเทียมควบคู่กัน) มีลูกเล่นของการแสดงผลให้เป็นแบบในเวลากลางวัน หรือกลางคืนได้ มีระบบค้นหาสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น ร้านอาหาร, โรงแรม, วัด เป็นต้น ซึ่งสามารถค้นหาโดยการพิมพ์ข้อความเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆที่ต้องการได้ที่ช่องค้นหาทางด้านล่างของแผนที่
นอกจากนี้ภายในเครื่องยังมีภาครับสัญญาณดาวเทียม (GPS) สำหรับใช้ระบุตำแหน่ง ซึ่งใช้นำทางร่วมกับแผนที่ของโนเกีย หากจจะใช้งานในส่วนนี้ต้องสั่งซื้อระบบนำทางเพิ่มเติม ไม่เช่นนั้นจะใช้ระบุตำแหน่งได้เพียงอย่างเดียว
Games
นอกจากหน้าจอจะทัชสกรีนได้แล้ว ในเรื่องของการเล่น "เกม" โนเกียได้เพิ่มลูกเล่นใหม่เข้ามา อย่างในเกมรถแข่ง (Global Race Raging Thunder) ที่สามารถบังคับรถด้วยการเอียงซ้าย-ขวาตัวเครื่อง ซึ่งคล้ายกับการบังคับพวงมาลัยรถยนต์จริงๆ โดยอาศัยเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวของเครื่อง (Accelerometer meter) มาเรียกใช้ภายในเกม นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อผ่านบลูทูธ สำหรับการเล่นในโหมดผู้เล่นหลายคน(Multiplayer)ได้อีกด้วย
Design of Nokia 5800 XpressMusic
ตัวเครื่อง 5800 XpressMusic มองโดยรวมถือว่าออกแบบได้ค่อนข้างลงตัว ถึงแม้ตัวเครื่องอาจจะดูหนาไปหน่อยก็ตาม แต่ก็ทำให้จับได้กระชับมือยิ่งขึ้น รวมถึงน้ำหนักของเครื่องไม่ได้หนักตามความหนาของเครื่องไปด้วย เพราะวัสุดส่วนใหญ่ผลิตจากพลาสติก ซึ่งตัวเครื่องมีขนาด 111 x 51.7 x 15.5 มม. น้ำหนักอยู่ที่ 109 กรัม มีให้เลือก 3 สี ได้แก่ ดำ, แดง และฟ้า
ด้านหน้า : ไล่จากบนสุดของตัวเครื่องจะพบลำโพงสนทนาวางอยู่ตรงกึ่งกลางของตัวเครื่อง ใกล้กันทางด้านขวามีเซ็นเซอร์ถูกวางไว้อยู่ 2 ตัวด้วยกัน คือ เซ็นเซอร์วัดแสง กับเซ็นเซอร์ตรวจจับระยะ ถัดมาเล็กน้อยจะพบกล้องรูเข็มกล้องตัวที่สองของเครื่อง วางอยู่ทางมุมบนด้านขวาพอดี ซึ่งใช้สำหรับ 'Video Call' เพียงอย่างเดียว ถัดลงมาด้านล่างไล่จากฝั่งซ้ายจะพบตัวพิมพ์ยี่ห้อ "NOKIA" และชื่อรุ่น "XpressMusic" ตามลำดับ ใกล้กันเป็น 'Media bar' แบบสัมผัส เมื่อสัมผัสจะปรากฏเป็นแถบทางลัดให้เลือกเพื่อเข้าสู่เพลงและความบันเทิงได้ทันที
ถัดลงมาเป็นส่วนของจอแสดงผลระบบสัมผัสความละเอียดสูงแบบไวด์สกรีน ขนาด 3.2 นิ้ว ให้ความละเอียด 16 ล้านสี (640x360 พิกเซล) แสดงผลแนวนอนและแนวตั้งอัตโนมัติ ตามลักษณะการจับถือของผู้ใช้ ล่างสุดใต้จอแสดงผลเป็นปุ่มรับสาย, ปุ่มเมนู และปุ่มวางสาย
ด้านหลัง : ไล่จากด้านบนจะพบเลนส์กล้องดิจิตอลระบบออโต้โฟกัส ซึ่งใช้เลนส์ 'Carl Zeiss' ให้ความละเอียดที่ระดับ 3.2 ล้านพิกเซล (2048 x 1536) ใกล้กันกับเลนส์เป็นไฟแฟลชชนิด LED 2 ดวง ถัดมาเป็นตัวพิมพ์แกะสลักคำว่า "NOKIA" ล่างสุดฝั่งซ้ายถูกออกแบบให้เป็นช่องใส่ปากกาสไตลัส พื้นผิวทางด้านนี้เมื่อลองสัมผัสดูมีลักษณะฝืดมือเล็กน้อย
เมื่อเปิดฝาหลังออกจะพบแบตเตอรี่ชนิด Li-Ion 1320 mAh รุ่น BL-5J วางอยู่ตรงกึ่งกลางของตัวเครื่อง ส่วนด้านข้างเครื่องฝั่งขวาหากสังเกตดีๆจะพบช่องระบายเสียงของลำโพงสเตริโอ ซึ่งถูกออกแบบให้อยู่ทางด้านบน และด้านล่าง (วางแนวนอนให้เสียงซ้ายขวา)
***หมายเหตุ ใต้ฝาหลังมีการอธิบายวิธีการถอดซิมการ์ด
หากใช้งานครั้งแรก หรือยังจำไม่ได้ก็ควรจะเปิดฝาหลัง และถอดแบตเตอรี่ออก โดยจะมีวิธีการใส่ซิมการ์ดกำกับอยู่ ส่วนการถอดซิมการ์ดจำเป็นต้องถอดฝาหลัง และถอดแบตฯออกมา จากนั้นก็นำเอาปลายปากกาสไตลัสดันซิมการ์ดอกมาออกมา
ด้านขวา : ไล่จากบนสุดเป็นปุ่มปรับระดับเพิ่ม-ลดเสียง/ความสว่าง ถัดมาตรงกลางเป็นปุ่มสำหรับล็อก-ปลดล็อกจอแสดงผล ใช้งานโดยการกดเลื่อนที่ตัวปุ่มลงแล้วปล่อย หน้าจอจะทำการล็อกพร้อมกับปิดหน้าจอแสดงผลในเวลาเดียวกัน เพื่อประหยัดพลังงาน และล่างสุดเป็นปุ่มชัตเตอร์ในการถ่ายภาพของเมนูกล้อง (กดค้างเข้าเมนูถ่ายภาพ)
ด้านซ้าย : ด้านนี้มีช่องใส่เมมโมรีการ์ดแบบ MicroSD ซึ่งรองรับได้สูงสุด 16 GB และช่องใส่ซิมการ์ด โดยทั้งสองช่องนั้นมีฝาปิดอย่างมิดชิด
***หมายเหตุ สำหรับผู้ที่ใช้งานครั้งแรกต้องเปิดฝาหลัง แล้วถอดแบตฯออกก่อน เพื่อดูทิศทางซิมการ์ดว่าควรจะใส่เข้าไปในลักษณะไหน
ด้านบน และด้านล่าง : ไล่จากฝั่งซ้ายเป็นช่อง Micro USB ใช้สำหรับซิงโครไนซ์ข้อมูลต่างๆกับคอมพิวเตอร์ ถัดมาเป็นช่องต่อชุดหูฟังมาตรฐานขนาด 3.5 ม.ม.(ขนาดปกติทั่วไป) และปุ่มเปิด/ปิดเครื่อง ใกล้กันเป็นช่องเสียบสายชาร์จแบตเตอรี่ และปุ่มเปิด-ปิดเครื่องตามลำดับ ส่วนด้านล่างมีรูไมโครโฟน กับช่องเว้าสำหรับเปิดฝาเครื่องเท่านั้น
บทสรุป
สำหรับ 5800 XpressMusic เครื่องนี้ หากจะเรียกว่าสมบูรณ์แบบก็ยังไม่ใช่ทีเดียว แต่ถ้าเรียกว่าเป็นโทรศัพท์มือถือที่มีฟังก์ชันการใช้งานมาให้ครบครัน เห็นทีจะเป็นความจริง เพราะมีฟังก์ชัน - ลูกเล่นใหม่ๆเพิ่มเติมเข้ามา การใช้งานทำได้สะดวกมากขึ้น และตอบสนองได้ค่อนข้างลื่นตามสัมผัส อินเตอร์เฟสที่ให้มานั้นใช้งานได้ง่าย ไม่มีส่วนไหนซับซ้อน แต่การสัมผัสด้วยนิ้วมือยังไม่ค่อยตอบสนองเท่าที่ควร ต้องใช้ปลายนิ้วรวมถึงเล็บช่วยถึงจะตอบสนองได้ ส่วนเสียงระหว่างการสนทนาดังชัดเจนดี
การป้อนข้อความภาษาไทยด้วยคีย์บอร์ดเสมือนจริง (QWERTY)นั้น พบว่ามีการสลับตัวอักษรบางตำแหน่ง ซึ่งเป็นตัวอักษรที่อยู่ทางริมด้านขวาทั้งหมด ได้แก่ (ฃ) ถูกย้ายลงมาอยู่ทางด้านล่างใต้ (ง), (ข) (ช) (ล) และ (ฅ) ถูกย้ายมาอยู่อีกหน้า โดยกดปุ่ม Shift (ลูกศรขึ้น)
ระบบการเชื่อมต่อมีมาให้อย่างครบครัน ทั้งการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย GPRS, EDGE และ HSDPA การเชื่อมต่อบลูทูธ (รองรับ A2DP) การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน Wi-Fi เปิดเว็บเพจผ่านเบราว์เซอร์เฉพาะของโนเกีย ที่รองรับ 'Flash Player' ทำให้สามารถเข้าดูเว็บต่างๆได้อย่างสมบูรณ์ สามารถแสดงผลได้ทั้งแนวตั้ง และแนวนอน รวมถึงสามารถขยายแบบเต็มจอได้ด้วย(แนวนอน) และสุดท้ายเชื่อมต่อผ่านสายดาต้าลิงก์แบบ Micro USB
เครื่องเล่นเพลงของ Nokia 5800 XpressMusic โดยรวมยังไม่แตกต่างไปจากเดิม เสียงที่ขับออกมาทางลำโพงสเตอริโอด้านหลัง ให้เสียงที่ค่อนข้างเคลีย กล่าวคือ เสียงใสและกังวาล แม้จะเร่งเสียงสูงสุดไม่พบเสียงแตกพร่า หากเปิดฟังก์ชันอื่นค้างไว้ อาการเครื่องค้างหรือแฮงก์มีให้เห็นเหมือนกัน เมื่อลองใช้ลูกเล่นที่ให้มาอย่างเพิ่มเสียงทุ้ม กับขยายแถบเสียงสเตริโอ ปรากฏว่าคุณภาพเสียงที่ขับออกมาทางลำโพงด้านหลังไม่ต่างกับตอนที่ยังไม่ได้ปรับ ซึ่งในส่วนนี้จะใช้ได้ผลดีเมื่อฟังผ่านหูฟังเท่านั้น
ส่วนกล้องดิจิตอลรุ่นนี้ถือว่าให้ลูกเล่นมาใช้งานได้สนุกมือ บางครั้งใช้งานจนลืมไปเลยว่ากำลังใช้รุ่นที่เด่นเรื่องเครื่องเล่นเพลงอยู่ ระบบถ่ายภาพอัตโนมัติสามารถล็อกโฟกัสได้ค่อนข้างแม่นยำ มีบางครั้งที่โฟกัสหลุดบ้าง(น้อยมาก) คุณภาพของภาพที่ได้ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ สีสันตรงตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับกล้องวิดีโอสามารถทำงานได้ค่อนข้างลื่น และคุณภาพที่ได้ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้สบาย
ขอชม
- อินเตอร์เฟสใช้งานค่อนข้างง่าย ไม่ซับซ้อน และตอบสนองการสัมผัสได้ดี
- มีระบบปิดหน้าจอแสดงผล เมื่อนำขึ้นมาแนบกับหูระหว่างสนทนา ซึ่งช่วยเรื่องประหยัดพลังงานได้
- การออกแบบโดยรวมถือว่าทำได้อย่างลงตัว เช่น ฝาหลังที่ต้องเปิดโดยการงัดขึ้นมา สามารถปิดได้สนิทไม่มีเผยอให้เห็น
ขอติ
- ถึงแม้ว่าจะมีการออกแบบให้ใส่ซิมการ์ดทางด้านข้างได้เลย แต่เวลาถอดออกต้องเปิดฝาหลังอยู่ดี
- กล้องตัวที่สองทางด้านหน้า ไม่สามารถนำมาใช้ถ่ายภาพได้
- ตัวเครื่องมีความหนาเพิ่มขึ้น หากเทียบกับตระกูลเดียวกัน
คุณสมบัติทั่วไปของ Nokia 5800 XpressMusic
ทั่วไป | ระบบเครือข่าย | แบบ Dual Mode : GSM 850/900/1800/1900 MHz |
และWCDMA/HSDPA 900/2100 MHz | ||
ขนาด | 111 x 51.7 x 15.5 มม. | |
น้ำหนัก | 109 กรัม | |
ระบบปฏิบัติการ | Symbian OS เวอร์ชั่น 9.4 - S60 5th Edition | |
หน้าจอ | แบบ | nHD 16 ล้านสี ความละเอียด 640 x 360 พิกเซล |
ขนาด | 3.2 นิ้ว | |
รองรับ | ปรับหมุนทิศทางการแสดงผลแบบอัตโนมัติ | |
ริงโทน | ชนิด | Polyphonic (64 ชิ้น), MP3 |
ระบบสั่น | มี | |
Photo Caller | มี | |
Video Caller | มี | |
หน่วยความจำ | ตัวเครื่อง | 81 MB |
การ์ด | รองรับ Micro SD สูงสุด 16 GB | |
ข้อมูล | GPRS | Class 32 |
HSDPA | มี | |
3G | มี | |
ไวเลสแลน | มี | |
บลูทูธ | มี เวอร์ชัน 2.0 รองหูฟังสเตริโอ A2DP | |
พอร์ตอินฟาเรต | ไม่มี | |
USB | มี (เวอร์ชัน 2.0 : microUSB) | |
GPS | มี (ระบบนำร่องดาวเทียมในตัว) | |
ฟีเจอร์ | ข้อความ | SMS, MMS, Email |
บราวเซอร์ | WAP 2.0/xHTML | |
เกมส์ | มี | |
สี | ดำ, แดง, ฟ้า | |
กล้อง | ความละเอียด 3.2 MP พร้อมแฟลช (2048 x 1536) | |
TV-out | มี | |
เครื่องเล่นเพลง | มี | |
แบตเตอรี่ | ประเภท | Li-Ion 1,320 mAh (BL-5J) |
สำหรับราคาจำหน่ายของ Nokia 5800 XpressMusic ราคาเปิดตัว 13,520 บาท (ราคา ณ วันที่ 25 มกราคม 2552 สามารถจองผ่านได้ทางเว็บไซต์โนเกีย คลิกที่นี่ โดยจะได้รับเครื่องในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ณ ลานเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป) ส่วนการวางจำหน่ายตามร้านค้านั้นจะวางช่วงปลายกุมภาพันธ์ 2552
Company Related Links :
Nokia