xs
xsm
sm
md
lg

Review : Asus N10Jc เน็ตบุ๊กที่มาพร้อม GeForce 9300M

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Asus N10Jc เน็ตบุ๊กที่มาพร้อมกราฟิกแยก Nvidia GeForce 9300M GS
Asus N10Jcถูกอัสซุสวางตัวมาให้เป็นโน้ตบุ๊กขนาดเล็กสำหรับกลุ่มองค์กรธุรกิจ แต่จริงๆแล้วก็เหมือนเน็ตบุ๊กทั่วๆไปนั่นแหละ สเปคพื้นฐานเหมือนกันเป๊ะ เพียงแต่เพิ่มคุณสมบัติพิเศษอื่นๆเข้ามาเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในองค์กรเท่านั้น เช่น เพิ่มขีดความสามารถของระบบความปลอดภัยด้วย ฟิงเกอร์สแกน สำหรับการปกป้องข้อมูลสำคัญๆหรือเป็นความลับขององค์กร อัพเกรดประสิทธิภาพด้านกราฟิกด้วยกราฟิกการ์ดแยก Nvidia GeForce 9300M GS พร้อมพอร์ต HDMI สำหรับความบันเทิงระดับ “ไฮเดฟฯ” ที่สมบูรณ์แบบยิ่งกว่า

จับไปเล่นเกมก่อนเลย

เพราะ Asus N10Jc มาพร้อม Nvidia GeForce 9300M GS เลยทำให้ความสนใจของเรามุ่งไปที่ Nvidia GeForce 9300M GS โดยปริยาย และก็คงไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่อยากรู้ว่า เจ้ากราฟิก Nvidia ตัวนี้จะช่วยให้ประสิทธิภาพด้านกราฟิกของเน็ตบุ๊กธรรมดาๆแรงขึ้นได้แค่ไหน เล่นเกม 3D ระดับ lnW ได้หรือเปล่า??? ด้วยความเป็นวัยรุ่นใจร้อน ก็เลยจับมันไปเล่นเกมก่อนเลย เพราะการใช้งานพื้นฐานก็คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เดี๋ยวค่อยย้อนไปดูตอนหลังก็ได้ ^^
เลือกโหมดการทำงานโดยใช้ปุ่มสไลด์ และต้องรีบูตเครื่องด้วยทุกครั้ง
ก่อนจะทำสิ่งใดๆ ก็ต้องปรับระบบให้มันมารันกราฟิกบน Nvidia GeForce 9300M GS กันก่อน โดยเลื่อนสวิตช์ซึ่งติดตั้งอยู่ทางด้านซ้ายตรงกลางของตัวเครื่อง ติดกับพอร์ต HDMI พอเลื่อนสวิตช์เสร็จก็รีบูตเครื่องทีนึงก็เป็นอันเรียบร้อย ย้ำ ... ต้องรีบูตเครื่องด้วย ถึงจะเสร็จสมบูรณ์
สเปกกราฟิก
เริ่มจากการทดสอบด้วย 3DMark06 กันก่อน ผลที่ออกมาคือ เจ้า Nvidia GeForce 9300M GS ทำได้ 1567 แต้ม เทียบกับไม่ถึงร้อยแต้มของ Intel GMA 950 แล้ว เหนือกว่ากันหลายขุม นึกในใจ ... คะแนนออกมาแบบนี้มันน่าจะเล่นเกม 3D ได้นะ ว่าแล้วก็ลองกับ Need For Speed Pro Street ก่อนเลย คิดถึงจะแย่ ไม่ได้เล่นมานานละ
ทดสอบด้วย 3DMark06 ทำคะแนนได้ 1567
ผ่านไปครู่ใหญ่ หลัง Install เสร็จ ก็ได้เวลาสตาร์ทเครื่อง ปิดโปรแกรมที่รันเป็นแบ็คอัพอยู่เกือบหมด รวมถึง Antivirus ต่อเข้า LCDTV ผ่านพอร์ต HDMI เซ็ต Resolution ที่ระดับ 1080 FullHD ปิด Effect ภายในเกมทั้งหมด ความละเอียดของตัวรถและฉากหลังต่ำสุด ผลปรากฏว่า ... !!! ผิดคาด ... หนืดสนิท ... ภาพกระตุก และการควบคุมดีเลย์มากๆ เล่นไม่ได้เลย

ก็เลยลองปรับ Resolution ลงมาที่ 720 HDReady เผื่ออะไรๆจะดีขึ้น ผลคือ ดีขึ้นตามคาด แต่ ... ภาพยังกระตุก และการควบคุมยังดีเลย์ เล่นไม่ได้เหมือนเดิม เลยปรับ Resolution ลงมาอีกที่ 800x600 คราวนี้พอเล่นได้ แต่ก็ยังดีเลย์อยู่ดี ทำให้ขาดความแม่นยำในการควบคุม สรุป NFS เล่นไม่ได้ อย่างนี้คงไม่ต้องพูดถึง Crysis แล้ว มีหวังโดนยิงตายตั้งแต่ยังไม่เริ่มเกม

สงสัยๆๆๆ ... ทำไมเล่นไม่ได้ กราฟิกแรงขนาดนี้ เลยลองพลิกหลังกล่องดูสเปคขั้นต่ำ เลยถึงบางอ้อ ... ทุกอย่างผ่านหมด ไม่ว่า RAM, Direct X, GPU และ VRAM ติดอยู่อย่างเดียวคือ CPU ที่ต้องการความเร็วขั้นต่ำ 2.8GHz สำหรับโปรเซสเซอร์แบบ Single-Core ทั้ง NFS และ Crysis มิน่าล่ะถึงได้เดี้ยง เล่นไม่ได้ ทั้งๆที่กราฟิกไม่ธรรมดา อย่างนี้ถ้า Atom Dual-Core ออกเมื่อไหร่ คงเล่นได้นะ

ดูหนัง ฟังเพลง ทำรูป

Nvidia GeForce 9300M GS บนแพลตฟอร์ม Atom ถ้าเล่นเกมไม่ได้ แล้วใส่มาให้เปลืองแบตฯทำไม??? มันน่าจะมีประโยชน์บ้างแหละน่า ลองดูหนังดูซิ เอาเรื่อง Nationnal Treasure 2 ที่บันทึกมาในฟอร์แม็ต DVD9 ระบบเสียง Dolby Digital 5.1 มาลองเปิดดู ปล่อยสัญญาณ 1080 FullHD ผ่านพอร์ต HDMI ผลที่ออกมาคือ สุดยอด ภาพที่ออกมามีความคมชัด สีสันสดใส และไหลลื่นตลอดทั้งเรื่อง ไม่มีกระตุกให้เสียอารมณ์ เสียงที่ผ่านระบบ Audio ของ Realtek HD ออกสู่ลำโพงภายนอกให้มิติที่ยอดเยี่ยมตลอดทั้งช่วงความถี่ต่ำไปจนถึงความถี่สูง ช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชมได้ดีมาก ไม่แน่ใจเลยเปิดเรื่อง Transformer ดูต่ออีกเรื่อง ก็ยังทำได้ดีและน่าประทับใจเช่นเดิม แล้วถ้าเป็นฟอร์แม็ต HD แท้ๆ อย่าง Blu-ray ล่ะ เป็นไงมั่ง??? บอกตรงๆว่า ไม่ผ่านครับ มีกระตุกเป็นช่วงๆ ดูไม่ได้ครับ สาเหตุน่าจะมาจาก CPU อ่อนแรงเช่นเดิม

ทดลองฟังเพลง ต่อผ่านลำโพงภายนอก มิติเสียงอยู่ในขั้นดี เสียงคนร้องชัดเจน เสียงเครื่องดนตรีชัดเจน เวทีเสียงไม่แบน ฟังได้เพลิดเพลินดี ส่วนการฟังผ่านลำโพงภายใน ที่ปะแบรนด์ Altec Lansing นั้น มิติเสียงดี แต่เพราะขนาดตัวบังคับ ทำให้เสียง Bass ขาดหาย กระนั้นก็ยังดีกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไปหลายขุม ไม่น่าผิดหวังแต่อย่างใด

มาลองใช้ Photoshop CS3 ดูบ้าง พบว่าสามารถทำงานได้รวดเร็ว ไม่ติดขัดแต่อย่างใด เปิดภาพความละเอียดสูงๆหลายๆภาพพร้อมกันได้อย่างไม่มีปัญหา จัดการกับภาพหลายๆเลเยอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามข้อจำกัดยังคงอยู่ที่ Atom 1.6GHz ที่บางครั้งก็มีความล่าช้าในการเรนเดอร์ภาพให้เห็นเหมือนกัน

ย้อนกลับมาดีไซน์

บอดี้มันเงา สวยงาม สีสันเอกลักษณ์ เทาเหลือบทอง หรูหราด้วยโลหะรมดำ
ต้องยอมรับว่า Asus ดีไซน์ N10Jc ออกมาได้โดดเด่น เลิศหรู เกินหน้าเกินตา “เน็ตบุ๊ก” ฝาหน้าแม้จะเป็นพลาสติก แต่ใช้เทคนิค In-Mold Roller ในการผลิต ทำให้มีความเงางามสูง และทนต่อรอยขีดข่วนมากกว่าปกติ ธีมสีที่ใช้ ไม่ใช่สีเงิน Silver แต่เป็นสีเทาเหลือบทองแชมเปญอ่อนๆ ดูหรูหราและสวยงามมากๆ แถมยังเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครอีกด้วย บริเวณสันด้านบานพับประดับด้วยแผ่นโลหะรมดำเงาเพิ่มความหรูหราอีกระดับ
พื้นที่ยังเหลือพอให้ขยายขนาดจอภาพได้อีก น่าจะมีมาในอนาคต
เปิดฝาขึ้นมาก็พบกับคีย์บอร์ดไซส์ใหญ่ 95% ของไซส์ปกติ ใช้งานได้ถนัดมือ ยกเว้นปุ่ม Shift ฝั่งขวามือที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ ต้องสร้างความคุ้นเคยกันเล็กน้อยจึงจะใช้งานได้คล่องมือ เรื่องการตอบสนองต้องยกนิ้วให้ เพราะทำได้ดีมาก ให้ความรู้สึกในการพิมพ์สัมผัสที่ยอดเยี่ยมจริงๆ เทียบชั้นโน้ตบุ๊กระดับไฮเอนด์ได้เลย
หรูหรา ไฮโซ ด้วยปุ่มโครเมี่ยม และแผ่นโลหะรมดำ
เหนือคีย์บอร์ดขึ้นไป ถูกประดับไว้ด้วยแผ่นโลหะรมดำเงาเช่นเดียวกับด้านนอก รวมถึงตัวบานพับก็เป็นวัสดุโลหะรมดำเงาด้วยเช่นกัน ทางซ้ายของแผ่นโลหะเป็นโลโก้ Altec Lansing บ่งบอกถึงความไม่ธรรมดาของระบบเสียง ถัดมาตรงกลางๆ เป็นไฟบอกสถานะการทำงานของฮาร์ดดิสก์, Num Lock และ Caps Lock ถัดไปทางด้านขวาเป็นที่อยู่ของปุ่มโครเมี่ยม 3 ปุ่ม ได้แก่ ปุ่มขยายหน้าจอ ปุ่ม Express Gate หรือ Power 4 Gear สำหรับปรับระดับการใช้พลังงาน และสุดท้ายปุ่ม Power เปิด/ปิดเครื่อง

สำหรับ Express Gate บูตได้เร็วจริงตามที่โฆษณา คือประมาณ 8-10 วินาที แต่การใช้งานจริง ไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ เพราะที่บูตขึ้นมาน่ะ มันขึ้นมาเฉพาะหน้า Index ถ้าจะใช้ดูหนัง ฟังเพลง ดูรูปจริงๆ จะต้องเสียเวลาเรียกโปรแกรมแต่ละตัวขึ้นมาอีกตัวละประมาณ 20 วินาที สู้บูตเข้าวินโดวส์ไปเลยจะดีกว่า เพราะก็ใช้เวลาแค่นาทีเดียวเท่านั้น
Touchpad นิสัยดี ราบเรียบ นุ่มนวล ชวนสัมผัส
ลงมาทางด้านล่างใต้คีย์บอร์ด เป็นที่อยู่ของทัชแพ็ดดีไซน์หรู ผิวสัมผัสลื่น ตอบสนองไว ให้ความรู้สึกในการใช้งานที่ยอดเยี่ยม ปุ่มกดซ้ายขวาเป็นโครเมี่ยม ตรงกลางระหว่างปุ่มกดทัชแพ็ด เป็นที่สแกนนิ้ว ใช้งานได้ไม่ติดขัดแต่อย่างใด

จอภาพที่ให้มามีขนาด 10.2 นิ้ว ใช้แบ็คไลท์แบบ LED ความละเอียด 1024 x 600 พิกเซล ซึ่งก็เหมือนกับเน็ตบุ๊กทั่วไป มีความคมชัดสูง กินไฟน้อย การตอบสนองรวดเร็ว ใช้ดูหนังได้ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด กรอบเป็นพลาสติกสีดำเงาเพิ่มความหรูหรา อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบขนาดของจอกับกรอบแล้ว เชื่ออย่างยิ่งว่าในอนาคตจะมีจอขนาด 11-12 นิ้วออกมาให้เป็นทางเลือกอย่างแน่นอน เหนือจอภาพขึ้นไปเป็นกล้องเว็บแคม ความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ให้ความละเอียดและชัดเจนดี
เลือกโหมดการทำงานโดยใช้ปุ่มสไลด์ และต้องรีบูตเครื่องด้วยทุกครั้ง
ด้านซ้ายของตัวเครื่องเป็นที่อยู่ของที่คล้องสายล็อค, ช่องระบายอากาศขนาดใหญ่, สวิทช์เลือกระบบกราฟิกระหว่าง Intel GMA 950 กับ Nvidia GeForce 9300M GS, พอร์ต HDMI, พอร์ต USB 2.0 จำนวน 2 ช่อง, และสวิทช์เปิดปิดโมดูล Wireless
มีช่องสำหรับการ์ด PCI Express ด้วย
ด้านขวาเป็นที่อยู่ของช่องเสียบการ์ด PCI Express, ช่องเสียบหูฟังและไมโครโฟน, พอร์ต USB 2.0 ตัวที่ 3, พอร์ต D-Sub สำหรับต่อจอภายนอก และพอร์ต LAN
ช่องเมมโมรี่การ์ด ไปหลบอยู่ด้านล่าง ใช้งานลำบากพอสมควร
ด้านหน้า ฝั่งซ้ายค่อนไปทางด้านล่างหน่อย เป็นฃ่องเสียบเมมโมรี่การ์ด ที่รองรับได้ทั้ง MMC, SD และ MS ทุกประเภท ส่วนทางฝั่งขวาเป็นไฟแสดงสถานะการทำงานว่า On หรือ Suspend, แบตฯ, Bluetooth และ Wireless
เรื่องแบตฯต้องยกนิ้วให้ เพราะรันได้นานจริงๆ
ด้านหลังเป็นช่องแบตเตอรี่อย่างเดียว โดยแบตฯที่ให้มาเป็นแบบ 6 Cell 4800 mAh การใช้งานจริง พิมพ์งาน เล่นเน็ต เปิด Wi-Fi ตลอด สามารถรันได้นาน 3.5-4 ชั่วโมงเมื่อใช้กราฟิก Nvidia และ 4.5-5 ชั่วโมงเมื่อใช้กราฟิก Intel
ด้านใต้ ไม่มีอะไรในกอไผ่
ด้านใต้ท้อง เป็นช่องระบายอากาศ ช่องใส่แบต และช่องลำโพงจำนวน 2 ฃ่อง

สรุป

Asus N10Jc แม้จะมาพร้อมกราฟิกแยกอย่าง Nvidia GeForce 9300M GS แต่จากการใช้งานจริงพบว่า ไม่ได้แสดงศักยภาพออกมาได้แบบเต็มร้อยสักเท่าไหร่ สาเหตุใหญ่มาจาก Atom Single-Core 1.6 GHz ที่แรงไม่พอ แทนที่จะช่วยเสริมสมรรถนะให้กับ GeForce 9300M GS ตรงกันข้าม กลับไปอั้นและฉุดสมรรถนะของกราฟิกลงมา และยิ่งดูวัตถุประสงค์ของการออกแบบที่ต้องย้ำว่า นี่คือ “เน็ตบุ๊ก” ที่ออกมาเพื่อใช้งานในออฟฟิศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานกราฟิกหรือวีดีโอระดับเบสิคแล้ว ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่า GeForce 9300M GS ที่ให้เพิ่มมาไม่คุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มสักเท่าไหร่ (ราคา Asus N10Jc อยู่ที่ประมาณ 23,000 บาท ส่วน EEE PC 1000H อยู่ที่ประมาณ 18,000 บาท) และลำพัง Intel GMA 950 ก็ทำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้มาเต็มๆสำหรับ GeForce 9300M GS ก็คือ HDMI ถ้าคุณต้องใช้ HDMI สำหรับการพรีเซนต์บ่อยๆแล้ว Asus N10Jc จะคุ้มค่าสำหรับคุณมากทีเดียว

รายละเอียด
สเปก Asus N10Jc
กำลังโหลดความคิดเห็น