xs
xsm
sm
md
lg

Review : Panasonic Lumix FZ28 กล้องสามัญประจำบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Panasonic Lumix FZ28
Panasonic Lumix DMC-FZ28 เป็นทายาทรุ่นล่าสุดที่ออกมาทำตลาดแทน Lumix FZ18 ที่ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่าเป็นสุดยอดกล้อง Super-Zoom Bridge Camera อันดับ 1 ของโลก

Lumix FZ28 ยังคงความเป็น FZ18 เอาไว้ได้ทั้งหมด และได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในหลายๆจุด เป็นกล้อง “ครอบจักรวาล” มีความสามารถรอบตัว และครบสมบูรณ์แบบในตัวเอง ทำงานเร็ว การตอบสนองฉับไว โฟกัสแม่นยำ ภาพคมชัด ลายละเอียดชัดเจน สีสันสดใสและถูกต้องตามต้นฉบับ มีโหมดแมนนวลให้ปรับแต่งการทำงานได้อย่างละเอียดตามที่ต้องการ ให้คุณพ่อได้ใช้ถ่ายภาพในแบบฉบับมือโปร มีโหมด iA (Intelligent Auto) ให้คุณแม่และคุณลูกใช้บันทึกช่วงเวลาประทับใจได้อย่างรวดเร็วและง่ายเหมือนกล้องคอมแพกต์ตัวจิ๋ว โดยยังคงให้ผลงานออกมาในระดับมืออาชีพ

นับเป็นกล้อง Super-Zoom Bridge Camera ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในปัจจุบัน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเป็น "กล้องสามัญประจำบ้าน" ที่ให้สมรรถนะต่อราคาสูงสุด ไม่ต้องการออปชันเสริมใดๆ จบได้ภายใต้งบประมาณ 13,000 บาท

จุดขายเพียบ

Panasonic Lumix DMC-FZ28 เป็นกล้องดิจิตอลในกลุ่ม Super-Zoom Bridge Camera คือเหนือกว่ากล้องดิจิตอลคอมแพกต์ธรรมดาทั่วๆไป มีสมรรถนะอยู่ในระดับ DSLR กลุ่มเริ่มต้น ต่างๆกันตรงที่เปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ ... แม้จะเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ แต่ FZ28 ก็มากับเลนส์ขนาด 18x Optical Zoom ที่เทียบเท่าเลนส์ 27-486 มม. ของกล้อง 35 มม. ซึ่งครอบคลุมการถ่ายภาพตั้งแต่ Wide ไปจนถึง Tele อยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องเปลี่ยนเลนส์ก็แทบไม่มีความจำเป็น ยกเว้นช่างภาพมืออาชีพที่ต้องการถ่ายภาพในระยะพิเศษจริงๆ แต่ถึงกระนั้นก็ยังเหมาะจะพกเป็นกล้องสำรองอยู่ดี แถมยี่ห้อ Leica ที่มืออาชีพทั่วโลกให้การยอมรับก็การันตีได้ในเรื่องคุณภาพความคมชัดและความถูกต้องแม่นยำของเลนส์

นอกจากเรื่องเลนส์ที่เป็นจุดขายสำคัญแล้ว Lumix FZ28 ก็ยังมีคุณสมบัติพิเศษที่น่าสนใจอื่นๆอีก เช่น ความละเอียดที่อัปจากรุ่นก่อน (FZ18) เป็น 10 ล้านพิกเซล, จอ LCD อัปเป็นขนาด 2.7 นิ้วที่ให้ความชัดเจนในทุกสภาพแสง หรือถ้าแสงจ้ามากเกินไป ก็เปลี่ยนไปใช้ช่องมองภาพในการดูแทนได้, โปรเซสเซอร์ใหม่ Venus Engine IV ที่การันตีเรื่องการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยที่คมชัดขึ้น, รองรับการถ่ายวิดีโอแบบ HD Ready (1280 x 720p) ที่ความเร็ว 30 เฟรมต่อวินาที และใช้ซูมในขณะถ่ายได้, เทคโนโลยี MEGA O.I.S. (Optical Image Stabiliser) ที่ช่วยลดการสั่นไหวของภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ, รองรับการจัดเก็บในรูปไฟล์ RAW, ความไวแสงสูงสุด ISO 6400 ที่ความละเอียด 3 ล้านพิกเซล, สมดุลแสงสีขาวหรือ White Balance ที่สามารถปรับแต่งได้อย่างละเอียดตามอุณหภูมิสี (Kelvin) และการอัปเกรดโหมด iA (Itelligent Auto) ด้วยเทคโนโลยี Face Detection ที่ล่าสุดสามารถจับได้ถึง 15 ใบหน้าพร้อมกัน, Intelligent Exposure ช่วยลดเงาดำและไฮไลต์บนภาพที่มีคอนทราสต์สูงๆ, Scene Detection เลือก Scene Mode ที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ, Intelligent ISO เลือกค่า ISO ที่ถูกต้องอัตโนมัติและเชื่อถือได้สำหรับทุกสภาพแสง และ AF Tracking เลื่อนจุดโฟกัสตามการเคลื่อนไหวของวัตถุ

ดีไซน์เหมาะมือ ใช้งานสะดวก

สัมผัสแรกกับ Lumix FZ28 คือหน้าตาคุ้นๆ ... นอกเหนือจากนี้แล้วก็คือ เบาและเหมาะมือ บอดี้ทำจากวัสดุพลาสติกคุณภาพสูง มี 2 สีให้เลือกใช้คือสีเงินกับสีดำ กริปเป็นยางสังเคราะห์ ยกเว้นที่วางหัวแม่มือด้านขวาที่เป็นพลาสติกปลอมตัวมา ตัวกริปลึก จับได้ถนัดมือ
ด้านหน้า
ด้านหน้าเป็นที่อยู่ของเลนส์ซูมยี่ห้อ Leica ขนาด 18x Optical (27-486 มม.)/F 2.8-F4.4 การันตีได้เรื่องคุณภาพและความคมชัด ด้านหน้าเลนส์มีเกลียวให้ใส่ฟิลเตอร์ได้ด้วย (ปกติกล้องประเภทนี้จะไม่มีเกลียวสำหรับฟิลเตอร์มาให้) ขนาดของฟิลเตอร์ที่เหมาะสมคือ 46 มม. หาซื้อยากหน่อยแต่มีขายชัวร์ๆ กระบอกเลนส์เป็นชิ้นเดียวกับบอดี้ ปลายกระบอกประดับด้วยกำไรโลหะสีดำเงาตัดเส้นด้วยโครเมียมให้ความหรูหรา ด้านหน้าของกำไรปลายกระบอกเลนส์มีเกลียวสำหรับใส่ Hood Adapter มาให้ ส่วนตัว Hood Adapter และ Hood ก็มีแถมมาในกล่อง ไว้สำหรับคนที่ซีเรียสเรื่องเงาสะท้อนบนกระจกเลนส์ ไม่ต้องไปหาซื้อแยกให้เสียเวลาและเสียตังส์ ด้านขวาของกระบอกเลนส์ตรงที่มือซ้ายจับ ข้างบนจะเป็นที่อยู่ของไฟช่วยโฟกัส (AF Assist) หรือไฟสัญญาณตั้งเวลาถ่ายภาพ ต่ำลงมาเป็นช่องไมโครโฟน
ด้านบน
ด้านบนของตัวกล้องเป็นที่อยู่ของแฟลช ที่เคลมว่าไปได้ไกลถึง 8.5 เมตร (ไม่มี Hot shoe สำหรับต่อแฟลชภายนอก) ถัดมาทางขวาเป็นหน้าปัดเลือกโหมดถ่ายภาพ มีให้เลือกใช้ทั้งหมด 40 โหมด ได้แก่ iA (Intelligent Auto) เป็นโหมดที่ง่ายที่สุดและเชื่อถือได้ในผลลัพธ์ เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่ไม่มีความรู้ด้านการถ่ายภาพใดๆ, Program Mode (P) โหมดออโต้ทั้งรูรับแสง, ชัตเตอร์สปีด และ ISO โดยผู้ใช้สามารถปรับตั้งค่าอื่นๆได้อีกมากมาย, Aperture Priority (A) ผู้ใช้เป็นคนกำหนดค่ารูรับแสง (f 2.8-f 8.0) ระบบเลือกค่าอื่นๆอัตโนมัติ, Shutter Priority (S) ผู้ใช้เป็นคนกำหนดชัตเตอร์สปีด (60-1/2000 วินาที) ระบบเลือกค่าอื่นๆอัตโนมัติ, Manual Mode (M) ผู้ใช้สามารถกำหนดค่าการถ่ายภาพต่างๆได้ทั้งหมดและโดยละเอียด, Custom (C1, C2) สำหรับบันทึกค่าการทำงานของกล้องที่เราใช้งานบ่อยๆไว้ได้, Scene Mode มีทั้งหมด 32 ซีนให้เลือกใช้ บนหน้าปัด 5 ซีน และภายใต้หัวข้อ Scene อีก 27 ซีน และสุดท้าย Movie Mode ที่เลือกไซส์ถ่ายได้ตั้งแต่ 320x240 พิกเซลถึง 1280x720 พิกเซล ที่ 30 เฟรมต่อวินาที

ถัดมาทางขวาของหน้าปัดเลือกโหมดถ่ายภาพเป็นปุ่มเปิดปิดการทำงานของกล้อง ถัดขึ้นไปเป็นปุ่มเลือกการทำงานของระบบโฟกัสว่าจะให้เป็นออโต้หรือแมนนวล ถัดขึ้นไปเป็นปุ่มเปิดปิดมาโคร หรือกดค้างเพื่อเลือกพื้นที่โฟกัส ถัดขึ้นไปเป็นปุ่มชัตเตอร์ โดยวงแหวนรอบชัตเตอร์เป็นตัวควบคุมซูม Wide/Tele
ด้านหลัง
ด้านหลังของตัวกล้องเป็นที่อยู่ของจอ LCD ขนาด 2.7 นิ้วความละเอียด 230,000 พิกเซล สีสันสดใส ปรับความสว่างได้เวลาใช้กลางแจ้งหรือเวลาชูกล้องถ่ายเหนือหัว เหนือจอ LCD ขึ้นไปเป็นช่องมองภาพแบบไฟฟ้า (EVF) ความละเอียด 201,000 พิกเซล พร้อมไดออปเตอร์สำหรับคนสายตาไม่ดี ติดๆกันทางด้านขวาเป็นช่องลำโพง ถัดออกไปเป็นปุ่มเลือกใช้งานระหว่างจอ LCD กับช่องมองภาพ ถัดไปเป็นปุ่ม AF/AE Lock ซึ่งอยู่ติดกับหัวแม่มือด้านขวา ใช้งานสะดวก ถัดไปเป็นปุ่มเลือกโหมดการทำงานของกล้องระหว่างโหมดถ่ายภาพกับโหมดดูภาพที่ถ่ายไว้

ถัดลงมาจากปุ่ม AF/AE Lock เป็นจอยสติ๊กสำหรับเข้าสู่ Quick Menu และใช้งานแทนปุ่มเคอร์เซอร์ เพื่อความรวดเร็วในการปรับแต่งค่าต่างๆระหว่างการถ่ายภาพ จอยสติ๊กอันนี้เป็นอีกหนึ่งจุดขายของ Lumix FZ28 ที่ในตอนแรกอาจยังไม่ค่อยคุ้นเท่าไหร่ แต่เมื่อเคยชินแล้ว จะให้ความสะดวกในการถ่ายภาพมากทีเดียว ถัดลงมาเป็นปุ่ม Display สำหรับเลือกรายละเอียดที่แสดงบนจอ LCD และช่องมองภาพ ถัดลงมาเป็นปุ่มเคอร์เซอร์จำนวน 5 ปุ่ม บน ล่าง ซ้าย ขวา และกลาง ปุ่มบนเป็นปุ่มปรับแต่งค่าชดเชยแสง ปุ่มซ้ายสำหรับตั้งเวลาถ่ายภาพ ปุ่มขวาสำหรับเลือกโหมดการทำงานของแฟลช และปุ่มล่างเป็นปุ่มฟังก์ชัน ที่จะเลือกให้ทำงานเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่ผู้ใช้แต่ละคน โดย Default เป็น Review ภาพที่ถ่ายไป ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งปุ่มที่มีประโยชน์มากเช่นกัน ถัดลงมาเป็นปุ่มเลือกโหมดถ่ายภาพระหว่างถ่ายครั้งเดียวและถ่ายต่อเนื่อง หรือลบภาพ
ด้านใต้
ด้านล่างของตัวกล้องเป็นที่อยู่ของช่องใส่แบตเตอรี่ ที่เคลมไว้ 460 รูปต่อการชาร์จ 1 ครั้ง (ทำได้จริงประมาณ 300 รูป) ติดกันเป็นช่องเสียบเมมโมรี่การ์ด ซึ่ง FZ28 รองรับอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ SD สูงสุด 2 GB, SDHC สูงสุด 32 GB และ MMC ที่เก็บได้เฉพาะภาพนิ่ง กรณีที่ไม่เสียบเมมโมรี่การ์ด FZ28 จะเปลี่ยนระบบไปบันทึกไฟล์ลงเมมโมรี่ภายในโดยอัตโนมัติ ซึ่งมีขนาด 50MB เก็บภาพความละเอียด 10 ล้านพิกเซลได้ประมาณ 10 รูป ฝาปิดช่องใส่แบตฯและเมมโมรี่การ์ดมีความแข็งแรงทนทานดีมาก
ด้านซ้ายและขวา
ด้านซ้ายของตัวกล้องเป็นที่ช่องเสียบสายดาต้าลิงก์และสาย AV สำหรับต่อกับชุดเครื่องเสียง และช่องเสียบอะแดปเตอร์ไฟ DC ส่วนทางด้านขวาของตัวเครื่องเป็นช่องเสียบสายสำหรับต่อกับ TV

คุณภาพระดับโปรฯ

จากการทดลองภ่ายภาพอยู่ 2 สัปดาห์ ภายใต้สภาพแสงต่างๆ เล่นกับทุกฟังก์ชันที่มีมาให้ทั้งหมด พบว่าผลงานที่ออกมามีคุณภาพอยู่ในระดับดีเยี่ยม เช่นเดียวกับรุ่นพี่อย่าง FZ18 ทั้งเรื่องความถูกต้องของสี, การเก็บรายละเอียด, ความคมชัด, ความเพี้ยนของภาพมาโครและเทเล, การควบคุมการฟุ้งของแสง, คุณภาพที่ได้จากการถ่ายภายใต้สภาพแสงน้อย, การถ่ายโดยใช้แฟลชและไม่ใช้แฟลช, ประสิทธิภาพในการแก้ตาแดง และ Noise ที่เกิดขึ้นใน ISO ระดับต่างๆ

ตัวอย่างภาพที่ถ่ายในโหมดต่างๆ

หมายเหตุ : ทุกภาพจะมี Quality ลดลงประมาณ 30%-40% เนื่องจากเป็นรูป for web จาก Photoshop และข้อจำกัดในการอัปโหลด
ทดลองถ่าย Macro ระยะโฟกัสเริ่มต้นที่ 1 ซม.
ทดลองถ่าย Portrait
ทดลองถ่ายวิว เก็บภาพท้องฟ้าได้ชัดเจน
ตัวอย่างภาพที่มีรายละเอียดของภาพสูงๆ
ทดลองถ่ายภาพที่มีดีเทลเยอะๆ ก็ทำได้ดี
Crop 100% ของภาพข้างบน
รายละเอียดชัดเจน สีสันสดใส
ตัวอย่างภาพที่มีคอนทราสต์สูงๆ แสงเงาเยอะๆ
ภาพที่คอนทราสต์สูงๆก็ทำได้แจ่ม
ตัวอย่างภาพที่ระดับ ISO ต่างๆ

(บนซ้าย) ISO 100 (บนขวา) ISO 200 (กลางซ้าย) ISO 400 (กลางขวา) ISO 800 และ (ล่างทั้งสองภาพ) ISO 1600 จากภาพแสดงให้เห็นว่า Noise จะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ ISO 400 เป็นต้นไป และมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นในช่วง ISO 100-400 เราสามารถใช้งานได้อย่างไม่ต้องกังวลใดๆ แต่ถ้า ISO 800 ขึ้นไปแล้ว อาจต้องแก้ทางกันบ้าง เช่น ลดความละเอียดของภาพลงมาก็พอช่วยได้เหมือนกัน
Noise เริ่มมาตอน ISO 400 ซีเรียสตั้งแต่ ISO 800 ขึ้น
หากยังไม่พอใจกับค่าต่างๆที่มีมาให้จากโรงงาน ก็สามารถปรับเองได้ ทั้ง Contrast, Sharpness, Saturation และ Noise Reduction ภายใต้หัวข้อ Pict. Adj.
ซูม 1X, 9X และ 18X
ตัวอย่างภาพซูมที่ 1X, 9X และ 18X แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของเลนส์ภายใต้แบรนด์ Leica ที่เชื่อถือได้
คุมการฟุ้งของแสงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างภาพถ่าย ที่แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของเลนส์และเซ็นเซอร์ ที่สามารถควบคุมการฟุ้งของแสงบริเวณขอบๆได้ดี
ยิงแฟลช มี WB เพี้ยนนิดหน่อย
ตัวอย่างภาพถ่าย ตอนกลางคืน ที่ระยะ 4 เมตร (ซ้าย) ไม่เปิดแฟลช (ขวา) เปิดแฟลช ไวท์บาลานซ์มีเพี้ยนๆเหมือนกัน แต่ FZ28 ก็มีออปชั่นให้เราสามารถปรับได้อย่างละเอียดตามอุณหภูมิสี (Kelvin) ตั้งแต่ 2500K ไปจนถึง 10000K เพิ่มขึ้นที่ละ 100K พร้อมสำหรับทุกสภาพแสง แต่ต้องใช้เวลาปรับแต่งพอสมควร ส่วนเรื่อง Noise ถ้า ISO ไม่เกิน 400 หายห่วงไปได้เลย
แก้ตาแดงทำได้ยอดเยี่ยม
ตัวอย่างภาพบุคคล ตอนกลางคืน เปิดแฟลช ระยะ 2.5 เมตร ฟังก์ชัน Red Eye Reduction ให้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ

ราคา/คู่แข่ง
11,300 : Fuji Finepix S8100fd
12,700 : Panasonic Lumix DMC-FZ28
13,500 : Nikon Coolpix P80
14,200 : Sony Cyber-shot DSC-H50
16,700 : Canon Powershot SX10 IS
17,900 : Olympus SP-570 UZ
* เป็นราคาโดยประมาณบนเว็บไซต์ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2551

สรุป

จากสมรรถนะที่ได้รับ เทียบกับราคาค่าตัวแล้ว กล่าวได้อย่างเต็มปากว่า Panasonic Lumix DMC-FZ28 คือกล้องที่ให้ความคุ้มค่าสูงสุดแก่ผู้เป็นเจ้าของ ด้วยความสามารถที่รอบด้าน สมรรถนะที่อยู่ในระดับ DSLR คุณภาพของภาพที่บันทึก โหมด Manual ที่มีออปชันให้เลือกใช้งานแบบเหลือๆ ขณะที่โหมด iA ทำงานได้น่าประทับใจ ง่าย และไว้ใจได้ เป็นกล้องที่เหมาะสำหรับครอบครัวอย่างแท้จริง ตอบสนองความต้องการของทุกคนได้ ไล่ตั้งแต่หัวหน้าครอบครัว ไปจนถึงเด็กๆ และในทุกๆโอกาส อย่างไรก็ตามพึงระลึกไว้เสมอว่านี่คือกล้อง Super-Zoom Bridge Camera เป็น SLR-Like เพราะฉะนั้นถ้าจะต้องการอะไรที่เหนือขึ้นไปกว่านี้ คงต้องขยับไปเล่น DSLR แท้ๆแทน พร้อมกับค่าตัวที่เพิ่มขึ้นอีกพอสมควร รวมถึงต้องซื้อซูมเพิ่มอีก 1 ตัวด้วย

รายละเอียด Panasonic Lumix DMC-FZ28

กำลังโหลดความคิดเห็น