xs
xsm
sm
md
lg

“เอกนัฏ” มอบนโยบาย กนอ. สั่งฟันนิคม “ศูนย์เหรียญ” ตั้งเป้าเพิ่มอุตสาหกรรมดี-หนุนเกิดนิคมฯ SME

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เอกนัฏ” มอบนโยบายเข้มให้ กนอ.ชี้ชัดความจำเป็นเร่งด่วนปราบปราม “อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ” หรือ “โรงงานสีเทา” บ่อนทำลายเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม พร้อมขอให้ทุกหน่วยงานแก้ปัญหาผังเมือง และเปิดนิคมฯ SME ดึงการลงทุนเข้านิคมฯ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายแก่คณะกรรมการ กนอ.และผู้บริหารระดับสูงของ กนอ. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยประกาศเจตนารมณ์ในการทำงานที่เหมือนเป็นการทำงานวันสุดท้าย เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมย้ำว่าภาคอุตสาหกรรมคือความหวังของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนที่จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าให้เข้ามาลงทุน สร้างงาน และส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก ซึ่งเปรียบเสมือนการ “จ้างช่างซ่อมที่ชื่อ เอกนัฏ พร้อมพันธ์” มาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญความท้าทายจากการแข่งขัน โดยเฉพาะมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่กำหนดขอบเขตภาษีสูงถึง 36% ในบางสินค้า รวมถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ซับซ้อน เช่น กรณีปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ที่อาจเพิ่มต้นทุนการขนส่งจากการปรับเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น


ดังนั้น นายเอกนัฏได้สั่งการให้ กนอ. ดำเนินการเร่งด่วน คือ 1. ปราบปราม “อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ” หรือ “โรงงานเถื่อน” อย่างเข้มงวด โดยใช้ พ.ร.บ.โรงงานฯ มาตรา 39 วรรค 1 เพื่อจัดการกับโรงงานที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์แต่ไม่สร้างมูลค่า ลดคุณภาพสินค้า ปล่อยมลภาวะ และทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม 2. ป้องกันคุณภาพสินค้าและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำมาตรฐานอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะปัญหากากอุตสาหกรรม ที่ขณะนี้ พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมฯ กำลังอยู่ในระหว่างการผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมฉบับแรกของไทย

3. อุดช่องว่างทางกฎหมาย ตรวจสอบความผิดพลาดการออกใบอนุญาตและการประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงปัญหาช่องว่างการออกใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการผลิตโดยไม่แจ้งประกอบกิจการ รวมทั้งลดช่องว่างระหว่าง กนอ.กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม แม้ BOI จะสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แต่ GDP ของประเทศกลับไม่ดีขึ้น สะท้อนถึงปัญหาที่ต้องแก้ไขที่ต้นตอ คือการจัดการกับอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญและโรงงานเถื่อน


แม้ กนอ.จะเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้ทำหน้าที่แค่หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) เท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่สำคัญในการป้องกันความเสียหาย และอำนวยความสะดวกในการลงทุน เชื่อว่า “ทุกการเปลี่ยนแปลง ทุกความท้าทาย ในวิกฤตมักมีโอกาสเสมอ”

“หลักการง่าย เร็ว โปร่งใส เพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติ ผมยกตัวอย่างสิงคโปร์เป็นต้นแบบ ที่สามารถดำเนินการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีปัญหา สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะดึงดูดให้ผู้พัฒนานิคมฯ สามารถลงทุนได้เร็วขึ้น การ “เปิดดำเนินการให้เร็ว ปิดให้เร็ว” คือหัวใจสำคัญ หมายถึงเมื่อเปิดดำเนินการรวดเร็ว แต่หากพบการทำผิดกฎหมายก็ต้องสามารถปิดกิจการได้โดยเร็วเช่นกัน” นายเอกนัฏกล่าว


นอกจากนี้ ยังขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันแก้ไขปัญหาผังเมือง และให้ กนอ. สื่อสารความต้องการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงรูปแบบแรงจูงใจ (Intensive) ที่ดึงดูดโรงงานเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพื่อกำจัดโรงงานศูนย์เหรียญและคืนมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ และยังฝากให้ กนอ.คำนึงถึงประโยชน์ของ SMEs โดยการเปิดพื้นที่ในนิคมฯ ให้กับ SMEs มากขึ้น

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ และ กนอ.ต้องทำงานเป็นหนึ่งเดียว เราจะทำงานแบบเดิมไม่ได้แล้วต้องเปิดรับการเปลี่ยนแปลง

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.พร้อมรับนโยบายเต็มที่ จากนี้ไปนิคมฯ จะต้องไม่มีโรงงานศูนย์เหรียญ ไม่มีการดำเนินงานที่ผิดกฎหมาย และนิคมฯ จะต้องเป็นแหล่งรวมของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ปราศจากตราบาป

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.จะดำเนินมาตรการควบคู่ไปกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะเร่งสานต่อเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมตามนโยบายของ รมว.อุตสาหกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น