xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.เขย่าที่ดินรัชดาฯ บอร์ดอนุมัติ SRTA เช่าแปลง "กลาสเฮ้าส์" บริหารเอง ประเมินราคาใหม่มูลค่ากว่า 1 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด รฟท.อนุมัติ SRTA เช่าที่ดินแปลง "กลาสเฮ้าส์" ริมถนนรัชดาภิเษก ขนาด 4 ไร่ พัฒนา 30 ปี ประเมินมูลค่าใหม่ 1,000 ล้านบาท เผยตลอดแนวรัชดาฯ มีอีก 79 สัญญาทยอยหมดอายุและต้องประเมินราคาเช่าใหม่ พร้อมเร่งแผนโอนสัญญาทั่วประเทศ ตั้งเป้าปี 69 รายได้พัฒนาที่ดินแตะ 5,000 ล้าน
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ครั้งที่ 10/2568 วันที่ 17 ก.ค. 68 ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (อสท.) หรือ SRTA เช่าที่ดินและทรัพย์สินของการรถไฟฯ บริเวณริมถนนรัชดาภิเษก จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารกลาสเฮ้าส์ รัชดา นำไปพัฒนาต่อ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ SRTA ในฐานะบริษัทลูกของ รฟท.เป็นผู้เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก รฟท.

สำหรับอาคารกลาสเฮ้าส์ รัชดานั้นเป็นตึกออฟฟิศให้เช่า มีบริษัท กลาสเฮ้าส์ รัชดา จำกัด เป็นผู้เช่า ซึ่งหมดสัญญาไปเมื่อเดือน ก.พ. 2567 และได้รับการขยายออกมาจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2568 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2568 SRTA จะเข้าดำเนินการต่อซึ่งไม่กระทบต่อผู้เช่ารายย่อยในพื้นที่ ส่วนราคาค่าเช่าช่วงนั้นกำหนดตามราคาตลาด

ทั้งนี้ เดิม รฟท.มีรายได้จากค่าเช่าที่ดินบริเวณแปลง "อาคารกลาสเฮ้าส์ รัชดา" ประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี โดยเมื่อหมดสัญญาได้มีการประเมินราคาที่ดินและทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้างใหม่ เพื่อเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่ SRTA จะเช่ากับ รฟท. โดยเบื้องต้น SRTA ได้เสนอรายละเอียด ราคาประเมินของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ว่ามีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาเช่า 30 ปี และ SRTA มีแผนจะย้ายสำนักงานจากปัจจุบันที่เช่าพื้นที่อาคารสามย่านมิตรทาวน์ ไปอยู่ที่กลาสเฮ้าส์ รัชดา ด้วย

“หลักการที่ให้ SRTA เช่าที่ดิน รฟท.ไปดำเนินการนั้น รฟท.จะต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่าเดิม ซึ่งมูลค่าที่ดินและทรัพย์สินมีการเติบโต ดังนั้นเฉพาะแปลง "อาคารกลาสเฮ้าส์" ประเมินรายได้ที่ รฟท.จะได้ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อปีแน่นอน โดยจะเริ่มรับรายได้ตั้งแต่ลงนามสัญญาเช่ากับ SRTA วันที่ 1 ส.ค. 2568”
สำหรับที่ดิน รฟท.ย่านถนนรัชดาภิเษก จะอยู่ตลอดแนวถนนรัชดาฯ ตั้งแต่ ศูนย์การค้าเดอะสตรีท ใกล้แยกศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ไปถึงธนาคาร SCB สำนักงานใหญ่ สิ้นสุดที่จุดตัดถนนวิภาวดีรังสิต เป็นแนวยาวมีประมาณ 79 สัญญา และจะเริ่มทยอยหมดสัญญาเช่าในปี 2568-2569 โดยแปลง "อาคารกลาสเฮ้าส์" เป็นแปลงแรกที่หมดสัญญาและ SRTA เข้าทำสัญญาเช่ากับ รฟท.ไปดำเนินการต่อ

ส่วนที่ดินทั่วประเทศ รฟท.มีประมาณ 12,000 สัญญา โดยแบ่งเป็นสัญญาในสถานีรถไฟ (Core Business) ประเภทร้านค้า ร้านกาแฟ มีประมาณ 6,000 สัญญา ซึ่ง รฟท.จะดูแลเองเพื่อสะดวกในการบริหารจัดการ และพื้นที่นอกสถานี (Non-(Core Business) อีก 6,000 สัญญาจะให้ SRTA เช่าไปบริหาร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้ SRTA ทำแผนรายละเอียด นอกจากนี้ได้มีการปรับ การจัดเก็บรายได้ ระบบจ่ายค่าเช่าผ่านธนาคาร ให้เต็มประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว เป็นระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการทรัพย์สินและสัญญาของ รฟท. หรือ MIS ซึ่งเริ่มใช้ที่ตลาดศรีสมรักษ์ ในพื้นที่ของตลาดนัดจตุจักรแล้ว

นายอนันต์กล่าวว่า ปัจจุบัน รฟท.มีรายได้รวมประมาณ 9,700 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการเดินรถโดยสารและสินค้าประมาณ 6,000 ล้านบาท รายได้จากการพัฒนาที่ดินและทรัพย์สินประมาณ 3,700 ล้านบาท โดยตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากการบริหารทรัพย์สินเป็น 5,000 ล้านบาทในปี 2569 โดยในอนาคตจะมีที่ดินแปลงใหญ่หมดสัญญาและ SRTA จะเช่าจาก รฟท.ไปดำเนินการ โดยจะมีการประเมินมูลค่าที่ดินและทรัพย์สินใหม่ ทำให้ รฟท.มีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น ที่ดินสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน พื้นที่ 47.22 ไร่ มีบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์ พัฒนา จำกัด จะหมดสัญญาปี 2571 ถือเป็นที่ดินแปลงใหญ่ที่มีรายได้ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 4 ของรายได้จากที่ดินรถไฟ


กำลังโหลดความคิดเห็น