xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ มิ.ย.ดิ่งหนักต่ำสุดรอบ 8 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ มิ.ย. 68 อยู่ที่ 87.7 ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน มาจากปัญหาปิดด่านเขมร-ภาษีสหรัฐฯ กดดัน ด้าน ส.อ.ท.เสนอรัฐเร่งแก้เกมการค้า

นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2568 อยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน จาก 88.1 ในเดือนพฤษภาคม 2568 เป็นผลจากการปิดด่านชายแดนไทย-กัมพูชา และการระงับการนำเข้าน้ำมันและก๊าซฯ จากไทย ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนและผ่านแดน

ด้านสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษี Sectoral Tariff ในกลุ่มสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจาก 25% เป็น 50% กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ส่งผลกระทบทำให้ราคาพลังงานผันผวน การส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวชะลอตัว อีกทั้งการทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ ราคาสินค้าเกษตรหดตัวรุนแรง ทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคลดลง รวมถึงความขัดแย้งและความไม่แน่นอนทางการเมือง กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่วนเงินบาทแข็งค่าพร้อมสกุลเงินอื่น จากเงินทุนไหลเข้าภูมิภาค และการอ่อนค่าของดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายนยังคงมีปัจจัยบวกจากการเร่งส่งออกก่อนสิ้นสุดมาตรการชะลอการเก็บภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในเดือนกรกฎาคม 2568 ขณะเดียวกัน สัญญาณการเจรจาการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ยังมีทิศทางเชิงบวก และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการช่วงกลางปีช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ


ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ ส.อ.ท. กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,342 ราย ครอบคลุม 47 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนมิถุนายน 2568 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ การเข้าถึงสินเชื่อ 51.7% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) 39.9% ราคาพลังงาน 31.3% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 24.7% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศ 61.0% เศรษฐกิจโลก 57.7% นโยบายภาครัฐ 47.5%

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงเช่นกัน อยู่ที่ระดับ 90.8 ลดลงจาก 91.7 ในเดือนพฤษภาคม 2568 เนื่องจากความไม่แน่นอนจากปัญหาบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา รวมถึงการปิดด่านอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทย ด้านคณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในพื้นที่ กทม. และต่างจังหวัดในบางกิจการ มีผลวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 กระทบต่อต้นทุนการจ้างงานของผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการค้า

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากการอนุมัติงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.15 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.4% และโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งปี 2568 คาดว่าจะช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้คือ 1. ให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปิดด่านการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา เช่น ช่วยรับซื้อสินค้าและกระจายสินค้าไปยังตลาดอื่น จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พักชำระหนี้ชั่วคราวสำหรับ SMEs ชดเชยค่าจ้างให้แรงงานกรณีปิดกิจการชั่วคราว อุดหนุนส่วนต่างราคาวัตถุดิบหากต้องนำเข้าจากแหล่งอื่น

2. ขอให้ภาครัฐเร่งรัดการใช้จ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่า 1.15 แสนล้านบาท ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และตรวจสอบโครงการอย่างเคร่งครัดและโปร่งใส

3. ขอให้ภาครัฐเร่งเจรจาปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ (Reciprocal Tariff) ให้ลดลงสู่ระดับที่สามารถแข่งขันได้ ก่อนจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 สิงหาคม 2568 โดยระดับภาษี Reciprocal Tariff ที่ได้อย่างน้อยควรเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม 20% และอินโดนีเซีย 19% เนื่องจากประเทศเหล่านี้ต่างประเป็นประเทศคู่แข่งที่สามารถผลิตสินค้าบางกลุ่มในระดับเดียวกับไทยได้เช่น ถุงมือยางพารา ซึ่งหากประเทศไทยถูกจัดเก็บอัตราภาษีสูงกว่าจะทำให้เสียเปรียบเรื่องการค้าดังกล่าว

หากสรุปไทยถูกจัดเก็บภาษี Reciprocal Tariff ในระดับ 36% หรือมากกว่า ซึ่งเป็นกรณีที่เลวร้ายสุดมองว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขาย ผลประกอบการ และการจ้างงาน ซึ่งไทยควรหาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าใหม่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ในโลก

"กรอบภาษี Reciprocal Tariff เราคาดหวังว่าจะลดลงได้เราหวังว่าจะไม่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามหรืออินโดนีเซีย ส่วนเงื่อนไขเก็บภาษีสหรัฐฯ เป็น 0% มองว่าเราไม่สามารถทำได้ทุกสินค้า เพราะบางกลุ่มอุตสาหกรรมยังไม่พร้อม ต้องสงวนสิทธิ์การเก็บภาษีอยู่ เช่นกลุ่มปิโตรเคมี ส่วนกลุ่มที่สามารถเก็บภาษีสหรัฐฯ เป็น 0% ได้ เราได้เสนอกับทีมที่จะไปเจรจากับสหรัฐฯ แล้ว อาทิ กลุ่มยา" นายนาวากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น