ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืน กลายเป็นความท้าทายที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลกที่ต้องการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทำให้แนวโน้มการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ก็มุ่งเน้นมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากเดิม 36% ขยับเพิ่มเป็น 51% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และเพื่อให้ประเทศไทยขยับเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2065 ภาคเอกชนไทยมีบทบาทสำคัญในการศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization, and Storage - CCUS) ไฮโดรเจน รวมถึง SMR
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group มีวิสัยทัศน์ “บริษัทไทยชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยความใส่ใจที่จะธำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม” ได้กำหนดเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากปัจจุบันอยู่ที่ 22% เป็น 30% ของกำลังผลิตรวมในปี ค.ศ. 2030 และความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2040 ก่อนก้าวสู่ Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 โดยบริษัทฯ ขยายพอร์ตการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นประเทศ Investment grade รวม 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันสัดส่วนกำไรของ EGCO Group มาจากธุรกิจในต่างประเทศสูงถึง 60% เพื่อก้าวสู่ Global Company บริษัทจึงอยู่ระหว่างการทำยุทธศาสตร์ใหม่ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปลายปีนี้
เมื่อต้นเดือนมกราคม ปี 2568 EGCO Group ประสบความสำเร็จในการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งหยุนหลิน (Yunlin) ที่ไต้หวันครบทั้ง 80 ต้น ต้นละ 8 เมกะวัตต์ (MW) และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ รวมกำลังผลิต 640 เมกะวัตต์ในเดือนมิถุนายน 2568 ซึ่งถือว่าเป็นโครงการแรกของ EGCO Group ที่ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง
เร่งปิดดีลฮุบโรงไฟฟ้าลมในไต้หวัน
นางสาวจิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากความสำเร็จในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin ที่ไต้หวัน และนโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในไต้หวันเพิ่มขึ้นเป็น 15 กิกะวัตต์ในปี ค.ศ. 2035 และลดการพึ่งพานิวเคลียร์และถ่านหิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 จึงเป็นโอกาสของ EGCO Group ในการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในไต้หวันเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ไต้หวันเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้ 100% แต่มีเงื่อนไขบังคับว่าต้องใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์และชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ไม่ต่ำกว่า 50% และบริษัทขนาดใหญ่ในไต้หวันต้องมีสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามที่กำหนดด้วย หากไม่สามารถทำได้ต้องจ่ายเงินชดเชยให้รัฐบาล จึงเป็นเหตุผลทำให้ไต้หวันมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นทุกปี
นางสาวจิราพรกล่าวว่า ขณะนี้ EGCO Group อยู่ระหว่างเจรจาควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าพลังงานลมในไต้หวันที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่บริษัทอยู่ระหว่างเจรจา M&A นั้นมีขนาดกำลังการผลิตใกล้เคียงกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่ง Yunlin ที่ 640 เมกะวัตต์
เหตุผลที่ EGCO Group สนใจเลือกลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมนั้น เนื่องจากภูมิศาสตร์ไต้หวันเป็นเกาะ ล้อมรอบด้วยทะเล โดยช่องแคบไต้หวันเป็นตำแหน่งที่มีลมแรงมากติดอันดับต้นๆ ของโลกจึงสามารถผลิตไฟฟ้าจากแรงลมได้ในอัตราที่สูง ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม 2568) โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin มีอัตราการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) ประมาณ 35%
เบนเข็มรุกธุรกิจไฟฟ้าในตะวันออกกลาง
ในปี 2568 EGCO Group ตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 6,653 เมกะวัตต์ โดยบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา M&A โรงไฟฟ้าจำนวน 4-5 โครงการทั้งในสหรัฐฯ ตะวันออกกลาง และไต้หวัน คาดจะเห็นการทยอยปิดดีลในปีนี้ โดยปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 30,000 ล้านบาท และมี ROE (Return on Equity) ประมาณ 8%
นอกเหนือจากไต้หวันแล้ว EGCO Group มองการลงทุนโรงไฟฟ้าในตะวันออกกลาง ซึ่งพบว่ามีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ซึ่งการตัดสินใจลงทุนในตะวันออกกลางนั้น บริษัทได้คำนึงถึงความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำ M&A โรงไฟฟ้าประเภท Conventional คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2568
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนโรงไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกานั้น ปัจจุบัน EGCO Group ได้เข้าไปมีการลงทุนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียนรวมกว่า 1,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ที่เติบโตมากจากโครงการ Data Center ทำให้ค่าไฟในตลาดปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่า จึงเป็นจังหวะที่ดีในการขยายธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มในสหรัฐฯ โดยบริษัทให้ความสำคัญในการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ และพลังงานหมุนเวียน
ปัจจุบัน EGCO Group มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นในสหรัฐอเมริกาจำนวน 1,320 เมกะวัตต์ คิดเป็นประมาณ 20% ของกำลังผลิตทั้งหมด ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ โรงไฟฟ้า Linden Cogen และกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โรงไฟฟ้าภายใต้ APEX และกลุ่มโรงไฟฟ้า Pinnacle ll โดย EGCO Group รับรู้กำไรจากการลงทุนโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนราว 16-17% ของกำไรรวม ขณะที่สัดส่วนกำไรจากไทยอยู่ราว 40-45%
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนโครงการผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากรัฐอะแลสกา (โครงการ Alaska LNG) สหรัฐอเมริกา ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บมจ.ปตท.และ EGCO Group ถึงความเป็นไปได้ในโอกาสนำเข้า LNG การลงทุนท่อส่งก๊าซฯ และการสำรวจและผลิต LNG ในอะแลสกา ซึ่ง EGCO Group ให้ความสนใจ
โดยบริษัทได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Shipper License) ในปริมาณสูงสุด 200,380 ตันต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ในเครือ EGCO Group ทำให้บริษัทมีศักยภาพในการนำเข้า LNG มาป้อนโรงไฟฟ้าในไทย หรือส่งไปขายยังโรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ด้วย
หาพาร์ตเนอร์ลุยทำตลาดนิคมฯ
ส่วนความคืบหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก ระยอง ในพื้นที่โรงไฟฟ้าระยองเดิมที่มาบตาพุดขนาด 621 ไร่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำถนนในนิคมฯ ส่วนการหาพันธมิตรร่วมทุนที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนิคมฯ เพื่อมาร่วมทำตลาดนั้นอยู่ระหว่างการเจรจา โดย EGCO Group ยังคงนโยบายให้ลูกค้าเช่าที่ดินในนิคมฯ ระยะยาวแทนการขายที่ดินในนิคมฯ เนื่องจากราคาที่ดินในมาบตาพุดปรับสูงขึ้นทุกปี
จากการเจรจากับบริษัทพัฒนานิคมฯหลายรายมีการเสนอโมเดลการขายที่ดินให้กับลูกค้าบริษัท แต่ EGCO Group ไม่ต้องการขายที่ดินแต่จะใช้วิธีปล่อยเช่าที่ดินในนิคมฯ ระยะยาวแทน โดยพาร์ตเนอร์ต้องปรับโมเดลการทำตลาดใหม่ ซึ่งเหมือนกับสมัยที่ EGCO Group เข้าไปลงทุนใน APEX จากเดิมที่เน้นพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อขายอย่างเดียว ก็ปรับมาเป็นเลือกบางโรงไฟฟ้ามาดูแลเองบ้างและขายบางส่วนไป
นิคมอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง เน้นลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve ได้แก่ ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ครบวงจรและเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เป็นต้น
นอกจากนี้ ธุรกิจเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย บริษัทฯ มีแผนที่จะขายธุรกิจดังกล่าวในอนาคต แต่เนื่องจากราคาถ่านหินปรับลดลงมากจึงไม่เอื้อให้เกิดการซื้อขายกิจการและธุรกิจเหมืองถ่านหินยังทำกำไรให้บริษัทอย่างต่อเนื่องจึงไม่รีบร้อน ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณโอกาสในการซื้อขายเหมืองถ่านหิน จึงเป็นโอกาสที่บริษัทจะกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้ง
ทั้งนี้ EGCO Group ถือหุ้นทางอ้อม 40% ใน “เอ็มเอ็มอี” เจ้าของโครงการเหมืองถ่านหินชนิดเปิดที่เมืองเมารา อีนิม จังหวัดสุมาตราใต้ อินโดนีเชีย โดยได้รับสัมปทานจากรัฐบาลอินโดนีเซียเป็นระยะเวลา 28 ปี ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 ถึงเดือนมีนาคม 2581 เอ็มเอ็มอีมีปริมาณสำรองถ่านหิน 134 ล้านตัน
กว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า Yunlin เช่นวันนี้
มองย้อนถึงการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งหยุนหลิน (Yunlin) ที่ไต้หวันเริ่มในปี 2562 ยุคนายจักษ์กริชพิบูลย์ไพโรจน์ ดำรงตำแหน่ง CEO EGCO ได้ตัดสินใจเข้าไปถือหุ้น 26.56% ในบริษัทยุนเหนิงวินด์พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งด้วยการติดตั้งกังหันลม (Wind Turbine Generators) 80 ต้น กำลังผลิตต้นละ 8 เมกะวัตต์ (ขนาดใหญ่สุดในช่วงนั้น) รวม 640 เมกะวัตต์ ถือเป็นโครงการพลังงานลมขนาดใหญ่สุดของไต้หวัน
โครงการนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และข้อจำกัดทางเทคนิคการติดตั้งเนื่องจากการออกเรือเพื่อก่อสร้างติดตั้งเสากังหันลม (Monopile) ที่ระดับความลึกของน้ำทะเล 7-35 เมตรทำได้เพียง 5-6 เดือนต่อปีเพราะจะติดปัญหาคลื่นลมรุนแรงห้ามออกเรือ ทำให้โครงการดังกล่าวต้องเลื่อนการ COD ออกไปทำให้กลุ่มผู้ถือหุ้นโครงการ Yunlin ต้องปรับโครงสร้างทางการเงินและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากฉุดผลตอบแทนการลงทุนลดลงในท้ายสุด โครงการนี้ดำเนินการแล้วเสร็จตามที่รัฐบาลไต้หวันขีดเส้นตายไว้ในปลายปี 2567
โครงการนี้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปีกับ Taiwan Power Company ในอัตราการรับซื้อไฟที่ 7.1 ดอลลาร์ไต้หวันต่อหน่วยในช่วง 10 ปีแรก หลังจากนั้นอีก 10 ปีอัตราค่าไฟฟ้าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.5 ดอลลาร์ไต้หวันต่อหน่วย โดยโรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่ง Yunlin จะสร้างกระแสเงินสดให้ EGCO เฉลี่ย 2,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีแรก และมีส่วนสำคัญผลักดันให้ EGCO บรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573 ด้วย
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้า 2,400 ล้านหน่วยต่อปี สามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับภาคครัวเรือนไต้หวันมากกว่า 600,000 หลังคาเรือน หรือคิดเป็น 90% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนทั้งหมดของมณฑลหยุนหลิน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี
Yunlin ดำเนินการโดยบริษัทยุนเหนิงวินด์พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Skyborn Renewables ถือหุ้น 31.98% TotalEnergies ถือหุ้น 29.46% EGCO ถือหุ้น 26.56% และ Sojitz Corporation ถือหุ้น 12% ปัจจุบันบริษัท TotalEnergies รับหน้าที่หลักด้านการเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operations and Maintenance - O&M) ในขณะที่บริษัท Skyborn Renewables ดูแลด้านงานบริหารจัดการโครงการ