xs
xsm
sm
md
lg

กรมราง ศึกษาระบบขนส่งสินค้าทางราง”โปแลนด์-เยอรมัน”หวังเพิ่มประสิทธิภาพเชื่อม”ไทย-ลาว-จีน สู่ยุโรป”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมราง ขนทีมสำรวจระบบขนส่งสินค้าทางราง”โปแลนด์” ประตูสู่ยุโรปกลาง และหารือแนวทางการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ณ ย่าน Maschen Marshalling Yard “เยอรมนี”มุ่งยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพขนส่งของไทย ลาว จีน สู่ยุโรป

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พร้อมด้วย รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง และเจ้าหน้าที่ ขร. ได้เดินทางเข้าศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ณ เมือง Łódź สาธารณรัฐโปแลนด์ เพื่อนำแนวทางการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมระบบการขนส่งสินค้าทางรางของประเทศไทย

ขร. ได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานของบริษัท Rail Transport Service Broker GmbH (RTSB GmbH) ณ Spedcont Container Terminal ซึ่งเป็นผู้นำด้านการขนส่งสินค้าทางรถไฟในยุโรป โดยเน้นการทำความเข้าใจแนวทางการบริหารจัดการการขนส่งสินค้าทางรถไฟร่วมกับการขนส่งรูปแบบอื่น (Intermodal Freight Transport) และการบริหารจัดการย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard: CY) อย่างมีประสิทธิภาพ

นายพิเชฐ กล่าวว่า การขนส่งสินค้าทางรถไฟเป็นหัวใจสำคัญในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ การได้มาศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญในสาธารณรัฐโปแลนด์ครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาการขนส่งสินค้าในรูปแบบ Intermodal ที่จะช่วยอำนวยความสะดวก ให้สินค้าสามารถไปถึงปลายทางได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ปัจจุบัน บริษัท RTSB GmbH มีการขนส่งสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนไปยังทวีปยุโรป โดยมีการเปลี่ยนถ่ายสินค้า ณ เมือง Łódź สาธารณรัฐโปแลนด์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 ของเส้นทางในทวีปยุโรปทั้งหมด หรือประมาณ 80,000 TEUs ต่อเดือน ซึ่งใช้ระยะเวลาขนส่งเร็วที่สุด 15 วัน โดยการศึกษาดูงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้สำคัญ เพื่อนำไปประกอบการผลักดันการขนส่งสินค้าทางรางในประเทศไทยสู่เส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) เพื่อสร้างโอกาสในการขยายโครงข่ายทางราง เชื่อมโยงภูมิภาค มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพการขนส่งของประเทศและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ


@สำรวจย่านขนส่งสินค้าทางรถไฟ” Maschen Marshalling Yard”เยอรมัน ยืนหนึ่งทวีปยุโรป

ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ได้เดินทางไปยังเมือง Maschen รัฐ Lower Saxony สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อสำรวจและหารือการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ณ Maschen Marshalling Yard โดยมี Ms.Alona Toprak Managing Director of DB Cargo Eurasia และ Mr. Sascha Wiedenhöft Operations Manager Production of DB Cargo, Maschen ให้การต้อนรับ ซึ่ง Maschen Marshalling Yard เป็นย่านขนส่งสินค้าทางรถไฟที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ในทวีปยุโรป และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งเป็นประตูสำคัญสู่การขนส่งสินค้าในทวีปยุโรป

การสำรวจและร่วมหารือการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจถึงระบบการบริหารจัดการ การดำเนินงาน รวมถึงใช้เทคโนโลยี Hump Yard เพื่อบริหารจัดการแคร่ให้มีความรวดเร็วพร้อมสำหรับการยกขนสินค้า ที่ Maschen Marshalling Yard ซึ่งรองรับการขนส่งสินค้าจำนวนมาก สินค้าส่วนใหญ่เป็นประเภทตู้ container ที่มาจากท่าเรือ Hamburg มากถึงร้อยละ 54 โดยการขนส่งสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังทวีปยุโรป ผ่าน Maschen Marshalling Yard ใช้เวลาเร็วที่สุดเพียง 13 วัน ซึ่งเร็วกว่าการขนส่งทางเรืออย่างน้อย 2 เท่า ถือเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเร็ว นอกจากนี้ Maschen Marshalling Yard มีขีดความสามารถในการรองรับขบวนรถไฟขนส่งสินค้าได้ถึง 88 ราง และมีปริมาณตู้สินค้าจำนวนเฉลี่ย 4,000 TEUs ต่อวัน (ขนาดตู้ 40 ฟุต) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของภูมิภาค


“การมาสำรวจและร่วมหารือที่ Maschen Mrshalling Yard ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้นำองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีจากการบริหารจัดการย่านขนส่งสินค้าทางรถไฟระดับโลกมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางรางของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพมหาศาลในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับประเทศไทย และยังเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งทางรางของประเทศให้ก้าวสู่ระดับสากลและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก เล็งเห็นถึงการขนส่งทางรางเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งในด้านความรวดเร็วและต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของไทย”นายพิเชฐกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น