xs
xsm
sm
md
lg

“เอกนัฏ”ถกเร่งหามาตรการช่วยอุตฯด่วน กนอ.เสนอลดค่าน้ำ-ไฟอุ้มรง.ในนิคมฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เอกนัฏ”รมว.อุตสาหกรรมเรียกหน่วยงานต่างๆ และกนอ.เร่งหามาตรการช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสหรัฐฯรีดภาษีนำเข้าไทย36% เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมอยู่รอด ด้านกนอ.ชี้มีโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯที่เดือดร้อนราว 20% เตรียมเสนอปรับลดค่าบริการ ค่าน้ำและไฟฟ้าให้โรงงานในนิคมฯ รวมทั้งเสนอแพคเกจสิทธิประโยชน์ดึงทุนข้ามชาติ เร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน

วานนี้( 9 ก.ค.) นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์ุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เรียกประชุมหน่วยงานต่างๆในสังกัดกระทรวงฯ อาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ เพื่อหารือแนวทางช่วยเหลือภาคธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสหรัฐฯประกาศเก็บภาษี Reciprocal Tariffs สินค้านำเข้าจากไทยที่อัตรา 36%มีผลบังคับใช้ 1 ส.ค. 2568 ขณะเดียวกันเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้รวบรวมข้อมูลกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสหรัฐฯประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยที่อัตรา 36% เพื่อเยียวยาช่วยเหลือให้โรงงานอุตฯอยู่รอดได้ในระยะสั้น โดยจะเสนอลดค่าบริการ ลดค่าน้ำและไฟฟ้า รวมทั้งขอความร่วมมือกับนิคมฯร่วมต่างๆเพื่อขอให้ลดค่าใช้จ่ายต่างๆให้กับลูกค้าในนิคมฯ โดยภาครัฐจะมีมาตรการชดเชยให้ผู้ประกอบการนิคมฯต่อไป


จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯราว 870 โรงหรือคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับขึ้นภาษี Reciprocal Tariffs 36% เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลและแนวทางช่วยเหลือ เพื่อไปหารือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงการคลัง พาณิชย์ร่วมกับบีโอไอ เป็นต้นเพื่อกำหนดเป็นมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน

ขณะเดียวกัน เตรียมจะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บีโอไอ เพื่อรวบรวมสิทธิประโยชน์เสนอเป็นแพคเกจสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานการผลิตในช่วงนี้ โดยกำหนดสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ยอมรับว่าขณะนี้นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะจีน ชะลอการตัดสินใจลงทุนเพื่อรอความชัดเจนเกี่ยวกับReciprocal Tariffs

นอกจากนี้ นายเอกนัฏ รมว.อุตสาหกรรม ต้องการผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆย้ายไปตั้งอยู่ในนิคมฯ โดยให้กนอ.ไปสำรวจว่ามีผู้ประกอบรายใดที่ต้องการพัฒนานิคมฯเพิ่ม หรือมีแผนขยายนิคมฯในช่วง1-2ปีนี้และยังติดประเด็นผังเมืองรวบรวมมาเสนอรมว.อุตสาหกรรมเพื่อนำไปปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งดำเนินการปรับสีผังเมืองเพื่อให้สามารถพัฒนาเป็นนิคมฯได้ เชื่อว่าจะทำให้ราคาที่ดินปรับลดลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ยอมรับว่าขณะนี้นิคมฯมีที่ดินรอการขายรวมแล้ว 4 พันไร่ซึ่งน้อยมาก ขณะที่ผู้ประกอบการมีแลนด์แบงก์ที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนาอีกหลายหมื่นไร่ แต่อาจจะติดปัญหาผังเมือง ทำให้การพัฒนาพื้นที่ล่าช้า และมีค่าใช้จ่ายสูง เังนั้นหากแก้ไขปัญหานี้ได้เชื่อว่าราคาที่ดินจะถูกลง ทำให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก(SME)ย้ายไปตั้งในนิคมฯได้

นายสุเมธ กล่าวว่า กนอ.เตรียมปรับลดเป้าหมายการขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ในปีงบประมาณ 2568 จากเดิมที่กำหนดไว้ประมาณ 10,000ไร่ ลดลงเหลือ 8,000ไร่ ใกล้เคียงปีก่อน เนื่องจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้าที่รุนแรง และการปรับขึ้นภาษีทรัมป์ โดยไร้ปัจจัยบวกในประเทศหนุน ทำให้ยอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต.ค.2567-พ.ค.2568 อยู่ที่ 4,800ไร่


กำลังโหลดความคิดเห็น