กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ร่วมกับศูนย์ AFC หอการค้าไทย สมาคมตลาดสดไทย และ 5 ห้างค้าปลีก-ค้าส่งชั้นนำ ประกอบด้วย บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บจก.เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ บจก.เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า และ บจก.เดอะมอลล์กรุ๊ป จัดงานแถลงข่าว "ความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อน Thai Fruits Festival" เพื่อร่วมกันส่งเสริมการบริโภคและการกระจายผลไม้ไทยภายในประเทศอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยในการรับมือกับความท้าทายด้านตลาด ณ ห้อง Activity Hall สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ผลการจัดกิจกรรมภายใต้มาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2568 ในกิจกรรมกระจายผลไม้ภายใต้โครงการ Thai Fruits Festival 2025 ปริมาณรวมโดยประมาณ 10,000 ต้น ผลไม้คละชนิด เช่น มะม่วง ลำไย มังคุด เงาะ ทุเรียน จากภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นกิจกรรมหลักๆ ได้แก่ กิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ "Thai Fruits Festival 2025" ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาลต่อเนื่องจนถึงช่วงปัจจุบันที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ร่วมกับห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ได้แก่ ท็อปส์ บิ๊กชี แม็คโคร โลตัส โก-โฮลเซลล์ จำนวน 2,500 ต้น ห้างซุปเปอร์ชีป โดยการสนับสนุนชมรมทายาทห้างค้าปลีก-ค้าส่ง แห่งประเทศไทย รวมถึงกิจกรรมรณรงค์การบริโภคผลไม้ที่ร่วมกับสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทยจำนวน 3 ตลาด (ตลาดไท ตลาดศรีเมือง ตลาดสี่มุมเมือง) และสมาคมตลาดสดไทย จำนวน 12 ตลาด (ตลาดกิเลน ตลาดเยสบางพลี ตลาดมีนบุรี ตลาดรังสิต ตลาดธันยา ตลาดบางใหญ่ ตลาดคุณยิ้ม ตลาดยอดพิมาน ตลาดถนอมมิตร ตลาดใหม่สำโรง ตลาดโอโซนวัน และตลาดบวรร่มเกล้า) รวมไปถึงกิจกรรมแจกมะม่วงแฟนซีเป็นของสมนาคุณลูกค้า ร่วมกับสถานีบริการน้้ำมันเชื้อเพลิง 4 สถานี (พีที พีทีที บางจาก ซัสโก้) 1,097 สาขา ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล จำนวน 2,000 ตัน และเชื่อมโยงผลไม้จำหน่ายงานธงฟ้าในส่วนภูมิภาคผ่านรถโมบายล์พาณิชย์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ 30 จุด การซื้อผลไม้ของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ธนาคาร บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบริษัทขนาดใหญ่ ช่วยรับชื้อผ่าน Pre-Order และกิจกรรมเพื่อสังคม CSR ในการดูดซับผลผลิตเกรดรอง
โดยมีการสั่งซื้อแล้วจำนวน 500 ตัน เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายน้ำผลไม้สมูทตี้ผ่าน ตู้เต่าบิน กับ บจ.ฟอร์ท เวนดิ้ง รับซื้อมะม่วง ลำไย สับปะรด ลิ้นจี่ ลองกอง กล้วยหอมทอง ฝรั่ง และชมพู่ ปริมาณรวม 1,000 ตัน และจับมือกับ บจ.ไทยแอร์เอเชีย แปรรูปทำเป็นเมนูอาหารและเครื่องดื่ม จำหน่ายบนเครื่องบินทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและต่างประเทศ โดยรับซื้อลำไย มังคุด สับปะรดภูแล ปริมาณรวม 1,000 ตัน อีกทั้งสนับสนุน "บรรจุภัณฑ์ผลไม้ DIT" ร่วมกับไปรษณีย์ไทย ในรูปแบบกล่องไปรษณีย์ขนาด 10 กก. และตะกร้าพลาสติกขนาด 5 กก. ปริมาณรวม 3,000 ตัน
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเกษตรและอาหารมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตร และส่งออกไปยังต่างประเทศ นับว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่ด้วยสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน อาทิ มาตรการภาษีของสหรัฐฯ (US Tariff Policy) ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศ อีกทั้งปัญหาการส่งออกทุเรียนของไทยไปยังสาธาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้กำหนดให้ผู้ส่งออกต้องแนบรายงานผลการทดสอบ (Test Report) ของสาร Basic Yellow 2 โดยหอการค้าไทยได้เร่งสื่อสารทำความเข้าใจในพื้นที่เพาะปลูกหลัก พร้อมทั้งประสานกับภาครัฐและหอการค้าจังหวัดเพื่อยกระดับมาตรฐานการส่งออก พร้อมทั้งได้เข้าพบหารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันทุเรียนไทยสู่ตลาดจีนอย่างยั่งยืน เป็นต้น
ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร (Agriculture and Food Coordination and Public Relations Center : AFC) เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการสื่อสารประสานงานและแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างเป็นระบบ โดยที่ผ่านมา ศูนย์ AFC ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 11 เดือนแล้ว เพื่อร่วมบรรเทาสถานการณ์และแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ-ล้นตลาดร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 28 หน่วยงาน โดยในปี 2567 ได้ประสานงานเครือข่ายช่วยรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรกรท้องถิ่นปริมาณถึง 218,356 ตัน คิดเป็นมูลค่า 14,172 ล้านบาท
สุดท้ายนี้ จากนโยบายและความร่วมมือระหว่างศูนย์ AFC หอการค้าไทย หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ กรมการค้าภายใน สมาคมตลาดสดไทย และห้างค้าปลีก-ค้าส่งชั้นนำ 5 ราย จะตอกย้ำการขับเคลื่อนโครงการ "Thai Fruits Festival 2025" โดยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2568 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตลำไยจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เราได้เตรียมแผนรับซื้อลำไยจากเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 40,000 ตัน เชื่อเหลือเกินว่าถ้าวันนี้คนไทยหันมาบริโภคผลไม้ไทยมากขึ้น เกษตรกรไทยผลิตผลไม้ไม่แพ้ชาติใดในโลก เกษตรกรปลูกด้วยใจ คนไทยกินด้วยรัก และเปลี่ยนของว่างบนโต๊ะอาหารเป็นผลไม้ไทย โดยมุ่งหวังส่งเสริมและกระจายผลไม้ไทยคุณภาพจากแหล่งผลิตต่างๆ สู่มือผู้บริโภคทั่วประเทศ พร้อมทั้งช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาราคาตกต่ำและผลผลิตล้นตลาด ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการดูแลเกษตรกรไทยอย่างเป็นรูปธรรม