จับตา "บิ๊กโปรเจกต์" แสนล้าน หวั่นสะดุดยกแผง พิษการเมืองกระทบเสถียรภาพ “รัฐบาลแพทองธาร” ร่างกม.หนุนนโยบายเรือธง "รถไฟฟ้า 20 บาท" ยังไม่ผ่านสภา กม. SEC ประมูล "แลนด์บริดจ์" ส่อลากยาว
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2568 จากกรณีถูกร้องเรียนเรื่องคลิปเสียงการสนทนากับสมเด็จฮุนเซน ประธานวุฒิสภาและอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และพรรคภูมิใจไทยถอนตัวออกไปเป็นฝ่ายค้านทำให้ "รัฐบาลแพทองธาร" ตกอยู่ในสภาพรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ สั่นคลอนอย่างมาก มีการประเมินว่าหากสถานการณ์ถึงทางตันและต้องยุบสภา จะส่งผลทำให้โครงการตามนโยบายของรัฐบาลสะดุด รวมไปถึงกฎหมายหลายฉบับจะค้างสภาฯ
โดยเฉพาะ "ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" หนึ่งในนโยบายเรือธงที่ "พรรคเพื่อไทย" หวังเป็นนโยบายครองใจคนกรุง เพราะจะช่วยลดค่าครองชีพในการเดินทาง และทำให้เงินในกระเป๋าประชาชนเหลือไปใช้จับจ่ายในด้านอื่นได้มากขึ้น แต่…หากมีการยุบสภา ก็มีโอกาสสูงที่จะล่มไปพร้อมกับรัฐบาลได้
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในโครงการรถไฟฟ้าแล้ว 2 สาย คือ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงสายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2566 ปัจจุบันเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งจำนวนผู้โดยสารของทั้งสองสายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่มีการกำหนดมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายระยะที่ 2 ในทุกเส้นทาง ทุกสี และทุกสาย ครอบคลุมทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งหมด ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว, สีทอง, สีเหลือง, สีชมพู, สีน้ำเงิน, สายสีม่วง, สายสีแดง และสายแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) ให้เริ่มใช้ได้วันที่ 30 ก.ย. 2568 นั้น
การจะขยายรถไฟฟ้า 20 บาท ให้ใช้ได้ทุกสายนั้น นอกจากการปรับปรุงระบบหลังบ้านของแอปฯ “ทางรัฐ” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารรายได้ ซึ่งจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนภายในเดือน ส.ค. 2568 แล้ว ยังจะต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องมือในการดำเนินการด้วย ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
@ลุ้นสภาฯ โหวต พ.ร.บ. 3 ฉบับ ชี้ชะตา "รถไฟฟ้า 20 บาท" ทุกสาย
การดำเนินโครงการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในระยะที่ 2 และการขับเคลื่อนระบบตั๋วร่วมในระยะยาว จำเป็นต้องอาศัยกรอบกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว คือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินภาครัฐและการอุดหนุนบริการสาธารณะ และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
แต่ต้องมีกฎหมายอีก 3 ฉบับที่ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำและปรับปรุงแก้ไข และต้องอาศัยเสถียรภาพของรัฐบาล เสียงโหวตในสภาฯ ผลักดัน ได้แก่
1. ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. ... เพื่อกำหนดกรอบการกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางให้มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ
ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ต.ค. 2567 มีมติเห็นชอบ และที่ประชุมสภาฯ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ วาระ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 เตรียมเสนอสภาฯ พิจารณาวาระ 2, 3
2. ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ... เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมให้เป็นเอกภาพและยั่งยืน เป็นการสนับสนุนการให้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า
ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 และที่ประชุมสภาฯ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม วาระ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2568 เตรียมเสนอสภาฯ พิจารณาวาระ 2, 3
แม้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมจะเป็น “เครื่องมือ” ในการเชื่อมค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ หลายๆ สายให้คิดรวมเป็นเที่ยวเดียวได้ แต่การกำหนดค่าโดยสาร 20 บาทนั้นไม่สามารทำได้ด้วยตัวกฎหมายนี้ แม้จะมีการจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมฯ แต่ยังมีประเด็นเงินอุดหนุนกองทุนฯ ที่จำเป็นต้องใช้กฎหมายอื่นร่วมด้วย และยังมีเงื่อนไขสัญญาสัมปทานกับเอกชนอีก
3. ร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่..) พ.ศ. … เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันและสามารถส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการตามภารกิจของ รฟม.ตามนโยบายรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2568 และที่ประชุมสภาฯ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ วาระ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2568 เตรียมเสนอสภาฯ พิจารณาวาระ 2, 3
พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจะช่วยให้สามารถดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้ ตามกำหนดวันที่ 30 ก.ย. 2568 เนื่องจากจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของรายได้และอำนาจของ รฟม. โดยเปิดโอกาสให้นำเงินรายได้สะสมของ รฟม. ที่มาจากส่วนแบ่งค่าสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) โอนเข้ากองทุนตั๋วร่วมเพื่อจ่ายชดเชยให้รถไฟฟ้าสายอื่นได้ เช่น จ่ายให้ รฟท.เพื่อชดเชย รายได้สายสีแดง และแอร์พอร์ตลิงก์จ่ายให้ กทม.เพื่อชดเชยรายได้สายสีเขียว และสายสีทอง เป็นต้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องแก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ พ.ศ. 2543 เนื่องจากเดิมจะนำเงินสะสมของ รฟม.ที่มีไปใส่กองทุนตั๋วร่วมฯ เพื่อใช้อุดหนุนเรื่องค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย รวมถึงรายได้ของ รฟม.ก็จะไม่จัดส่งกระทรวงการคลังแต่จะนำใส่กองทุนตั๋วร่วมฯ แต่ทางกระทรวงการคลังบอกว่าทำไม่ได้ เพราะ รฟม.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่จัดส่งรายได้เข้ากระทรวงการคลังเพื่อนำไปเป็นงบประมาณแผ่นดิน จึงมีการแก้ไข พ.ร.บ.รฟม.
“เพื่อความยั่งยืนและไม่เป็นภาระด้านการเงินกับ รฟม.และรัฐบาลไม่ต้องชดเชยทุกปี ในอนาคตจึงมีแนวทางการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสาย และศึกษาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) เพื่อนำเงินเข้ากองทุนตั๋วร่วม เพื่อนำมาบริหารจัดการเรื่องค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทาง”
@แก้ กม.การท่าเรือฯ รับ "เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์"
อีกกฎหมายคือ ร่างพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2568 และที่ประชุมสภาฯ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การท่าเรือฯ วาระ 1 แล้วเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2568 เตรียมเสนอสภาฯพิจารณาวาระ 2, 3
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 เพื่อเปลี่ยน/เพิ่มเติมให้ กทท.ลงทุนหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด, จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งในและนอกราชอาณาจักร, เช่าหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ กทท.ตามความจำเป็น รองรับอนาคต
ประเด็นหลักคือ การนำพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) พัฒนาเชิงพาณิชย์ ในหลากหลายรูปแบบ โดย กทท.มีการศึกษาทบทวนแผนแม่บทการบริหารจัดการพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพใหม่ เพื่อให้รองรับนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นอีกนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่สมัยที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ที่สังคมจับตาว่าเป็นเป้าหมายเพื่อให้มีกาสิโนในประเทศ
@พ.ร.บ. SEC จ่อเข้า ครม.เดินหน้า "แลนด์บริดจ์"
“แลนด์บริดจ์” อภิมหาโปรเจกต์ วงเงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท เป็นอีกโครงการที่ต้องรอร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เปิดรับความคิดเห็นภาคเอกชนประกอบ และเสนอไปที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือกรมบัญชีกลางช่วยตรวจสอบประเด็นแหล่งเงินของ "กองทุนแลนด์บริดจ์" ที่จะนำมาใช้สำหรับชดเชยเป็นค่าเวนคืน หรือค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ 4 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง
“หากเสนอ ครม.ขออนุมัติได้ใน 1-2 เดือนนี้แล้วก็ยังต้องรอดูว่าจะสามารถนำ พ.ร.บ. SEC เสนอที่ประชุมสภาฯ เพื่อให้มีมติรับหลักการได้ทันการประชุมสมัยสามัญนี้หรือไม่”
ซึ่งกระทรวงคมนาคมวางเป้าหมายว่าภายในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2568 ร่าง พ.ร.บ. SEC จะแล้วเสร็จ และประกาศใช้ เดินหน้าการจัดตั้งสำนักงาน SEC และจะเปิดประมูลคัดเลือก PPP ในช่วงต้นปี 2569… แต่หากกรณี การเมืองถึงทางตัน ไม่มีรัฐบาลไม่มีสภาผู้แทนราษฎรไปก่อน ร่างพ.ร.บ. SEC ก็ต้องสะดุด และโครงการ "แลนดบริดจ์" ชะงัก โครงการนี้เริ่มมาจากรัฐบาล "ประยุทธ์" รัฐบาล "เศรษฐา-แพทองธาร" สานต่อ จะไปอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ ว่าจะเห็น "แลนด์บริดจ์" ยังเป็นจุดขายใหม่ แม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาสร้างฐานการผลิตในพื้นที่หรือไม่
@เช็กบิ๊กโปรเจกต์ 4 แสนล้าน ส่อชะงัก…หากรัฐบาลล่ม
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง ทั้งรถไฟ ทางด่วนและมอเตอร์เวย์ ที่รอเสนอ ครม.อนุมัติมูลค่ารวมกว่า 4 แสนล้านบาท ได้แก่
โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนรวมประมาณ 16,759 ล้านบาท ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เสนอเรื่องไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2568 ปัจจุบันอยู่ระหว่างส่งข้อมูลเพิ่มเติม หลังหารือกรมบัญชีกลาง ตรวจสอบระเบียบในการใช้รูปแบบ Design & Built หรือออกแบบไปพร้อมก่อสร้าง
การจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า (บทต.) โดยกำหนดให้นำชิ้นส่วนภายในประเทศและต่างประเทศมาประกอบภายในประเทศ 946 คัน วงเงิน 2,459.97 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอเรื่องไป ครม.ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 2568
โครงการที่เตรียมเสนอไป ครม. ได้แก่
1. โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก หรือโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ตอน N2) เดิม ระยะทางประมาณ 11.3 กม. มูลค่าประมาณ 16,960 ล้านบาท ของ กทพ. ปัจจุบันรอหารือ กทม.และรอความเห็นจาก สศช.
2. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน (M9) ระยะทาง 35 กิโลเมต วงเงิน 15,862 ล้านบาท ของกรมทางหลวง ปัจจุบันรอความเห็นจาก สศช.
3. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,310.84 กม. วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 297,926 ล้านบาท ปัจจุบันส่งข้อมูลเพิ่มเติมและรอความเห็นจาก สศช.
4. ขอความเห็นชอบโครงการจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ 184 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงินรวมทั้งสิ้น 24,150 ล้านบาท อยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5. ขอความเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการจัดหารถโดยสารทดแทนรถด่วนพิเศษและรถด่วน 182 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,502 ล้านบาท อยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
6. ขอความเห็นชอบให้ดำเนินโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า พร้อมอะไหล่ ขนาดน้ำหนักกดเพลา 20 ตันต่อเพลา จำนวน 113 คัน วงเงินประมาณ 23,730 ล้านบาท อยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายสุริยะกล่าวว่า ขณะนี้ครม.ถือว่ามีองค์ประกอบครบ และมีอำนาจเต็ม ไม่มีผลกระทบต่อการทำงานแต่อย่างใด รวมถึงการดำเนินโครงการต่างๆ สามารถทำได้ตามปกติ เชื่อว่าการดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายและโครงการพัฒนาและลงทุนต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมจะเป็นไปตามเป้าหมายและแผนงานที่วางไว้
ด้านนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลยังทำได้ตามปกติ โดยเฉพาะการผลักดันแก้ไขกฎหมายและร่างพ.ร.บ.ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมไม่มีปัญหา%พราะเสียงของรัฐบาลยังเกินอยู่ โดยเตรียมเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมเข้าสู่วาระการประชุม วันที่ 23 ก.ค. 2568
แม้รัฐบาลจะมั่นใจเดินหน้าทำงานต่อ และเชื่อมั่นว่ากฎหมายที่เตรียมเสนอสภาในสมัยประชุมนี้จะคุมเสียงโหวตผ่านได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่าพิษการเมืองครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบา ลและยังกดดันการเติบโตเศรษฐกิจประเทศโดยเฉพาะการขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงินจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะหยุดชะงัก!!!