"มนพร” ถก”คลัง-ธนารักษ์”หาแนวทางเพิ่มรายได้จากการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุเข้าเงินทุนหมุนเวียนให้กรมท่าอากาศยานเพิ่ม ธนารักษ์ยันแบ่งให้ได้ 10% ตาม MOU ตั้งคณะทำงาน เล็งปรับระยะเวลาเช่า 10 – 15 ปี จากเดิม 3 ปี หวังช่วยเพิ่มรายได้ทางธุรกิจ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2568 ได้มีการประชุมร่วมกับ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์ (ธร.) เพื่อหารือแนวทางการเพิ่มรายได้ให้กับเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยการนำพื้นที่ท่าอากาศยานภูมิภาคในสังกัดของทย.ไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีประสิทธิภาพ และสร้างรายได้ให้กับราชการมากที่สุด โดยที่ประชุมได้ร่วมกันหารือแนวทางการเพิ่มรายได้ที่นอกเหนือจากรายได้จากการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง ธร. กับ ทย. เรื่อง การแบ่งรายได้อันเกิดจากการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุของสนามบินอนุญาตที่ดำเนินงาน โดย ทย. เข้าบัญชีเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
นางมนพร กล่าวว่า ปัจจุบันรายได้ของ ทย. ที่ได้รับจากบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดของสนามบินอนุญาต ในส่วนของการตกลงแบ่งรายได้อันเกิดจากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ (ค่าเช่า) เข้าบัญชีเงินทุนหมุนเวียนฯ จำนวนร้อยละ 10 ของรายได้ดังกล่าว โดย กระทรวงการคลังได้เสนอแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดประโยชน์ตามลักษณะของพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอาคาร พร้อมทั้งเสนอให้กำหนดกรอบการดำเนินงาน ระยะเวลา 10 – 15 ปี ให้มีระยะยาวในลักษณะภาพรวม เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องยิ่งขึ้น
โดยมีแนวทางสอดคล้องกับกระทรวงคมนาคมที่จะนำพื้นที่ที่มีมาใช้ประโยชน์ให้เกิดรายได้ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการเช่าพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน เช่น การให้เช่าในระยะยาว การส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและจะสามารถเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น
ซึ่งหลังจากนี้ ทย. และ กรมธนารักษ์จะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดหาประโยชน์จากที่ราชพัสดุเพิ่มเติม โดยคำนึงถึงระยะเวลา ประเภทกิจกรรม และลักษณะพื้นที่ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ภายใต้แนวคิดในการเพิ่มรายได้ ลดข้อจำกัด และต้องอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด
นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า จากบันทึกข้อตกลง การแบ่งรายได้อันเกิดจากกรณีใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุในพื้นที่ของสนามบินอนุญาตที่ดำเนินงาน โดย ทย. ได้แก่ รายได้จากค่าธรรมเนียมด้านการบิน (Aero) เข้าบัญชีเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง สำหรับรายได้อันเกิดจากกรณีที่เป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ราชพัสดุ ได้แก่ รายได้ที่ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมการบิน (Non-Aero) (ค่าเช่า) นำเข้าเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน ร้อยละสิบของเงินอันเกิดจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าว
@กำหนดกรอบเช่าพื้นที่พัฒนาธุรกิจได้แค่ 3 ปี เอกชนติงไม่คุ้มค่า
ซึ่งทย. ได้นำเสนอปัญหาความไม่คล่องตัวในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุในพื้นที่สนามบิน ซึ่งธนารักษ์ กำหนดกรอบเวลาเช่า ไม่เกิน 3 ปี เป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไปสำหรับการที่จะให้เอกชนเข้ามาลงทุน เช่น การลงทุนในเรื่องที่จอดรถ ต้องลงทุนด้านการปรับปรุงพื้นที่ ทำหลังคา ต่างๆ ดังนั้นจึงเสนอขอเพิ่มกรอบระยะเวลา หรือกำหนดระยะเวลาตามกลุ่มพื้นที่ เช่น พื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสาร พื้นที่นอกอาคารผู้โดยสารหรือแบ่งตามประเภทกิจกรรม เช่น ที่จอดรถ กิจกรรมร้านอาหาร ร้านค้า เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้อย่างคุ้มทุนมากขึ้น โดยคณะกรรมการฯไปทำงานร่วมกัน พิจารณาแนวทางที่เหมาะสมและนำเสนอที่ประชุมร่วม
“ตอนนี้สัญญาเช่าพื้นที่ ทย.สามารถดำเนินได้แค่ 3 ปี หากต้องการระยะเวลามากกว่า 3 ปี ทย.จะต้องศึกษาประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) ในแต่ละงาน ซึ่งเสียเวลาและค่าใช้จ่าย และต้องใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติ ทำให้ไม่คล่องตัว เช่น บริการลานจอดรถ เอกชนต้องเข้ามาลงทุนก่อสร้างหลายอย่าง ที่ผ่านมา หากสนามบินไหนมีปริมาณหนาแน่น มีการลงทุนสูง ระยะเวลาเช่ามากกว่า 3 ปี จึงจะคุ้มค่า ทย.จะศึกษาและทำแผนเสนอ ขออนุมัติเป็นรายโครงการ”