ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนกลายเป็นเมกะเทรนด์ของโลกปัจจุบัน และจะยิ่งทวีความสำคัญต่อเนื่องไปในอนาคต ขณะที่หลายองค์กรทั่วโลกต่างเร่งเครื่องเดินหน้าเพื่อจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยวิธีการแตกต่างกันไป
อย่างไรก็ดี เป้าหมายนี้กลับมีความท้าทายสูงมากสำหรับภาคอุตสาหกรรมและภาคพลังงานซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การใช้องค์ความรู้และวิธีการต่าง ๆ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อลดการใช้พลังงงาน การเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ หรือแม้แต่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า อาจไม่เพียงพอหรือก้าวทันต่อการเปลี่ยนผ่านเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้
ด้วยเหตุนั้น การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่ชื่อว่า CCS (Carbon Capture and Storage) หรือ “การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์” จึงก้าวเข้ามามีบทบาทในฐานะทางเลือกและทางออกที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมกลุ่มดังกล่าวที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
เทคโนโลยี CCS ได้รับการยืนยันจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่นำไปใช้แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง สามารถนำไปใช้บริหารจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากได้ อีกทั้งยังเหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก
โดยเทคโนโลยี CCS ที่ได้รับการยอมรับว่าจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) มีกระบวนการทำงานที่สำคัญ 3 ขั้นตอน ได้แก่
1.การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Capture) จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้า
2.การขนส่ง (Transport) โดยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดักจับได้จะถูกปรับความดันให้เหมาะสมสำหรับการขนส่งไปยังแหล่งกักเก็บ
และ 3.การกักเก็บ (Storage) ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกกักเก็บบนฝั่ง (Onshore) หรือนอกชายฝั่ง (Offshore) ในชั้นหินทางธรณีวิทยาไว้อย่างปลอดภัย
สำหรับการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ กระบวนการแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากแหล่งกำเนิด (Point Source) ก่อนที่จะถูกปล่อยสู่บรรยากาศ หรือการดักจับโดยตรงจากชั้นบรรยากาศ (Direct Air) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิด (Point Source Carbon Capture) ที่มีทั้งการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากกระบวนการผลิตก่อนที่จะมีการเผาไหม้ (Pre-combustion capture) , การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์หลังจากที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงแล้ว (Post-combustion capture) และ การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ (Oxy-fuel combustion capture) ซึ่งเป็นกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ใช้ออกซิเจนแทนอากาศ ทำให้ไอเสียมีความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์สูง ทำให้ง่ายต่อการดักจับ แต่ต้องใช้พลังงานในการผลิตออกซิเจนเพื่อใช้ในขั้นตอนการเผาไหม้ ซึ่งมีต้นทุนค่อนข้างสูง
2. การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ (Direct Air Capture) จะมีความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ ที่น้อยกว่าร้อยละ 0.04 โดยปริมาตร (400 ppmv) ส่งผลให้มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน
ในปัจจุบัน โครงการส่วนใหญ่ที่มีการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ จะมาจากการดักจับก่อนการเผาไหม้ แต่เชื่อว่าในอนาคต การดักจับหลังการเผาไหม้ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของโครงการทั้งหมด
ในส่วนของกระบวนการกักเก็บ (Storage) เป็นการนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ไป ขนส่งเพื่อเข้าสู่กระบวนการกักเก็บใต้ดินในแหล่งธรณีวิทยาที่เหมาะสม โดยโครงการส่วนใหญ่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจะมีการกักเก็บในชั้นหินอุ้มน้ำเค็มเป็นหลัก รองลงมาเป็นการอัดฉีดคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตจากแหล่งปิโตรเลียมและแหล่งกักเก็บก๊าซธรรมชาติ และสุดท้ายคือการกักเก็บในแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่หมดแล้ว
ทั้งนี้ ท่ามกลางความคาดหวังที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero มีการคาดการณ์ว่า ทุกประเทศทั่วโลกจะมีความต้องการใช้เทคโนโลยี CCS มากกว่า 4,000 ล้านตัน CO2 ต่อปี ซึ่งโครงการ CCS ทั่วโลกปัจจุบันมีรองรับได้ประมาณ 400 ล้านตัน CO2 ต่อปีเท่านั้น
ปัจจุบันมีโครงการ CCS ที่ดำเนินการอยู่กว่า 50 แห่งทั่วโลก โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น โครงการในสหภาพยุโรปที่มีโมเดลธุรกิจแบบ Open-access Cross-Border ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น เงินทุนเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการกักเก็บ ขนส่ง และดักจับ โดยกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ต้นแบบ 2 แห่งแรก ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมากกว่า 60% ของเงินลงทุนการติดตั้งหน่วยดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ และได้รับประโยชน์จากการลดคาร์บอนไดออกไซด์ตามเงื่อนไขของ EU ETS (Emissions Trading System)
ขณะที่ประเทศไทยของเรา มีแนวทางให้ดำเนินโครงการ CCS ภายในปี 2040 เพื่อช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 40 ล้านตัน CO2 ต่อปี ภายในปี 2050 และ 60 ล้านตัน CO2 ต่อปี ภายในปี 2065 โดยโครงการ Eastern Thailand CCS Hub ซึ่งเป็นความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ในการเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ทั้งด้านเทคนิควิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งหารือร่วมกับภาครัฐเพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันเทคโนโลยีนี้ให้เกิดการใช้งานจริงในประเทศไทย
โดยระยะแรกของการดำเนินงาน จะมุ่งเน้นการพัฒนา CCS Hub Model เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ในพื้นที่ระยองและชลบุรี ได้แก่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 10 ล้านตัน CO2 ต่อปี และจะขยายขอบเขตไปยังกลุ่มโรงงานนอกกลุ่ม ปตท. ต่อไป
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. มีความเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยี CCS จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันองค์กรและประเทศไทยให้ก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ตอกย้ำพันธกิจของกลุ่ม ปตท. ในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามวิสัยทัศน์ “แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน”