“สุริยะ” เผยทางด่วน จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 "กะทู้-ป่าตอง" 1.6 หมื่นล้านบาท จ่อคิวเข้าครม. รอกรมบัญชีกลางตรวจสอบขั้นตอน Design & Built เร่งประมูลปีนี้ เสร็จปลายปี 72 ส่วนระยะ 2 “เมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้” 30.62 กม. และ PPP งานระบบ O&M ตลอดสาย ผ่านบอร์ดแล้ว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร (กม.) ว่า กระทรวงคมนาคมได้เสนอเรื่องไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2568 แต่เนื่องจากโครงการนี้ใช้รูปการดำเนินโครงการ ออกแบบไปพร้อมก่อสร้าง (Design & Built) ซึ่งทางเลขาฯ ครม.ให้ชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบดังกล่าวว่าได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วหรือไม่ ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ชี้แจงไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งเรื่องให้กรมบัญชีกลางในฐานะผู้ดูแลกฎระเบียบตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง
ทั้งนี้ ตนจะประสานกับกระทรวงการคลัง เพื่อเร่งรัดเสนอ ครม.ขออนุมัติ เพราะถือเป็นโครงการที่มีความพร้อมและมีความสำคัญและมีความจำเป็นต้องใช้วิธี Design & Built เพราะเส้นทางตัดผ่านภูเขา
รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. อยู่ระหว่างเสนอ ครม. มีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 16,759 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,793 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา 9,975 ล้านบาท, ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 279 ล้านบาท
คาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในปี 2568 และประมูลคัดเลือกผู้รับเหมา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 2568 หรือต้นปี 2569 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี แล้วเสร็จปลายปี 2572 เปิดให้บริการปี 2573
ส่วนโครงการระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ มีระยะทาง 30.62 กม. บอร์ด กทพ.ให้ความเห็นชอบแล้ว การดำเนินโครงการ การออกแบบรายละเอียด (Detail & Design) เช่นกัน โดยอยู่ในขั้นตอนเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม. คาดว่าจะก่อสร้างปี 2570-2572 (ใช้เวลา 3 ปี) เปิดให้บริการปี 2573 ใกล้เคียงกับการเปิดให้บริการระยะที่ 1
ซึ่งโครงการทั้ง 2 ระยะมีระยะทาง 34.60 กม. รัฐจะรับผิดชอบงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และ กทพ.รับผิดชอบดำเนินการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา
ส่วนการก่อสร้างงานระบบ และการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (Operation & Maintenance: O&M) ของโครงการทั้ง 2 ระยะ เช่น งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง และระบบควบคุมจราจร เป็นต้น จะให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ (PPP) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ระยะเวลา 30 ปี มีมูลค่ารวมประมาณ 24,800 ล้านบาท ซึ่งได้สรุปผลการศึกษาและบอร์ด กทพ.เห็นชอบแล้ว