xs
xsm
sm
md
lg

“เอกนัฏ”ยกระดับศก.ฐานรากเมืองสองแคว ดึงอัตลักษณ์-วัตถุดิบท้องถิ่นสร้างรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เอกนัฏ” ลงพื้นที่เมืองสองแคว ยกระดับฐานรากโดยดึงอัตลักษณ์และวัตถุดิบพื้นถิ่นต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ชุมชน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.พิษณุโลก เยี่ยมชมผลสำเร็จการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก พร้อมเดินเครื่องเพิ่มทักษะ 2 ชุมชนในพื้นที่อำเภอวัดโบสถ์และอำเภอวังทอง ดึงอัตลักษณ์และวัตถุดิบพื้นถิ่นต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ของดีเมืองสองแคว หวังสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนทั่วประเทศผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบาย พร้อมยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมไทยในทุกระดับ ผ่านการผลักดัน “ซอฟต์พาวเวอร์อาหาร” ซึ่ง เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่ ช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สอดคล้องกับแนวทางการกระจายรายได้ และสร้างความยั่งยืนให้เศรษฐกิจฐานราก

ทั้งนี้ จังหวัดพิษณุโลกถือเป็นอีกหนึ่งเมืองรองที่มีศักยภาพสูงของประเทศ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยว และธรรมชาติอันงดงามเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สะท้อนเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและต่อยอดเป็นพลังสร้างสรรค์ในระดับสากล


นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนต้องสร้างพลังแห่งสมดุลครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ทั้งความสามารถในการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เร่งเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น (Crop) อาหารพื้นถิ่น (Food) หัตถกรรมพื้นบ้าน (Craft) สมุนไพรประจำถิ่น (Herb) และวัสดุพื้นถิ่น (Material) ด้วยการประยุกต์ใช้ทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา นวัตกรรม และเทคโนโลยีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์และการรับรู้ผ่านการสร้างแบรนด์ และนำเสนอเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับแหล่งผลิต

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดีพร้อมมุ่งเน้นการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอย่างครบวงจรเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับวิสาหกิจชุมชนแต่ละพื้นที่ ผ่านกลยุทธ์ 4 ให้ ได้แก่ 1. ให้ทักษะใหม่ 2. ให้เครื่องมือทันสมัย 3. ให้โอกาสโตไกล และ 4. ให้ธุรกิจที่ดีคู่ชุมชน โดยดีพร้อมได้เข้าไปส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยการดึงอัตลักษณ์และทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่มาต่อยอด ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมถึงผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนได้มาตรฐานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ


สำหรับจังหวัดพิษณุโลกมีศักยภาพทั้งด้านการเกษตรและทรัพยากรน้ำ รวมถึงโอกาสในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ดีพร้อมมองเห็นโอกาสในการที่ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งด้วยการนำทรัพยากรและวัตถุดิบพื้นถิ่น ผนวกกับอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา และทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างรายได้และสร้างอาชีพเสริมไปสู่อาชีพหลักให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน ผ่าน “โครงการเสริมทักษะอาชีพ สู่ Soft Power ชุมชนให้ดีพร้อม” ในพื้นที่ 2 ชุมชน ได้แก่

1. ชุมชนอำเภอวัดโบสถ์ เป็นการอบรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การย้อมสีธรรมชาติจากต้นตาล พื้นฐานภูมิปัญญาพื้นถิ่น เช็คอินวิถีชุมชน” โดยมุ่งเน้นการให้ทักษะเชิงปฏิบัติในการสร้างสรรค์การย้อมสีจากวัตถุดิบพื้นถิ่นอย่างต้นตาลผสานภูมิปัญญาพื้นถิ่นให้มีความร่วมสมัย เพิ่มคุณค่า และสามารถใช้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจของชุมชนด้วยแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ ที่จะสะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดพิษณุโลกอย่างชัดเจน

2. ชุมชนอำเภอวังทอง เป็นการอบรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “อาหารพื้นบ้าน ทำง่าย ขายคล่อง Soft Power ไทย” ด้วยการให้ทักษะและองค์ความรู้และเครื่องมือที่จำเป็นในการยกระดับอาหารไทยผ่านการส่งเสริมการใช้อัตลักษณ์ ภูมิปัญญา และวัตถุดิบท้องถิ่นมาแปรรูปเป็ผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ ไข่เค็ม ปลาส้ม และน้ำพริกสมุนไพร ทำให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น