xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสในการพลิกโฉมระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ซาฟดาร์ คาน ประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาสเตอร์การ์ด

หัวเมืองใหญ่ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับปัญหาการจราจรที่ติดขัดอย่างหนัก อันเป็นผลจากการขยายตัวของเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และเนื่องด้วยเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนพากันหลั่งไหลเข้าสู่เขตตัวเมืองส่งผลโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งในตัวเมืองไม่สามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอ

ปีนี้ การจราจรก่อนวันหยุดในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า ขณะที่ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ผู้บริหารด้านคมนาคมออกมาประเมินว่าความแออัดบนถนนสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 4.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ด้านกรุงเทพมหานครแม้จะมีระบบรถไฟฟ้าที่ทันสมัย แต่ก็เริ่มพิจารณาการจัดเก็บค่าผ่านทางในเขตที่มีการจราจรหนาแน่นเพื่อลดปริมาณรถบนถนนเช่นกัน

นอกจากปัญหาการจราจรในชีวิตประจำวัน การจัดงานขนาดใหญ่ เช่น การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ หรือการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน อาจยิ่งเพิ่มความแออัดของการจราจรในเมืองต่างๆ เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนในหลายเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีข้อจำกัด ทำให้การเดินทางภายในเมืองกลายเป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ เมืองใหญ่หลายแห่ง จึงเดินหน้าขยายศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งมวลชน เมื่อปีที่แล้ว จาการ์ตาเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายใหม่ ขณะที่นครโฮจิมินห์เปิดให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และทั้งกรุงกัวลาลัมเปอร์และกรุงเทพฯ ต่างกำลังเดินหน้าขยายโครงข่ายระบบรางอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงจากการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน การเพิ่มขีดความสามารถของระบบขนส่งเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป เมืองต่างๆ จำเป็นต้องปรับปรุงระบบให้ทันสมัยเพื่อรองรับความต้องการในระยะยาว

เตรียมระบบขนส่งให้พร้อมรับอนาคต
หากมองอีกแง่หนึ่ง การที่ระบบขนส่งในเมืองใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่ หมายความว่าเมืองต่างๆ ยังมีโอกาสในการพัฒนาระบบชำระเงินแบบบูรณาการ (Integrated Payment System) มาปรับใช้ได้ ซึ่งนี่จะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถจ่ายค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิต/เดบิตแบบไร้สัมผัส (Contactless), กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปกรณ์สวมใส่ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก

ระบบดังกล่าวเป็นระบบการจ่ายค่าโดยสารแบบเปิด (Open-loop) ซึ่งแตกต่างจากระบบปิด (Closed-loop) ที่ต้องใช้บัตรโดยสารที่ออกแบบมาเฉพาะกับระบบนั้น ส่งผลให้ระบบแบบเปิดเป็นทางเลือกที่ช่วยลดความยุ่งยากในการใช้งานสำหรับผู้โดยสาร และเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวที่ไม่ต้องซื้อบัตรหรือเรียนรู้ระบบใหม่

นอกจากนี้ระบบ Open-loop ยังช่วยให้ผู้ให้บริการขนส่งสามารถมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการให้บริการเป็นหลัก โดยไร้ความกังวลจากการบริหารจัดการระบบชำระเงินที่ซับซ้อน อีกทั้งยังสามารถช่วยลดต้นทุนค่าบำรุงรักษาระบบบัตรโดยสารแบบเก่า ลดปัญหาการสูญเสียรายได้จากบัตรหมดอายุหรือสูญหาย และยังสามารถเพิ่มรายได้จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากความสะดวกในการใช้บัตรหรืออุปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันการพัฒนาระบบจ่ายเงินยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนและจัดสรรทรัพยากรในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

กำหนดมาตรฐานใหม่ของการชำระเงิน
แม้ระบบชำระเงินแบบ Open-loop จะยังไม่แพร่หลายไปทั่วโลก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในอุตสาหกรรมขนส่งสาธารณะ โดยหน่วยงานขนส่งในกรุงลอนดอนอย่าง Transport for London (TfL) เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มใช้ระบบการชำระเงินแบบไร้สัมผัส หรือ Contactless ในปี 2012 บนรถโดยสารประจำทาง และขยายความครอบคลุมไปทั่วเครือข่ายขนส่งในปี 2014 หลังจากเปิดใช้งานได้ 10 ปี พบว่า 70% ของการเดินทางด้วยรถโดยสารในลอนดอนถูกชำระแบบไร้สัมผัสผ่านบัตรหรืออุปกรณ์พกพา นอกจากนี้ทางTfL ยังเปิดเผยว่าการชำระเงินแบบไร้สัมผัสช่วยลดต้นทุนในการจัดเก็บรายได้ลงเกือบครึ่งหนึ่ง

ด้านฝั่งเอเชีย กรมขนส่งทางบกประเทศสิงคโปร์ (Singapore's Land Transport Authority: LTA) ได้เปิดตัวระบบ SimplyGo ซึ่งเป็นระบบ Open-Loop แห่งแรกของเอเชียในปี 2019 ซึ่งหลังจากดำเนินโครงการนำร่องเป็นเวลาสามปี ภายในสิ้นปีนั้น SimplyGo ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางด้วยยอดการใช้งานมากกว่า 250,000 เที่ยวต่อวัน นอกจากนี้ ความสะดวกในการแตะบัตรหรืออุปกรณ์เพื่อขึ้นรถไฟหรือรถโดยสารยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้งานระบบชำระเงินดิจิทัลในภาคค้าปลีกมากยิ่งขึ้น สนับสนุนเป้าหมายของสิงคโปร์ในการก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเป็นรูปธรรม ในทำนองเดียวกัน ประเทศไทยได้เริ่มให้บริการระบบชำระเงินแบบ Open-Loop สำหรับทางด่วนและระบบรถไฟฟ้า MRT ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นปี 2021 และปี 2022 ตามลำดับ โดยมุ่งยกระดับประสบการณ์ของผู้โดยสารประจำให้สามารถเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อและสะดวกสบายยิ่งขึ้น

การลงทุนระยะสั้น และผลตอบแทนระยะยาว
แม้จะมีข้อดีที่ชัดเจนแต่การเปลี่ยนไปใช้ระบบการชำระเงินแบบ Open-loop ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทาย การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการจัดเก็บค่าโดยสารจำเป็นต้องมีการลงทุนล่วงหน้าจำนวนมาก และหน่วยงานขนส่งสาธารณะจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณให้สมดุลกับการพัฒนาที่สำคัญอื่น ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการขยายจำนวนรถ การปรับปรุงสถานีและต้นทุนด้านการดำเนินงาน
อีกหนึ่งความท้าทายคือการผสมผสานเทคโนโลยี Open-loop เข้ากับเครือข่ายการคมนาคมเดิมที่มีอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอาศัยระบบแบบเก่าที่ไม่ได้ออกแบบให้รองรับการชำระเงินแบบดิจิทัล การปรับปรุงจึงต้องใช้ทั้งฮาร์ดแวร์ใหม่ เช่น เครื่องอ่านแบบไร้สัมผัสที่ทางเข้าสถานีรถไฟและรถโดยสาร และเครือข่ายประมวลผลแบบเรียลไทม์ที่ปลอดภัยซึ่งสามารถรองรับธุรกรรมได้หลายล้านรายการต่อวันอีกด้วย

การนำเครือข่ายใหม่มาใช้ยังทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยทั่วโลกภาคการคมนาคมตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางไซเบอร์ประมาณ 11% ของทั้งหมดในช่วงปีที่จนถึงเดือนมิถุนายน 2024 เพื่อตอบโต้กับภัยคุกคามนี้ หน่วยงานคมนาคมจะต้องนำมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงมาใช้ เช่น การเข้ารหัสแบบ End-to-end และระบบตรวจจับภัยคุกคามที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อลดช่องโหว่และรับรองความปลอดภัยในการทำธุรกรรม

การกำหนดอนาคตการขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อมองไปข้างหน้า อนาคตของระบบขนส่งในเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ใช่แค่การลดปัญหาการจราจรติดขัดเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทางของผู้คนในภูมิภาคนี้อีกด้วย ในอีก 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า เราคาดหวังว่าจะได้เห็นระบบการขนส่งที่ชาญฉลาด มีความยืดหยุ่น และสามารถปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของทั้งประชาชนและนักท่องเที่ยวได้

ลองจินตนาการถึงวันที่ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนประเภทของการเดินทางจากรถเมล์โดยสารไปขึ้นรถไฟได้อย่างราบรื่น โดยใช้วิธีการชำระเงินที่ปลอดภัยเพียงวิธีเดียว ไม่ว่าจะผ่านบัตรไร้สัมผัส กระเป๋าเงินบนมือถือ หรือแม้กระทั่งการจดจำใบหน้า

เครือข่ายระบบขนส่งในอนาคตเหล่านี้จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น การคาดการณ์ความต้องการด้วย AI และการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร เพิ่มประสิทธิภาพเส้นทาง และลดความล่าช้าให้เหลือน้อยที่สุดโดยปรับบริการแบบเรียลไทม์
ในเวลาเดียวกัน การผสานรวมการชำระเงินแบบไบโอเมตริกซ์จะช่วยให้เกิดประสบการณ์ที่ราบรื่นและไม่ต้องใช้เงินสด ซึ่งการสแกนใบหน้าหรือลายนิ้วมือเพียงครั้งเดียวจะช่วยให้เข้าถึงระบบขนส่งหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่รถไฟใต้ดิน แท็กซี่ ไปจนถึงรถยนต์ไร้คนขับ เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่เพิ่มการป้องกันที่แน่นหนามากยิ่งขึ้นแต่ยังมอบประสบการณ์การเดินทางที่ปลอดภัยและตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลของผู้ใช้งานแต่ละรายอีกด้วย
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่ความเป็นไปได้ แต่เป็นอนาคตที่อยู่ไม่ไกลนัก เนื่องจากประชากรในเขตเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบบขนส่งอัจฉริยะเหล่านี้จะช่วยให้เมืองต่าง ๆ ขยายตัวได้ไม่เพียงแค่ในด้านความจุเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเชื่อมต่อด้วย ด้วยความมุ่งมั่นของภูมิภาคในการปรับปรุงระบบขนส่งให้ทันสมัยภายในปี 2030 เราอาจได้เห็นเครือข่ายขนส่งหลายรูปแบบที่กว้างขวางซึ่งขยายออกไปถึงนอกเขตเมือง เชื่อมโยงพื้นที่ชนบทกับเขตเมือง ลดระยะเวลาในการเดินทาง และเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ

ด้วยการลงทุนเชิงกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และความมุ่งมั่นด้านนวัตกรรม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านระบบขนส่งอัจฉริยะของโลก อนาคตของการคมนาคมในภูมิภาคนี้จะถูกนิยามโดยความสามารถในการขยายตัว ไม่เพียงแต่ในด้านขนาดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านความชาญฉลาดด้วย แปรเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็นศูนย์กลางอัจฉริยะที่สามารถจัดการกับรูปแบบการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไปได้ พร้อมมอบทางเลือกในการเดินทางที่เชื่อถือได้และยั่งยืนแก่ทั้งคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

เกี่ยวกับมาสเตอร์การ์ด
มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้คนในกว่า 200 ประเทศและเขตการปกครองทั่วโลก โดยร่วมมือกับลูกค้าในการสร้างเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นซึ่งทุกคนมีโอกาสเติบโตได้อย่างเท่าเทียม เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนทางเลือกการชำระเงินดิจิทัลในหลากหลายรูปแบบ เพื่อทำให้การทำธุรกรรมนั้นปลอดภัย ง่ายดาย ชาญฉลาด และเข้าถึงได้ นอกจากนี้เรายังได้ผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าด้วยกัน ทำงานร่วมกับพันธมิตรและเครือข่ายของเราเพื่อมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีเอกลักษณ์เพื่อช่วยให้ผู้คน ธุรกิจ และภาครัฐ สามารถบรรลุศักยภาพและเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้www.mastercard.com


กำลังโหลดความคิดเห็น