บีโอไอยืนยันการส่งเสริมอุตฯ EV มีความจำเป็นในการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพื่อรักษาความเป็นผู้นำฐานการผลิตรถยนต์ของภูมิภาคอาเซียน ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างประเทศที่เข้มข้น และเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยให้ได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอยืนยันการผลักดันการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV ) มีความจำเป็นต่อการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระยะยาว รักษาความเป็นผู้นำฐานการผลิตรถยนต์ของภูมิภาคอาเซียน ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างประเทศที่เข้มข้น ซึ่งอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมจากรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) สู่รถยนต์ไฟฟ้าตามแนวโน้มโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ต่างแข่งกันดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว ดังนั้นไทยจึงต้องช่วงชิงการเป็นฐานผลิต EV ในทุกเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นไฮบริด (HEV), ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV), Range-Extended EV (REEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) โดยเป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เช่น บีโอไอ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ผ่านนโยบายและมาตรการสนับสนุนต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ผลิต EV ระดับโลกหลายรายตัดสินใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาค เช่น MG, Great Wall Motor, GAC Aion, Changan, Omoda & Jaecoo, Foton และ Hyundai
การลงทุนเหล่านี้ช่วยเพิ่มกำลังการผลิต สร้างงานให้คนไทยจำนวนมาก เสริมสร้าง Supply Chain ในประเทศ และเพิ่มมูลค่าการส่งออก อีกทั้งยังส่งเสริมไทยให้เป็นศูนย์กลางวิจัยและพัฒนาดังกรณีบริษัท Changan ที่ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์วิจัยขนาดใหญ่และสำนักงานภูมิภาคในไทย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์เดิมในประเทศให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ EV ผ่านมาตรการส่งเสริมรถยนต์ HEV, MHEV และ PHEV ส่งผลให้ผู้ผลิตรายเดิมอย่าง Mazda, Nissan, Mitsubishi และ Isuzu ได้ประกาศแผนขยายลงทุนผลิตรถยนต์ EV ในรูปแบบต่างๆ เพื่อการส่งออก
อย่างไรก็ดี การลงทุนในอุตสาหกรรม EV ถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทั้งการประกอบรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนและระบบสำคัญ และการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งผลประโยชน์จะค่อยๆ เติบโตและขยายผลในระยะยาว โดยปัจจุบันนโยบาย EV ได้เริ่มสร้างผลสัมฤทธิ์ที่จับต้องได้ในหลายมิติ ดังนี้
การจ้างงานคุณภาพ : ผู้ผลิต EV รายใหม่ที่เข้ามาลงทุนในไทย เช่น MG, GWM, BYD, GAC Aion, Changan ส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มต้นผลิตไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันได้จ้างงานรวมแล้วกว่า 9,600 คน โดย 85-95% เป็นบุคลากรไทย ครอบคลุมตั้งแต่ช่างเทคนิค วิศวกร ไปถึงระดับบริหาร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น กรณี BYD ซึ่งเป็นผู้ผลิต EV ที่จ้างงานมากที่สุดกว่า 5,900 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทยถึง 88% และวางแผนเพิ่มเป็น 8,000 คนในปี 2569 หรือคิดเป็น 95%
การพัฒนาซัปพลายเออร์ไทย : บีโอไอ กรมสรรพสามิต และกระทรวงอุตสาหกรรม มีข้อกำหนดแผนพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย รวมทั้งการใช้ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ เช่น แบตเตอรี่, Traction Motor, PCU Inverter, Reduction Gear, คอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศ, ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) และระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) โดยปัจจุบันผู้ผลิต EV มีสัดส่วน Local Content เฉลี่ยอยู่ที่40 - 60 % เช่นผู้ผลิตรายใหม่อย่าง BYD จับมือซัปพลายเออร์ไทยแล้ว 35 ราย และขึ้นทะเบียนใช้ชิ้นส่วนในประเทศแล้ว 415 รายการ
การสร้างระบบนิเวศ EV : นอกจากเงื่อนไขการใช้ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ บีโอไอยังกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ และการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม
บทบาทของบีโอไอในการเชื่อมโยงซัปพลายเชน
นายนฤตม์กล่าวว่า บีโอไอให้ความสำคัญต่อการสร้าง Supply Chain ของอุตสาหกรรม EV ภายในประเทศ จึงได้เร่งเชื่อมโยงผู้ผลิตโลกกับผู้ประกอบการไทย โดยจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเปิดทางสู่ความร่วมมือเชิงลึกกับซัพพลายเออร์ไทยมากขึ้น คาดว่าจะสร้างมูลค่าเชื่อมโยงทางธุรกิจกว่า 40,600 ล้านบาท
เลขาฯ บีโอไอเน้นย้ำว่า การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิต EV เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกราย มีเงื่อนไขชัดเจน ทั้งการใช้ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ การพัฒนาซัปพลายเออร์ไทยและระบบนิเวศ อีกทั้งมีการตรวจสอบเข้มงวด โดยในส่วนของการยกเว้นอากรนำเข้า จะให้สิทธิเฉพาะเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตตามโครงการที่ได้รับส่งเสริมเท่านั้น และไม่มีการให้สิทธิประโยชน์ในการนำเข้าวัสดุก่อสร้าง สุขภัณฑ์ และอุปกรณ์สำนักงาน โดยบีโอไอจะตรวจสอบรายการเครื่องจักรทุกรายการก่อนอนุญาตให้ใช้สิทธิ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นเครื่องจักรที่ใช้ในสายการผลิตที่ได้รับส่งเสริมเท่านั้น และเมื่อโครงการได้ลงทุนครบแล้ว จะมีการตรวจสอบสายการผลิตที่โรงงานจริง รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ และใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยืนยันความถูกต้องของการลงทุน
ข้อมูลการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2565-มี.ค. 2568) แสดงให้เห็นว่าโครงการที่บีโอไอส่งเสริมส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง โดยคาดว่าจะสร้างงานให้คนไทยมากกว่า 510,000 ตำแหน่ง ใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มมูลค่าส่งออกถึง 5.8 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งหมายถึงรายได้จำนวนมากที่จะไหลเข้าสู่ผู้ผลิตวัตถุดิบและผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลักอย่างยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์