บอร์ดอีอีซีไฟเขียวเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 2 แห่ง “นิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี 2 -สวนอุตสาหกรรม 304 ที่ฉะเชิงเทรา” คาดสร้างการลงทุนเฉียด 6หมื่นล้านบาท พร้อมเห็นชอบ ร่างประกาศ กพอ. ร่างระเบียบ กพอ. และร่างประกาศ สกพอ. เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี ครั้งที่ 2/2568 วันที่ 5 มิถุนายน 2568 โดยมี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นเลขานุการการประชุมฯ ทั้งนี้ กพอ. เห็นชอบการประกาศกำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 2 แห่ง ดังนี้ คือ
1.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี 2 โดย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอคำขอจัดตั้งฯ เนื้อที่ประมาณ 1,941 ไร่ บริเวณทางหลวงแผ่นดิน 3289 (หนองซาก - เนินโมก) อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การแพทย์และสุขภาพครบวงจร เป็นต้น คาดว่าจะเกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยนวัตกรรมขั้นสูง สร้างโอกาสการจ้างงานประมาณ 25,000 อัตรา เกิดกิจกรรมต่อเนื่องเชื่อมโยงธุรกิจไปสู่พื้นที่และชุมชน เช่น ธุรกิจหอพัก โรงแรม ร้านอาหาร การบริการขนส่งสาธารณะ
2 .เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค 2 โดย บริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค 2 จำกัด เนื้อที่ประมาณ 758 ไร่ บริเวณเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร การบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น คาดว่าจะเกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 8,900 ล้านบาท จะสามารถดึงดูดนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการกระจายรายได้สู่พื้นที่โดยรอบ คาดว่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 7,600 อัตรา ผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ เช่น ถนน ระบบน้ำ ไฟฟ้า อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น
ทั้งนี้ได้จัดทำร่างประกาศการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษที่ขอจัดตั้งเพิ่มเติมทั้ง 2 แห่งเรียบร้อยแล้ว และจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป
นายจุฬา กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบ ร่างประกาศ กพอ. ร่างระเบียบ กพอ. และร่างประกาศ สกพอ. เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี
โดยร่างประกาศ กพอ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับสิทธิประกอบวิชาชีพเวชกรรมในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับผู้ซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของต่างประเทศ พ.ศ. .... เป็นนวัตกรรมทางกฎหมายที่ออกภายใต้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ซึ่งจะขับเคลื่อนให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจากแพทย์ชั้นนำจากต่างประเทศ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ตลอดจนผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพครบวงจร โดยกำหนดคุณสมบัติของแพทย์ต่างชาติที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพเวชกรรมในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษให้ต้องมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี และเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาหรืออนุสาขาวิชาที่แพทยสภากำหนด และต้องมีผลงานอันเป็นที่ยอมรับในระดับชาติหรือนานาชาติ โดยกำหนดระยะเวลาการให้สิทธิคราวละไม่เกิน 1 ปี และให้มีการต่ออายุได้
ร่างระเบียบ กพอ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การได้มา การใช้ หรือจัดหาประโยชน์ที่ดินที่ สกพอ. ได้มาโดยวิธีการจัดซื้อ เช่า เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เวนคืน หรือโดยวิธีการอื่น ๆ พ.ศ. ... เพื่อให้ สกพอ. สามารถดำเนินการให้ได้มาซึ่งที่ดิน หรือ อสังหาริมทรัพย์อื่น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบโครงการจาก กพอ.ก่อน
ร่างประกาศ สกพอ. เรื่อง การส่งเงินบำรุงกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... มีกรอบหลักการ และแนวคิด สำหรับการประกอบกิจการอุตสาหกรรมซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้ทรัพยากร ควรต้องมีส่วนในการรับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เงินที่ส่งเข้าบำรุงกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อนำไปใช้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ชุมชน หรือเยียวยาประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนา โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ผู้พัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่อง มีหน้าที่ส่งเงินบำรุงเข้ากองทุนฯ และให้เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย