บีโอไอ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KOTRA) จัดสัมมนาใหญ่ “Thailand Business Essentials: A Comprehensive Guide for Korean Executives” ที่ชลบุรี โดยมีผู้บริหารบริษัทชั้นนำเกาหลีเข้าร่วมกว่า 130 คน หวังเรียกความเชื่อมั่นและชี้เป้าการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ท่ามกลางโลกการค้ายุคใหม่
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา บีโอไอได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KOTRA) และหอการค้าเกาหลี-ไทย (KTCC) จัดสัมมนาใหญ่ในหัวข้อ “Thailand Business Essentials:
A Comprehensive Guide for Korean Executives” ณ โรงแรมฮิลตัน พัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีบริษัทเกาหลีใช้เป็นฐานการผลิต หวังสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนเกาหลี พร้อมอัปเดตนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทย นโยบายพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจของรัฐบาล เช่น การจัดทำกลไกพลังงานสะอาด การพัฒนาบุคลากรทักษะสูง การพัฒนาระบบริการภาครัฐในรูปแบบ One Stop Service พร้อมทั้งได้ชี้เป้าและโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เกาหลีเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เซมิคอนดัคเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดิจิทัลและ AI ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น
นายพัค ยงมิน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย กล่าวว่า ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการค้าที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ทั้งการกีดกันการค้าและความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรง ความท้าทายที่เกิดขึ้นนี้ นำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาเกาหลีและไทยมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าอย่างมาก และมีศักยภาพที่จะขยายโอกาสร่วมกันได้อีก โดยเฉพาะด้านการลงทุนการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและปัญญาประดิษฐ์ โดยในอนาคตอันใกล้รัฐบาลทั้งสองประเทศจะผลักดันข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (EPA) ระหว่างไทย-เกาหลี ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ร่วมกับข้อตกลง ASEAN - Korea Free Trade Agreement (AKFTA) และ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP)
ภายในงาน บีโอไอยังได้เชิญหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญ เช่น กรมศุลกากร กรมการจัดหางาน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ร่วมบรรยายเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน สิทธิประโยชน์ด้านเครื่องจักรและวัตถุดิบ การใช้ระบบการนำเข้า-ส่งออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ การใช้สิทธิประโยชน์ด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน รวมทั้งกฎหมายแรงงานที่สำคัญ โดยมีผู้บริหารบริษัทเกาหลีที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 130 ราย จากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ในงานยังมีบริการคลินิกให้คำปรึกษาเป็นรายบริษัท โดยมีบริษัทเกาหลีแสดงความสนใจลงทุนเพิ่มเติมในการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยการใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิต รวมถึงขยายการลงทุนเพิ่มในกิจการวิจัยและพัฒนาและกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ
“ไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบนิเวศในการประกอบธุรกิจ เพื่อทำให้ประเทศเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมสำหรับการลงทุน มีความสะดวก ปลอดภัย สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก ที่ผ่านมาเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในนักลงทุนรายสำคัญ และมีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ และดิจิทัล อีกทั้งยังมีศักยภาพในการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า การแพทย์ และ AI ดังนั้น บีโอไอ KOTRA และหอการค้าเกาหลี-ไทย จึงได้ร่วมกันจัดสัมมนาในครั้งนี้เพื่ออัปเดตสถานการณ์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนเกาหลี และนำไปสู่การตัดสินใจขยายการลงทุนในอนาคต” นายนฤตม์กล่าว
ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับที่ 13 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้ารวมกันประมาณ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับด้านการลงทุน บริษัทเกาหลีมีการขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2563-2567) มีโครงการจากเกาหลียื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 141 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 63,000
ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาสแรกของปีนี้ ตัวเลขการลงทุนจากเกาหลียังคงอยู่ในทิศทางใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมามีการขอรับการส่งเสริม 7 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน และยานยนต์ โดยมีบริษัทขนาดใหญ่จากเกาหลีใต้ได้ขยายการลงทุนในไทย เช่น HYUNDAI ในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า HANON SYSTEMS ในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ SAMSUNG และ LG ในกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ HANSOL TECHNICS ในกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น