“สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล”นำร่องเปิดโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บวกแบตเตอรี่ขนาด 4-5 เมกะวัตต์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในโรงงานที่ฉะเชิงเทราช่วงปลายปี68 มั่นใจปีนี้โกยรายได้โตขึ้น20-30%แตะ 1.9หมื่นล้านบาท แม้เผชิญเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวก็ตาม
นายพงศภัค นครศรี ประธานเจ้าหน้าที่สายงานขายและการตลาด บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด หรือBCC เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทเตรียมรุกธุรกิจใหม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสายไฟฟ้าซึ่งบริษัทมี Ecosystem ทั้งธุรกิจสายไฟฟ้า และโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกในไทยรวม 100เมกะวัตต์ รวมทั้งสถานีชาร์จอีวีและแบตเตอรี่ ดังนั้นในปลายปี2568หรือต้นปีหน้า บริษัทจะเปิดโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน(แบตเตอรี่) มีกำลังการผลิตราว 4-5 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในโรงงานที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
นับเป็นโครงการนำร่องในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับแบตเตอรี่ ทำให้โรงงานมีไฟฟ้าใช้เองในช่วงเวลากลางคืน ลดการพึ่งพาการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ข่วนสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้ากลุ่มพาณิชย์และอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอให้การส่งเสริมภาคธุรกิจและโรงงานอุตสาหกรรมติดตั้งโซลาร์บวกแบตเตอรี่โดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50%
อย่างไรก็ดี บริษัทยังไม่มีแผนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่เนื่องจากความต้องการใช้ยังไม่มากเพียงพอ หลังจากบริษัทฯได้จับมือกับ HiTHIUM ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับท็อปของโลกด้านระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage Systems หรือ BESS)จากประเทศจีน เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายแบตเตอรี่ของ HiTHIUM เมื่อรวมกับความเชี่ยวชาญของ BCC ในฐานะเจ้าตลาดสายไฟของไทย ทำให้บริษัทพัฒนาโซลูชั่นด้านพลังงานไฟฟ้าอย่างครบวงจร รองรับความต้องการการใช้พลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้เข้าประมูลงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในไทย ภายใต้ 3 กลุ่มงาน ได้แก่ 1.กลุ่มโครงข่ายสาธารณูปโภค ที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน 2.กลุ่มโครงการเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ที่เน้นการขยายการติดตั้งและการจำหน่ายระบบจัดเก็บพลังงาน และ 3.กลุ่มโครงการที่อยู่อาศัยในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบวกแบตเตอรี่
นายพงศภัค กล่าวว่า ในปี 2568บริษัทได้ตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 19,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 20-30% จากปีที่ผ่านมาซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 16,600 ล้านบาท แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากนโยบายขึ้นภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐฯกับประเทศคู่ค้าเป็นรายประเทศ โดยไทยถูกกำหนดภาษีนำเข้าต่างตอบแทน 36%ซึ่งรัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับสหรัฐฯอยู่ ซึ่งการเติบทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้เกือบต่ำที่สุดสุดในอาเซียน นับเป็นความท้าทายและไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขในระยะยาว แต่บริษัทเห็นการเติบโตในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และการท่องเที่ยวจะเป็นตัวซัพพอร์ตธุรกิจสายไฟและบริการพลังงานแบบคนบวงจร
ปัจจุบัน บางกอกเคเบิ้ล มีโรงงานผลิตสายไฟทั้งสิ้น 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานที่สมุทรปราการ โรงงานที่ฉะเชิงเทรา และOperation and Innovation Center ซึ่งถือเป็นโรงงานแห่งที่ 3 ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงงานฉะเชิงเทรา รวมพื้นที่โรงงานฉะเชิงเทราทั้งหมดกว่า 251 ไร่ มีกำลังการผลิตสายไฟกว่า 60,000 ตันต่อปีใหญ่ที่สุดในไทยครอบคลุมผลิตภัณฑ์มากกว่า 80 ชนิดโดยในปี 2567 บริษัทส่งมอบสายไฟไปกว่า 50,000 ตัน หรือคิดเป็นความยาวสายไฟรวมกว่า 400,000 กิโลเมตรรวมถึงมีโซลูชั่นปรับแต่งเฉพาะตามความต้องการของลูกค้า
สำหรับโรงงานที่ฉะเชิงเทรานั้น บริษัทได้ลงทุนห้องปฏิบัติการสายไฟฟ้าแรงดันสูงพิเศษ (Extra High Voltage Lab) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทดสอบสายไฟฟ้าแรงดันสูงพิเศษ 230 kV ซึ่งเป็นสายไฟที่ใช้กับโครงสร้างพื้นฐานและเมกะโปรเจกต์ต่างๆ โดยห้องปฏิบัติการดังกล่าวสามารถจำลองการใช้งานไฟฟ้าระดับ 700 kV และกระแสสูงถึง 6,000 A ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าสายไฟที่ผลิตมีความปลอดภัยตามมาตรฐานวิศวกรรม โดยถือเป็นผู้ผลิตไทยแห่งเดียวของประเทศที่มีห้องปฎิบัติการทดสอบ อีกทั้งยังคงผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในกระบวนการทำงานภายในโรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนโรงงานของสู่ Smart Factory 4.0 โดยมีลูกค้าโครงการขนาดใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากที่ใช้สายไฟฟ้าของบริษัท อาทิ โครงการวัน แบงค็อก สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 โครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าสายสีชมพู โครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออก และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์ รวมถึงโครงการ ASEAN Power Grid โดยเฉพาะโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบางในประเทศลาว
นอกจากนี้ บริษัทยังใส่ใจเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้บุกเบิกรายแรกๆในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการก่อตั้ง บริษัท บางกอก โซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด บริษัทในเครือ เพื่อบุกเบิกและพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดของประเทศ โดยได้ดำเนินการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทย ภายในพื้นที่โรงงานฉะเชิงเทราในปี 2549 และปัจจุบันได้ขยายการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ภายในพื้นที่โรงงานจนมีปริมาณโซลาร์ที่ครอบคลุมกว่า 50% ของกำลังการผลิตของทั้ง 3 โรงงาน