ยอดผลิตรถยนต์ในเดือนเมษายน 68 อยู่ที่ 104,250 คัน ลดลง 0.40% ผลิตต่ำสุดในรอบ 44 เดือน ขณะที่ยอดขาย 47,193 คัน เพิ่มขึ้น 0.97% มาจากการขายรถอีวีที่เพิ่มขึ้นและส่วนการส่งออกรถยนต์ 65,730 คัน ลดลง 6.31% โดยเมษายนปีนี้เป็นเดือนแรกในประวัติศาสตร์ที่ส่งออกรถอีวี 660 คัน
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จำนวนผลิตรถยนต์ทั้งหมดในเดือนเมษายน 2568 มีทั้งสิ้น 104,250 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2568 ราว 19.75% และลดลงจากเดือนเมษายน 2567 ประมาณ 0.40% ผลิตต่ำสุดในรอบ 44 เดือน โดยมีการผลิตรถยนต์นั่งและรถ SUV ไฟฟ้าทั้ง BEV PHEV และ HEV ในประเทศมากขึ้นเพิ่มขึ้น 639.75% 319.11% และ 35.31% ตามลำดับ ส่วนการผลิตรถยนต์นั่งเครื่องยนต์สันดาปลดลง 33.60% เพราะผลิตรถยนต์นั่งส่งออกลดลงถึง 36.93% เนื่องจากมีการเปลี่ยนรุ่นรถยนต์บางรุ่น รถกระบะยังคงผลิตลดลง 3.06% เพราะผลิตขายในประเทศลดลง 33.16% ตามยอดขายรถกระบะในประเทศที่ยังคงลดลง 22.25%
โดยจำนวนรถยนต์รวมที่ผลิตได้ในรอบ 4 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-เมษายน 2568) มีทั้งสิ้น 456,749 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 11.96%
นายสุรพงษ์กล่าวว่า การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกเดือนเมษายน 2568 ผลิตได้ 67,085 คัน เท่ากับ 64.35% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือน เม.ย. 2567 ที่ 6.73% ส่วนเดือนมกราคม-เมษายน 2568 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 303,881 คัน เท่ากับ 66.53% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2567 ระยะเวลาเดียวกัน 12.07%
การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนเมษายน 2568 ผลิตได้ 37,165 คัน เท่ากับ 35.65% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 13.52 % และเดือนมกราคม-เมษายน 2568 ผลิตได้ 152,868 คัน เท่ากับ 33.47% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ 11.72%
สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนเมษายน2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 47,193 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2568 ที่ 15.42% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2567 ที่ 0.97% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการขายรถยนต์นั่งไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในขณะที่รถกระบะและรถ PPV ยังคงขายลดลง 21.7% และ 20.5 %ตามลำดับ จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะที่อัตราหนี้ครัวเรือนสูงและเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงลดลงจากอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลง 3.83% ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2568 รถยนต์มียอดขาย 200,386 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.80% แยกเป็น รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ มีจำนวน 127,188 คัน เท่ากับ 63.47% ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 0.38%
โดยในเดือนเมษายน 2568 ไทยเริ่มส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นเดือนแรกในประวัติศาสตร์จำนวน 660 คัน โดยรถยนต์สำเร็จรูปส่งออกได้ในเดือนเมษายน 2568 อยู่ที่ 65,730 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว 18.77% และลดลงจากเดือนเมษายน 2567 ราว 6.31% เพราะมีการเปลี่ยนรุ่นรถยนต์นั่งบางรุ่นและการเข้มงวดในเรื่องเทคโนโลยีช่วยเหลือเรื่องความปลอดภัยและการปล่อยคาร์บอนในบางประเทศคู่ค้า รถยนต์ HEV จึงส่งออกเพิ่มขึ้น 87.96% แต่จำนวนไม่มาก จึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ออสเตรเลียตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ คงต้องติดตามผลการเจรจาของประเทศไทยและประเทศคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาต่อไป
“รอความชัดเจนเรื่องการเจรจามาตรการภาษีกับสหรัฐฯ แต่คิดว่าน่าจะมีการปรับเป้าในช่วงกลางปี ซึ่งสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังอยู่ในช่วงติดตาม ว่าจะผ่านพ้นวิกฤตเมื่อไหร่ คงต้องดูต่อไปอีก 2-3 ปี โดยมีชิ้นส่วนในการผลิตในรถอีวีมากขึ้นได้หรือไม่”
นายสุรพงษ์กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐโดยการสร้างงานแทนการแจกเงินว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนของภาครัฐยังต้องมีอยู่ แต่ภาคเอกชนการลงทุนยังติดลบ จึงต้องดูตัวเลข FDI ว่าจะเข้ามาเมื่อใด จากยอดอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนบีโอไอกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ต้องรอดูการลงทุนที่แท้จริงว่าจะเท่าไหร่ ซึ่ง BOI ระบุว่าปกติการลงทุนจะใช้เวลา 3 ปีหลังได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ขณะที่ภาคการส่งออกมีความสำคัญ คิดเป็น 50% ของ GDP ดังนั้นจึงต้องดูประเทศอื่นๆว่าจะเสียภาษีสหรัฐฯ เท่าไหร่ จึงต้องรอให้ครบกำหนด 90 วัน จึงประเมินอีกครั้ง ว่าการส่งออกยังดีอยู่ไหม หากไทยต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งก็จะขาดเม็ดลงเงินทุน รายได้ก็จะน้อยลง