“สุริยะ” เผย ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (ฉบับที่..)พ.ศ. ... แก้ไขกฎหมายเดิมปี 2543 ให้นำรายได้ รฟม.ชดเชยรถไฟฟ้า 20 บาทได้ทุกสาย เร่งเสนอที่ประชุม ส.ส.และ ส.ว.ผ่านร่างกฎหมายและเร่งแก้ไข พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เพิ่มเติมเรื่องกู้เงินได้
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 พ.ค. 68 มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่..) พ.ศ. โดยมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการตามภารกิจของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามนโยบายรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ ดังกล่าว ทางกระทรวงการคลังเห็นชอบให้ รฟม.ดำเนินการตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทได้แล้ว โดยหลังจากนี้จะเสนอร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่..) พ.ศ. ไปที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณา 3 วาระ ตามขั้นตอน มั่นใจว่าจะแล้วเสร็จทันการเริ่มนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางในวันที่ 30 ก.ย. 2568 นี้
การแก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 เพื่อให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ที่ขณะนี้ผ่านสภาฯ วาระ 1 แล้ว อยู่ระหว่างการแก้ไขประเด็นของกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม จากเดิมที่มีเงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้, เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต, เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่งเมื่อมีสัญญารับประทานเงินค่าปรับ หรือเงินบริจาค โดยเพิ่มเติมให้กองทุนตั๋วร่วมสามารถกู้เงินได้ด้วย
นายสุริยะกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องแก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ พ.ศ. 2543 เนื่องจากเดิมจะนำเงินสะสมของรฟม.ที่มีไปใส่กองทุนตั๋วร่วมฯ เพื่อใช้อุดหนุนเรื่องค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย รวมถึงรายได้ของ รฟม.ก็จะไม่จัดส่งกระทรวงการคลังแต่จะนำใส่กองทุนตั๋วร่วมฯ แต่ทางกระทรวงการคลังบอกว่าทำไม่ได้เพราะ รฟม.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่จัดส่งรายได้เข้ากระทรวงการคลังเพื่อนำไปเป็นงบประมาณแผ่นดิน ส่วนกองทุนตั๋วร่วมเมื่อสามารถกู้เงินได้แล้ว กระทรวงการคลังจะจัดสรรเงินกู้ให้ แล้วยังทำให้สามารถชดเชยรถไฟฟ้าสายอื่นที่ไม่ได้อยู่ในกำกับดูแลของ รฟม.เช่น สายสีเขียว โดยผ่านกองทุนตั๋วร่วม
“เพื่อความยั่งยืนและไม่เป็นภาระด้านการเงินกับรฟม.และรัฐบาลไม่ต้องชดเชยทุกปี ในอนาคตจึงมีแนวทางการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสาย และศึกษาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) เพื่อนำเงินเข้ากองทุนฯ ดังกล่าวเพื่อนำมาบริหารจัดการเรื่องค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทาง”
@ 22 พ.ค.เรียกประชุมวางไทม์ไลน์ 20 บาททุกสาย- เร่งพัฒนาแอปฯ "ทางรัฐ"
นายสุริยะกล่าวว่า ในวันที่ 22 พ.ค. 2568 นี้ตนจะประชุมร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และนายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เพื่อหารือการทำงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายเชื่อมต่อได้ทุกเส้นทาง และการพัฒนาแอปพลิเคชันทางรัฐ เป็นศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) โดยจะกำหนดแผนงานไทม์ไลน์ให้ชัดเจน เพื่อให้เริ่มดำเนินการได้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2568
สำหรับร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่..) พ.ศ..... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 เช่น ปรับปรุงคำนิยาม "กิจการรถไฟฟ้า" วัตถุประสงค์ อำนาจกระทำกิจการของ รฟม. หลักเกณฑ์การออกข้อบังคับของหน่วยงาน หลักเกณฑ์การบริหารจัดการรายได้ และการดำเนินกิจการที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อลดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน และให้ รฟม.สามารถดำเนินการเกี่ยวกับกิจการรถไฟฟ้าได้อย่างครบถ้วนและครอบคลุมภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสามารถจัดหาผลประโยชน์ในทรัพย์สิน และดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลได้
เนื่องจาก พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ พ.ศ. 2543 เป็นกฎหมายจัดตั้ง รฟม.ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้บางมาตราไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อความคล่องตัวในการดำเนินงานของ รฟม. เป็นอปุสรรคในการพัฒนากิจการรถไฟฟ้าและการบริหารจัดการองค์กร จึงต้องแก้ไขให้ทันสมัย
ตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย กระทรวงคมนาคมเห็นควรปรับถ้อยคำในร่างมาตรา 8 ซึ่งยกเลิกความในมาตรการ 65 แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ พ.ศ. 2543 ซึ่งเกี่ยวกับการหักรายได้ของ รฟม.ก่อนนำส่งคลัง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมในบริการขนส่งสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับกิจการรถไฟฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ในคราวประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2568 ได้มีมติเห็นชอบและให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป และกระทรวงการคลังไม่ขัดข้องต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
โดยสาระสำคัญปรับถ้อยคำในร่างมาตรา
8 ที่สำคัญ ได้แก่ เพิ่มวัตถุประสงค์ของ รฟม.ให้สามารถดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟฟ้าเพื่อประโยชน์แก่ รฟม. จัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินของ รฟม. ส่งเสริมและสนับสนุนให้การให้บริการรถไฟฟ้ามีความต่อเนื่องกับผู้ใช้บริการขนส่งสาธาณะอื่นและให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสามารถใช้ตั๋วร่วมกับผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ
และแก้ไขเพิ่มเติมรายการที่สามารถหักจากรายได้ของ รฟม.ก่อนนำส่งคลัง ให้รวมถึงค่าภาระต่างๆ เงินสำรอง เงินสมทบกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น เงินลงทุน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด
และให้รวมถึงเงินเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมในบริการขนส่งสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับกิจการรถไฟฟ้า โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินและส่งเงินคืนให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของ ครม. จากเดิมที่รายได้ที่ รฟม.ได้รับจากการดำเนินการในปีหนึ่งๆ ให้ตกเป็นของ รฟม.สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเมื่อได้หักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงาน
เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา (เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ)
โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้ รฟม. 1. กู้ยืมเงินได้เกินกว่า 500 ล้านบาท (เดิม 100 ล้านบาท) 2. ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อประโยชน์แก่กิจการรถไฟฟ้า หรือเพื่อการดำเนินการอื่นใดของ รฟม. (เดิม ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อใช้ในการลงทุน)
3. จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า 500 ล้านบาท (เดิม จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์) 4. ให้เช่าหรือให้สิทธิใดๆ ในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 500 ล้านบาท (เดิม ให้เช่าหรือให้สิทธิใดๆ ในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาท 5. จัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินของ รฟม.เพื่อสนับสนุนพัฒนากิจการรถไฟฟ้า หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของ รฟม.ซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 500 ล้านบาท (เดิม พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรฟม.ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การให้บริการกิจการรถไฟฟ้า)