บอร์ดรฟท.เคาะเพิ่มค่าก่อสร้างรถไฟสายสีแดง”บางชื่อ-รังสิต,บางชื่อ-ตลิ่งชัน”ทั้ง 3 สัญญา อีก 8.7 พันล้านบาท ดันงบรวมทะลุ 1.04 แสนล้านบาท เฉพาะพิพาทค่างาน VO สัญญา 1 กว่า 7.4 พันล้านบาท เริ่มเจรจา”กิจการร่วมค้า เอส ยู”ต่อรองดอกเบี้ย เร่งชง”คมนาคม”เสนอครม.ลุ้นจบใน 60 วันตามคำสั่งศาล
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) ครั้งที่ 7 / 2568 วันที่ 15 พ.ค. 2568 ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ปรับกรอบวงเงินลงทุนและจัดหาแหล่งเงินเพิ่มเติมสำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางชื่อ-รังสิต และช่วงบางชื่อ-ตลิ่งชัน เพื่อจ่ายค่างานสัญญาที่ 1 ตามคำสั่งศาล และกรอบวงเงินค่าสัญญาที่ 2 และ 3 ที่เป็นค่างานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ้นประมาณ 8,700 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทำให้กรอบวงเงินโครงการสายสีแดงรวมเพิ่มจาก 96,868.332 ล้านบาท (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ก.พ. 2565) เป็น 104,445 ล้านบาท
โดยแยกกรอบวงเงินเพิ่มเติมรายสัญญา ดังนี้ สัญญาที่ 1 (งานโยธา สำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) มีกิจการร่วมค้า เอส ยู มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เป็นผู้รับจ้าง เป็นค่างานที่จ่ายตามคำสั่งศาลปกครอง กรณีเปลี่ยนแปลงงาน (VO) จำนวน 4,205 ล้านบาท กรณีรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เรียกร้องตามสัญญา ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ,ดอกเบี้ยผิดนัดชำระเงินประกันสัญญา ,ค่าใช้จ่ายการขยายเวลา ,เงินชดเชยค่าก่อสร้างในการปรับแบบ รวมเป็นวงเงิน 7,407 ล้านบาท (รวม VAT และดอกเบี้ยกรณีคิดอัตราแหล่งเงินกู้ภายในประเทศ)
โดยเป็นมูลค่างานตามข้อพิพาททางสัญญา ภายหลังอนุญาโตตุลาการชี้ขาดและศาลปกครองมีคำพิพากษา ค่าก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ในงานปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม (Variation order - VO) สัญญาที่ 1 โดยคดีถึงที่สุดแล้ว
สัญญาที่ 2 (งานโยธาสำหรับสถานีรถไฟบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) มีบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ ( ITD) เป็นผู้รับจ้าง จำนวน 212.125 ล้านบาท เป็นการขอค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการขยายระยะเวลาก่อสร้างของสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 โดยขอขยายวงเงินและจัดหาแหล่งเงินเพิ่มเติมส่วนที่เกินจากกรอบวงเงินที่อนุมัติ
สัญญา 3 (งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้า) มี กิจการร่วมค้า MHSC (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation เป็นผู้รับจ้าง จำนวน 847.746 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากกรณีขยายระยะเวลาก่อสร้าง
นอกจากนี้มีค่าจ้างที่ปรึกษา 2 ส่วน คือ ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างเพิ่มเติมจำนวน 129.125 ล้านบาท (ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ รวมVAT และดอกเบี้ยแหล่งเงินภายในประเทศ)
และค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการเพิ่มเติมจำนวน 106.764 ล้านบาท (รวม VAT และดอกเบี้ยแหล่งเงินภายในประเทศ)
รายงานข่าวระบุว่า มติบอร์ดรฟท.ครั้งนี้ เป็นการอนุมัติกรอบวงเงิน ซึ่งจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม ภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากจะมีขั้นตอนการพิจารณาเพื่อเสนอครม.ต่อไป ทั้งนี้กรณีที่เป็นข้อพิพาทในสัญญาที่ 1 กระทรวงคมนาคมมีคณะทำงานและทีมด้านกฎหมายร่วมกับคณะทำงานของรฟท.ที่ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯรฟท.แต่งตั้ง พิจารณา เพื่อเร่งเสนอครม.ต่อไป เนื่องจากมีกรอบระยะเวลาที่ต้องทำตามคำสั่งศาลสั่งบังคับคดีภายใน 60 วัน
โดย เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2568 คณะทำงานด้านกฎหมายและรฟท.ได้มีการเจรจากับ กิจการร่วมค้า เอส ยู เป็นครั้งแรกหลังศาลมีคำตัดสิน ในเรื่องรายการงานเพิ่มเติม จำนวน 194 รายการ ค่าดอกเบี้ย ค่าภาษี ว่าตัวเลขตรงกันหรือไม่ พร้อมกับเจรจาต่อรองขอปรับลดดอกเบี้ยด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างรอหนังสือตอบจากเอกชนอย่างเป็นทางการ
“รฟท.เป็นหน่วยงาน ดังนั้นต้องรอกระทรวงคมนาคมและครม.อนุมัติ เพื่อให้สามารถจัดหาแหล่งเงินและนำไปจ่ายค่างานให้เอกชนตามคำสั่งศาล ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะทันเวลา 60 วัน ทุกฝ่ายจะเร่งดำเนินการเนื่องจากค่าดอกเบี้ยเกิดขึ้นทุกวัน แต่หากไม่ทันก็เชื่อว่า จะมีการเจรจากับเอกชนต่อไป”
สำหรับข้อพิพาท โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สัญญาที่ 1 นั้นสิ้นสุดแล้ว หลังจากเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2568 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 79/2564 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 79/2565 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2565 ให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชำระเงินให้ กิจการร่วมค้าเอส ยู ที่มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) กรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญา โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ตามคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (VO) จำนวน 4,204,286,694.83 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 27,654,882.90 บาท และให้รฟท.ปฏิบัติตามคำชี้ขาด คณะอนุญาโตตุลาการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด (โดยศาลจะเริ่มบังคับคดีในวันที่ 11 พ.ค.2568 ครบกำหนด60 วัน ในวันที่ 9 ก.ค. 2568
@ปรับกรอบวงเงินมาแล้ว 8 ครั้ง จาก 5 .22 หมื่นล้านบาท ล่าสุดปี 65 พุ่งไปที่ 9.68 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางชื่อ-รังสิต และช่วงบางชื่อ-ตลิ่งชัน มีการปรับกรอบวงเงินมาแล้ว 8 ครั้ง เนื่องจาก มีการปรับแบบทั้งเปลี่ยนจาก 3 ทางเป็น 4 ทาง ปรับแบบสถานีกลางบางซื่อ จากเริ่มต้นโครงการที่วงเงิน 52,220 ล้านบาท จนกรอบล่าสุดมติ ครม.มีมติ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 อยู่ที่ 96,868 ล้านบาท