xs
xsm
sm
md
lg

การท่าเรือฯครบ 74 ปี ตู้สินค้าโตต่อเนื่อง เอกชนหวั่นสหรัฐขึ้นภาษี แห่ส่งออกครึ่งปี 68 ดันกำไรสุทธิ 3,500 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การท่าเรือฯ ครบรอบ 74 ปี โชว์กำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 7,648 ล้านบาท “มนพร”เร่งพัฒนาทลฉ.เฟส3 ส่งมอบพื้นที่ GPC เม.ย.-พ.ค.2569 เปิดบริการ ท่า F1 อย่างช้าต้นปี 71 เผยมาตรการภาษีสหรัฐ ทำผู้ประกอบการแห่ส่งออก ดันตู้สินค้าครึ่งปี 68 เพิ่ม กำไรสุทธิ 3,500 ล้านบาท

วันที่ 16 พ.ค. 2568 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานครบรอบ 74 ปี ในการก่อตั้งการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า ตลอด 74 ปีที่ผ่านมา กทท. ได้พัฒนาท่าเรือในกำกับดูแลทั้ง 5 แห่ง เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย สอดคล้องกับนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาค

โดยการก้าวสู่ปีที่ 75 กทท.มีงานที่ต้องเร่งรัดคือ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งก่อนหน้านี้ ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลมีความล่าช้า ซึ่งตนได้ติดตามเร่งรัดจนปัจจุบันงานทำได้ตามแผนมีความคืบหน้าประมาณเกือบ 70% โดยได้ประสานกับกิจการร่วมค้า CNNC ผู้รับจ้าง เพื่อเร่งรัดงานถมทะเล ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.-พ.ค.2569 และจะสามารถส่งมอบพื้นที่ท่าเรือชายฝั่ง F1 ให้กับบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) ผู้รับสัมปทาน พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งถือว่าเร็วขึ้น 2 เดือน จากที่สัญญากำหนดส่งมอบภายในเดือนมิ.ย. 2569 และคาดว่าทาง GPC จะก่อสร้างและเปิดให้บริการในท่าเรือ F1 ได้ประมาณปลายปี 2570 หรือต้นปี 2571

ในส่วนของท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ยืนยันไม่มีการย้ายท่าเรือ แต่จะมุ่งการพัฒนาทั้งเครื่องมือ และบุคลากร และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการ ขณะที่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และไม่มีผลกระทบกับประชาชน และชุมชน แต่จะมีการพัฒนาเมืองยกระดับคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย
นางมนพรกล่าวว่า จากกรณี นโยบายภาษีของสหรัฐ ซึ่งจะมีผลต่อการนำเข้าส่งออกของไทยด้วยนั้น ขณะนี้รัฐบาลเตรียมการเจรจกับสหรัฐอเมริกา เพื่อลดผลกระทบ ซึ่งให้กทท.ติดตามสถานการณ์ นำเข้าส่งออกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ เพราะการบริหารจัดการท่าเรือเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับประเทศและภูมิภาคเชื่อมโยงไทยกับเศรษฐกิจโลก


นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า จากมาตรการภาษีของสหรัฐ ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น และทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่ม ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรก 68 มีการเร่งส่งออกมีปริมาณตู้สินค้าเพิ่มจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก เพราะเกรงมาตรการเรื่องภาษีดังกล่าว ซึ่งกทท.ได้ติดตามสถานการณ์ เพราะหาก เรื่องภาษีเป็นปกติ อาจทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง

@เกรงสหรัฐขึ้นภาษี แห่ส่งออกครึ่งปี 68 ตู้สินค้าเพิ่ม กำไรสุทธิ 3,500 ล้านบาท

ในส่วนของผลประกอบการในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา กทท. มีรายได้สูงสุดรวม 17,224 ล้านบาท ถือเป็น New Record ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน โดยในปีงบประมาณ 2565 มีกำไรสุทธิ 6,276 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2566 มีกำไรสุทธิ 6,666 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2567 มีกำไรสุทธิ 7,648 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้ง

ด้านผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 – มีนาคม 2568) มีกำไรสุทธิ 3,500 ล้านบาท มีเรือเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง รวม 7,371 เที่ยว เพิ่มขึ้น 1.95% สินค้าผ่านท่า 61.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.10% และตู้สินค้าผ่านท่า 5.56 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 5.35%

สำหรับท่าเรือระนองมีสินค้านำเข้า – ส่งออกเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับประเทศเมียนมา ส่งผลให้ปริมาณเรือ ตู้สินค้า และสินค้าผ่านท่าเพิ่มสูงขึ้นโดยผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568) มีเรือเทียบท่าทั้งสิ้น 131 เที่ยว เพิ่มขึ้น 49% ตู้สินค้าผ่านท่า 3,170 ตู้ เพิ่มขึ้น 371% สินค้าผ่านท่า 79,810 ตัน เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในส่วนของความคืบหน้าโครงการสัตว์ส่งออกมีชีวิตของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรในพื้นที่นั้น มีผลการดำเนินการส่งออกสัตว์ (สุกร) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบฯ อยู่ที่ 1,964 ตัว ส่งผลให้มีผลประกอบการในภาพรวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


อย่างไรก็ตาม กทท. ยังมีโครงการที่ยังต้องสานต่ออีกหลายโครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีความคืบหน้า ณ เดือนพฤษภาคม 2568 ในส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลอยู่ที่ 68.30% ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค กทท. ได้ส่งมอบพื้นที่และออกหนังสืออนุญาตเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงาน ส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนที่ 4 งานจัดหาและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ขนย้ายสินค้าอยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) และว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนเอกสารประกวดราคา ซึ่งการดำเนินงานทั้ง 4 ส่วนงานต้องสอดคล้องต่อเนื่องกัน

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ได้พิจารณาตามผลการศึกษาแผนแม่บทของ สนข. โดยในจังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากมีความชัดเจนในตำแหน่งที่ตั้งและประชาชนในพื้นที่ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุนเพิ่มเติมที่เหมาะสมที่จะนำมาพัฒนาโครงการในพื้นที่ สำหรับพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและนครสวรรค์อยู่ระหว่างการวางแผนการศึกษาเพื่อขยายโครงการในอนาคต ทั้งนี้ยังมีแผนการศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่แนวเส้นทางรถไฟในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (สถานีภาชี) และจังหวัดราชบุรี (สถานีหนองปลาดุก) เป็นต้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาท่าเรือบกของ กทท. โดยเร็วต่อไป


สำหรับงานวันสถาปนา กทท. ครบรอบ 74 ปีนี้ จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “PORTrait of the future : Sailing to a Greener Tomorrow” สะท้อนภาพท่าเรือในอนาคตที่มีศักยภาพเทียบเท่าท่าเรือระดับโลก ทั้งยังสามารถอยู่คู่กับสังคมเมือง ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาองค์กรทั้งในด้านโลจิสติกส์ เมือง ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ผ่านหลัก “3 Smart” หรือ “3S” ประกอบด้วย Smart Port มุ่งยกระดับการให้บริการ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย Smart Commercial การพัฒนาพื้นที่หลังท่าเพื่อรองรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพิ่มศักยภาพด้านการลงทุน ยกระดับพื้นที่ให้เป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ใจกลางเมือง Smart Community พัฒนาที่อยู่อาศัยในแนวสูง สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี มีมาตรฐานและสร้างความสุขให้คนในชุมชนเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาท่าเรือ




กำลังโหลดความคิดเห็น