xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.เผยรายได้รอบ 6 เดือนปี 68 กว่า 3.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.98% รับกำไรสุทธิ 1.03 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทอท.เปิดผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 68 กำไรสุทธิ 5,053 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 12% เหตุรายได้เชิงพาณิชย์ลดลง 1,351 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนปี 68 มีรายได้รวม 36,235 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.98% มีกำไรสุทธิ 10,397 ล้านบาทเดินหน้าขยายสนามบินตามแผน


นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (AOT) หรือทอท. เปิดเผยว่า ผลประกอบการงวด 6 เดือน ในปีงบประมาณ 2568 ระหว่างเดือนตุลาคม 2567 -มีนาคม 2568 มีรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 18,188.15 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 2,751.25 ล้านบาท คิดเป็น 17.82 % รายได้รวม 36,235.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.98% และมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 10,397.57 ล้านบาท

โดยปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ใน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (เดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนมีนาคม 2568) มีจำนวนเที่ยวบินรวม 414,377 เที่ยวบิน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 12.90% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 237,511 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 176,866 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวม 68.42 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.76% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 42.34 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 26.08 ล้านคน การเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินและผู้โดยสาร

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2568 (เดือนมกราคม 2568- มีนาคม 2568) มีรายได้รวม 18,388.86 ล้านบาท เทียบไตรมาส 2 ปี 2567 ที่มีรายได้รวม 18,402.29 ล้านบาท (ลดลง 314.82 ล้านบาท หรือ 13.43%) โดยมีรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 9,383.73 ล้านบาท เทียบไตรมาส 2 ปี 2567 ที่มี 8,360.24 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,023.49 ล้านบาท ) มีรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 8,522.15 ล้านบาท เทียบไตรมาส 2 ปี 2567 ที่มี 9,873.89 บาท (ลดลง 1,351.74ล้านบาท )

โดยไตรมาส 2 ปี 2568 มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 5,226.39 ล้านบาท (กำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ 5,053.27 ล้านบาท และส่วนที่เป็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมของบริษัทย่อย 173.12 ล้านบาท ) ลดลง 745.84 ล้านบาท หรือลดลง 12.24% เมื่อเทียบไตรมาส 2 ปี 2567 ที่มีกำไรสุทธิ 5,972.23 ล้านบาท


นางสาวปวีณา กล่าวว่า ทอท. เดินหน้าการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และการบริการเพื่อมอบประสบการณ์การเดินทางที่สะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ โดย ทอท. ได้ดำเนินโครงการกระตุ้นตลาด ด้านการบิน (Incentive Scheme) และโครงการสนับสนุนการตลาด (Marketing Fund) เพื่อให้สายการบินประกอบกิจการได้อย่างยั่งยืน และผู้โดยสารสามารถเดินทางเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อนำมาซึ่งจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่มาใช้บริการมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ทอท. ได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท่าอากาศยานหลักของประเทศทั้ง 6 แห่ง เพื่อรองรับจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนเป็น 50 ล้านคนต่อปีภายในปี 2576 นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และ ท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมศึกษาแนวทางการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเติบโตของการดำเนินธุรกิจและความมั่นคงของอุตสาหกรรมการบินโดยรวม

รวมถึง ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีในระดับสากลมาใช้ทุกขั้นตอนของการให้บริการในสนามบิน เช่น ระบบให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบิน (Airport Collaborative Decision Making (A-CDM) เพื่อยกระดับการบริหารจัดการเที่ยวบินให้สอดคล้องกับแผนการเดินทางอากาศสากล ลดความล่าช้าในการเดินทาง โดยได้เริ่มเปิดให้บริการระบบเช็กอินอัตโนมัติระบบโหลดกระเป๋าอัตโนมัติ ระบบสแกนใบหน้าขึ้นเครื่อง (Biometric) ที่ช่วยให้ผู้โดยสารสามารถเช็กอินและขึ้นเครื่องได้โดยไม่ต้องแสดงเอกสารซ้ำซ้อน เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดระยะเวลารอคอย รวมทั้งนำระบบตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Automated Border Control: ABC) มาใช้สำหรับผู้ถือ e-passport และใช้ Thailand Digital Arrival Card (TDAC) แทน ตม.6 แบบกระดาษ เต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เพื่ออำนวยความสะดวก ลดเวลา รอคิว เพิ่มประสิทธิภาพการบริการของท่าอากาศยานไทยสู่การเดินทางแบบ “Smart Airport – Smart Immigration”

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ผ่านโครงการ AOT Property Showcase โครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐ-เอกชน (Public Private Partnership: PPP) โครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นโครงการให้บริการคลังสินค้า ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน โครงการก่อสร้างอาคาร Junction Building อาคารจอดรถ และศูนย์เชื่อมต่อการขนส่งระบบราง ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น