ปตท.กำไรไตรมาส1/2568 อยู่ที่ 23,315 ล้านบาท ลดลง 19.5% เมื่อเทียบไตรมาส 1/2567 แต่ดีขึ้น 150.4% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน ชี้ไตรมาส 2 ศก.โลกและไทยชะลอตัวลง ผุด War Room รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย
นางสาวภัทรลดา สง่าแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส1/2568 ปตท.และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 23,315 ล้านบาท ลดลง19.5%เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 28,967.50 ล้านบาท จาก EBITDA ที่ลดลงแม้ว่ากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น และขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ลดลง รวมทั้งไตรมาส 1/2568 มีการรับรู้รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ (Non-recuring Items) สุทธิภาษีตามสัดส่วนของปตท. เป็นขาดทุนประมาณ 200 ล้านบาท จากการด้อยค่าสุทธิกับการกลับรายการด้อยค่าเงินลงทุนของบริษัท อูเบะ เคมิคอลส์ (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) (UCHA) ของบมจ.ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ขณะที่ไตรมาส 1/2567 ปตท.รับรู้เป็นกำไรประมาณ 4,600 ล้านบาท จากการขายเงินลงทุนใน Avogen Malta (Out-licensing) Holding Ltd. (AMOLH)
โดยในไตรมาส 1/2568 ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจํานวน 700,223 ล้านบาท ลดลง 10.5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรายได้ที่ลดลงมาจากกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น จากราคาขายที่ลดลงตามราคานํ้ามันโลก นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีรายได้จากการขายลดลงเช่นกัน
ทั้งนี้ ปตท.มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 93,527 ล้านบาท ลดลง21.2 %จากไตรมาส 1 ปี 2567 โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ซึ่งธุรกิจการกลั่นมีผลการดำเนินงานลดลงจากกำไรขั้นต้นจากการกลั่น (Market GRM) ที่ลดลง ประกอบกับ Crude Premium ที่ปรับเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ในไตรมาส1/2568 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสต๊อกน้ำมันสุทธิกับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือประมาณ 1,500 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรประมาณ 2,600 ล้านบาท นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมี มีผลการดำเนินงานลดลงโดยหลักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของกลุ่มอะโรเมติกส์ที่ปรับตัวลดลง อีกทั้งกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานลดลงจากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลงเช่นกัน มาจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีกำไรขั้นต้นลดลงจากต้นทุนขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากผลกระทบของการเริ่มคำนาณต้นทุนราคาก๊าซฯ ด้วยนโยบาย Singel Pool ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 แม้ว่าปริมาณขายรวมปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยในกลุ่มธุรกิจก๊าซฯ ปรับลดลง โดยหลักจากบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) เนื่องจากมีการลดสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 (LMPT2) เป็น 50% เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567
หากเปรียบเทียบไตรมาส1/2568 กับไตรมาส 4/2567 ปตท.มีรายได้จากการขาย ลดลง 3.3% จากไตรมาสก่อน แต่มี EBITDA เพิ่มขึ้น 236 ล้านบาท หรือ 0.3 % มาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น โดยธุรกิจปิโตรเคมี มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น จากต้นทุนวัตถุดิบที่ดีขึ้นและส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของกลุ่มโอเลฟินส์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจการกลั่นลดลง จาก Market GRM ที่ปรับลดลงจากเกือบทุกผลิตภัณฑ์และ Crude Premium ที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าในไตรมาส1/2568 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสต็อกน้ำมันสุทธิกับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือประมาณ 1,500 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสก่อนมีกำไรประมาณ 1,000 ล้านบาท
บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรของน้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน ส่วนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมปรับลดลงจากปริมาณขายและราคาขายเฉลี่ยปรับลดลงรวมถึงธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง ส่งผลให้ไตรมาส1/2568 ปตท. มีกำไรสุทธิ 23,315 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,004 ล้านบาท โตขึ้น 150.40%จากไตรมาสก่อนที่มีกำไรสุทธิจำนวน 9,311 ล้านบาทในไตรมาส4/2567 ตาม EBITDA ที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นและขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ลดลง
ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 2/2568 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากไตรมาส 1/2568 เนื่องจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลง จากนักท่องเที่ยวจีนยังไม่แสดงสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอลงหลัง รวมทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหววันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา อาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคบริการหยุดชะงักชั่วคราว
ส่วนผลกระทบของนโยบายการขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ของสหรัฐฯ ต่อทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะจีนที่ถูกเก็บภาษีนําเข้าสูงขึ้น อาจส่งผลให้สินค้านําเข้าจากจีนทะลักเข้ามาแข่งขันในไทยมากขึ้นซํ้าเติมการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแออยู่แล้ว อย่างไรก็ดี การชะลอบังคับใช้ Reciprocal tariff ในหลายประเทศทั่วโลกซึ่งรวมถึงไทยด้วย ออกไปอีก 90 วัน ช่วยเปิดโอกาสให้ภาคการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวเร่งขึ้นจากการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ และสินค้าบางกลุ่มอาจได้อานิสงค์จากการส่งออกเพื่อไปทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ ขณะที่ราคานํ้ามันดิบดูไบในปี 2568 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 65 – 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์ คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.7–4.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้นผลประกอบการปตท.ในปีนี้ ยังเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาด รวมถึงราคาพลังงานที่ปรับลดลง
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท. มีการบริหารจัดการผลกระทบ โดยได้มีการจัดตั้ง War Room เพื่อรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกถดถอยจากสงครามการค้ารวมถึงการผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อก้าวไปสู่ความสําเร็จร่วมกันภายในกลุ่ม ปตท.