“วีริศ”เผย ขบวนรถไฟดีเซลราง KIHA 40 และ 48 จำนวน 20 คัน ปรับขนาดล้อเป็น 1 เมตร เสร็จแล้วพร้อมลากมาที่โรงงานมักกะสันแล้ว เพื่อเตรียมทดสอบระบบต่างๆ ตามมาตรฐานของการรถไฟฯและดำเนินการปรับปรุงภายในขบวนรถและทำสีใหม่ คาดเสร็จปีนี้ 4-6 คัน เสริมบริการรถโดยสาร ส่วนค่าปรับขนส่งล่าช้า ยังไม่สรุป
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA 40 และ 48 จำนวน 20 คัน ได้รับมอบ (บริจาค) จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเสริมศักยภาพการเดินรถโดยสารว่า ขณะนี้ได้ปรับขนาดเพลาล้อให้เข้ากับมาตรฐานรางของประเทศไทยที่ความกว้าง 1 เมตรเสร็จแล้ว และนำไปประกอบเข้ากับตัวรถที่จอดอยู่แหลมฉบังแล้ว โดยเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการนำขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA 40 และ 48 ชุดที่ 1 จำนวน 10 คัน มาที่ยังโรงงานมักกะสันแล้ว และในวันที่ 8 พ.ค. ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA 40 และ 48 ชุดที่ 2 อีกจำนวน 10 คัน จะนำมายังโรงงานมักกะสันเช่นกัน เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบระบบเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ระบบห้ามล้อ และระบบปฏิบัติการ ตามมาตรฐานของการรถไฟฯ โดยจะมีการตรวจสอบอุปกรณ์ทุกส่วน คาดว่าจะเริ่มทดสอบระบบต่างๆ ได้ภายในเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย. 2568
โดยหลังทดสอบระบบต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเป็นขั้นตอนของการปรับปรุงภายในขบวนรถ เช่น การปรับปรุงเบาะที่นั่ง ตามแผนที่จะเปลี่ยนเป็นเบาะหนังเทียมให้เหมาะสมกับการใช้งานเป็นรถชานเมือง ส่วนห้องน้ำจะปรับปรุงสุขภัณฑ์เป็นโถนั่งแบบตะวันตก แต่ยังคงมีระบบถังเก็บสิ่งปฏิกูล จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนของการปรับปรุงสีภายนอกตัวรถ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกเฉดสี
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จและนำมาให้บริการได้ภายในปี 2568 จำนวน 4-6 คัน และจะทยอยปรับปรุงจนครบ 20 คันต่อไป เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการ
นายวีริศกล่าวว่า สำหรับเรื่องค่าปรับภายใต้สัญญาจ้างขนส่งจากประเทศญี่ปุ่นมาประเทศไทยนั้น ภายหลังจากขนย้ายขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA 40 และ 48 มายังโรงงานมักกะสันเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการตรวจรับจะมีการนัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปต่อไป
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA 40 และ 48 จะเข้ามาช่วยเสริมทัพขบวนรถโดยสารชานเมือง เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางของผู้ใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ให้ได้รับการเดินทางที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย เพื่อยกระดับคุณภาพการเดินทางของประชาชน รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม
"การรถไฟฯ มีแผนที่จะนำขบวนรถดังกล่าวมาเปิดให้บริการเสริมทัพขบวนรถโดยสารชานเมือง (FEEDER) เพื่อขนส่งผู้โดยสารระหว่างปริมณฑลและกรุงเทพฯ ตลอดจนสามารถรองรับปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้นของพี่น้องประชาชนให้เดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ยืนยันว่า การรถไฟฯ จะสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้การเดินทางโดยรถไฟให้มากขึ้น ไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องใช้เป็นรถไฟนำเที่ยวเพียงอย่างเดียว ดังนั้น อยากให้ประชาชนอดใจรอสักนิด สิ่งดีๆ กำลังจะเกิดขึ้นที่การรถไฟฯ มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน" นายวีริศกล่าว