xs
xsm
sm
md
lg

GULF กำไร Q1 พุ่ง 54% ที่ 5,395 ล้านบาท จ่อออกหุ้นกู้ 2-3 หมื่นล้านปลายปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



GULF โชว์กำไรไตรมาส 1/68 อยู่ที่ 5,395 ล้านบาท โตขึ้น 54%จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาจากกลุ่มธุรกิจพลังงานและส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH ตั้งเป้าทั้งปี68รายได้โต25% จ่อออกหุ้นกู้เพิ่ม2-3หมื่นล้านบาทในไตรมาส4/68

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 ว่า บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 32,343 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรจากการดำเนินงาน (core profit) อยู่ที่ 5,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิ 5,395 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 54%


ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มบริษัทฯมาจากการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยไตรมาส 1/2568 บริษัทรับรู้ผลกำไรเต็มไตรมาสครบทั้ง 4 หน่วย (2,650 เมกะวัตต์) ของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD ซึ่งทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2567 และบริษัทฯรับรู้ผลกำไรเต็มไตรมาสของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหินกอง (HKP) ซึ่งได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 2 หน่วย (1,540 เมกะวัตต์) โดยหน่วยที่ 2 ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเป็นที่เรียบร้อยในเดือนมกราคม 2568

นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ เริ่มรับรู้ผลกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินและโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานในประเทศ จำนวน 5 โครงการ (532 เมกะวัตต์) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 100% และได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2567 โดยบริษัทฯ รับรู้ผลกำไรจากโครงการดังกล่าวจำนวน 206 ล้านบาท


นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul จำนวน 226 ล้านบาทในไตรมาส 1/2568 เพิ่มขึ้น 147% และยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากกลุ่ม GJP น้อยลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลง 68%มาอยู่ที่ 175 ล้านบาทในไตรมาสนี้ เนื่องจากโครงการ IPP ทั้ง 2 โครงการภายใต้กลุ่ม GJP ได้แก่ โรงไฟฟ้ากัลฟ์ หนองแซง (GNS) และโรงไฟฟ้ากัลฟ์ อุทัย (GUT) มีการปิดซ่อมบำรุงตามแผนงาน C- inspection และ A-inspection ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 7 โครงการภายใต้กลุ่ม GJP มีอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงเล็กน้อย จากราคาค่า Ft เฉลี่ยที่ลดลง ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยลดลงจาก 334.54 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาส 1/2567 เป็น 331.16 บาท/ล้านบีทียู ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง เนื่องมาจากความต้องการใช้ไฟที่ลดลงในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอและปิโตรเคมีภัณฑ์ ส่วนกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีกำไรที่ลดลงจากปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ที่ลดลง

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD มีกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการรับรู้ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้น เนื่องมาจากการซ่อมบำรุงตามแผนงานของทั้ง 4 หน่วยผลิต


นางสาวยุพาพิน กล่าวว่า ส่วนของธุรกิจก๊าซ บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากโครงการ PTT NGD จำนวน 242 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2568 เพิ่มขึ้น 14% ซึ่งราคาขายส่วนใหญ่ของโครงการ PTT NGD จะอิงกับราคาน้ำมันเตา ในขณะที่ต้นทุนจะขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเริ่มรับรู้ core profit จากธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ภายใต้ GLNG สำหรับการนำเข้า LNG เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC GPD และ SPP 19 โครงการ ในส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม และรับรู้กำไร core profit จาก HKH ในการนำเข้า LNG สำหรับโรงไฟฟ้า HKP โดยบริษัทฯ รับรู้ผลกำไรรวมทั้งสิ้นจำนวน 93 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2568

สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทฯ รับรู้กำไรค่าก่อสร้างตามสัญญาสัมปทาน สำหรับงานถมทะเลของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จำนวน 48 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2568 ซึ่งลดลง 60% จาก 119 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567

ในไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากการลงทุนใน INTUCH จำนวน 1,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จาก 1,575 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567 โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลประกอบการของ ADVANC ที่ดีขึ้น


นางสาวยุพาพิน กล่าวว่า ภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทฯ และ INTUCH ทำให้มีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งในด้านธุรกิจพลังงานและธุรกิจดิจิทัล พร้อมด้วยฐานะทางการเงินที่มั่นคงมากขึ้น โดยในปี 2568 คาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้นประมาณ 25% จากการทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าใหม่ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการ HKP หน่วยผลิตที่ 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ที่ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเรียบร้อยตามกำหนดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินและโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานภายในประเทศ ที่มีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 7 โครงการในช่วงปลายปีนี้ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 597 เมกะวัตต์ ขณะที่โครงการ solar rooftop ภายใต้ GULF1 คาดว่าจะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าเพิ่มอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์

ในส่วนของธุรกิจก๊าซ ในปีนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีแผนขยายการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 70 ลำ หรือประมาณ 4-5 ล้านตัน เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC GPD HKP และ SPP 19 โครงการ ทำให้บริษัทฯ รับรู้รายได้จาก shipper fee เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 มีการนำเข้า LNG ไปแล้วจำนวน 19 ลำ หรือประมาณ 1.3 ล้านตัน

สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังคงเป็นไปตามแผน โดยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2568 ขณะที่สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2569 ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ได้ดำเนินการถมทะเลเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และมีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ในไตรมาส 4 ปี 2568 ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีกำหนดรับมอบพื้นที่จากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อเริ่มก่อสร้างท่าเทียบเรือในช่วงปลายปีนี้


ในขณะที่ธุรกิจดิจิทัลยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัทฯ โดยธุรกิจศูนย์ข้อมูล (data center) มีแผนที่จะทยอยเปิดให้บริการเฟสแรกขนาด 25 เมกะวัตต์ ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ โดยบริษัทฯ วางแผนที่จะขยายขนาดการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 100-200 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่ธุรกิจ cloud ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ Google เพื่อให้บริการ Google Distributed Cloud air-gapped มีแผนเปิดให้บริการในช่วงครึ่งปีหลังของ 2568

“ปัจจุบันบริษัทฯ มียอดหุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนอยู่จำนวน 185,550 ล้านบาท โดยบริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 20,000 – 30,000 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2568”


กำลังโหลดความคิดเห็น