"มนพร" เผย "แหลมฉบังเฟส 3" ถมทะเลไปแล้วกว่า 67% เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนส่งมอบพื้นที่ท่าเรือชายฝั่ง F1 ให้ GPC ใน พ.ย. 68 งานที่ 2 อาคาร ท่าเรือ ถนน และ สาธารณูปโภคเริ่มแล้ว 0.47% ลงพื้นที่เร่งรัด ย้ำปลอดภัย-โปร่งใส
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ร่วมกับฝ่ายบริหารท่าเรือแหลมฉบัง โดยได้มีการหารือถึงแนวทางต่างๆ เพื่อผลักดันโครงการร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงเร่งรัดการก่อสร้างให้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ตามนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้ประชาชนและทุกภาคส่วนได้ใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันอย่างมีประโยชน์สูงสุด
ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล มีกิจการร่วมค้า CNNC เป็นผู้รับจ้าง ณ เดือน เม.ย. 2568 มีความคืบหน้าแล้ว 67.48% ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้เข้าติดตามและเร่งรัด รวมถึงตรวจสอบทุกกระบวนการ โดยต้องมีความปลอดภัย และมีความโปร่งใสทั้งระบบ โดยเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมส่งมอบพื้นที่ท่าเรือชายฝั่ง F1 ให้กับบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) ผู้รับสัมปทาน ภายในปลายเดือนพฤศจิกายน 2568
นอกจากนี้ กทท.ได้รายงานต่อถึงงานก่อสร้างส่วนที่ 2 โดยเป็นงานประเภทงานก่อสร้างอาคาร ท่าเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค โดยมีบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ได้เริ่มงานก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2567 ปัจจุบันความก้าวหน้าอยู่ที่ 0.47% โดยได้เริ่มก่อสร้างในส่วนของงานสะพานยกระดับ และจะเร่งเดินหน้างานก่อสร้างในส่วนอื่นๆ ให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด
งานก่อสร้างส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และงานก่อสร้างส่วนที่ 4 งานจัดหาและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ขนย้ายสินค้า อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) และว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้เร็วๆ นี้
นางมนพรกล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่กระทรวงคมนาคมและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเร่งรัดผลักดัน เพื่อให้โครงการสำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดเพื่อเป็นการสร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
นอกจากนั้น ท่าเรือแหลมฉบังยังสามารถแบ่งเบาอัตราใช้ท่าเทียบเรือของท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ได้อีกด้วย ซึ่งท่าเรือกรุงเทพนั้นมีข้อจำกัดด้านความลึกร่องน้ำและขนาดเรือ โดยในปัจจุบันนี้ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 และระยะที่ 2 สามารถรองรับตู้สินค้าได้กว่า 11 ล้านทีอียู ส่วนท่าเรือกรุงเทพรองรับได้ 1.34 ล้านทีอียู
โดยกระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะพัฒนาท่าเรือในประเทศไทย เพื่อเป็นประตูเศรษฐกิจแห่งใหม่ของอาเซียนตามนโยบายคมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทยและจะกลายเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค