“ศูนย์ขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม” สร้างคืบหน้ากว่า 95% ขบ.มั่นใจเสร็จ มิ.ย.นี้ เอกชนลุยติดตั้งเครื่องมือ ระบบ พร้อมเปิดบริการในปี 68 “สุรพงษ์” เร่งทุกหน่วยบูรณาการทำงาน แก้ปัญหาข้อตกลงด้านการขนส่งระหว่างประเทศ เป็น One Stop Service ตามเป้าหมาย
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม และการพัฒนาระบบคมนาคม เชื่อมโยงถนน-รางอย่างไร้รอยต่อ ผลักดันนครพนมเป็นศูนย์กลางการขนส่งภาคอีสานตอนบน พบว่า ณ เดือน มี.ค. 2568 การก่อสร้างมีความก้าวหน้า 95.070% และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2568 และเปิดให้บริการภายในปี 2568
ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบก (ขบ. ) อยู่ระหว่างก่อสร้างส่วนที่ภาครัฐรับผิดชอบ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนมิถุนายน 2568 ในส่วนของบริษัทผู้ร่วมลงทุน (PPP) ได้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างงานในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนอาคารที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ได้แก่ อาคารคลังสินค้า และอาคารรวบรวมและกระจายสินค้า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการติดตั้งเครื่องมือและระบบสำหรับการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ หากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้ผู้ประกอบการขนส่งและในภาพรวมด้านเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังช่วยผลักดันให้จังหวัดนครพนมก้าวเป็น “ศูนย์กลางทางด้านการขนส่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน” รวมทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนและสร้างรายได้ให้ประชาชนในจังหวัดนครพนมและจังหวัดข้างเคียงในอนาคตต่อไป
นายสุรพงษ์ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ได้แก่
1. ให้ ขบ.จัดทำสรุปปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศ และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงด้านการขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณานำเข้าสู่การหารือระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการในระดับนโยบาย
2. ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จพร้อมกัน เพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) สามารถดำเนินพิธีการนำเข้าและส่งออกได้ในจุดเดียว ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และวัตถุประสงค์ของโครงการ ตลอดจนให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งกำหนดให้ภาครัฐมีหน้าที่รับผิดชอบในการประสานและจัดตั้งศูนย์บริการดังกล่าว โดยขอให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้า (Customs, Immigrations and Quarantines : CIQ) พิจารณาจัดเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติงานภายในศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม และดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย/ระเบียบของหน่วยงาน เป็นต้น
สำหรับโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนมีเนื้อที่ 121 ไร่ 3 งาน 67.6 ตร.ว. ตั้งอยู่ที่ ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ประชุมด่านพรมแดนนครพนม มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R12 เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม-จีนตอนใต้ ผ่านด่านพรมแดนนครพนม และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน), รองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ระหว่างทางถนนกับทางราง ผ่านแนวการพัฒนารถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ หรือสินค้าบรรจุหีบห่อ และให้บริการ One Stop Service
โครงการมูลค่า 1,361.36 ล้านบาท รัฐลงทุนค่าที่ดินและค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์มูลค่ารวม 1,043.83 ล้านบาท เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง งานจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า มูลค่ารวม 317.53 ล้านบาท และรับผิดชอบในการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้ และมีหน้าที่จ่ายค่าสัมปทานให้แก่ภาครัฐ ตามรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost ตลอดระยะเวลา 30 ปี (2568-2597) นับจากปีเปิดให้บริการ
โดย ขบ.ลงนามในสัญญาร่วมลงทุน (PPP) โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม กับ บริษัท เอสเอซีแอล จำกัด (SACL) เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566
ทั้งนี้ รายงานมูลค่าการค้าชายแดนของด่านศุลกากรนครพนมในปีงบประมาณ 2568 (6 เดือนแรก) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 42,909 ล้านบาท เชื่อว่าศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ปริมาณการค้าจะเพิ่มมูลค่ามากขึ้น