xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในสเปน – โปรตุเกส ในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกฤตการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ หรือ Blackout ทั่วกรุงมาดริดและเมืองบาร์เซโลนาของประเทศสเปน เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส รวมถึงบางส่วนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 สร้างความโกลาหลให้กับประชาชนหลายล้านคนเพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ ระบบขนส่งสาธารณะและเที่ยวบินต้องหยุดให้บริการ และความเสียหายทางเศรษฐกิจอีกมหาศาล แต่สิ่งที่มากไปกว่านั้นก็คือ บทเรียนราคาแพงที่หลายประเทศต้องตระหนักถึงสาเหตุสำคัญของการเกิดไฟฟ้าดับใหญ่ในครั้งนี้

บริษัท Red Eléctrica de España (REE) ผู้ดูแลโครงข่ายไฟฟ้าของสเปน เปิดเผยว่า เหตุการณ์ไฟฟ้าดับเริ่มต้นเมื่อเวลา 12:33 น. ตามเวลาท้องถิ่นสเปน โดยมีสาเหตุจากปรากฏการณ์บรรยากาศผิดปกติเนื่องจากความแปรปรวนของอุณหภูมิ (Temperature Fluctuation) อย่างรวดเร็วในสเปน ทำให้สายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่เชื่อมโยงระหว่างสเปน – ฝรั่งเศสขัดข้องไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ และลุกลามบานปลายไปยังสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่เชื่อมโยงระหว่างสเปน – โปรตุเกสขัดข้องจ่ายกระแสไฟฟ้าไม่ได้ตามไปด้วย เมื่อโครงข่ายไฟฟ้าของสเปนขาดความเสถียรส่งผลให้โรงไฟฟ้าทยอยถูกปลดออกจากระบบผลิตทันทีเพื่อป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ซ้ำเติมระบบไฟฟ้าให้เลวร้ายเกินกว่าจะแก้ไข

“ความไม่เสถียร”พลังงานหมุนเวียน ซ้ำเติมวิกฤตไฟฟ้าดับ

ประเทศสเปนถือเป็นผู้นำด้านพลังงานสีเขียว เนื่องจากมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากถึง 56.8% และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 81% ภายในปี ค.ศ.2030

จากข้อมูลกำลังผลิตไฟฟ้าของสเปนในช่วงที่เกิดเหตุไฟฟ้าดับพบว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมหายไปจากระบบอย่างเฉียบพลัน 14,280 เมกะวัตต์ ภายใน 5 วินาที หรือเทียบเท่า 60% ของความต้องการใช้พลังงานทั้งประเทศ ซึ่งเป็นปริมาณไฟฟ้าที่มากเกินกว่าจะกู้คืนระบบได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว เมื่อระบบไฟฟ้าในสเปนล้มจึงส่งผลกระทบไปยังประเทศข้างเคียงเพราะสเปนมีการส่งไฟฟ้าไปยังโปรตุเกสมากถึง 2,119 เมกะวัตต์ และฝรั่งเศส 761 เมกะวัตต์

กำลังผลิตไฟฟ้า (Load Curve) ของสเปนเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 68

การจ่ายกระแสไฟฟ้าระหว่างประเทศสเปน-ฝรั่งเศส และ สเปน-โปรตุเกส
โรงไฟฟ้ามั่นคงยังจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน

แม้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะมีความสำคัญในแง่ของการเป็นพลังงานสะอาด แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็น “พลังงานที่ไม่เสถียร” ด้วย เพราะขึ้นอยู่กับธรรมชาติ สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงบางช่วงเวลา ดังนั้นระบบไฟฟ้าที่มั่นคงจึงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคง อาทิ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งมีความสามารถในการรักษาความถี่ไฟฟ้า (Frequency) ให้อยู่ในเกณฑ์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าหายไปจากระบบ โรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงเหล่านี้จะช่วยชะลอความถี่ไฟฟ้าไม่ให้ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความเสถียรมากขึ้น

หากมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนปริมาณมากก็จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงที่เดินเครื่องเป็นกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) รองรับให้มากพอเช่นกัน เพราะโรงไฟฟ้าที่เป็น Spinning Reserve สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ในเวลารวดเร็วเพื่อช่วยรักษาความถี่ของระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้อยู่ในเกณฑ์

สำหรับประเทศไทย กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมีระบบป้องกันพิเศษที่สามารถปลดโรงไฟฟ้าหรือโหลดที่จุดสำคัญ มีการควบคุมโรงไฟฟ้าที่เป็น Spinning Reserve ให้อยู่ในเกณฑ์ เหมาะสมและเพียงพอกับสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงมีโรงไฟฟ้าที่เป็นกำลังผลิตสำรองของระบบผลิตไฟฟ้า (Operation Reserve-Standby) ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าในระยะเวลาอันสั้น (Quick Start) และมีสายส่งไฟฟ้าแรงสูงกระแสตรง (High Voltage Direct Current : HVDC) ที่เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้า

นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีการปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมให้มีความยืดหยุ่น หรือ Flexible Power Plant ซึ่งสามารถเร่งหรือลดการผลิตไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว เช่น จากเดิมต้องใช้เวลาสำหรับเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 4 ชั่วโมง ลดเวลาเหลือเพียง 2 ชั่วโมง หรือเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้นจาก 15 เมกะวัตต์ต่อนาที เป็น 50 เมกะวัตต์ต่อนาที เพื่อให้กำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอตามความต้องการในทุกช่วงเวลา ควบคู่กับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ ช่วยลดความผันผวนและรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า โดยสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำตอนล่างไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำตอนบน และปล่อยกลับมาผลิตไฟฟ้าในเวลาที่ต้องการ ปัจจุบัน กฟผ. มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง คือ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา โดยมีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage : BESS) เชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้า (Grid Scale) เพื่อให้สามารถรองรับความผันผวนของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีการติดตั้งที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) และที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขนาด 16 MWh

ปรับปรุงโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นโรงไฟฟ้ายืดหยุ่น


เหตุการณ์ไฟฟ้าดับในยุโรปครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ประเทศไทยต้องหันกลับมาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยที่กำลังทบทวนกันอยู่ให้ดี ๆ เพราะโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทมีข้อดีและข้อจำกัดที่ต้องวางแผนให้รอบคอบ ประเทศไทยจะได้ไม่ต้องฝันร้ายเหมือนสเปน
กำลังโหลดความคิดเห็น