การตลาด - กรุ๊ปเอ็มจัดงานสัมมนาการตลาดประจำปี "GroupM FOCAL 2025" ภายได้ธีม 'Unmute 2025: ส่งเสียงให้ก้อง สร้างแรงขับเคลื่อน เผย 5 ประเด็นกำหนดอนาคตการตลาดไทยใน 12 เดือนข้างหน้า พร้อมฉายภาพอินไซด์ในปี 2568 เป็นปีแห่งการ "เอาตัวรอด" ที่คนไทยจะหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น
นางสาวปัทมวรรณ สถาพร ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) กลุ่มบริษัทบริหารจัดการการลงทุนสื่อชั้นนำของโลก ในเครือดับบลิวพีพี (WPP) เปิดเผยว่า เป็นธรรมเนียมไปแล้ว ที่ทุกปีกรุ๊ปเอ็มจะมีการจัดงานสัมมนาการตลาดประจำปีขึ้น และสำหรับงานสัมมนาการตลาดประจำปี 2568 หรือ งาน FOCAL 2025 ในครั้งนี้ เราได้ขยายสถานที่เพื่อรองรับผู้เข้าร่วมงานได้มากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าการจัดงานแต่ละปีนั้น ก็จะกลายเป็นโจทย์ที่ยากมากขึ้นทุกปีตามไปด้วย ว่าเราจะนำเสนออะไรให้แก่ผู้เข้าร่วมฟังให้ได้รับกลับไป สำคัญที่สุดเราจะยังคงจัดงานสัมมนาประจำปีแบบนี้ต่อไปอีกทุกๆ ปี
สำหรับการจัดงาน FOCAL 2025 ในปีนี้ ทางกรุ๊ปเอ็มได้ผนึกกำลังกับมายด์แชร์ เอสเซ้นซ์มีเดียคอม เวฟเมคเกอร์ ทีแอนด์พีเอ็ม และโอเพนมายด์ และเครือข่าย พันธมิตร ร่วมมือกันจัดขึ้น โดยรวมสุดยอดนักการตลาดและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเปิดมุมมองใหม่ เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภค เทรนด์ ดาด้าทรงพลัง และเทคโนโลยี ที่ช่วยยกระดับธุรกิจ โดยได้รับเกียรติจากเหล่าผู้นำจากดับบลิวพีพี กูรูการตลาด นักสื่อสารชั้นแนวหน้า และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ชื่อดังของไทยกว่า 31 ท่าน มาร่วมขึ้นเวทีจุดประกายไอเดียให้ผู้เข้าร่วมงานกว่า 800 คนได้ฟัง ภายได้ธีม 'Unmute 2025 : ส่งเสียงให้ก้อง สร้างแรงขับเคลื่อน‘
โดยไฮไลท์สำคัญของงาน FOCAL 2025 ครั้งนี้ จะมีอยู่ 5 ประเด็น ที่จะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดอนาคตการตลาดไทยในอีก 12 เดือนข้างหน้า ประกอบด้วย
1. CREATING CONSUMERS IMPACT : สร้างแรงขับเคลื่อนในใจผู้บริโภค เจาะกลยุทธ์สร้างสรรค์ที่เข้าถึงและสร้างผลกระทบอย่างแท้จริง
2. DRIVING IMPACT THROUGH BRANDING & ADVERTISING : ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแบรนด์ที่แข็งแกร่งและการสื่อสารที่น่าเชื่อถือ
3. COMMERCE WITH IMPACT : สร้างยอดขายและ Brand Love ไปพร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
4. IMPACT OF DATA & TECH : ปลดล็อกศักยภาพของข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จทางธุรกิจ
5. IMPACT OF CONTENT : สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่โดนใจ สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างสายสัมพันธ์กับผู้บริโภค
นางสาวปัทมวรรณ กล่าวว่า ในปี 2568 นี้ มองว่าเป็นปีที่ผู้บริโภคชาวไทยต้องลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง ความต้องการความมั่นคง ความไว้วางใจ และคุณค่าที่แท้จริง จะเป็นหัวใจสำคัญ โดยในส่วนของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณานั้น มองว่าสถานการณ์รวมยังเหนื่อยอยู่ ขยับตัวช้าแต่โดยรวมยังเติบโตอยู่ กลายเป็นสาเหตุหลักที่นำมาซึ่ง 4 เทรนด์ไปสู่ฟิวเจอร์แอดเวอร์ไทซิ่ง ได้แก่ 1. มีเดียเป็นได้ทุกอย่าง สื่อหรือมีเดียมีอยู่ทุกที่ แม้แต่ในการทําธุรกรรม 2. ดาต้ามีมากมาย ต้องหาดาต้าที่แท้จริงให้เจอ 3.AI: เราต้องปรับตัว เรียนรู้ ยกระดับ และไปต่อ และ 4.คิดค้นการวางแผนและความสามารถใหม่สําหรับวันพรุ่งนี้
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากทาง กรุ๊ปเอ็ม คาดการณ์ว่าในปี 2568 นี้ ภาพรวมตลาดสื่อโฆษณายังคงมีแนวโน้มเติบโต หรือมีเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้นอีก 3.9% จากปี 2567 คิดเป็นมูลค่ารวม 122,885 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โทรทัศน์ ยังคงเป็นสื่อหลักที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด คิดเป็น 41% ของมูลค่ารวม หรือ 50,661 ล้านบาท 2.ดิจิทัล อยู่อันดับสอง คิดเป็น 35% ของมูลค่ารวม 3.สื่อนอกบ้านและสื่อโฆษณาเคลื่อนที่รวมกัน 16% 4.โรงภาพยนตร์ 3% 5.วิทยุ 3% 6.หนังสือพิมพ์ 1%
โดยการเติบโตที่เกิดขึ้น มาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสื่อดิจิทัลที่มีส่วนแบ่งการใช้จ่าย 35% หรือกว่า 42,873 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2567 ที่มีมูลค่า 37,444 ล้านบาท ซึ่งถึงแม้ว่าโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด แต่การเติบโตของดิจิทัลแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในภูมิทัศน์ของสื่อโฆษณา
** Consumers Untold ปี 68 ต้องรอดไม่รอความหวัง
อย่างไรก็ตามไฮไลท์สำคัญของงาน FOCAL 2025 ครั้งนี้ คือ ผลวิจัยผู้บริโภค "Consumers Untold" ซึ่งเป็นการศึกษาแบบผสมผสานทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ครอบคลุมทุกมิติของชีวิต ทัศนคติ การใช้จ่าย อิทธิพลของสื่อและเทคโนโลยี ผ่านการสัมภาษณ์เจาะลึกจากผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม ซึ่งรวมถึงผู้นำ ชุมชม และผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด รวม 250 คน ใน 22 จังหวัดครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือน ม.ค-มี.ค. ที่ผ่านมา
โดยนายณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ ผู้บริหารแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) และนายแพน จรุงธนาภิบาล ผู้อำนวยการแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ได้ร่วมกันฉายภาพอินไซด์ผ่านผลวิจัยผู้บริโภค Consumers Untold ว่า ผลวิจัยครั้งนี้จะเน้นอินไซด์ใน 3 เรื่องหลัก คือ Live, Money และ Media
ในส่วนของ Live นั้น จากสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น รวมถึงปัจจัยภาพนอก เช่น นโยบายการขึ้นภาษีของทรัมป์ ส่งผลให้คนไทยในปี 2568 นี้ รู้สึกหมดหวัง เราจะสู้ชีวิตอย่างไร โดยไม่รอความหวัง ขณะที่ความคาดหวังของคนไทยในปีนี้ จะเป็นเรื่องของ ความต้องการมีความสุข มีกินมีใช้ เพียงพอในแต่ละวัน และไม่มีความเสี่ยงทางด้านการเงิน เช่น วัยรุ่น ความสุข คือ การที่ทุกคนยอมรับตัวตน บนโลกออนไลน์, วัยทำงาน ความสุข คือ การโชว์โปรไฟล์ การมีตัวตน โชว์การใช้ชีวิต, กลุ่มคนมีครอบครัว ความสุข คือ การเห็นลูกๆ ประสบความสำเร็จ มีการงานที่ดี และกลุ่มวัยเกษียณ ความสุข คือ สุขภาพที่ดี และเดินทางท่องเที่ยวได้
เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่าความสุขของคนเมืองและคนต่างจังหวัดจะแตกต่างกัน กล่าวคือ ความสุขของคนเมืองจะเน้นความมั่นคง อย่างเรื่องงานต้องไม่ตกงาน เน้นบริหารการเงินให้ดี ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และใช้เทคโนโลยีเพื่อความสะดวกสบาย ส่วนความสุขของคนต่างจังหวัดนั้น จะมองในเรื่องของความมั่นคงว่า งานที่ทำอยู่ไม่เพียงพอ จะต้องหารายได้เสริม หรือนำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนต่อยอดเพื่อทำเงินเพิ่ม และใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างรายได้ เช่น การไลฟ์ขายของผ่านทางแพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ, ใช้ AI ช่วยการขาย หรือแปลภาษาสำหรับขายของกับลูกค้าต่างชาติ เป็นต้น โดยแก่นของความสุขของคนไทยทั้งทั้งสองกลุ่มจะมีอยู่ 3 แกน คือ ความรัก การงาน และการเงิน
ในส่วนของ Money ปีนี้พบว่า คนมีกินมีใช้น้อยลงต้องวางแผนการใช้เงิน ไม่อยากเป็นหนี้ ต้องการความปลอดภัยทางการเงิน ต้องการหาเงินเพิ่ม เช่น ขายของหารายได้เสริม ใช้เทคโนโลยีอย่างโซเชียล และ AI ช่วยหาเงินให้ได้มากขึ้น ซึ่งการขายของ อย่างการไลฟ์ขายของนั้น จะเน้นเป็นพวกของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะขายง่าย ราคาไม่สูงมาก รวมถึงต้องมีแบรนด์เป็นที่รู้จักบ้าง โดยพบว่า ช่องทางหารายได้จากการไลฟ์ขายของ จะขายได้นั้น ความน่าเชื่อถือมีส่วนอย่างมาก เพราะได้เห็นคนขาย ได้เห็นสินค้า รวมถึงจำนวนผู้เข้าดูไลฟ์ก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือเช่นกัน
ที่สำคัญเงินที่มีอยู่ต้องใช้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น โดยเมื่อเจาะลึกถึงความประหยัดหรือการใช้เงินไปกับอาหารการกิน พบว่า คนเมืองจะหันมากินข้าวนอกบ้านหรือสั่งเดลิเวอรี่มากขึ้น เพราะมองว่าประหยัดกว่าซื้อมาทำกินเองแล้วเหลือทิ้งและสิ้นเปลืองในส่วนอื่นๆ ตามมา แต่คนต่างจังหวัดจะทำกับข้าวกินเอง เพราะสามารถเผื่อแผ่หรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านได้
ส่วนในเรื่องของ Media พบว่า หัวใจสำคัญของการใช้ Media มี 3 ส่วน คือ การหาข้อมูล การสร้างความน่าเชื่อถือ และการสร้างเอ็นเกจ ขณะที่ทีวียังเป็นสื่อสำคัญ เพราะคอนเท้นท์ที่ถูกนำเล่นในแพลตฟอร์มต่างๆ ต้นทางมาจากทีวีทั้งสิ้น ส่วนท็อปแอพปลิเคชั่นในปี 2568 นี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.รูปแบบ SHORT FORM อันดับหนึ่ง คือ TIKTOK ตามด้วย FACEBOOK INSTAGRAM และ X (TWITTER) ตามลำดับ 2.รูปแบบ LONG FORM ได้แก่ YOUTUBE, NETFLIX, AUDIO และ LIVE CONTENT ตามลำดับ 3. รูปแบบ READ อันดับหนึ่ง คือ FACEBOOK ตามด้วย INSTAGRAM, X (TWITTER), YOUTUBE, GOOGLE, WEBSITES และ OHM ตามลำดับ
”จากอินไซด์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปี 2568 นี้เป็นปีแห่งการ ‘เอาตัวรอด’ ที่คนไทยจะหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเงินคือสิ่งสำคัญอันดับแรก ทำให้ทุกการใช้จ่ายต้องคุ้มค่าและมีเหตุผลการรู้สึกถึงความไม่แน่นอนจะเป็นตัวผลักดันให้ผู้บริโภคมีความ ระมัดระวัง และมองหา ‘ความเชื่อมั่น’ เพื่อเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจ แบรนด์ที่สามารถสร้างความคุ้นเคย และมีการสื่อสารอย่างจริงใจ จะคว้าความได้เปรียบและเข้าถึงผู้บริโภคในยุคนี้ได้“ นายแพน กล่าว
นายณัฐวีร์ กล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภคยังสะท้อนถึงการปรับตัวเพื่อสร้างความมั่นใจในรูปแบบใหม่ เทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยหารายได้และสร้างความมั่นคงในชีวิต ในขณะเดียวกันผู้คนยังคงโหยหาการเชื่อมต่อและความจริงผ่านประสบการณ์ที่จับต้องได้ เช่น การหวนคืนของกิจกรรมในระดับท้องถิ่นที่เข้าถึงง่ายและมีเสน่ห์เฉพาะตัว ในโลกของการตลาดและการสื่อสาร แบรนด์ต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ขัดจังหวะสู่ "ผู้สร้างแรงบันดาลใจ" ผ่านคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงชีวิตจริงและความสนใจของผู้บริโภคเพื่อสร้างการจดจำและความไว้ใจในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ภายในงาน FOCAL 2025 ยังมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจอีกหลายหัวข้อ เช่น The power discussion in Brand Building Strategy : อํานาจในกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ โดย นายอภิชาติ ศุภจริยาวัตร (เนสท์เล่ ไทย), นายภาคย์ วรรณสิริ (วีเอ็มแอล ไทย), นายพงษ์ปิติ ผาสุขยืด (แอด แอดดิกต์) ได้เผยถึงความจริงเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ในยุคนี้ว่า
1. เนื้อหาแบบเรียลไทม์นั้นทรงพลัง ต้องเลือกในสิ่งที่ตรงกับคุณ ไม่ใช่ทุกเทรนด์ที่คุ้มค่าที่จะไล่ตาม
2. โฟกัสเป็นสิ่งสำคัญ โฟกัสให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่จริงๆ ไม่ใช่ทุกที่ในคราวเดียว
3. ไอเดียดีๆ ยังคงอยู่ แม้จะอยู่ในภาวะแข่งขันมากมาย แต่หากเราหาแนวทางของเราเอง สร้างความสนุก มีกลยุทธ์ และเป็นจริง จะช่วยสร้างแบรนด์ของคุณได้
4. วางแผนความเป็นธรรมชาติของคุณ โดยมองว่าการเริ่มต้นและการเตรียมการอย่างชาญฉลาดจะเปลี่ยนชัยชนะที่รวดเร็วให้กลายเป็นผลกำไรในระยะยาว
5. คิดถึงผลกระทบระลอกคลื่น โดยมุ่งเป้าไปที่การมีส่วนร่วมที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่กระแสชั่วครั้งชั่วคราว
นายจิรพัฒน์ เดชดานู LINE Ads Product and Marketing Strategy Lead, LINE ประเทศไทย ได้อธิบายในหัวข้อ Customer Centric on Dynamic Personalisation ว่า แบรนด์ต่างๆสามารถเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกให้กลายเป็นการปรับแต่งตามผลลัพธ์ที่เป็นจริงได้ ประกอบด้วย 1.การปรับแต่งตามแบบไดนามิก ปรับการตลาดให้เข้ากับข้อมูลเชิงลึกของแต่ละบุคคลเพื่อการมีส่วนร่วมที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น 2.ความไว้วางใจและการทำงาน ตอบสนองความต้องการพื้นฐาน เพิ่มมูลค่าทางอารมณ์ และสร้างความไว้วางใจที่ยั่งยืน 3.การเชื่อมโยงทางอารมณ์ สื่อสารอย่างมีความหมายและติดตามพฤติกรรมเพื่อให้มีความเกี่ยวข้องในตลาดที่เปลี่ยนแปลง
สำหรับหัวข้อ Panel Discussion: Content that Make the Impact for Thais โดย เอ็ดดี้-ญาณวุฒิ (อินฟลูเอ็นเซอร์), นายณัฐพร รุ่งขจรกลิ่น (WeTV) และนายศิราวิชญ์ รัศมีมณีกล้า (Heavenly Delight) กล่าวถึงคอนเท้นต์ที่เชื่อมโยงกับผู้ชมชาวไทยได้อย่างแท้จริง สรุปความว่า 1.ต้องดึงดูดใจด้วยใจ ด้วยเนื้อหาที่รวดเร็ว มีอารมณ์ และมีรากฐานทางวัฒนธรรมจะชนะ 2.หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง: กระแสที่ไม่มีความหมายจะล้มเหลว 3.ความสำเร็จ = การแชร์ ความรู้สึก และชุมชน ไม่ใช่แค่การดู 4.เคล็ดลับ คือ การเป็นตัวของตัวเอง เป็นคนในพื้นที่ และปล่อยให้การเล่าเรื่องเป็นตัวนำทางในการขาย
นางสาวปัทมวรรณ สถาพร ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ว่า การจัดงาน FOCAL 2025 ครั้งนี้ จะเป็นเวทีที่ 'Unmute' ให้นักการตลาดได้ส่งเสียงอันทรงพลัง เพื่อให้อุตสาหกรรมเปิดรับและเข้าใจอินไซต์ที่เปลี่ยนไป และร่วมกันสร้างสรรค์กลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์ สร้างความเชื่อมั่น และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าของกรุ๊ปเอ็มจะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน สร้างเครือข่าย นำอินไซด์ ดาต้า และเทคโนโลยี ไปขับเคลื่อนกลยุทธ์ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นจริง.