xs
xsm
sm
md
lg

56 ปี กฟผ. สานต่อพลังงานไทยสู่อนาคตพลังงานสีเขียว ให้เหมาะสมกับโลก มั่นคงกับระบบไฟฟ้าของคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เกินกว่าครึ่งศตวรรษ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) องค์กรหลักของชาติด้านการผลิตและระบบส่งไฟฟ้า ได้วางรากฐานความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งพัฒนาพลังงานไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยหลักของความสมดุล ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงทางไฟฟ้าอย่างยั่งยืน


นับตั้งแต่กำลังผลิตเริ่มต้นเพียง 908 เมกะวัตต์ เมื่อครั้งก่อตั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 จวบจนปัจจุบันกว่า 56 ปี ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 52,017 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 16,261 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 31.26 มีสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศความยาวรวมถึง 40,041 วงจร-กิโลเมตร จนกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดย กฟผ. มองหาจุดสมดุลระหว่างการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมกับประเทศไทย อีกทั้งแหล่งเชื้อเพลิง และนวัตกรรมพลังงาน ที่จะมาช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศให้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

สร้างความมั่นคงทางพลังงาน เร่งเครื่องพลังงานสะอาด – นวัตกรรมพลังงาน

กฟผ. มุ่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของประเทศไทย โดยมีโครงการโดดเด่นที่อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือโครงการการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งสิ้น 348 เมกะวัตต์ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก (158 เมกะวัตต์) เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี (140 เมกะวัตต์) เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี (50 เมกะวัตต์) นอกจากนี้ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ กำลังผลิต 2.5 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในปี 2568 นี้ ซึ่งเมื่อโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ


กฟผ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคต โดยเฉพาะ SMR (Small Modular Reactor) หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ไม่ปล่อยคาร์บอน และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่ง กฟผ. ได้ติดตามและศึกษาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มากว่า 20 ปี SMR มีข้อดีหลากหลาย เช่น โรงไฟฟ้ามีขนาดเล็ก ใช้พื้นที่น้อย ปลอดภัยสูง หยุดทำงานอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าสำรอง ไม่มีความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงเหมือนน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของประเทศสามารถแข่งขันได้ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญของประเทศไทยในการเสริมความมั่นคงทางพลังงาน


นอกจากนี้ กฟผ. ยังแสวงหาเชื้อเพลิงสะอาดรูปแบบใหม่ ๆ โดยพัฒนา ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ จากพลังงานลมผ่านกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) และ ‘ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน’ ที่ผลิตได้จากถ่านหินที่นำมาแปรสภาพเป็นก๊าซ (Coal Gasification) โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตรศึกษากระบวนการผลิตไฮโดรเจน ในอนาคต กฟผ. มีแผนนำไฮโดรเจนทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าด้วย 


หากประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้เร็ว ก็จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

เสริมความมั่นคงระบบส่งไฟฟ้าและโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ

พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นแหล่งพลังงานที่มีความผันผวน ซึ่งมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 17-20 เท่านั้น ประกอบกับสถิติการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ กฟผ. จึงต้องพัฒนาระบบผลิตและส่งไฟฟ้าให้มีความทันสมัยและยืดหยุ่น (Grid Modernization) รองรับการบริหารจัดการความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) ให้สามารถเร่งหรือลดการผลิตไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้กำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอตามความต้องการในทุกช่วงเวลา ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น (Grid Flexible) โดยติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ควบคู่กับการบริหารจัดการร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เพื่อลดความผันผวนและรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า อีกทั้งเพิ่มศักยภาพการวางแผนผลิตไฟฟ้าด้วยศูนยพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) เพื่อนำไปใช้สำหรับวางแผนผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าหลัก นอกจากนั้นยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant : VPP) ทำหน้าที่เสมือนศูนย์ควบคุมพลังงานหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ และระบบกักเก็บพลังงานเข้าไว้ด้วยกัน โดยนำความได้เปรียบของพลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภทมาเติมเต็มเสริมความมั่นคงซึ่งกันและกัน ร่วมกับการบริหารจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management : DSM)


ยกระดับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

นอกจากบทบาทหลักในการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงทางพลังงานแล้ว กฟผ. ยังมีอีกบทบาทที่สำคัญคือการมุ่งมั่นพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย กฟผ. ส่งเสริมนวัตกรรมการนำวัตถุพลอยได้จากการผลิตไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อาทิ

• ศึกษาพัฒนาการผลิตคอนกรีตจากเถ้าลอยลิกไนต์ เพื่อใช้แทนปูนซีเมนต์แบบเดิม ช่วยลดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ประมาณ 7 แสนเมตริกตันต่อปี

• ศึกษาพัฒนาการนำสารฮิวมิคจากดินเลโอนาร์ไดต์ ซึ่งปะปนอยู่ในหน้าดินจากการทำเหมืองแม่เมาะ มาช่วยปรับปรุงดินเสื่อมโทรมสำหรับการเกษตร และใช้ในอุตสาหกรรมบำบัดน้ำเสีย พร้อมส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชนด้วย


ด้านธุรกิจ EV กฟผ. ก็ยังคงให้ความสำคัญด้วยการเร่งขยายเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EleX by EGAT และพันธมิตรในเครือข่าย EleXA ซึ่งปัจจุบันมีถึง 413 แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้าขยายเป็น 520 แห่งภายในปี 2568 รวมถึงเตรียมฉลองความสำเร็จ 30 ปี ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โดยร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานยกระดับมาตรฐานฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานของอาคารและโรงงานเบอร์ 5 ใหม่ และติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ในผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ เครื่องอบผ้า ตู้แช่แข็งฝาทึบ เพื่อส่งเสริมการจัดการใช้พลังงานของภาคประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ


56 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้พิสูจน์บทบาทในฐานะผู้ขับเคลื่อนระบบไฟฟ้าไทยอย่างมั่นคง ดำเนินภารกิจ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และในวันนี้ กฟผ. พร้อมนำพาประเทศสู่เป้าหมายพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน และมั่นคง เพื่อตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไปและชีวิตที่ดีของคนไทยทุกคน


กำลังโหลดความคิดเห็น