xs
xsm
sm
md
lg

ขสมก.พัฒนาซูเปอร์แอป รวมศูนย์บริการ ต.ค.นี้ รับจ่ายค่าโดยสารผ่าน "คิวอาร์โค้ด"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขสมก.ทุ่ม 54 ล้านบาทพัฒนาแอปฯ BMTA App รวมศูนย์บริการรองรับจ่ายค่าโดยสารผ่านระบบ Wallet ต.ค.นี้ จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด เช็กเส้นทาง จ่อหารือแบงก์ชาติ ช่วยเจรจาธนาคารพาณิชย์ยกเว้นค่าธรรมเนียมเชื่อมโยง Mobile Banking

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ขสมก.อยู่ระหว่างพัฒนาแอปพลิเคชัน BMTA App ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันใหม่ของ ขสมก. โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ขสมก.ร่วมกับบริษัท เทคฟอร์จ โกลบอล จำกัด ทำการทดสอบเบื้องต้น และสาธิตระบบชำระค่าโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน BMTA App แต่ยังมีบางขั้นตอนที่อาจจะทำให้ประชาชนยังไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร ได้แก่ การลงทะเบียนในแอปพลิเคชันต้องกรอกข้อมูลค่อนข้างมาก แม้คณะทำงานของ ขสมก.จะเห็นว่ามีความจำเป็น แต่เมื่อสร้างให้ขั้นตอนการลงทะเบียนที่มากเกินไปจะไม่จูงใจประชาชนใช้บริการ

ส่วนการจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดที่จะต้องหักเงินผ่านระบบ Mobile Banking ของแต่ละธนาคาร พบว่าธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีการคิดค่าธรรมเนียมการจ่ายผ่านวิธีนี้สูงถึง 5 บาท/ครั้ง ซึ่งหากเป็นรถโดยสารร้อน (ครีมแดง) ที่จัดเก็บอัตราค่าโดยสาร 8 บาทตลอดสาย คิดค่าธรรมเนียมการโอนเพิ่ม ก็จะทำให้ ขสมก.มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จึงต้องมีการเจรจากับธนาคารพาณิชย์ หาทางที่ลดหรือยกเว้นจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว

“ปัจจุบันค่าโดยสารรถ ขสมก.สามารถจ่ายได้หลายแบบ ทั้งเงินสด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตร EMV บัตรโดยสาร ขสมก. ส่วนการสแกนจ่าย ตอนนี้รองรับเฉพาะแอปฯ ทรูมันนี่และแอปฯ เป๋าตัง ทั้งนี้ ขสมก.พยายามหาแนวทางที่จะทำให้การจ่ายค่าโดยสารมีความสะดวกหลากหลายแนวทางมากที่สุด คาดว่าการจ่ายค่าโดยสารผ่านระบบคิวอาร์โค้ดจะสามารถทำได้ในช่วงเดือน ต.ค.นี้” ผอ.ขสมก.กล่าว

นายกิตติกานต์กล่าวว่า ปัจจุบันหากค้นหาใน App Store หรือ Google Play จะพบ ขสมก.มีแอปฯ หลายตัว มีการตั้งข้อสังเกตว่า ขสมก.ทำแอปฯ มากเกินไปและเป็นการสิ้นเปลืองหรือไม่ เรื่องนี้ชี้แจงว่า แอปฯ ขสมก.ที่เห็นเป็นแอปฯ ที่มีการพัฒนากันมาก่อนหน้านี้ เมื่อตนเข้ามาเป็น ผอ.ขสมก.ก็เห็นว่ามีหลายแอปฯ จึงได้สั่งการทำซูเปอร์แอป เป็นแอปฯ เดียวที่รวมการบริการต่างๆ ไว้ด้วยกัน เช่น แอปนำทาง, ซื้อตั๋วโดยสาร, GPS เป็นต้น

กรณีที่พัฒนาแอปพลิเคชัน หากแล้วเสร็จเครื่องรูดบัตรเคลื่อนที่ (Mobile EDC) ที่พนักงานจัดเก็บค่าโดยสารต้องห้อยคอไว้ ต้องยกเลิกหรือไม่ นายกิตติกานต์ตอบว่า เครื่องดังกล่าวไม่ใช่ระบบของ ขสมก.เป็นของธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีไว้เพื่อรองรับการใช้งานผ่านนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยตอนนี้ยังอยู่ในระยะเวลาสัญญา คาดว่าปลายปีนี้จะยุบเลิกระบบนี้ไปรวมกับแอปพลิเคชันที่กำลังพัฒนา ซึ่ง ขสมก.สามารถบอกเลิกสัญญากับธนาคารกรุงไทยได้เลย และไม่มีผลกระทบอะไร


ขณะนี้ ขสมก.กำลังเก็บรายละเอียดและรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทดลองระบบไปประมวลผลและแก้ปัญหาให้ครบ ซึ่งจะทยอยทำอินโฟกราฟิกสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจง่ายๆ ส่วนการลงทุนเพิ่มเติมยังไม่มี ดูแต่การเชื่อมโยงกับระบบ Mobile Banking เท่านั้น ขสมก.มีแผนจะเข้าไปเจรจากับธนาคารแต่ละแห่งอยู่ คาดว่าประมาณสัปดาห์หน้าจะเริ่มเจรจากับธนาคารแต่ละแห่ง โดยหารือกันแบบตัวต่อตัว ในขณะเดียวกัน ขสมก.ก็จะทำหนังสือไปถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอหารือในประเด็นนี้ด้วย เพราะรถโดยสารประจำทางเป็นกิจการที่ไม่มีกำไรอยู่แล้ว น่าจะยกเว้นค่าธรรมเนียมได้

“ต่อไปพนักงานจัดเก็บค่าโดยสารก็ใช้มือถือเครื่องเดียวในการทำงานได้ ไม่ต้องถือเครื่อง EDC อีก ในหลักการ ขสมก.ก็จะลดการใช้เงินสดลงไปให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อความโปร่งใและความรัดกุมในการจัดเก็บรายได้จากค่าโดยสารด้วย แต่ไม่ได้ยกเลิกรับเงินสด เพราะก็ยังมีประชาชนบางส่วนที่ไม่สะดวกจ่ายผ่านระบบที่ทำขึ้น นอกจากนี้ แอปฯ ที่กำลังทำก็รองรับระบบตั๋วร่วมไว้เรียบร้อยแล้ว” ผอ.ขสมก.กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการจัดทำแอปพลิเคชันดังกล่าวอยู่ภายใต้ขอบเขตงานจ้างพัฒนาระบบบริหารจัดการ ขสมก.ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) และเอกสารประกวดราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) เลขที่ 05/2567 ลงวันที่ 22 ก.พ. 2567 โดยประกาศผลผู้ชนะเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2567 มี บริษัท เทคฟอร์จ โกลบอล จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 52,200,000 บาท จากราคากลาง 54,972,500 บาท

โดยงานพัฒนาแอปพลิเคชันมีระบุในทีโออาร์ข้อที่ 5.18.3.4 ว่า จะต้องมีหน้าจอสำหรับสร้างข่าวสาร, มีหน้าจอให้ผู้โดยสารร้องเรียนการให้บริการได้, รองรับการชำระค่าโดยสารผ่านระบบ Wallet ต่างๆ โดยระบุเที่ยวรถ, สายเดินรถ, ราคา เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น