“เอกนัฏ” ปิดประตู “ซิน เคอ หยวน” หมดโอกาสได้เปิดโรงงานเหล็กเส้นเตาอินดักชัน (IF) หรือทำกิจการอื่นได้อีกในไทย หากที่ประชุม กมอ.พิจารณาวาระยกเลิกเหล็กเตาอินดักชันใช้มาตรา 17 เสร็จภายใน 1 เดือนกว่า ก่อนชง ครม.อนุมัติก็ประกาศใช้ทันที
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ชุดใหม่รวม 6 ท่าน โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน โดยสั่งการให้ปลัดอุตสาหกรรมเร่งประชุม กมอ.โดยเร็วที่สุดเพื่อพิจารณาวาระยกเลิกมาตรฐานเหล็กเส้นที่ผลิตจากเตาอินดักชัน (IF) ซึ่งตามกระบวนการการยกเลิก มอก.ดังกล่าวจะต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการวิชาการพิจารณาก่อน และนำกลับเข้าสู่ที่ประชุม กมอ. เพื่ออนุมัติ ซึ่งอาจใช้เวลา 2-3 เดือน
แต่หากเป็นเรื่องเร่งด่วน อาจใช้มาตรา 17 ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งจะตัดขั้นตอนคณะกรรมการวิชาการออกไป ทำให้ใช้เวลาเหลือเพียงประมาณ 1 เดือนกว่าเท่านั้น หลังจากนั้นเสนอรัฐมนตรีอุตสาหกรรมเพื่อนำเข้าสู่ ครม.เพื่ออนุมัติก่อนบังคับใช้การยกเลิก มอก.เหล็กเตา IF
นายเอกนัฏกล่าวถึงกรณีของผู้ผลิตเหล็กจีน "ซินเคอหยวน" ที่มีโรงงานเหล็กเส้นเตา IF ได้ถูกสั่งปิดโรงงานว่า ขณะนี้บีโอไอได้เพิกถอนสิทธิประโยชน์ส่วนตัว "ซินเคอหยวน" ไปแล้ว ไม่ใช่ชั่วคราว หมายความว่าวันนี้ซินเคอหยวนไม่ได้รับสิทธิจากบีโอไออะไรเลย และไม่ใช่แค่สิทธิด้านภาษีเท่านั้น แต่รวมถึงวีซ่าประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และสิทธิการใช้ที่ดินด้วย ซึ่งโดนระงับทั้งหมด
ปัจจุบันโรงงานเหล็กของซินเคอหยวนในจังหวัดระยอง 2 แห่งที่บ้านค่าย และปลวกแดงที่โดนปิดอยู่ จะไม่สามารถเปิดได้เลย เพราะเป็นโรงงานเหล็กเตาหลอมแบบ IF เมื่อประกาศยกเลิกมาตรฐาน มอก.เหล็กเส้นผลิตแบบ IF บังคับใช้ ถือว่าถอนรากถอนโคนเตา IF ทั้งหมด และอาจจะไม่มีโอกาสสามารถเปิดโรงงานหรือกิจการอื่นๆ ที่ประเทศไทยอีกต่อไป ดังนั้นจึงเริ่มมีข่าวว่าโรงงานเหล็กที่ใช้เตา IF กำลังย้ายฐานการผลิตแล้ว
สำหรับโรงงานเหล็กที่ใช้เตา IF ในไทยขณะนี้มีทั้งหมด 10 รายนั้น มีการลงตรวจโรงงานเกือบครบทั้งหมดแล้ว โดยดำเนินคดีโรงงานเหล็กแล้ว 8 ราย และได้ปิดโรงงานไปแล้วรวม 3 ราย คือ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด บริษัท ชลบุรี สเปเชียล สตีล จำกัด และบริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งในอนาคตจะนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตถาวร เนื่องจากเข้าข่ายการทำผิดกฎหมายและฝ่าฝืนคำสั่งหลายอย่าง
ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กของไทย มีกำลังการผลิตเหล็กจากเตาเผาไฟฟ้า (EAF) ก็เพียงพอแล้ว เช่น ในปี 2567 เหล็กเส้นผลิตจากเตา EAF ไม่ถึง 3 ล้านตัน ซึ่งเป็นระบบการผลิตเหล็กเส้นที่สามารถควบคุมคุณภาพที่ง่ายกว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น โรงงานเหล็กเส้นแบบ EAF ในไทยสามารถผลิตได้เกิน 4 ล้านตันต่อปีอยู่แล้ว