xs
xsm
sm
md
lg

ปักแผน”แลนด์บริดจ์”ประมูลแพคเกจ 1 ล้านล้านปั๊มศก.ไทย เวนคืนกว่า 9 พันไร่ โต้ขายชาติยันที่ดินเป็นของรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาล”แพทองธาร ชินวัตร”ประกาศผลักดัน“แลนด์บริดจ์” หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) เป็นโครงการเรือธง ที่จะเกิดขึ้นภายในรัฐบาลนี้ เป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มศักยภาพทางการค้าของประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) ช่วงวันที่ 2 มี.ค. 2564- 1 ก.ย. 2566 ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. ....ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 และเปิดประมูลคัดเลือกนักลงทุนในปี 2569

 ช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด ที่เชื่อมโยงการค้าและการขนส่งระหว่างกลุ่มประเทศฝั่งมหาสมุทรอินเดียกับกลุ่มประเทศมหาสมุทรแปซิฟิก จากข้อมูลปี2560 ปริมาณเรือที่ผ่านช่องแคบมะละกามีความหนาแน่น ประมาณ 85,000 ลำต่อปี หรือเฉลี่ย 250 ลำต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2.35 %ต่อปี หรือประมาณ 100,000 ลำในปัจจุบัน ดังนั้น หากไทยมีการพัฒนาโครงการ แลนด์บริดจ์แล้ว จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพได้แก่

1.ประตูการค้ารองรับการนำเข้า - ส่งออกของไทย และประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค เช่น อาเซียน BIMSTEC ประเทศจีนตอนใต้ เพื่อส่งออกไปสู่ประเทศในตะวันออกกลางและทวีปยุโรป

 2.สะพานเศรษฐกิจรองรับการขนส่งถ่ายลำ (Transshipment Port) เป็นทางเลือกในการถ่ายลำ การขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน ผ่านท่าเรือชุมพร ฝั่งอ่าวไทย และท่าเรือระนองฝั่งอันดามัน

  3. การพัฒนาพื้นที่หลังท่าโดยการพัฒนาเศรษฐกิจเสรีและการส่งเสริมการลงทุน ดึงดูดนักลงทุน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ 


@จุดแข็ง ลดเวลาขนส่ง 4 วัน ลดต้นทุน 15%

จากผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าโครงการ”แลนด์บริดจ์”มีวงเงินลงทุนสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย บริเวณแหลมริ่ว ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัด ชุมพร ส่วนฝั่งอันดามัน บริเวณแหลมอ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดยออกแบบให้เป็น ท่าเรืออัตโนมัติเพื่อลดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการขนถ่ายสินค้า ซึ่งจากการเปรียบเทียบค่าขนส่งและระยะเวลาที่ใช้จากการขนส่งผ่านแลนด์บริดจ์ กับ ช่องแคบมะละกา พบว่า แลนด์บริดจ์ ลดระยะเวลาได้เฉลี่ย 4 วัน ช่วยลดต้นทุนประหยัดค่าขนส่งได้เฉลี่ย 15%

โดยคาดการณ์ท่าเรือระนอง จะมีปริมาณสินค้ารวม 19.4 ล้าน TEUs แบ่งเป็น 1. สินค้าถ่ายลำ 13.6 ล้าน TEUs 2. สินค้านำเข้า-ส่งออกของไทย 4.6 ล้าน TEUs 3. สินค้าจีนตอนใต้และ GMS 1.2 ล้าน TEUs
 
คาดการณ์ท่าเรือชุมพร จะมีปริมาณสินค้ารวม 13.8 ล้าน TEUs แบ่งเป็น 1. สินค้าถ่ายลำ 12.2 ล้าน TEUs 2. สินค้านำเข้า-ส่งออกของไทย 1.4 ล้าน TEUs 3. สินค้าจีนตอนใต้และ GMS 0.2 ล้าน TEUs

สำหรับการพัฒนาท่าเรือระนอง ตั้งอยู่ที่บริเวณแหลมอ่าวอ่าง อําเภอเมืองระนอง แบ่งเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1/1 รองรับปริมาณสินค้ารวม 6 ล้าน TEUs เริ่มก่อสร้าง ปี 2568 แล้วเสร็จปี 2573
ระยะที่ 1/2 รองรับปริมาณสินค้ารวม 12 ล้าน TEUs เริ่มก่อสร้าง ปี 2574 แล้วเสร็จปี 2577
ระยะที่ 1/3 รองรับปริมาณสินค้ารวม 20 ล้าน TEUs เริ่มก่อสร้าง ปี 2578 แล้วเสร็จปี 2579

ท่าเรือชุมพร ตั้งอยู่ที่บริเวณแหลมริ่ว อําเภอหลังสวน แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1/1 รองรับปริมาณสินค้ารวม 4 ล้าน TEUs เริ่มก่อสร้าง ปี 2568 แล้วเสร็จปี 2573
ระยะที่ 1/2 รองรับปริมาณสินค้ารวม 8 ล้าน TEUs เริ่มก่อสร้าง ปี 2574 แล้วเสร็จปี 2577
ระยะที่ 1/3 รองรับปริมาณสินค้ารวม 14 ล้าน TEUs เริ่มก่อสร้าง ปี 2578 แล้วเสร็จปี 2579
ระยะที่ 1/4 รองรับปริมาณสินค้ารวม 20 ล้าน TEUs เริ่มก่อสร้าง ปี 2579 แล้วเสร็จปี 2583

ท่าเรือทั้ง 2 แห่ง มีระยะทางห่างกันประมาณ 89.35 กม.เชื่อมกันด้วย 1. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองขนาด 6 ช่องจราจร 2. ทางรถไฟ 4 ทาง ขนาดมาตรฐาน 2 ทาง และขนาด 1 เมตร 2 ทาง 3. ทางบริการ 2 ข้าง ในบริเวณที่เป็นชุมชน โดยมีเขตทางกว้างทั้งสิ้น 175 เมตร
 
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่หลังท่าเพื่อรองรับศูนย์กระจายสินค้า เครื่องมือและอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ในการขนถ่ายสินค้า คลังน้ำมัน และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการประกอบชิ้นส่วนบนท่าเรือทั้ง 2 แห่ง รวมถึงมีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงพาณิชย์ เช่น ก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ และโรงแรม เป็นต้น พัฒนาเขตที่อยู่อาศัย พัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเบา เช่น การประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร และกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ รวมถึงการพัฒนา อุตสาหกรรมบริการต่าง ๆ ในพื้นที และระหว่างเส้นทางแลนด์บริดจ์ เป็นศูนย์การค้าขาย อุตสาหกรรมใหม่ของประเทศไทย

“ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น เพิ่มการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจต่อเนื่อง เช่น การแปรรูปอุตสาหกรรมทางการเกษตร อาหารและประมง ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้า อุตสาหกรรมไฮเทค และท่องเที่ยว คาดว่าจะเกิดการจ้างงาน 280,000 ตำแหน่ง (ระนอง 130,000 ตำแหน่ง ชุมพร 150,000 ตำแหน่ง) เพิ่มอาชีพใหม่ มีการกระจายรายได้ ประชาชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน”


@ ผุดโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีท่าเรือขนส่งสินค้าไปฝั่งตะวันตก ดังนั้นแลนด์บริดจ์จะเป็นท่าเรือสำหรับรองรับสินค้าที่ผลิตจากพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรที่มีค่อนข้างมาก จะถูกนำมาแปรรูปภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แทนที่จะส่งออกวัตถุดิบไปผลิตหรือแปรรูปที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ปัจจุบัน ภาคใต้ส่งน้ำยางจำนวนมากไปที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อผลิต เป็นล้อรถ ถุงมือยาง แต่หากมีแลนด์บริดจ์ อุตสาหกรรมเเหล่านี้จะทำที่ไทย จะทำให้เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรก่อนส่งออก โดยจะมีการให้สิทธิประโยชน์จากรัฐบาลสนับสนุนเพื่อจูงใจในการเข้ามาลงทุนในพื้นที่


@โต้ขายชาติ-ไม่มี Double Handling

ยืนยัน”แลนด์บริดจ์” ไม่ทำให้ต้นทุนขนถ่ายสินค้าซ้ำซ้อน หรือ Double Handling Costs แน่นอน โดยหากเทียบกับการขนส่งทางเรืออ้อมมะละกา เนื่องจากจำนวนครั้งในการยกตู้ ขนถ่ายสินค้าใกล้เคียงกัน เพราะเมื่อเรือเทียบท่าจะมีการยกตู้สินค้าขึ้นจากเรือเพื่อไปจัดเก็บในจุดหนึ่ง ช่วงรอส่งต่อเรืออีกลำเมื่อเรือมาก็ยกตู้อีกครั้งเพื่อไปลงเรือ ส่วนแลนด์บริดจ์เมื่อเรือเทียบท่าชุมพร หรือระนองก็จะยกตู้สินค้าไปลงรางขนไปอีกฝั่ง และยกตู้จากรางลงเรือ โดยบริหารภายใต้แนวคิด” One Port Two Side” และการพัฒนาพื้นที่หลังท่า ด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และกิจกรรมเชิงพาณิชย์
ส่วนเรื่องที่ระบุว่า แลนด์บริดจ์จะเอาที่ดินให้เอกชน เป็นการขายชาตินั้น ผอ.สนข.ชี้แจงว่า การเวนคืนที่ดินมาพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ จะทำโดยรัฐบาลไทย และที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐ เป็นของคนไทยไม่ได้ยกให้เอกชน แต่เป็นการให้สิทธิ์เอกชนเช่าใช้ที่ดินตามระยะเวลาสัมปทาน ประมาณ 50 ปี เนื่องจากโครงการใช้เงินลงทุนสูง จึงต้องประมูลให้เอกชนเข้ามาลงทุนทั้งค่าก่อสร้าง ค่าที่ดิน ค่าบริหารจัดการ


@เวนคืน 9,263 ไร่ “ส.ป.ก.,ราชพัสดุ,โฉนด” วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท

โดยประเมินการเวนคืนที่ดินรวมทั้งโครงการอยู่ที่ ประมาณ 9,263 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ป่าและอุทยานจำนวน 2,316.51 ไร่ ,พื้นที่ส.ป.ก.จำนวน 1,443.81 ไร่ ,พื้นที่ราชพัสดุ และที่สาธารณะประโยชน์ จำนวน 814.14 ไร่ ,ที่โฉนด 4,688.57 ไร่ ใช้หลักเกณฑ์เพิ่มค่ารื้อย้าย ชดเชย ต่างๆ อีก 50% คาดราคาประเมินเบื้องต้น ทั้งค่าเวนคืน ค่ารื้อย้าย ค่าชดเชยผลผลิต ในพื้นที่โฉนดและที่ของรัฐ วงเงินรวมประมาณ 10,809 ล้านบาท

@เยียวยา-ชดเชย ผลกระทบทุกมิติ

ส่วนผลกระทบต่อประชาชน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือการประกอบอาชีพ ในการศึกษาพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ และจัดทำร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. ....มีการลงพื้นที่ทุกหมู่บ้าน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในทุก มิติ ซึ่งพบว่ามีประชาชนที่ได้รับผลกระทบหลายกลุ่ม เช่นกลุ่มประมงพื้นบ้าน หรือประชาชนที่อาศัยอยู่ตามเส้นทางที่มอเตอร์เวย์และรถไฟตัดผ่านซึ่งจะต้องถูกการเวนคืนที่ดิน ดังนั้น ในรายงานผลการศึกษา EHIA จะมีการบันทึกรายละเอียดผลกระทบ จำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

“รายงานการศึกษา EHIA จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาและดูแลผลกระทบของประชาชน เช่น ประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบ มีการตรวจสอบรายชื่อบันทึกไว้ และใน RFP จะกำหนดให้ผู้ที่เข้ามาลงทุนจะต้องจ้างงานผู้ที่ทำประมงพื้นบ้าน เข้าไปทำงานใน อุตสาหกรรมของแลนด์บริดจ์ และต้องได้รับรายได้ไม่น้อยกว่าเดิม หรือ ประชาชนที่อาศัยอยู่สองข้างทางที่มอเตอร์เวย์และรถไฟตัดผ่าน และถูกเวนคืน ก็จะต้องมีการชดเชย ยืนยันว่าโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นแล้วต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนแต่จะสร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่ ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งกับเรื่องถูกเวนคืนที่ดินหรือไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ก็จะได้รับการชดเชยหรือถูกจ้างงานในอุตสาหกรรมของโครงการ มีการสร้างอาชีพใหม่ ลูกหลานไม่ต้องออกจากพื้นที่ไปหางาน สามารถอยู่ในพื้นที่และอยู่กับครอบครัวได้ จากการลงพื้นที่เห็นทุกหมู่บ้านพบว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนและเห็นด้วยกับการที่จะเกิดอาชีพที่จะให้ลูกหลานอยู่ในพื้นที่อยู่กับครอบครัว”


@ดันร่าง’พ.ร.บ.SECเข้าสภา เดือนพ.ค.นี้

ขณะที่ การจัดทำร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... (พ.ร.บ SEC) ประกอบด้วย 8 หมวด และบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 71 มาตรา นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะสรุปนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนพ.ค. 2568 จากนั้นจะเสนอร่างพ.ร.บ. SEC ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมสามัญเปิดสมัยประชุมวันที่ 3 ก.ค. 2568 ประเมินผ่านเข้าสภาวาระ 1, 2 , 3 ช่วงเดือนก.ย. 2568 เสนอวุฒิสภาในเดือนต.ค.-พ.ย. 2568 จะแล้วเสร็จและนำร่างทูลเกล้าฯ เพื่อจัดตั้งสำนักงานSEC และคณะกรรมการ SEC ได้ภายในปลายปี 2568 เพื่อให้ดำเนินการประกาศประมูล PPP ภายในกลางปี 2569

โครงการแลนด์บริดจ์ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด (ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ฯ)จากการรับฟังความคิดเห็นทั้งภาคราชการตัวแทนของภาคเอกชน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาการท่องเที่ยว และประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย โดยมีข้อเสนอแนะ เช่น เรื่องการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอกับความต้องการ,เร่งพัฒนาศักยภาพและทักษะฝีมือแรงงาน,การบังคับใช้กฎหมาย ,เน้นธุรกิจสีเขียวหรือ Eco System ห่วงที่จะตั้งโรงกลั่นน้ำมันและการขนส่งพลังงานที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักลงทุนจะต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ไม่สร้างมลพิษ


@ประมูลแพคเกจ 1 ล้านล้าน ลุยสร้างเฟสแรก 5.22 แสนล้านบาท

ผอ.สนข.กล่าวว่า ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียดและศึกษารายงาน EHIA โดยสนข.รับผิดชอบออกแบบท่าเรือ 2 ฝั่ง กรมทางหลวง (ทล.) ศึกษามอเตอร์เวย์ การรถไฟฯ ศึกษารถไฟทางคู่ โดยจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 และประมูลเป็นแพคเกจเดียวกันมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นค่าลงทุนท่าเรือชุมพร 3.05 แสนล้านบาท ท่าเรือระนอง 3.30 แสนล้านบาท ,พื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) ฝั่งชุมพร 8.6 หมื่นล้านบาท ฝั่งระนอง 5.4 หมื่นล้านบาท มอเตอร์เวย์และรถไฟ 2.2 แสนล้านบาท

กำหนดให้พัฒนาเป็น 4 ระยะ โดยเฟส1/1 มีมูลค่าลงทุน 5.22 แสนล้านบาท ประกอบด้วย ท่าเรือ 2 ฝั่ง วงเงิน 2.60 แสนล้านบาท SRTO วงเงิน 6.08 หมื่นล้านบาท เส้นทางมอเตอร์เวย์ รถไฟ วงเงิน 2.01 แสนล้านบาท

จากการโรดโชว์มีนักลงทุนเข้ามาขอข้อมูลหลายราย เนื่องจากมูลค่าลงทุนสูง คาดว่านักลงทึนจะร่วมกลุ่มเป็นจอยเวนเจอร์ หากแยกแต่ละโครงการแล้วเสร็จไม่พร้อมกัน ก็จะไม่เป็นแลนด์บริดจ์ ขณะนี้ Dubai Port World (DP World) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทและผู้บริหารธุรกิจโลจิสติกส์และ Supply Chain ยักษ์ใหญ่ระดับโลก สนใจอย่างมาก ผู้บริหารระดับสูงเข้ามาดูพื้นที่เอง ประเมินว่าดูไบ เวิล์ด พอร์ต สนใจเพราะนอกจากทำเลแล้ว ต้องการมีท่าเรือบริหารเอง ส่วนนักลงทุนจีน ไชน่าฮาร์เบอร์ ก็เป็นอีกประเทศที่ต้องการเส้นทางขนส่งทางทะเลรองรับกรณีเกิดปัญหาที่ช่องแคบมะละกา


กำลังโหลดความคิดเห็น