xs
xsm
sm
md
lg

กรมราง อบรมเสริมความรู้-เทคโนโลยี รับมือภัยธรรมชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมราง เสริมความพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ"น้ำท่วม ดินถล่ม แผ่นดินไหว"จัดอบรมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีขับเคลื่อนมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานระบบราง

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม“การอบรม ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี โครงการศึกษาจัดทำมาตรฐานระบบระบายน้ำโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและจัดทำมาตรการลดความเสี่ยงต่อภัยระบบราง ครั้งที่ 2 ” เพื่อให้มีการถ่ายทอดความรู้ในประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ “ภัยพิบัติดินถล่ม ความเสี่ยง ความเสียหาย และแนวทางป้องกันผลกระทบจากภัยธรรมชาติของประเทศไทย” บรรยาย โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วรากร ไม้เรียง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, “รู้ทันภัยพิบัติธรรมชาติของประเทศไทย: บทเรียนจากอดีตสู่การรับมือในอนาคต” โดยศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และ “การพลิกโฉมการคมนาคมไทยด้วย AI : อนาคตใหม่ของระบบราง” โดยศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต ศาสตราจารย์กิตติคุณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

การถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่กรมการขนส่งทางรางได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านความถี่ ความรุนแรง และกลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อความมั่นคงของระบบรางและความปลอดภัยของประชาชน


โดยที่ผ่านมาในปีงบประมาณ 2563 – 2567 พบว่า มีเหตุอันตรายต่อการเดินรถไฟ รวม 5 ปี จำนวน 2,333 ครั้ง ในจำนวนนี้มีเหตุอันตรายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม ส่งผลกระทบต่อความล่าช้าในการให้บริการเดินรถไฟ หรือบางครั้งอาจต้องดำเนินการขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์ หากมีน้ำท่วมทางรถไฟปริมาณมาก อาจต้องใช้เวลารอระดับน้ำลดลงและเร่งซ่อมแซมทางรถไฟที่เสียหาย บางครั้งใช้เวลา 2-3 วัน กว่าจะเปิดทางรถไฟได้ตามปกติ รวมทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรอบหลายปี แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้สามารถรับรู้ได้ในหลายจังหวัดของประเทศไทย

กรมการขนส่งทางราง ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบด้านความมั่นคงปลอดภัยต่อระบบรถไฟฟ้าและการใช้บริการของประชาชน จึงได้ออกประกาศแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้าและขอความร่วมมือหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรางปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว


ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และภาคส่วนต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้มีความแม่นยำ มาตรการป้องกันและจัดการความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการระบบราง ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการเดินรถ การวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ รวมทั้งล่าสุดกรมการขนส่งทางรางได้มีการจัดทำระบบแจ้งเหตุเมื่อเกิดภัยต่อระบบราง (DRT Alert) ในรูปแบบ Web Application ซึ่งเป็นช่องทางสำหรับให้เจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งและติดตามเหตุและการแก้ปัญหาเมื่อเกิดภัยต่อระบบราง

การเตรียมความพร้อมทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของระบบการขนส่งทางรางของประเทศไทย และเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม และแผ่นดินไหว ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต




กำลังโหลดความคิดเห็น