“มนพร” ลงพื้นที่ชุมพร – สุราษฎร์ฯ รับฟังความเห็น”เอกชน-ประชาชน”ผลักดัน พ.ร.บ.SEC “แลนด์บริดจ์”ประกาศในปีนี้ตั้งสนง.และเปิด PPP ปี69 เฟสแรก เปืดปี 73 ยันดูแลผลกระทบทุกมิติ สร้างอาชีพในพื้นที่ ช่วยเศรษฐกิจประเทศ หลังชาวบ้านห่วงเวนคืน ประมง สิ่งแวดล้อม
วันนี้ (24 เมษายน 2568) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระนอง ชุมพร และนครศรีธรรมราช ว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) เพื่อเชื่อมการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) และการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... ซึ่งทุกหน่วยงานที่เป็นองค์กรหลักร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดของภาคใต้
นางมนพร กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ที่อยู่ระหว่างสองฝั่งทะเลที่สามารถเชื่อมโยงไทยไปสู่ภูมิภาคเอเชีย และเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศในการพลิกโฉมการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม กระทรวงคมนาคม ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์ จะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ และจัดทำร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... เพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ให้มีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะนำความคิดเห็นที่ได้รับฟังเสียงจากเจ้าของพื้นที่ทั้งในด้านมุมมองของการพัฒนาพื้นที่ ประเด็นข้อห่วงใยต่าง ๆ จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมและเป็นการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย รมช.คมนาคมได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดการสัมมนาประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... และการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ณ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการ และเอกชนเข้าร่วมกว่า 150 คน
นางมนพร กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดที่ผ่านมา สนข.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.SEC มาแล้ว 3 จังหวัด คือ ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช โดยสุราษฏร์ธานี เป็นเวทีสุดท้าย หลังจากรับฟังความเห็นตามขั้นตอน สนข.จะสรุปร่างพ.ร.บ. SEC โดยประมวลความเห็นต่าง มาปรับปรุงให้เหมาะสม จากนั้นจะมีการ ประชุมสรุปอีกครั้ง ที่กรุงเทพฯ และนำเสนอครม.ได้ภายในเดือนพ.ค. 2568 และตามขั้นตอน คาดว่า จะเสนอร่างพ.ร.บ. SEC ต่อสภาผู้แทนราษฎร ได้ในการประชุมสามัญ ที่จะเปิดสมัยประชุมวันที่ 3 ก.ค. 2568 ซึ่งจากที่ประเมินเวลา ผ่านเข้าสภาวาระ 1, 2 , 3 ประมาณเดือนก.ย. 2568 จากนั้นจะเสนอวุฒิสภา ใช้เวลาประมาณ อีกประมาณ 2 เดือน หรือในเดือนต.ค.-พ.ย. 2568 จะแล้วเสร็จและนำร่างทูลเกล้าฯ เพื่อจัดตั้งสำนักงาน SEC และคณะกรรมการ SEC ภายในปลายปี 2568 เพื่อให้ดำเนินการประกาศ ประมูล PPP โครงการแลนด์บริดจ์ในปี 2569
“ร่างพ.ร.บ.SEC มีทั้งสิ้น 71 มาตรา และเป็นกฎหมายใหม่ เป็นโปรเจ็กต์เรือธงของรัฐบาล จะหารือประธานสภาฯเพื่อขอเร่งบรรจุ หรือเลื่อนลำดับร่างพ.ร.บ.SEC ขึ้นมา พิจารณาเร็วขึ้น คาดว่าจะสามารถผลักดันผ่านการพิจารณาของสภาฯได้ตามแผนงาน “
นางมนพรกล่าวว่ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 เห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ และคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ได้เห็นชอบการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยให้เร่งผลักดันแผนงานเบื้องต้น ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือระนอง โครงการระบบรถไฟทางคู่ และโครงการพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อพลิกโฉมการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ประกอบกับผลการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ได้เร่งรัดให้ออกแบบและก่อสร้างระบบโลจิสติกส์เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางทะเล เพื่อเชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน นอกเหนือจากการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาในปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพทางการค้าของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศที่อยู่ทางด้านมหาสมุทรอินเดีย
ทำให้ประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการผลิตและการคมนาคมขนส่งของเอเชีย รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศที่ตอบสนองนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ได้กำหนดไว้ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านประเทศจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ
@ลงพื้นที่จุดก่อสร้าง”ท่าเรือแหลมริ่ว”
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2568 นางมนพร ได้ลงพื้นที่ บริเวณ ท่าเรือแหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ของโครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์ ซึ่งขณะนี้ สนข. ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) และจัดเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน
นางมนพรกล่าวว่า ในการร่างพ.ร.บ. SEC มีการลงพื้นที่ และหน่วยงานฝ่ายปกครองทั้งนายอำเภอผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามาร่วม รับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบในทุกจุดทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบพื้นที่ทำมาหากินได้ลงสำรวจและร่วมกันหาวิธีการแก้ไข และเยียวยา ยืนยันว่าโครงการจะช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่และเศรษฐกิจของประเทศ
@เผยข้อห่วงใย”ปัญหาแหล่งน้ำ-มลพิษโรงกลั่นน้ำมัน
นางมนพรกล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นทั้งภาคราชการตัวแทนของภาคเอกชน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาการท่องเที่ยว และ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ และร่างพ.ร.บ.SEC เพื่อเป็นกฎหมายบังคับใช้ โดยมีข้อเสนอแนะ เช่น เรื่องการบริหารจัดการที่จะมีภาคอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก คล้ายกับ EEC จึงเป็นห่วง เรื่องระบบบริหารจัดการน้ำที่อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งขณะนี้ที่จังหวัดชุมพรเอง จะต้องมีการหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงเรื่องของการพัฒนาศักยภาพ และทักษะการทำงานของบุคลากร เป็นแรงงานฝีมือ เพื่อรองรับตำแหน่งงานที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ ทั้ง อุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่
รวมถึงห่วงใยการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากการบริหารงานจะเป็นรูปแบบองค์คณะที่มีผู้แทนมาจากหลายกระทรวง เพื่อพิจารณาอนุญาตแบบ One Stop Service ที่แท้จริง เพราะ เดิมหากจะขอตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีองค์ประกอบการขออนุญาตจากหลายกระทรวง ที่มีความยุ่งยาก โดยเฉพาะชุมพร และระนองส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้ การขออนุญาตใดๆก็จะต้องมี หลายกระทรวงเกี่ยวข้อง จะสร้างความยุ่งยาก ให้นักลงทุน
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเรื่องของการขนส่งสินค้าที่มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องมีพื้นที่หลังท่าให้พร้อมสำหรับการทำธุรกิจ และเน้นธุรกิจสีเขียวหรือ Eco System นอกจากนี้มีความห่วงใย การตั้งโรงกลั่นน้ำมันและการส่งพลังงานที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อมั่นว่าการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้จะไม่สร้างมลพิษในพื้นที่ ซึ่งข้อเสนอแนะทุกเรื่องจะคุยรายละเอียดกันในการร่างพ.ร.บ.SEC อยู่แล้ว เพื่อร่วมกันการวางแผนระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
@สงครามการค้าไม่กระทบ เชื่อ”แลนด์บริดจ์”ช่วยลดต้นทุนขนส่ง
สำหรับกรณีสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกา จะมีผลต่อโครงการแลนด์บริดจ์หรือไม่ นางมนพรท กล่าวว่า มองว่าสถานการณ์นี้ มีความต้องการในเรื่องของการขนส่งที่ลดต้นทุนดังนั้นจึงมองว่าสถานการณ์ขณะนี้ยิ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้โครงการ เนื่องจากสายการเดินเรือและภาคการลงทุนทั้งหมดก็อยากมาลงทุน ที่ประเทศไทย ที่มี ทำเลที่ช่วยในเรื่องของการประหยัดต้นทุน และ มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้โดยกระบวนการออกกฎหมายตั้งสำนักงานและเชิญชวนเอกชนมาลงทุน PPP โดยจะเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2570 และใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีแล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2573
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ยืนยันร่างพ.ร.บ.SEC มีความจำเป็น ไม่ได้รวบอำนาจใดๆ แต่จะเป็นการรวมศูนย์หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่อนุมัติการลงทุน หรือออกใบอนุญาตต่างๆ ไว้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการดำเนินการของนักลงทุน และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการการออกกฎหมายเฉพาะ เพื่อให้มีคณะกรรมการฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติหรืออนุญาต เฉพาะพื้นที่ 4 จังหวัด ภาคใต้
โครงการแลนด์บริดจ์ จะทำให้ประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้าระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ประมาณ 3 วัน เทียบกับการเดินเรืออ้อมผ่านช่องแคบมะละกา และประหยัดค่าใช้จ่ายต้นทุนในการขนส่งประมาณ 15% ซึ่งค่าขนส่งถูกลงก็จะทำให้ต้นทุนการลิตและราคาสินค้าถูกลง ไปด้วย
นายปัญญากล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีท่าเรือขนส่งสินค้าไปฝั่งตะวันตกดังนั้นแลนด์บริดจ์จะเป็นท่าเรือสำหรับรองรับสินค้าที่ผลิตจากพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรที่มีค่อนข้างมากนำมาแปรรูปภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แทนที่จะส่งออกวัตถุดิบไปผลิตหรือแปรรูปที่ประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนการเปิดประมูล จะเป็นแพคเกจเดียว โดยระบุการพัฒนาเป็น4 ระยะ โดย ระยะแรกลงทุน 5 แสนล้านบาท ทั้งท่าเรือ มอเตอร์เวย์ รถไฟ ดังนั้น นักลงทุนหลายราย น่าจะร่วมกันแบบจอยเวนเจอร์ เพราะหากให้แต่ละโครงการต่างคนต่างทำ และเสร็จไม่พร้อมกัน ก็จะไม่เป็นแลนด์บริดจ์ โดยที่ผ่านมา มีนักลงทุนที่สนใจหลายประเทศ เช่น ดูไบ เวิล์ด พอร์ต ,ประเทศจีน ,ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ,ออสเตรเลีย เป็นต้น